มหาเศรษฐีอยากช่วย 'วิษณุ'เผยเขาขอมาเอง/ปิยบุตรซัดคณาธิปไตย!


เพิ่มเพื่อน    


     กุนซือนายกฯ แจงเทียบเชิญมหาเศรษฐีระดมมือฉมังธุรกิจร่วมเป็นทีมไทยแลนด์ ไม่ได้พูดสักคำขอตังค์ ตีความกันไปเรื่อย “วิษณุ” เผยจุดเริ่มต้นหลายคนปรารภมาก่อนว่าอยากช่วย ไม่ได้จ้องขอเงิน แต่หวังไอเดีย-ประสบการณ์ มองข้ามช็อตเตรียมฟื้น ศก. เล็งเชิญผู้นำทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ทั้ง "ตระกูลเจียรวนนท์-ล่ำซำ-โสภณพนิช-หวั่งหลี-วิกรม-คีรี" ไร้ชื่อ "แม้ว" เหตุติดเงื่อนไขกฎหมาย โฆษก ทพ.อ้างนักธุรกิจที่ไม่ได้รับเชิญจะเสียเปรียบเลือกปฏิบัติ “จาตุรนต์” จับตาตราสารหนี้ของบริษัทยักษ์ใหญ่จะครบกำหนดไถ่ถอนปีนี้ ธปท.จะโอบอุ้มเสี่ยงผลประโยชน์ทับซ้อน "ปิยบุตร" ซัดรัฐบาลคณาธิปไตยช่วยกลุ่มทุนก่อนคนส่วนใหญ่
     เมื่อวันอาทิตย์ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เตรียมทำจดหมายเปิดผนึกเชิญ 20 มหาเศรษฐีในไทย ระดมความคิดเห็นแก้ไขผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่านายกฯ ต้องการระดมสมองจากผู้ที่มีความสามารถ ประสบความสำเร็จด้านธุรกิจ มาร่วมกันคิดแก้ปัญหาร่วมกัน และที่ผ่านมาบุคคลหรือทีมงานบุคคลเหล่านี้ได้เสนอแนวความคิดเป็นการส่วนตัวมาโดยตลอด เมื่อเป็นแบบนี้นายกฯ จึงเห็นว่าเมื่อทุกคนอยากมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหา จึงอยากเชิญมาพูดคุยกันเป็นทางการ เพราะเมื่อสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ดีขึ้นระดับหนึ่งแล้วจะฟื้นฟูด้านต่างๆ อย่างไร และจะบริหารเงินกู้อย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด 
    “จึงอยากเชิญมาพูดคุยกันเป็นทางการ เหมือนที่นายกฯ ตั้งคณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชน เพื่อให้คำปรึกษา ข้อเสนอแนะ การป้องกัน และการแก้ปัญหาของภาคธุรกิจเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และน่ามีมือฉมังทางธุรกิจรวมกันอีกชุด ลักษณะร่วมกันเป็นทีมไทยแลนด์ ซึ่งไม่ใช่อยู่ดีๆ นายกฯ จะตั้ง ต้องเทียบเชิญพูดคุยกันก่อน และนายกฯ ไม่ได้พูดสักคำขอตังค์ ตีความเรื่องเงินเรื่องทองกันไปเรื่อย” นายพีระพันธุ์กล่าว
    นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงจดหมายเปิดผนึกถึงมหาเศรษฐีที่นายกฯ จะให้ช่วยดูถ้อยคำว่า ตนยังไม่ได้ร่างจดหมาย ทราบแต่ว่านายกฯ จะให้ตนช่วยดูในแง่ของการปรับถ้อยคำ และไม่ทราบว่าจะส่งจดหมายไปถึงใครบ้าง ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการขอความช่วยเหลือหรือขอเงิน เรื่องนี้สื่อไม่รู้ ฝ่ายค้านไม่รู้ที่มาที่ไป ความจริงคือก่อนหน้านี้มีเศรษฐีหลายคนปรารภเข้ามาว่าอยากช่วย
     ผู้สื่อข่าวถามว่า มีบางส่วนระบุว่าการส่งจดหมายเชิญเศรษฐีมาช่วย เพราะต้องการขอเงิน นายวิษณุกล่าวว่า ไม่มี เราไม่ได้ต้องการเงินเลย แต่เพราะเศรษฐีเหล่านี้ได้แสดงความประสงค์เข้ามาว่าจะช่วย อยากทำนู่นทำนี่ เช่น ทำโรงงานผลิตหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ รับคนงาน ตั้งโรงทาน จึงถามรัฐบาลว่าทำได้หรือไม่ ผิดกฎหมายหรือไม่ ต้องขออนุญาตใคร อย่างไร นายกฯ ก็โอเค จึงบอกว่าถ้าอย่างนั้นให้รอ เดี๋ยวรัฐบาลจะทำจดหมายเชิญไป แล้วรอตอบมา จะได้เป็นรูปแบบที่ถูกต้อง และที่ทำจดหมายเชิญนอกจากเป็นการให้เกียรติคนเหล่านั้นแล้ว ยังจะได้ไม่ถูกครหาว่าวิ่งเต้น จุดเริ่มต้นมันเป็นอย่างนี้ และเศรษฐีเหล่านี้ไม่ต้องอยู่ใน 20 อันดับแรกก็ได้ โดยสัปดาห์นี้คงมีความคืบหน้า
เทียบเชิญผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรม
    มีรายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์เตรียมส่งจดหมายถึง 20 มหาเศรษฐีว่า ไม่ใช่เพื่อขอเงินนำมาแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมถึงผลกระทบต่างๆ ที่ตามมา แต่เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากมหาเศรษฐีที่มีประสบการณ์ในแต่ละธุรกิจ ว่าจะช่วยเหลือประเทศร่วมกับรัฐบาลได้อย่างไร หรือมีแนวทางใดที่สอดประสานกับนโยบายรัฐบาลในการแก้ปัญหาก็จะเป็นประโยชน์ เพราะเชื่อว่าแต่ละคนล้วนมีมุมมองและเครือข่ายที่สามารถนำไปดำเนินการต่อได้อยู่แล้ว
    "ความตั้งใจของนายกฯ เพื่อระดมสมองจากคนที่มีประสบการณ์ เพราะถึงเวลาสำคัญที่ต้องร่วมมือกันอีกครั้ง โดยนายกฯ อยากได้ยินความเห็นด้วยตัวเอง ก่อนหน้านี้ก็มีการพูดคุยกับบางส่วนมาบ้างแล้ว ขณะที่รายชื่อมหาเศรษฐีนั้นคงไม่ได้เจาะจงเฉพาะ 20 มหาเศรษฐีที่ถูกจัดอันดับว่ารวยที่สุดของประเทศเท่านั้น จะกระจายไปยังผู้นำในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ ที่ยังดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน บางคนไม่ได้มีชื่อติดใน 20 อันดับแรก แต่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ อาทิ นิคมอุตสาหกรรม ธนาคาร ท่องเที่ยว โครงสร้างพื้นฐาน การค้า การส่งออก เป็นต้น คาดว่าสัปดาห์หน้านายกฯ จะได้ทยอยเชิญเข้ามาพูดคุยกันต่อไป" แหล่งข่าวระบุ
    แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า การเทียบเชิญมหาเศรษฐีเป็นการเตรียมการฟื้นเศรษฐกิจของประเทศที่ได้รับผลกระทบในทุกระดับ โดยรัฐบาลกำลังดำเนินการกู้เงินเพื่ออัดฉีดเข้าสู่ระบบ ดังนั้น ภาคธุรกิจเอกชนจึงเป็นส่วนสำคัญที่มีศักยภาพขับเคลื่อนเรื่องนี้ โดยเฉพาะมหาเศรษฐีของไทยที่ถือว่ามีฝีมือระดับโลก นายกฯ จึงเริ่มคิดตั้งแต่วันนี้ที่สามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ในระดับหนึ่งแล้ว ถ้ารอให้การระบาดหมดไปแล้วค่อยมาเริ่มลงมือทำ จะไม่ทันเวลา สำหรับรายชื่อมหาเศรษฐีที่คาดว่าจะถูกเทียบเชิญจะเป็นผู้นำในแต่ละอุตสาหกรรม อาทิ ตระกูลเจียรวนนท์, ล่ำซำ, โสภณพนิช, หวั่งหลี, มหากิจศิริ รวมถึงนายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานกรรมการบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) และนายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานคณะกรรมการบริหารบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เป็นต้น และจะไม่มีชื่อของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เนื่องจากติดเงื่อนไขเรื่องสถานะทางกฎหมาย ไม่ปรากฏที่อยู่เป็นหลักแหล่งชัดเจน
      นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า นายกฯ มีความตั้งใจที่จะเปิดรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วน เพื่อแสวงหาข้อมูลใช้เป็นแนวทางในการแก้ปัญหาโควิด-19 ไม่ได้ไปขอรับบริจาคเงินเหมือนที่หลายฝ่ายกล่าวหา และที่ผ่านมานายกฯก็หารือทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ทุกฝ่ายมาช่วยกันแก้ปัญหาให้กับประเทศ อยากบอกแกนนำฝ่ายค้านบางคนว่าอย่ามองในแง่ลบ ขอให้คิดบวกบ้าง เวลานี้เป็นเวลาที่ทุกฝ่ายจะต้องมาช่วยกัน ซึ่งเศรษฐีในเมืองไทยเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ ประสบความสำเร็จ สามารถนำองค์ความรู้ต่างๆ โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจมาช่วยประเทศได้ เห็นนักการเมืองบางคน ดาราบางคน มองในแง่ลบมากๆ เช่น บอกว่าเป็นรัฐบาลขอทานบ้าง บริจาคแล้วจะได้สัมปทานบ้าง ซึ่งไม่เป็นความจริง อยากให้ทุกฝ่ายเข้าใจ พล.อ.ประยุทธ์ ว่ามีเจตนาบริสุทธิ์ที่จะแก้ปัญหาให้กับประเทศ 
    นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกฯ จะส่งจดหมายเทียบเชิญ 20 มหาเศรษฐี ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลจะทำหนังสือไปขอเงิน แต่คาดว่าจะเป็นการเชิญเข้ามาหารือพูดคุยกันถึงการแก้ไขปัญหาประเทศในขณะนี้ ถือว่าทำด้วยความจริงใจที่อยากจะให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการเข้ามาช่วยเหลือประชาชน ไม่ได้เป็นการต่างตอบแทนใดๆ เพื่อใครคนหนึ่งคนใดทั้งสิ้น
 แนะเชิญผู้ได้รับผลกระทบด้วย
    นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เหตุที่มีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้กันมากน่าจะเกิดจากการแก้ไขปัญหาเยียวยาที่รัฐบาลไม่สามารถทำให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าจะได้รับการช่วยเหลืออย่างทั่วถึง ประกอบกับการบริหารจัดการของรัฐบาลเรื่องเงินเยียวยาประชาชนสร้างความสับสน ทำให้คนส่วนหนึ่งไม่แน่ใจว่ารัฐบาลมีเงินเพียงพอจะดูแลประชาชนหรือไม่ เมื่อนายกฯ บอกว่าจะส่งจดหมายถึงมหาเศรษฐีให้มาร่วมมือกันฝ่าวิกฤติ ทำให้คนส่วนหนึ่งมองว่าจะทำจดหมายไปขอเงิน ทั้งที่ อาจจะไม่มีเจตนาเช่นนั้น ถ้านายกฯ เขียนจดหมายเรียบร้อยแล้วนำเนื้อหาสาระมาเปิดเผยตรงประเด็น อาจทำให้เสียงวิจารณ์ลดลง 
    “นายกฯ อาจฟังมหาเศรษฐีที่มีประสบการณ์บริหารธุรกิจจนร่ำรวยให้มาช่วยเสนอความคิดเห็น แต่ก็ควรฟังเสียงของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ด้วย โดยนายกฯ อาจพบกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบโดยตรงร่วมกับตัวแทนกลุ่มองค์กร เอ็นจีโอ ภาคประชาสังคมที่ทำงานใกล้ชิดชาวบ้าน ซึ่งรับรู้ปัญหาและอาจมีวิธีแก้ไขที่เป็นประโยชน์ต่อนายกฯ ในการนำข้อมูลไปแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น” นายองอาจกล่าว
    นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา โพสต์เฟซบุ๊กว่า กรณีที่นายกฯ จะมีหนังสือเชิญมหาเศรษฐี 20 คนมาปรึกษาหารือร่วมกันแก้ปัญหา นักการเมืองบางคน บางพรรค ก็เอาไปต่อความยาวสาวความยืด จับประเด็นพลิกไปพลิกมาหาเรื่องโดยไม่เข้าท่า เป็นการเล่นการเมืองในสถานการณ์นี้ ที่น่าเกลียดน่าตำหนิอย่างยิ่ง ไม่เหมาะกับกาลเทศะอย่างมาก รู้ทั้งรู้ว่าในสถานการณ์นี้ต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วนทุกระดับ ทุกคนต้องมีส่วนร่วมอย่างสำคัญในการแก้วิกฤติในครั้งนี้
     นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การออกจดหมายเปิดผนึกถึงมหาเศรษฐี เปรียบเสมือนการคายฟันยาง สารภาพแล้วว่ารัฐบาลหมดหนทางในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หมดปัญญาในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่จะตามมาหรือไม่ การแก้เกี้ยวว่าไม่ได้มีเจตนาจะไปขอเงิน แต่อยากเปิดรับฟังความคิดเห็นของทุกคนโดยตรงมากกว่านั้น อาจฟังไม่ขึ้น เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ใช้คำว่าจะร่วมมือหรือลงมือทำได้อย่างไรจากเศรษฐีนั้น คำว่าลงมือกับลงขันมันใกล้เคียงกันมาก พอนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามเสนอแนะความคิดเห็น ถูกเรียกมาปรับทัศนคติ แต่มหาเศรษฐีใช้คำว่าเชิญมาระดมความคิดเห็น ความจริงรัฐบาลฟังความเห็นได้จากหลายสภาอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมีสภาเจ้าสัวให้ประชาชนหวาดระแวงว่าจะมีผลประโยชน์ต่างตอบแทน เมื่อรัฐบาลได้รับการช่วยเหลือจากมหาเศรษฐีแล้ว รัฐบาลต้องเอื้อประโยชน์สิ่งใดเป็นการตอบแทนหรือไม่ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ถือเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง 
    “นักธุรกิจที่เสียเปรียบมาโดยตลอด และเป็นผู้ที่ไม่ได้รับเชิญ จะเสียเปรียบมากยิ่งขึ้น เป็นการเลือกปฏิบัติ รัฐบาลกำลังสร้างความเหลื่อมล้ำขึ้นมาเสียเอง ถ้าต้องการรับฟังความคิดเห็นจริงๆ ไม่ควรจำเพาะเจาะจงเฉพาะมหาเศรษฐี ฟังจากนักวิชาการ ผู้มีความรู้ เจ้าของธุรกิจรายเล็กรายกลาง รวมถึงประชาชนที่เดือดร้อนเข้าไม่ถึงการเยียวยา 5,000 บาท แค่เปิดประตูใช้หัวใจฟัง อย่าปิดประตูใส่ชาวบ้านที่เดือดร้อน รัฐบาลก็จะได้ความคิดเห็นที่หลากหลาย” นายอนุสรณ์กล่าว  
ผลประโยชน์ทับซ้อน
    นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กว่า การออกจดหมายครั้งนี้ อาจทำให้มหาเศรษฐีที่เตรียมจะบริจาคหรือช่วยเหลือสังคมอยู่แล้วไม่กล้าบริจาคมากนัก เพราะเกรงว่าจะถูกมองว่าถูกบีบให้บริจาคถึงได้บริจาค การบริจาคหรือธุรกิจของมหาเศรษฐีหลายรายด้วยวิธีอื่นใดก็จะลดความหมายลงไป ไม่เหมือนกับการบริจาคโดยความริเริ่มและสมัครใจของผู้บริจาคเอง สังคมจึงเสียโอกาสได้รับความช่วยเหลือในส่วนนี้ไป มหาเศรษฐีที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงกำลังถูกจับตามองว่าจะได้รับสิทธิพิเศษอะไรหรือไม่ พวกเขาจึงอาจได้รับการดูแลจากภาครัฐน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ส่งผลกระทบต่อลูกจ้างคนงานของธุรกิจเหล่านั้นด้วย ถ้าดูตราสารหนี้ของบริษัทใหญ่ๆ ที่ครบกำหนดไถ่ถอนในสิ้นปี 2563 ที่เข้าข่ายได้รับการโอบอุ้มจาก ธปท.จะพบว่ามีธุรกิจของมหาเศรษฐีหลายรายอยู่ในนั้นด้วย หลังมหาเศรษฐีทั้งหลายมาพบนายกฯ แล้ว สังคมก็คงจับตาดูเรื่องนี้เช่นกัน การออกจดหมายครั้งนี้ไม่ใช่เรื่อง win-win เลย ไม่นับความเสียหมายที่เกิดขึ้นกับนายกฯ ที่คิดถึงแต่เจ้าสัวก่อน ไม่คิดจะฟังรายเล็กรายน้อยบ้าง คิดจะบีบเอาเงินจากมหาเศรษฐีแบบไม่รู้จักหน้าที่ของตัวเอง สุ่มเสี่ยงต่อการเอื้อประโยชน์ต่างตอบแทน 
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจคณะก้าวหน้าแรงงาน จัดไลฟ์สดพูดคุยในหัวข้อ "Eat The Rich : เมื่อคนส่วนใหญ่ถูกกดขี่ ความเจ็บปวดสิ้นหวังของมวลชนจะพ่นพิษใส่ทุกส่วนของสังคม" โดยเชิญนายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ปัจจุบันเป็นหนึ่งในแกนนำคณะก้าวหน้า ร่วมพูดคุย โดยนายปิยบุตรกล่าวตอนหนึ่งว่า มาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลออกมาเป็นวิธีคิดของรัฐบาลชุดนี้ที่เป็นแบบคณาธิปไตย คือคิดถึงคนส่วนน้อย เช่น กลุ่มทุนต่างๆ ช่วยกลุ่มเหล่านี้ก่อนตัดสินใจทำได้เลยทันที แต่พอจะช่วยเหลือคนส่วนใหญ่กลับมีข้ออ้างสารพัด เพราะรัฐบาลคณาธิปไตยแบบนี้คือปกครองกันโดยคนส่วนน้อยทำเพื่อคนส่วนน้อยแบบนี้ ก็จะมีเพียงคนกลุ่มเดียวได้ทุกอย่าง ในขณะที่คนส่วนใหญ่อาจจะได้อยู่บ้าง แต่ก็ได้เพื่อทำให้คุณเชื่อง เชื่อว่าหลังวิกฤติคลี่คลาย ความไม่พอใจรัฐบาลชุดนี้ซึ่งมีอยู่ และจะเพิ่มมากขึ้นเพียงแต่ตอนนี้แสดงออกไม่ได้ 
    ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. กล่าวว่า นายกฯ จะทำจดหมายเปิดผนึกถึงเจ้าสัวลำดับที่ 1 ถึง 20 ของประเทศไทย จนกระทั่งมีแฮชแท็กติดในทวิตเตอร์ ว่ารัฐบาลขอทาน ซึ่งตนไม่เชื่อ บรรยากาศของประเทศไทยเหมือนอยู่ในสภาพของสงคราม เกิดภัยพิบัติอย่างรุนแรง ประชาชนคนไทยต้องไปต่อแถวเพื่อรับเงิน รับของบริจาค ข้าวสารอาหารกล่อง ซึ่งไม่คาดคิดมาก่อนว่า ประเทศไทยเราเดินมาถึงจุดนี้กันได้อย่างไร ถ้อยคำที่นายกฯ ออกแถลงการณ์นั้น ไม่มีข้อความใดที่ไปขอสตางค์จากบรรดาเจ้าสัว แต่ภาพมันฟ้องว่าบริหารจัดการจนประชาชนอดอยาก เข้าแถวรับของบริจาคแทบจะเหยียบกันตาย โดยไม่คำนึงถึงมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม เพราะคนกลัวตายมากกว่ากลัวโควิด การทำจดหมายเปิดผนึกถึงบรรดาเจ้าสัวนั้น สิ่งที่น่ากลัวกว่าการขอสตางค์คือผลประโยชน์ทับซ้อน ประเทศไทยคนไทยจะต้องเสียอะไร เช่น ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล มีข่าวออกมาว่าจะเปิดให้บริการวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ 
    นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการและผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอให้มหาเศรษฐีขอร้องให้นายกฯ และ รมว.กลาโหม หยุดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ที่ไม่จำเป็นเป็นเวลาอย่างน้อย 3-5 ปี และปรับลดการเกณฑ์ทหารลงมาให้สอดคล้องกับภารกิจและสถานการณ์ ซึ่งจะได้เงินไม่ตํ่ากว่า 100,000-200,000 ล้านบาท เพื่อให้นำเงินงบประมาณเหล่านี้โอนย้ายมาดูแลความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจของประชาชน ขอให้รัฐบาลช่วยกำกับดูแลการรั่วไหลของการใช้จ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายเงินที่ไม่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล จะมีงบประมาณเหลืออีกปีละไม่ตํ่ากว่า 300,000-400,000 ล้านบาท ให้นายกฯ ได้ทบทวนการใช้อำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เนื่องจากหลายประเทศอย่างประเทศเกาหลีใต้ ไต้หวัน เดนมาร์ก นิวซีแลนด์ เป็นต้น ไม่ได้ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็สามารถจัดการการแพร่ระบาดได้.  


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"