จุรินทร์ถอนCPTPPจากครม.


เพิ่มเพื่อน    

 

“พาณิชย์” ส่งการบ้านตามมติ กนศ. ให้ ครม.พิจารณาไฟเขียวไทยเคาะประตูขอเจรจาเข้าร่วมวง CPTPP แล้ว ยันหาก ครม.เห็นชอบ จะเป็นก้าวแรกที่จะเข้าไปพูดคุย มีสิทธิเจรจาต่อรอง "อนุทิน" ทุบโต๊ะสาธารณสุขค้านเต็มสูบ เพราะทำลายความมั่นคงด้านสาธารณสุขไทย "บิ๊ก ปชป." ก็ไม่เอา ชี้กระทบในวงกว้าง  "จุรินทร์" เผยขอถอนเรื่องออกจากวาระการประชุม ครม.แล้ว 
    เมื่อวันที่ 27 เมษายน นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ได้นำเสนอผลการศึกษาและผลการระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในเรื่องการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ของไทย เสนอให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาตามมติที่ประชุมคณะคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ซึ่งมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมาแล้ว และต้องติดตามว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ในวันที่ 28 เม.ย.หรือไม่ เพราะต้องรอบรรจุวาระเข้า ครม.ตามกระบวนการ
         ทั้งนี้ การทำหนังสือถึง ครม.ของกระทรวงพาณิชย์ เป็นเพียงขอพิจารณาให้ไทยเข้าร่วมความตกลง CPTPP เป็นการเคาะประตูไปเจรจากับสมาชิก CPTPP ซึ่งเป็นเพียงก๊อกแรก หรือขั้นตอนเริ่มต้นเท่านั้น และหาก ครม.เห็นชอบ ก็ยังมีอีกหลายขั้นตอนคือ ไทยจะต้องมีหนังสือถึงนิวซีแลนด์ ในฐานะประเทศผู้รักษาความตกลงฯ เพื่อขอเจรจาเข้าร่วม หลังจากนั้นจะมีการตั้งคณะเจรจา ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนของกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำหน้าที่เจรจาต่อรองเงื่อนไข ข้อยกเว้น และระยะเวลาในการปรับตัวของไทย เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุด และในระหว่างการเจรจา จะต้องมีกระบวนการที่โปร่งใส เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้เข้าร่วมหารือ แลกเปลี่ยนข้อมูล ความเห็น และความคืบหน้าต่างๆ ซึ่งในท้ายที่สุด การตัดสินใจว่าไทยจะยอมรับผลการเจรจาและเข้าร่วมความตกลง CPTPP หรือไม่ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยมีหลักว่า ในภาพรวมถ้าได้มากกว่าเสีย ก็เข้าร่วม ถ้าไม่คุ้ม ก็ต้องมาหารือในระดับนโยบายว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
         นางอรมนกล่าวว่า สำหรับประเด็นที่มีผู้กังวลในเรื่องการเข้าถึงยา ความตกลง CPTPP ได้มีการถอดเรื่องการขยายขอบเขตและอายุคุ้มครองสิทธิบัตรยา ตลอดจนการผูกขาดข้อมูลผลการทดสอบยาออกไปแล้วตั้งแต่สหรัฐถอนตัวออกจากการเจรจาความตกลง CPTPP จึงไม่มีข้อบทนี้ และสมาชิก CPTPP ไม่มีข้อผูกพันเรื่องนี้ และความตกลงข้อ 18.41 และ 18.6 กำหนดให้สมาชิกสามารถบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (CL) และใช้มาตรการเพื่อดูแลเรื่องสาธารณสุข เพื่อดูแลเรื่องการเข้าถึงยาของประชาชนได้ ตามความตกลงทริปส์ขององค์การการค้าโลก (WTO) ในทุกกรณี รวมถึงการใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะที่ไม่ใช่เพื่อการค้า (public noncommercial use) อีกทั้งจะไม่สุ่มเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้องในประเด็นการใช้ CL เพราะข้อบทการลงทุนข้อที่ 9.8 เรื่องการเวนคืน (expropriation) ย่อหน้าที่ 5 ได้กำหนดไว้ชัดเจนว่า จะไม่นำมาใช้กับมาตรการ CL รวมทั้งมีข้อบทเรื่องการระงับข้อพิพาทข้อ 28.3.1 (C) ไม่ได้รวมเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเป็นส่วนหนึ่งของข้อบทในขอบเขตการระงับข้อพิพาทระหว่างสมาชิก CPTPP
ผลกระทบพืชพันธุ์เกษตร
         ส่วนเรื่องการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่และการเข้าเป็นสมาชิกอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV 1991) ได้ให้ทางเลือกแก่สมาชิก CPTPP สามารถออกกฎหมาย กำหนดเป็นข้อยกเว้นให้เกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกในพื้นที่เพาะปลูกของตนได้ อีกทั้งสามารถใช้ประโยชน์จากผลผลิตและผลิตภัณฑ์ได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของพันธุ์หากซื้อมาถูกกฎหมาย จึงแก้ปัญหาที่เกษตรกรมีข้อกังวลว่าจะไม่สามารถเก็บพันธุ์พืชไว้ปลูกต่อได้เมื่อเข้าเป็นสมาชิก UPOV รวมทั้งยังคงสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์พืชในกลุ่มพันธุ์พื้นเมือง พันธุ์ดั้งเดิม พันธุ์ป่าของพืชทุกชนิด รวมทั้งสมุนไพร และพันธุ์การค้าที่ไม่ได้รับการคุ้มครองไปปลูกต่อได้เหมือนเดิม   
         ทางด้านการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ความตกลงฯ เปิดให้สมาชิกสามารถกำหนดมูลค่าขั้นต่ำของการแข่งขันในโครงการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ ถ้ามูลค่าต่ำกว่าที่กำหนดไว้ ก็ไม่ต้องเปิดให้สมาชิก CPTPP เข้ามาแข่งขันทำให้สมาชิก CPTPP สามารถดูแลผู้ประกอบการในประเทศ และมีระยะเวลาปรับตัว เช่น เวียดนาม ขอเวลาปรับตัวถึง 25 ปี
        “ทุกประเด็นที่เป็นข้องกังวล ทั้งจากเกษตรกร ภาคประชาสังคม ทุกเสียงเราฟัง เราเอาไปใช้ในการเจรจา ประเด็นไหนรับได้ รับไม่ได้ ก็ต้องไปเจรจาต่อรอง เพื่อขอข้อยืดหยุ่น และข้อยกเว้นที่จะไม่รวมในเรื่องที่ไทยมีข้อกังวล หรือไม่พร้อมจะเปิดตลาด หรือไม่พร้อมจะปฏิบัติตามพันธกรณีไว้ในข้อผูกพันของไทย ดังเช่นที่ประเทศสมาชิก CPTPP มีการขอเวลาปรับตัว และขอข้อยกเว้นไว้” นางอรมนกล่าว
    รายงานข่าวจากกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่า เมื่อช่วงเช้าวันจันทร์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ประชุมร่วมกับผู้บริหารของกระทรวงสาธารณสุข และผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เพื่อพิจารณาผลกระทบกรณีประเทศไทยจะเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP ซึ่งมีการนำเสนอข้อมูลและพิจารณากันหลายประเด็นที่มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยาในประเทศ และการคุ้มครองพันธุ์พืช ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสมุนไพรในประเทศ 
    ภายหลังการประชุม นายอนุทินได้สั่งการให้ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ทำหนังสือชี้แจงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากประเทศไทยตัดสินใจเป็นสมาชิกของ CPTPP  โดยให้มีการระบุให้ชัดว่ากระทรวงสาธารณสุขไม่สนับสนุนให้ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิก CPTPP 
ผมไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ 
    “ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ผมไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ และจะนำเสนอข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเต็มไปด้วยข้อห่วงใย และความกังวล ที่จะมีผลกระทบต่อระบบการผลิตยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ ซึ่งจะต้องนำมาใช้ดูแลรักษาชีวิตและสุขภาพของคนไทยให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 28เม.ย.ทราบ แต่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าคณะรัฐมนตรีจะพิจารณาตัดสินใจอย่างไร แต่ข้อห่วงใยและความกังวลใจ ของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งเรื่องผลกระทบต่อการผลิตยา ซึ่งเป็นความมั่นคงด้านสาธารณสุขไทย น่าจะเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี” รายงานข่าวอ้างคำพูดนายอนุทิน 
    อีกทั้งขณะนี้มีเพียง 11 ประเทศเท่านั้นที่เป็นสมาชิก และส่วนใหญ่ไม่ใช่เป็นประเทศที่เป็นตลาดส่งออก ที่สำคัญของเรา ประกอบกับมิติการค้าระหว่างประเทศ อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปมากพอสมควร ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 และหลังการระบาดจบลง ยังไม่มีข้อมูลว่าเหตุใดจึงต้องรีบเร่งพิจารณาในช่วงนี้ในที่ประชุมได้มีการนำเสนอข้อเสนอขององค์การเภสัชกรรมที่ได้นำเสนอ ซึ่งเป็นประเด็นที่จะมีผลกระทบต่อการเข้าถึงยาของประชาชนได้ยากขึ้น และทำให้ประเทศไทยเสียประโยชน์ 3 ด้าน
    ได้แก่ 1.ด้านสิทธิบัตรและยา การใช้สิทธิบัตร CL มีขอบเขตลดลง สุ่มเสี่ยงถูกฟ้องกระทบการเข้ายาของประชาชน, ไทยไม่ได้ประโยชน์ด้านราคายาที่ลดลง, ไทยต้องนำเข้ายา และไม่สามารถพึ่งตนเองด้านยาได้เมื่อเกิดวิกฤติด้านสาธารณสุข 
    2.ด้านการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ เกิดการผูกขาดสายพันธุ์พืชเป็น 20-25 ปี ห้ามเกษตรกรเก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อ และการต่อยอดค้นคว้าวิจัย กระทบต่อกลไกการแบ่งปันผลประโยชน์ทั้งในเรื่องทรัพยากรจุลชีพและการคุ้มครองพืชท้องถิ่นในประเทศไทย
    3.ด้านจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ไทยไม่สามารถกำหนดมูลค่าและจะผ่อนผันได้หรือไม่ เนื่องจากไทยเข้าร่วมภายหลัง หลัง 11ประเทศตกลงกันไปหมดแล้ว อีกทั้งยังกระทบต่อการแข่งขันทางธุรกิจขององค์การเภสัชกรรมไม่สามารถดำเนินการเชิงสังคมในการรองรับนโยบายด้านยา เวชภัณฑ์ และวัคซีนที่จำเป็นต่อระบบสาธารณสุขของประเทศ เช่น การเกิดโรคระบาดโควิด-19
    ด้านนายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความเห็นว่าประเทศไทยยังไม่ควรพิจารณาการเข้าร่วมกลุ่ม CPTPP ซึ่งมีผลกระทบในวงกว้างหลายภาคส่วน และขณะนี้วิกฤติโควิด-19 ลามไปทั่วโลก จึงไม่ใช่ช่วงเวลาที่จะพิจารณาในเรื่องนี้
"ไอ้ก้านยาว"ก็ค้าน
    นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ อดีต รมช.เกษตรฯ เตือนว่าการเข้าร่วม CPTPP หากเกษตรกรนิ่งเฉย ไม่ทำอะไรบางอย่างเพื่อให้รัฐบาลรับรู้ ในที่สุดรัฐบาลก็จะเข้าใจว่าทุกคนเห็นด้วยกับรัฐบาล และรีบไปเซ็นสัญญา และท้ายที่สุดอาชีพเกษตรล่มสลายแน่นอน โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการผูกขาดเมล็ดพันธุ์ จะต้องซื้อเมล็ดพันธุ์แพงขึ้น และอาจถูกฟ้องร้องละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาจากบรรดาบริษัทข้ามชาติ
    นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า รัฐควรต้องมารับฟังเสียงจากภาคประชาชนให้มาก และเปิดให้สภาได้ถกเถียงกันในรายละเอียด ในสถานการณ์ชุลมุนเช่นนี้ รัฐอย่าฉวยโอกาสเพื่อที่จะได้ “อุ้มทุนหนา ฆ่าทุนน้อย” นายพิธากล่าว
    นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงาน กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลพิจารณาให้ดีถึงข้อดี-ข้อเสียที่จะส่งผลกระทบต่อประเทศ อย่าเพียงคิดว่าประเทศไทยไม่สามารถเจรจาการค้ากับต่างประเทศมาเป็นเวลานานกว่า 5 ปี เพราะปัญหาของการปฏิวัติรัฐประหาร แล้วจะรีบแก้ไขโดยการเข้าร่วม CPTPP แบบไม่ลืมหูลืมตา 
    "ในภาวะวิกฤติต่อไปนี้ การเปลี่ยนแปลงและความผันผวนจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมาก ประเทศไทยต้องการผู้บริหารประเทศที่ต้องคิดเป็น บริหารเป็น ไม่ใช่ต้องถูกด่า ต้องถูกตำหนิก่อนถึงจะคิดดำเนินการ ถ้าหากรัฐบาลยังบริหารประเทศแบบขับเคลื่อนโดยการโดนด่านี้ ประเทศไทยจะไม่สามารถฝ่าวิกฤตการณ์นี้ไปได้ และประชาชนจะยิ่งลำบากกันอย่างมาก" นายพิชัยระบุ
    ขณะที่กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน หรือ FTA Watch เชิญประชาชน “ร่วมชุมนุมออนไลน์” โดยการถ่ายภาพตนเองพร้อมข้อความขึ้นหน้า wall ใส่แฮชแท็กข้อความต่อไปนี้   #NoCPTPP #อย่าฉวยโอกาส #วิกฤติโควิดต้องคิดใหม่ #ไม่เอาCPTPPการค้าล้าหลัง #เก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อไม่ใช่อาชญากรรม #ความมั่นคงทางอาหาร #ความมั่นคงทางยา #คือความมั่นคงของสังคม #CPTPP #MobFromHome นัดประชาชนทุกคนให้ร่วมแชร์ ส่งไปยังทุกช่องทางสื่อสาร ตั้งแต่ 6 โมงเช้าวันจันทร์ที่ 27 เม.ย.นี้ เพื่อต่อต้านการกระทำของคณะรัฐมนตรีเตรียมลงมติเข้าร่วมเป็นภาคี CPTPP ตามข้อเสนอของนายสมคิด 
    อย่างไรก็ตาม มีรายงานข่าวระบุว่า นายจุรินทร์ให้ทีมงานประสานกับทีมงานนายสมคิดเพื่อถอนวาระ ครม. ซึ่งนายสมคิด สั่งบรรจุตั้งแต่ต้น หลังจากนายจุรินทร์รับรายงานจากหลายฝ่ายที่กังวลเกี่ยวกับ CPTPP ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก
        ทั้งนี้ นายจุรินทร์เห็นว่ายังมีข้อกังวลบางประเด็นของ CPTPP อาทิ การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ การเปิดตลาดให้กับสินค้าใช้แล้วที่นำมาปรับปรุงสภาพเป็นของใหม่และการจัดซื้อจัดจ้างโดยภาครัฐ และข้อกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โรคระบาดโควิดในปัจจุบัน อาจจะไม่เหมาะสมกับเวลา แม้ว่าจะไม่ใช่การเข้าไปเป็นสมาชิกก็ตาม
    นอกจากนี้แม้ว่าจะอธิบายว่าไทยไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกที่มีข้อผูกพัน แต่ภาคประชาสังคมก็ไม่เข้าใจ และโดยเฉพาะภาคประชาสังคมเห็นว่าการเข้าร่วม CPTPP อาจส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุข ความสามารถในการแข่งขันของเกษตรกร การเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้เพาะปลูกต่อ การผูกขาดเมล็ดพันธุ์และกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างนักลงทุนกับรัฐที่อาจจะเกิดผลกระทบต่อนโยบายปกป้องผลประโยชน์สาธารณะ
    ทางด้านนายจุรินทร์ ให้สัมภาษณ์กรณีการเสนอเรื่อง CPTPP สู่การพิจารณาของที่ประชม ครม.ในวันอังคารว่า การเสนอเป็นไปตามมติของ กนศ. ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 13 ก.พ.2563 ซึ่งเมื่อปรากฏว่ายังมีความเห็นแย้งกันอยู่ในระหว่างฝ่ายต่างๆ กระทรวงพาณิชย์จึงได้ถอนเรื่องที่เสนอออกไปแล้ว ทั้งนี้ ตนจะไม่เสนอเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมอีก ตราบใดที่ภาคส่วนต่างๆ ในสังคมยังมีความเห็นขัดแย้งกันอยู่. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"