เจาะลึกเบื้องหลังนิยายอิงประวัติศาสตร์ “เล่ห์บรรพกาล” กับวรรณวรรธน์


เพิ่มเพื่อน    

 

 

     “วรรณวรรธน์“ เป็นนามปากกาของนักเขียนหญิงมากฝีมือ มีผลงานนิยายที่โดดเด่นและครองใจนักอ่านมาอย่างต่อเนื่อง แต่เรื่อง ”เล่ห์บรรพกาล” คนเขียนเรื่องนี้บอกยากที่สุดและใช้เวลาทำงาน 4 ปี กว่าจะสมบูรณ์ และจากตัวหนังสือมีชีวิตกลายมาเป็นละครดังทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ที่เพิ่งลาจอไป 

        ล่าสุด TK Park ชวนเหล่าแฟนคลับ “เล่ห์บรรพกาล” มาฟังเรื่องราวเจาะลึกเบื้องหลังนวนิยายแนวประวัติศาสตร์ย้อนภพ-ชาติ โดยวรรธนวรรณ จันทรจนา เจ้าของนามปากกา “วรรณวรรธน์” พูดคุยถึงความสนุก ความบันเทิง รวมถึงกว่าจะมาเป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่สนุก สมจริง นักเขียนต้องทำการบ้าน วางโครงเรื่อง ค้นคว้า เก็บข้อมูลอย่างไร เพื่อให้ผู้อ่านได้ทั้งอรรถรสและการเรียนรู้ประวัติศาสตร์

        วรรธนวรรณ กล่าวว่า หลังจากละครออนแอร์ มีกระแสตอบรับดี พูดถึงบทละครที่หักมุม ตื่นเต้นเร้าใจ ใช้ประวัติศาสตร์มาสืบสวนสอบสวน เป็นมิติใหม่ของบทละคร ในฐานะผู้เขียนนิยายตั้งต้น รู้สึกตื่นเต้นจากนวนิยาย นักเขียนบทละครมาพัฒนาและตีความเป็นบทละคร ส่วนแรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือเล่มนี้มาจากตนอยากเขียนประวัติศาสตร์แบบ คนนำประวัติศาสตร์มาหลอกคนส่วนมากแล้วเกิดกระทบในวงกว้าง เมื่อสืบค้นข้อมูลประวัติศาสตร์จำนวนมากสมัยทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโท พบว่า ข้อมูลส่วนหนึ่งนำมาใช้แล้ว แต่ข้อมูลอีกส่วนหนึ่งอาจารย์ที่ปรึกษาบอกว่าใช้ไม่ได้ เพราะเป็นข้อมูลที่ผิด ใช้ไม่ได้ OUT แล้ว เพราะมีข้อมูลที่ศึกษาใหม่ลบล้างอันเก่าไปเรียบร้อย เมื่อมาเขียนเรื่องข้าบดินทร์ นำข้อมูลจากแหล่งต่างๆ มาปะติดปะต่อกันเขียนเรื่อง อาจารย์ที่ปรึกษาบอกว่า ใช้ไม่ได้ เพราะข้อมูลที่อ้างอิงเป็นเอกสารที่ปลอมขึ้นมาใหม่ ปลอมในสมัยปัจจุบัน เขียนให้ดูว่าเป็นเอกสารเก่า รวมถึงมีหนังสือบางเล่มตีพิมพ์ข้อมูลที่ไม่จริง แต่คิดว่าจริง เกิดความคิด ทำไมเราเขียนการนำประวัติศาสตร์มาหลอกกัน ตอนนั้นทางปิ่น-ณัฐธนันท์ ฉวีวงษ์ ผู้จัดอยากได้ละครประวัติศาสตร์ แต่เขียนแบบนี้ เมื่อได้ไฟเขียว จึงเขียนเรื่องเล่ห์บรรพกาล

        “ เรานั่งรถในเมืองเห็นภาพกราฟฟิตี้ตามอาคาร จินตนาการหากเพนต์ไปไม่กี่วันต่อมาตึกถล่ม นี่คือจุดเริ่มต้นนิยายเกิดเหตุตึกถล่มติดๆ กัน ตึกที่ 1 ตึกที่ 2 ไปตึกที่ 3 แต่ละครั้งพบเขียนอักขระไว้ที่เสาอาคาร ผู้คนตื่นกลัว ก็ผูกเรื่อง การย้อนยุคค่อยมาประกอบย้อนทีหลัง เรื่องนี้เขียนยากมาก ใช้เวลาเขียน 4 ปี จึงมีเวลาซ้อนๆ เรื่อง เมื่อต้องเรียงเรื่องก็เอาช่วงพีเรียดมาใส่ ค้นข้อมูลมาเรียงเป็นเรื่องขึ้นมา ประวัติศาสตร์ที่ใช้เป็นแง่มุมที่คนไม่รู้ ความคลุมเครือทำให้เกิดข้อสงสัย และเชื่อได้ยังไง เป็นเล่ห์บรรพกาลที่เอามาหลอกลวงกัน“

 

วรรธนวรรณ ผู้เขียนนิยายเล่ห์บรรพกาล ภาพจาก FB วรรธนวรรณ

 

        ส่วนการวางโครงเรื่อง นักเขียนหญิง เล่าว่า เลือก 3 ยุค เริ่มจากปัจจุบัน แล้วย้อนไปสมัยรัชกาลที่ 5 ตรงกับเหตุการณ์ รศ.112 และยุคทวารวดี เดินเรื่องจากยุคปัจจุบัน แต่เมื่อพูดถึงอดีตจะเป็นการระลึกชาติ โดยสร้างตัวละครย้อนอดีตชาติได้ มีทั้งปักบุญ ตัวเดินเรื่องแต่อดีตจนปัจจุบัน คนมีญาณได้ต้องมีความเชื่อ มีศรัทธา และพิธีกรรม เคยเขียนพิธีกรรมแดนอีสานไปแล้ว อยากเขียนภาคกลาง สมัย รศ.112 และภาคกลางในอดีตที่เชื่อมโยงกับอาณาจักรทวารวดีชัดเจน คือ ราชบุรี รวมถึงยุคทวารวดีเครื่องแต่งกายสวย ตนดูจากศิลปะสถาปัตยกรรมที่เมืองคูบัว อยากเขียนถึงหลายเมือง ทวารวดีปกครองต่างแคว้น แต่เชื่อมโยงกัน สอดคล้องกับเรื่องที่เขียน อีกตัวละครย้อนอดีตได้คือ เพลิงฟ้า พระเอกซึ่งเห็นทุกภพทุกชาติ แต่จะเลือกมองเลือกเล่า มีพลังมากกว่า

        “ เมืองจินตนาการขึ้นมาจากพื้นฐานข้อมูลทางประวัติศาสตร์ และเมืองอรุณา เป็นเมืองนักรบและเมืองท่าค้าขายขนาดใหญ่สมัยพุทธศตวรรษที่ 1000 เป็นเมืองเปิด มีคนเข้าออกตลอดเวลา จึงมีความเข้มแข็ง ส่วนเมืองไวสาลี เมืองนักเวทย์ เป็นเมืองขนาดเล็ก ผู้คนรักสงบ ไม่เน้นทำมาค้าขาย ศึกษาแต่เวทย์ เคร่งบูชาต่อพระผู้เป็นเจ้า มีลักษณะเป็นเมืองเดี่ยว ความเชื่อสมัยทวารวดีมีความทับซ้อนรูปแบบพิธีกรรมพราหมณ์ฮินดู และศาสนาพุทธน้อมนำพิธีกรรมของพราหมณ์มา เรื่องนี้เน้นความเป็นพิธีกรรม การบูชายันต์โดยเฉพาะ ซึ่งมีมาก่อนยาวนาน แม้แต่ไสยเวทย์ก็เช่นกัน“ วรรธนวรรณกล่าว

        วรรธนวรรณกล่าวว่า นวนิยายได้แรงบันดาลใจจากเทวรูปพระหริหระ เป็นอวตารของพระวิษณุ (หริ) ผู้สร้าง และพระศิวะ (หระ) ผู้ทำลายล้าง อยากเขียนถึงตอนทำพิธีกรรมเมื่อนำเทวรูปมาวางตรงกลางและบูชาไฟด้วยความเชื่อและศรัทธา คนจะได้พลังยิ่งใหญ่ ในเรื่องเป็นตัวแทนเท่านั้น ในเชิงมานุษยวิทยา เมื่อมีศรัทธาต้องมีสัญลักษณ์ ซึ่งรูปจำลองเชิงสัญญะคือจุดศูนย์รวมของจิตและสื่อสารกับสิ่งเหนือธรรมชาติ การทำพิธีกรรมเป็นเรื่องจิต ส่วนตำรายันต์อาถรรพ์ที่ใช้ทำพิธีฝังอาถรรพ์นครอรุณา ไม่ได้คิดเอง มีที่มาจากตำรา โดยหยิบมาในส่วนองค์ประกอบว่าด้วยพิธีกรรม ทำให้เมืองถล่ม คนอยู่เป็นแสนก็ตาย เหมือนไวรัสโคโรนา 2019 แต่นี่ใช้พลังของวิญญาณมนุษย์ เลือด และจิตมนุษย์ อ่านเจอในตำราพิชัยสงครามเขียนวิธีทำลายป้อมปราการเมือง โดยเอามือและเท้ามนุษย์ฝังไว้ 4 มุม ส่วนกลางเมืองควักลูกตาฝัง และเอาตัวเผาเข้าไปในเทวรูป เมื่อพิธีสำเร็จเกิดอาเพศทั้งเมือง ก่อนที่ตัวละครจะทำพิธีหยุดอาถรรพ์ด้วยจิตที่อยากปกป้องแผ่นดิน ปมนี้นำมาสู่รัชกาลที่ 5 และโยงมาถึงปัจจุบัน สิ่งที่คิดไม่ได้เกินมนุษย์ แต่สะท้อนจิตมนุษย์เมื่อแค้นและเกลียดถึงที่สุด ทำได้ทุกอย่าง

ท้าววาร หนึ่งในตัวละครเอกจากนิยายสู่จอแก้ว รับทโดยณัฐวุฒิ สกิดใจ

 

        ความเหมือนและต่างจากตัวอักษร นักเขียนหญิงกล่าวว่า บทละครสนุก ตนดูละครก็ชอบ ชื่นชมทีมบทละครโทรทัศน์ทำได้ดี ชื่นชมการแสดงของป๋อ-ณัฐวุฒิ สกิดใจ รับบทตัวร้าย ท้าววาร อดุล และผีบุญ ขยี้และทำการบ้าน ปล่อยของมากๆ ในนิยาย ส่วนตัวละครนางเอก ศศินา ในนิยายเป็นนางพยัคฆ์ มีความแกร่ง เพราะต้องแบกเมืองที่ด้วยเสียสามีตั้งแต่ยังสาว แต่บทละครโทรทัศน์ขายความเป็นนางพญาผู้เก่งกล้า และมีความเป็นผู้นำ ซึ่งแต้ว-ณฐพร เตมีรักษ์ แสดงได้เท่และส่งพลังแรงมาก ช่วงละครออนแอร์ ตนจะเล่นทวิตเตอร์ เพราะสนุกมาก ได้เพื่อนเยอะมาก

        เกร็ดความรู้ด้านประวัติศาสตร์ยังไม่หมด ผู้เขียนบอกว่า เมื่อเรื่องข้ามมาสู่ยุครัชกาลที่ 5 ช่วงวิกฤตการณ์ ร.ศ.112 ขุนอุทัยโยธิน ไม่มีตัวตนจริง แต่เราอ้างอิงจากขุนนางไทยสมัยรัชกาลที่ 5 อยากปกปักรักษาบ้านเมือง ทำงานช่วยประเทศชาติ อยากตั้งต้นเล่าถึงความตั้งใจจริงรักษาแผ่นดิน และเล่าถึงผลงานของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ท่านสรุปรวมประวัติศาสตร์ชาติไทยเขียนเป็นพงศาวดารที่เรียบเรียงให้ทันสมัยยันกับอารยประเทศ สะท้อนความพยายามต่อสู้กับการล่าอาณานิคม จึงตั้งขุนอุทัยโยธินเกิดมาเพื่อสิ่งนี้ ในเรื่องมีเหตุการณ์สำคัญต่อสยาม ตอนคิดเขียนเล่ห์บรรพกาลมีปมเขาพระวิหารไทยเสียดินแดนไปเพียงอัตราส่วนแผนที่ที่ต่างกัน หากในอดีตทำแผนที่ได้ละเอียด คงไม่เสีย จึงเกิดขุนอุทัยโยธินมีหน้าที่ทำแผนที่ คนสอนทำแผนที่ไม่ใช่อังกฤษหรือฝรั่งเศส อังกฤษได้ฝั่งตะวันตกอินเดีย พม่า ฝั่งตะวันออก เวียดนาม ลาว เขมร ฝรั่งเศสได้ไป สรุปได้รัสเซียช่วย ตนค้นเจอเป็นพระสหาย ประวัติศาสตร์ ร.ศ.112 เหมือนฟางเส้นสุดท้ายไทย-ฝรั่งเศส แต่คุกรุ่นแต่ต้นรัชกาลที่ 5 ในเรื่องมีฉากมกุฎราชกุมารนิโคลัสแห่งรัสเซียเสด็จไทย และเสด็จประพาสเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากนั้นมีข้อมูลประวัติศาสตร์ไทยส่งกรมพระยาดำรงไปเฝ้าพระเจ้าซาร์นิโคลัส สายสัมพันธ์ไทย-รัสเซียชัดเจน เมื่อ ร.5 เสด็จประพาสยุโรป รัสเซียต้อนรับกษัตริย์สยามและทูลเชิญ ร.5 ฉายพระรูปร่วมกันตีพิมพ์ทั่วยุโรป ชาติตะวันตกยอมรับ อ่านหนังสือยังไม่อิน ลงทุนไปรัสเซียหลายสถานที่ทั้งพิพิธภัณฑ์และโบสถ์ เก็บข้อมูลมาทำนิยายได้เยอะมาก

ศศินา ตัวละครแต่งกายสมัยทวารวดี อ้างอิงหลักฐานประวัติศาสตร์

 

        เธอบอกด้วยว่า งานเขียนเกี่ยวกับเรื่องระลึกชาติ เพราะเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดตามหลักพุทธศาสนา แต่ตนระลึกชาติไม่ได้ ขอยืนยันไม่มีญาณวิเศษ ทุกอย่างที่เขียนนิยาย เพราะอ่านหนังสือและค้นข้อมูล สงสัยถาม ตรงไหนเป็นความเชื่อที่ใช้งานได้ เป็นสิ่งดี บอกต่อให้คนนำไปใช้ชีวิตได้ดี น่านำมาสื่อสารต่อก็จะทำ ชอบฟัง อ่าน และเขียนหนังสือ ใครที่บอกอยากเขียนได้อย่างตน อ่านหนังสือเท่านั้น นอกจากอ่าน ต้องใช้ชีวิตและเผชิญหน้ากับของจริง จะลงพื้นที่ในการเขียนนิยายแต่ละเรื่อง

        นอกจากกิจกรรม Live พูดคุย ยังมีกิจกรรมร่วมสนุกตอบคำถามเฟ้นหานักอ่านผู้โชคดีที่จะได้ร่วมทริป Writer’s Journey ตามรอย “เล่ห์บรรพกาล” ไปกับ “วรรณวรรธน์” นักเขียนที่จะพานักอ่านไปลงพื้นที่ตามรอยเก็บข้อมูลทางประวัติศาสตร์และแรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือเล่มนี้กัน ต้องติดตามกันต่อไป

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"