ไฟโหม14ชั้น พล่านหนีตาย สูดควัน3ศพ


เพิ่มเพื่อน    

     อุทาหรณ์คนอยู่ตึกสูง ไฟไหม้กลางดึกอาคาร 14 ชั้น ราชเทวีอพาร์ทเม้นท์ ผู้พักอาศัยหนีตายอลหม่าน เสียชีวิตแล้ว 3 ศพ บาดเจ็บหามส่ง รพ.61 ราย นอนไอซียู 4 ราย พบเป็นอาคารเก่าสร้างตั้งแต่ปี 30 "อัศวิน" เผยไม่มีสัญญาณเตือนภัย ใช้บันไดลิงหนีไฟ สั่งตรวจสอบทั่วกรุงกว่า 300 แห่ง ติงเจ้าของอาคารให้เช่าควรเห็นใจผู้อาศัย อย่าเอาแต่ได้ วิศวกรรมสถานฯ ขอเวลา 1 เดือนสรุปยังใช้อาคารได้หรือไม่
    เมื่อเวลา 02.30 น. วันที่ 3 เมษายนนี้ ศูนย์วิทยุพระราม 199 สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้รับแจ้งเหตุเพลิงไหม้ราชเทวีอพาร์ทเม้นท์ ซอยเพชรบุรี 18 เขตราชเทวี กทม. จึงได้แจ้งไปยังสถานีดับเพลิงพญาไทและสถานีดับเพลิงใกล้เคียงไปตรวจสอบ เบื้องต้นพบว่ามีกลุ่มควันเป็นจำนวนมาก และมีประชาชนบางส่วนติดค้างบนอาคาร เจ้าหน้าที่จึงได้ใช้น้ำดับไฟ และช่วยเหลือประชาชนที่ติดอยู่ในอาคาร อย่างไรก็ตาม เพลิงได้ลุกไหม้บริเวณช่องสำหรับเดินสายไฟภายในอาคาร (ห้องชาร์ป) บริเวณชั้นที่ 1-5 จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้เร่งทำการช่วยเหลือผู้ที่ติดค้างอย่างต่อเนื่อง จนถึงเวลา 07.07 น. เพลิงได้สงบลง พบผู้เสียชีวิตบริเวณชั้นที่ 12 จำนวน 1 ราย และมีผู้เสียชีวิตที่โรงพยาบาล จำนวน 2 ราย
    จากนั้นในเวลา 07.30 น. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยนายภัทรุตม์ ทรรทรานนท์ ปลัดกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหาร กทม. ลงพื้นที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ราชเทวีอพาร์ทเม้นท์ ซอยเพชรบุรี 18
     พล.ต.อ.อัศวินกล่าวว่า อาการที่เกิดเพลิงไหม้เป็นตึกสูง 14 ชั้น ชั้นละ 12 ห้อง มีผู้พักอาศัยอยู่จำนวนมาก โดยในขณะนี้พบว่ามีผู้เสียชีวิต 3 ราย คาดว่าเกิดจากการสำลักควันไฟ สำหรับสาเหตุเพลิงไหม้ต้องรอการตรวจสอบให้แน่ชัดอีกครั้งว่ามีสาเหตุจากอะไร เพื่อจะได้แจ้งเตือนและป้องกันต่อไป อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญของการทำงานครั้งนี้คือ อพาร์ตเมนต์ตั้งอยู่ในซอยแคบ ทำให้รถกระเช้าซึ่งมีขนาดใหญ่เข้าพื้นที่ได้ยาก ต้องใช้รถขนาดเล็กเข้าไปดับไฟ นอกจากนี้ กทม.ได้ประสานเฮลิคอปเตอร์โรงพยาบาลตำรวจเพื่อเข้าช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่บริเวณชั้นบนอีกทางหนึ่ง แต่บนดาดฟ้าของอาคารไม่มีที่จอดเฮลิคอปเตอร์ เจ้าหน้าที่จึงต้องเดินเท้าเข้าไปช่วยเหลือและนำออกมาจากอาคารให้เร็วที่สุด 
    ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า อาคารแห่งนี้ได้ขออนุญาตก่อสร้างถูกต้องตั้งแต่ปี 2530 ก่อนกฎกระทรวง​ฉบับที่​ 33 (พ.ศ.​2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร​ พ.ศ.​2522 ใช้บังคับ​ ซึ่งมีข้อกำหนดเกี่ยวกับระบบดับเพลิงและป้องกันอัคคีภัยของอาคารสูงไว้ อาคารจึงไม่ถูกบังคับให้ต้องมีระบบสปริงเกลอร์ดับไฟ​ ที่ว่างรอบอาคาร​ 6​เมตร​ และถนนสาธารณะซึ่งต้องมีความกว้าง​ 10​เมตร​ ทำให้ไม่มีระบบป้องกันอัคคีภัยที่พร้อมมากนัก ซึ่งสำนักการโยธาและสำนักงานเขต​จะได้ดำเนินการตรวจสอบในรายละเอียดอื่นๆ ต่อไป
    ผู้ว่าฯ กทม.แถลงอีกครั้งที่ศาลาว่าการ กทม.ว่า จากการตรวจสอบอาคารดังกล่าว เบื้องต้นไม่พบว่ามีสัญญาณเตือนภัย บันไดหนีไฟเป็นแบบเก่า ลักษณะเป็นบันไดลิงซึ่งขึ้นลงยากมาก ทั้งนี้ ภายหลังการลงพื้นที่ได้เชิญปลัด กทม. สำนักการโยธา สำนักงานเขต สปภ. มาหารือเพื่อกำชับให้มีการตรวจสอบอาคารอื่นๆ อย่างละเอียด แม้ว่าอาคารเก่าจะขออนุญาตถูกต้อง แต่เมื่อเหตุการณ์บ้านเมืองเปลี่ยนไปจึงต้องมีการตรวจตราด้านความปลอดภัย เช่น มีระบบเตือนภัยหรือไม่ มีพนักงานรักษาความปลอดภัยทั่วถึงหรือไม่ รวมถึงต้องมีการติดตั้งถังดับเพลิงทุกๆ ชั้นของอาคาร และมีเส้นทางบอกไปบันไดหนีไฟ
    เมื่อถามว่า อาคารเก่าซึ่งกฎหมายไม่ครอบคลุมและไม่มีผลย้อนหลัง กทม.สามารถออกข้อบัญญัติให้อาคารเก่ามีระบบป้องกันภัยได้หรือไม่ พล.ต.อ.อัศวินกล่าวว่า กทม.ได้ออกข้อบัญญัติที่เกี่ยวข้องเมื่อปี พ.ศ.2556 และมีผลบังคับใช้แล้ว เช่น อาคารต้องมีป้ายบอกทางหนีไฟ ทั้งบริเวณทางไปบันไดปกติและบันไดหนีไฟ 
    "ที่ผ่านมา กทม.มีมาตรการควบคุม ตรวจสอบอย่างเข้มงวดเกี่ยวกับการกำหนดให้อาคารสูงมีระบบป้องกันภัยภายในอาคารแต่ละแห่งในพื้นที่กรุงเทพฯ ตลอด แต่ผมคิดว่าอยู่ที่จิตสำนึกของเจ้าของอาคารด้วย เนื่องจากมีรายได้และผลประโยชน์จากผู้เช่าอาคาร ควรเห็นใจผู้อาศัย ดังนั้นเจ้าของอาคารต้องทำตามระเบียบข้อบังคับของ กทม. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะนอกจากจะให้ กทม.เข้าไปตรวจสอบแล้ว เจ้าของอาคารต้องมีจิตสำนึกดูแลความปลอดภัยผู้อาศัยด้วย" 
    สำหรับมาตรการดูแลผู้ประสบภัยในเบื้องต้นนั้น สำนักงานเขตราชเทวีได้เข้ามาตั้งศูนย์ช่วยเหลือและตั้งเต็นท์ที่พักสำหรับผู้ประสบภัยแล้ว โดยกั้นพื้นที่ห้ามเข้าไปภายในอาคารโดยเด็ดขาด จนกว่าจะตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความปลอดภัยของอาคารเป็นที่เรียบร้อย
    ต่อมาเวลา 09.30 น. ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร (กทม.) สรุปจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุเพลิงไหม้อาคารราชเทวีอพาร์ทเม้นท์ ซอยเพชรบุรี 18 ถนนเพชรบุรี เขตราชเทวี ซึ่งเป็นอาคารสูง 14 ชั้น เกิดเหตุเมื่อเวลา 02.30 น.ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตจำนวน 3 ราย แบ่งเป็นเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 1 ราย ชื่อนายพีรณัฐ อินวกูล อายุ 17 ปี นักเรียนชั้น ม.5 เสียชีวิตที่โรงพยาบาล 2 ราย คือ รพ.กลาง 1 ราย ชื่อนายเมทิพย์ รอดทิม อายุ 46 ปี และ รพ.ราชวิถีอีก 1 ราย เป็นชายไม่มีเอกสารแสดงตน
    สำหรับผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าวมีทั้งหมด 61 ราย ต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลจำนวน 29 ราย ในจำนวนนี้อาการสาหัสต้องอยู่ในห้องไอซียู 4 ราย อยู่ระหว่างรอผลการรักษาจำนวน 17 ราย และสามารถกลับบ้านได้จำนวน 15 ราย โดยทั้งหมดแบ่งเป็น รพ.วชิรพยาบาล 5 ราย รพ.ตำรวจ 10 ราย รพ.กลาง 2 ราย รพ.ราชวิถี 10 ราย รพ.รามาธิบดี 11 ราย รพ.พระมงกุฎเกล้า 5 ราย รพ.พญาไท 1 5 ราย รพ.พญาไท 2 4 ราย รพ.จุฬาลงกรณ์ 9 ราย และ รพ.เปาโล 1 ราย
    นายชวินทร์ ปฐมกสิวัฒนา หนึ่งในผู้รอดชีวิตที่ติดค้างบริเวณห้อง 1444 ชั้น 14 เปิดเผยหลังได้รับการช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ว่า ขณะนอนอยู่ในห้องพักชั้นดังกล่าว ได้ยินเสียงคนตะโกนว่าเกิดไฟไหม้ จึงรีบปลุกน้องชาย พยายามหลบหนีทางบันไดหนีไฟและดาดฟ้า แต่ทำไม่ได้ จึงพากันพังประตูห้องพัก 1444 เข้าไปหลบ เพราะทราบว่าห้องด้านนี้มีอากาศ เนื่องจากมีหน้าต่างติดกับด้านหน้าอพาร์ตเมนต์ โดยอยู่ร่วมกับผู้ติดค้างรายอื่นรวมกว่า 20 คน มีทั้งเด็กและคนป่วย นานเกือบ 4 ชั่วโมงจึงสามารถลงมาด้านล่าง
    พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. เปิดเผยหลังตรวจสอบที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ว่า ได้สั่งการให้พนักงานสอบสวน สน.พญาไทเร่งสอบปากคำพยานในที่เกิดเหตุ ขณะนี้ทราบว่าสอบไปแล้ว 20 ปาก ส่วนสาเหตุการเกิดเพลิงไหม้อยู่ระหว่างรอผลการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐาน แต่เบื้องต้นได้รับรายงานว่า ต้นเพลิงน่าจะอยู่บริเวณชั้น 5 หรือ 6 ซึ่งเป็นบริเวณห้องชาร์ป ส่วนการดับเพลิงประสบปัญหาจากสภาพซอยที่คับแคบ ประกอบกับตัวอาคารไม่มีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ ทำให้เป็นอุปสรรคสำคัญในการฉีดน้ำควบคุมกลุ่มควันและช่วยเหลือผู้ประสบภัย
    นายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ ผู้อำนวยการเขตราชเทวี เปิดเผยว่า ต้นเพลิงอยู่ที่ชั้น 2 ตรงช่องเดินสายไฟ หรือห้องชาร์ป ทำให้ควันแผ่พุ่งไปที่ชั้น 13 ทันที และควันได้ขยายวงกว้างทั่วชั้น 13 ก่อนจะกดตัวให้ต่ำไล่ชั้นลงมา ดังนั้นผู้ที่อยู่ชั้นล่างๆ จึงสามารถหนีเอาตัวรอดได้ ส่วนผู้ที่อยู่ชั้น 9-11 จึงบาดเจ็บ สำลักควันกันมาก 
    ด้านตัวแทนของห้างหุ้นส่วน จำกัด ราชเทวีอพาร์ทเม้นท์ กล่าวว่า ทางผู้บริหารจะเยียวยาผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตให้ดีที่สุด โดยทางห้างหุ้นส่วนฯ มีที่พักหลายแห่ง ก็จะถามความสมัครใจของผู้พักอาศัยว่าประสงค์จะพักที่ใด โดยจะมีการตั้งโต๊ะถามไถ่กัน สำหรับสถานที่เกิดเหตุมีมาตรฐานตามที่หน่วยงานราชการกำหนด และมีการตรวจสอบเป็นประจำทุกปี ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เกิดเหตุขึ้น
    รศ.ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย เปิดเผยหลังเข้าตรวจสอบอาคารราชเทวีอพาร์ทเม้นท์ที่เกิดเหตุเพลิงไหม้เมื่อกลางดึกที่ผ่านมา ว่า จากการตรวจสอบเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก คาดว่าจุดต้นเพลิงอยู่ที่บริเวณห้องชาร์ป หรือห้องเก็บสายไฟ ชั้น 5 ของอาคาร เพราะพบควันไฟลอยพุ่งตั้งแต่ชั้น 6 ขึ้นไป เบื้องต้นได้ตรวจเรื่องการรับน้ำหนักและโครงสร้างว่าจะสามารถใช้อาคารต่อได้อีกหรือไม่ โดยใช้เวลาประมาณ 1เดือน ส่วนการตรวจสอบสายไฟพบว่า ในจุดเกิดเหตุละลายไปหมดแล้ว ไม่สามารถชี้ได้ว่าบริเวณจุดเกิดเหตุเป็นสายไฟเสื่อมสภาพหรือไม่ และยังพบที่นอนใยมะพร้าวตั้งขวางทางเดินหน้าห้องชาร์ปบริเวณชั้น 12 ด้วย นอกจากนี้ยังพบว่าประตูของห้องชาร์ปถูกเปิดไว้ แต่บอกไม่ได้ว่าเปิดก่อนหรือหลังเกิดเหตุ 
    "การที่ประตูถูกเปิด ทำให้ควันไฟที่เกิดขึ้นในช่องชาร์ปเข้าตัวอาคารบริเวณชั้น 12 แทนที่ควันจะไปออกที่ชั้นดาดฟ้า ซึ่งควันดังกล่าวทำให้ผู้ประสบเหตุเจอควันและกลับไปในห้อง เป็นอุปสรรคในการหลบหนีออกมา สำหรับอาคารลักษณะนี้ในเขตราชเทวีมีทั้งสิ้น 314 อาคาร ซึ่งได้แจ้งให้ผู้ประกอบการทุกรายส่งหนังสือการตรวจสอบการป้องกันอัคคีภัยมา แต่มีผู้ประกอบการบางรายยังไม่ส่งรายงานมาที่สำนักงานเขต" ดร.ธเนศกล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"