บี้'อุตตม'แจงเงินเยียวยา ผ่าน4.2ล้านราย10ล.ชวด


เพิ่มเพื่อน    

    “วิษณุ” เผยเป็นเรื่องนายกฯ ล้วนๆ ไม่เกี่ยว ครม.ในการเชิญมหาเศรษฐีหารือแก้ปัญหาโควิด ทำได้ไม่ผิดกฎหมาย แพลมตัวเลข 20 รายไม่ใช่แน่ “นฤมล” แจง “ประยุทธ์” พร้อมรับฟังทุกภาคส่วน “พปชร.” ผุดโรงทานแจกอาหาร ส่วน ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลยื่นหนังบี้ “อุตตม” แจงมาตรการจ่าย 5 พันหลังปัญหาพรึ่บ! คลังตรวจสอบเราไม่ทิ้งกัน 28 ล้านคนผ่านเกณฑ์ 4.2 ล้านคน 10 ล้านหมดสิทธิ์ กลุ่มทบทวนสิทธิ์ขอเวลา 2 สัปดาห์ 
    เมื่อวันจันทร์ที่ 20 เมษายน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงจดหมายเปิดผนึกที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะทำถึง 20 มหาเศรษฐีในประเทศไทยว่า ยืนยันว่าจดหมายดังกล่าวไม่ใช่การขอเงิน ซึ่งจดหมายดังกล่าวสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ร่าง ส่วนจะเอาให้ตนเองดูก่อนหรือไม่นั้น โดยปกติก็ควรเป็นอย่างนั้น แต่ก็ไม่ได้บังคับอะไร ทั้งนี้ ไม่จำเป็นต้องนำเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพราะเป็นเรื่องของนายกฯ ไม่เกี่ยวกับ ครม. เว้นแต่นายกฯ ต้องการนำมาหารือใน ครม. ซึ่งในที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 (ศบค.) วันเดียวกันก็ไม่มีการพูดคุยถึงเรื่องนี้  
    “มีสื่อเอาไปลงข่าวกันว่าผมบอกว่ามีเศรษฐี 20 ราย ซึ่งส่วนตัวผมไม่เคยพูดถึงจำนวนตัวเลขเลย เพราะผมก็รู้ว่ามันไม่ใช่ 20 ราย” นายวิษณุระบุ 
    เมื่อสอบถามว่า ในทางกฎหมายการช่วยเหลือประเทศด้วยการระดมความคิดเช่นนี้สามารถทำได้ใช่หรือไม่ นายวิษณุตอบทันที ว่าทำได้หมดทุกอย่าง เงินก็ได้ สิ่งของก็ได้ โครงการก็ได้ หรือการแนะนำก็ได้ ซึ่งขณะนี้เขาก็ทำกันอยู่ ก็ขอให้รอดูรายละเอียดกัน ซึ่งไม่ทราบว่าเมื่อไหร่  ดีไม่ดีอาจเป็นวันนี้ก็ได้ 
    นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวถึงการวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องนี้ว่า นายกฯ จะรับฟังข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ส.ส.ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน และทุกภาคส่วน และขอขอบคุณภาคธุรกิจทุกบริษัทที่ให้การสนับสนุน ทั้งในส่วนของเงินและอุปกรณ์ หน้ากากอนามัย เพื่อช่วยแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา นายกฯ เชื่อมั่นว่าจากความร่วมมือของทุกๆ ฝ่าย จะทำให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปได้ด้วยกัน
    “การหารือร่วมกับภาคเอกชนเพื่อบูรณาการแผนการช่วยเหลือประชาชนร่วมกัน เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน หรือการช่วยเหลือที่ไม่ครอบคลุมกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ที่สำคัญเพื่อให้เป็นการช่วยเหลือที่ถูกกลุ่มเป้าหมายให้มากที่สุด นอกจากนี้ การหารือร่วมกับภาคเอกชน เพื่อวางแผนร่วมกันในด้านการฟื้นฟูธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศ เช่น ทำอย่างไรที่จะให้เกิดการเลิกจ้างให้น้อยที่สุด เรื่องนี้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต้องร่วมมือกันในการดำเนินการและการแก้ปัญหาร่วมกันในทุกมิติ ขอยืนยันว่านายกฯ ให้ความสำคัญกับทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจทั้งรายเล็กรายใหญ่ ข้าราชการ และประชาชนทุกภาคส่วนที่จะได้มาร่วมมือกันแก้ปัญหาวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ เพราะนายกฯ เชื่อว่าทุกภาคส่วนมีความสำคัญต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยทั้งนั้น”
ตั้งโรงทานแจกอาหาร
    สำหรับความเคลื่อนไหวของนักการเมืองนั้น นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในประธานยุทธศาสตร์พรรค รับรู้ถึงความเดือดร้อนของประชาชน จึงสั่งให้ผู้บริหาร ส.ส.และสมาชิกพรรคลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดมอบหมายให้นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.การคลัง, นายวิรัช รัตนเศรษฐ และนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จัดตั้งโรงทานขึ้นที่ศูนย์ประชุมพรรค พปชร. ถนนรัชดาภิเษก ใกล้มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม เพื่อแจกจ่ายอาหารให้พี่น้องประชาชน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย. เวลา 11.00 น. เป็นต้นไป โดยจะทำอาหารแจกทุกวัน จนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะคลี่คลาย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้พี่น้องประชาชน
    “พรรคทราบดีว่าจะมีประชาชนเดินทางมารับอาหารเป็นจำนวนมาก จึงได้วางมาตรการป้องกันตามหลักที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำหนด คือเว้นระยะห่างทางสังคม โดยมีเจ้าหน้าที่คอยจัดระเบียบ ตรวจวัดไข้ มีเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ รวมทั้งประชาชนต้องใส่หน้ากากอนามัยทุกคน” นายวิเชียรระบุ
     ด้านนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีข่าวลือว่าพรรคเพื่อไทยจะแจกเงินพี่น้องแท็กซี่ที่เดือดร้อนว่าเป็นข่าวปลอม พรรคไม่มีแผนแจกเงินดังกล่าว ซึ่งคนปล่อยข่าวปลอมถือเป็นผู้ซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน เอาความทุกข์ร้อนมาเล่นการเมืองหรือหวังทำลายความน่าเชื่อถือทางการเมือง ซึ่งพรรคจะตรวจสอบและเอาผิดผู้ปล่อยข่าวปลอมต่อไป 
    วันเดียวกัน ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล นำโดยนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้นำยื่นหนังสือถึงนายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง เพื่อให้ชี้แจงเกี่ยวกับพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาท เนื่องจากเป็นประเด็นที่ประชาชนให้ความสนใจ โดยเฉพาะกรณีการกู้เงินเพื่อนำมาจ่ายเยียวยาให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 จำนวน 5,000 บาท (3 เดือน) ซึ่งมีช่องโหว่อย่างมาก โดยมีนายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติงานกระทรวงการคลัง) เป็นผู้รับหนังสือ
     นายเทพไทกล่าวว่า การจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาทขณะนี้มีปัญหามาก และคิดว่าปัญหาจะไม่จบไม่สิ้น ซึ่งไม่เข้าใจว่ารัฐบาลประเมินเรื่องนี้อย่างไร จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะจ่ายเงินเยียวยาให้ผู้เดือดร้อน 3 ล้านคน แต่ปัจจุบันมีประชาชนลงทะเบียนแล้ว 27.7 ล้านคน และรัฐบาลจะคัดกรองให้เหลือ 9 ล้านคน ซึ่งเชื่อว่าหลังจากนี้จะมีอาชีพหรือคนเดือดร้อนผุดขึ้นมาเหมือนดอกเห็ดแน่นอน จะทำให้การเยียวยาไม่จบ 
พาเหรดชงมาตรการ
     นายเทพไทระบุว่า ที่ผ่านมาได้เคยเสนอแนวทางให้จ่ายเงินเยียวยากับบุคคลที่อายุ 18 ปีขึ้นไป ที่มีบัญชีเงินฝากไม่เกิน 1 แสนบาททั้งหมด และอีกแนวทางคือการจ่ายเงินเยียวยาตามทะเบียนบ้าน ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 20 ล้านครอบครัว โดยคัดกรองเอาข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือคนมีอันจะกินออกไป 20-30% จะเหลือครัวเรือนที่ควรได้รับเงินช่วยเหลือ 10 ล้านครัวเรือน ในส่วนนี้ร่วมเกษตรกร 9 ล้านครัวเรือนด้วย โดยจ่ายเงินช่วยเหลือครัวเรือนละ 1 หมื่นบาท หากแจก 1 เดือน จะใช้งบ 1 แสนล้านบาท แจก 3 เดือน ใช้งบ 3 แสนล้านบาท และแจก 6 เดือน จะใช้งบ 6 แสนล้านบาท ซึ่งครอบคลุมงบประมาณพอดี ตรงนี้จะไม่มีปัญหา และไม่มีข้อครหาว่าช่วยเหลือไม่ทั่วถึง รัฐบาลสามารถอธิบายกับสังคมได้ด้วย หากรัฐบาลทำตามข้อเสนอ การจ่ายเงินช่วยเหลือจะใช้เวลาไม่เกิน 5-10 วันก็จบ จะไม่มีปัญหาจะไม่มีม็อบมาเกาะกระทรวงการคลัง แต่ตอนนี้ยืดเยื้อมาเป็นเดือนแล้ว
    นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวว่า ไม่ได้คัดค้านหรือไม่เห็นด้วยกับการกู้เงินของรัฐบาล เพราะเข้าใจการกู้เงินเป็นเรื่องสำคัญ เข้าใจถึงภารกิจของรัฐบาลและความเดือดร้อนของประชาชน อยากเสนอให้รัฐบาลจ่ายเงินเยียวยาให้กับประชาชนที่อยู่นอกระบบประกันสังคม ประมาณ 60 ล้านคน คนละ 1 หมื่นบาท ซึ่งจะใช้งบประมาณ 6 แสนล้านบาท เพื่อให้ทุกคนได้เงินเยียวยาอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง ซึ่งเป็นการคิดแบบง่ายที่สุด ไม่ต้องสลับซับซ้อน   
    นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรค ภท. กล่าวว่า ขอให้นายอุตตมชี้แจงหลักเกณฑ์การเยียวยาแก่ผู้ประกอบการรายย่อยจากการปล่อยกู้ซอฟต์โลนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนในหลักเกณฑ์ เพราะในทางปฏิบัติ แต่ละธนาคารพาณิชย์ยังมีหลักเกณฑ์ที่แตกต่างกัน จึงตั้งข้อสังเกตว่าเงินกู้ดังกล่าวอาจเข้าไม่ถึงผู้ประกอบการจริง ส่วนการออก พ.ร.ก.ตั้งกองทุนพยุงตราสารหนี้เอกชนวงเงิน 4 แสนล้านบาทนั้น มีข้อกังวลจะเป็นการช่วยเหลือเฉพาะเอกชนรายใหญ่ และอาจเกิดผลประโยชน์ทับซ้อนในวงเงินดังกล่าว จึงเรียกร้องให้กระทรวงการคลังทำความเข้าใจกับประชาชน
     นายชาญกฤชกล่าวว่า หลังจากนี้จะนำหนังสือส่งมอบให้นายอุตตมรับทราบต่อไป โดยยืนยันถึงมาตรการของ ธปท.ว่าไม่ใช่มาตรการอุ้มคนรวย เพราะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในตลาดตราสารหนี้ในไทยมีจำนวนมาก ถ้าตลาดตราสารหนี้ซึ่งปัจจุบันมีขนาด 20%ของจีดีพีไร้เสถียรภาพ จะกระทบเป็นวงกว้าง ไม่ใช่เจ้าสัวหรือคนรวยเพียงคนเดียวที่ได้รับผลกระทบ
    ส่วนแฟนเพจเฟซบุ๊กพรรคก้าวไกล ได้โพสต์เสนอมาตรการให้รัฐบาลดูแลปากท้องประชาชนแบบถ้วนหน้าไม่มีดรามา ขอให้ยกเลิกกระบวนการพิสูจน์ความทุกข์ยากของประชาชน ยกเลิกเกณฑ์อาชีพ โดยหากรัฐบาลเยียวยาแรงงานนอกระบบรายละ 5,000 บาท จำนวน 14.5 ล้านคน เป็นเวลา 3 เดือน ก็จะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 217,500 ล้านบาท ในระยะแรก ควบคู่ไปกับเร่งรัดมาตรการเยียวยาเกษตรกรที่ได้เตรียมไว้ นอกจากนี้ รัฐบาลควรมีมาตรการรักษาระดับการจ้างงานเอาไว้ ไม่ให้ภาคเอกชนต้องปิดกิจการ ด้วยการสมทบค่าจ้าง 50% แต่ไม่เกิน 5,000 บาท สำหรับแรงงานในระบบที่ถูกลดเงินเดือน ลดวันทำงาน ในระยะที่สองช่วยเหลือประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป รายละ 3,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน และช่วยเหลือเพิ่มเติมให้ครอบครัวที่มีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี อีก 1,000 บาทต่อเด็ก 1 คน ซึ่งจะใช้งบราว 504,000 ล้านบาท ซึ่งการเยียวยาและช่วยเหลือประชาชนทั้ง 2 ระยะอยู่ในวิสัยที่สามารถจัดสรรได้จากเม็ดเงินจากกู้ 1 ล้านล้านบาท
จ่าย5พันผ่านเกณฑ์4.2ล้านราย
    ด้านนายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า คลังตรวจสอบตัวเลขผู้ลงทะเบียนมาตรการรับเงินเยียวยา 5,000 บาท ผ่านเว็บไซต์ w ww.เราไม่ทิ้งกัน.com ครบ 28 ล้านคนแล้ว พบว่าเมื่อตัดคนลงทะเบียนซ้ำ หรือลงทะเบียนมากกว่า 1 ครั้งแล้วเหลือจำนวนผู้ลงทะเบียนสมบูรณ์ 23.5 ล้านคน ในจำนวนนี้ผ่านการคัดกรองจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยแล้ว 21.1 ล้านคน ไม่พบในฐานข้อมูล 1.8 ล้านคน เช่น กรอกคำนำหน้าชื่อ ใส่พยัญชนะผิด ซึ่งต้องมาลงทะเบียนใหม่ภายในวันที่ 22 เม.ย.นี้ และอีก 6 แสนคนที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบ
     สำหรับผู้ที่ผ่านการตรวจสอบข้อมูลจากกรมการปกครอง 21.1 ล้านคน แบ่งเป็นผ่านเกณฑ์ได้รับเงินแล้ว 4.2 ล้านคน ซึ่งโอนไปแล้ว 3.2 ล้านคน เหลืออีก 1 ล้านคน จะโอนให้ครบภายในสัปดาห์นี้ อีก 6.3 ล้านคนต้องให้ข้อมูลเพิ่มเติม โดยกรอกข้อมูลมาแล้ว 4.4 ล้านคน ซึ่งจะรู้ผลว่าได้เงินหรือไม่ภายในวันที่ 21 เม.ย.นี้  ส่วนที่เหลือ 1.9 ล้านคน ขอให้รีบกรอกข้อมูลเข้ามาโดยเร็ว
    และกลุ่มสุดท้ายคือที่ไม่ได้สิทธิ์ 10.6 ล้านคน แบ่งเป็นผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 ที่มาลงทะเบียน 9.2 แสนคน เกษตรกร 6 ล้านคน นักศึกษา นักเรียน 7 แสนคน แม่ค้าออนไลน์ 4 แสนคน ซึ่งเป็นกลุ่มอาชีพที่ไม่ได้อยู่ในข่ายรับเงิน 5,000 บาท แต่มาลงทะเบียนเป็นจำนวนมาก โดยกลุ่มที่ไม่ได้สิทธิ์ ระบบได้ส่งเอสเอ็มเอสไปแจ้งแล้ว 4.7 ล้านคน ส่วนที่เหลือจะส่งให้หมดภายในสัปดาห์นี้ ซึ่งคลังได้เปิดระบบให้ยื่นทบทวนสิทธิ์แล้วตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย. เวลา 06.00 น.
    สำหรับการทบทวนสิทธิ์วันแรก ระบบไปได้ด้วยดี ไม่มีปัญหาอะไร จนถึงเวลา 12.00 น. มีผู้ขอทบทวนสิทธิ์ 7.4 แสนคน ทุกอย่างเป็นไปตามที่ตั้งใจ ระบบดำเนินการไปได้ดี โดยขอให้ผู้ที่ได้รับแจ้งว่าไม่ได้สิทธิ์กรอกข้อมูลเข้าระบบ คลังตั้งเป้าหมายตรวจสอบข้อมูลเร็วที่สุดใน 2 สัปดาห์ หรือบางกลุ่มถ้าพิสูจน์ว่าได้รับสิทธิ์จริง ก็จะโอนได้ภายใน 1 สัปดาห์ เช่น กลุ่มที่แจ้งว่าเป็นเกษตรกร แต่จริงๆ ขับแท็กซี่ กลุ่มนี้เดิมกระบวนการคัดกรองตรวจสอบเจอว่าเป็นเกษตรจึงจับพักไว้ก่อน แต่คลังจะปรับวิธีการใหม่ โดยยึดใบประกอบอาชีพยืนยันตัวตนจริง ไม่จำเป็นต้องลงพื้นที่ไปดู เพราะมีหลักฐานพิสูจน์ตัวตนอยู่แล้ว เป็นการตัดการลงพื้นที่ไปได้หลายแสนคน 
    อย่างไรก็ดี คลังยืนยันความจำเป็นที่จะต้องมีการปิดโครงการรับลงทะเบียนเพิ่มในวันที่ 22 เม.ย.นี้ เพราะถ้าโครงการไม่ปิด จะไม่มีการประมวลผล ย้ำว่าจะมีมาตรการอื่นออกมาเพื่อดูแลกลุ่มที่เปราะบาง มาตรการเราไม่ทิ้งกันไม่ใช่มาตรการเดียวของรัฐบาลในการดูแลผลกระทบจากโควิด-19. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"