นำร่องนำเข้า...ไปได้สวย


เพิ่มเพื่อน    

 

     และแล้วเรืออีกลำก็จอดเข้าท่าเป็นที่เรียบร้อย สำหรับการทดลองนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ได้โควตาดำเนินโครงการนำร่องไปก่อนที่จะมีการเปิดให้แข่งขันนำเข้าอย่างเสรี จากเดิมที่มีแค่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายเดียวที่ดำเนินการอยู่ ซึ่งเป็นมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่ต้องการจะปรับโครงสร้างราคาแอลเอ็นจีใหม่ เพื่ออนาคตจะเปิดเป็นการค้าเสรีแบบน้ำมันและให้ผู้บริโภคสามารถเลือกใช้เองได้

            โดยการนำร่องนี้เริ่มจาก กฟผ.ก่อน เนื่องจากเป็นรัฐวิสาหกิจ และมีความจำเป็นต้องใช้ก๊าซธรรมชาติเช่นกันในการป้อนโรงไฟฟ้าเพื่อผลิตไฟ โดยโควตาไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี ซึ่ง กฟผ.ก็ได้ไปดำเนินการเปิดประมูลจัดหาและนำเข้าก๊าซธรรมชาติตามขั้นตอนอย่างเปิดเผยและโปร่งใส โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการทุกรายทั้งในประเทศและต่างประเทศแข่งขันเสนอราคา จนกระทั่งได้ผู้เสนอราคาแอลเอ็นจีที่มีราคาถูกกว่าราคาต่ำสุดของสัญญาจัดหาระยะยาวของประเทศในปัจจุบัน

            และผู้ชนะพร้อมกับมีสิทธิ์จะนำเข้าก๊าซให้ กฟผ. ก็คือ บริษัท ปิโตรนาส แอลเอ็นจี (PETRONAS LNG) จากมาเลเซีย ที่เสนอราคาก๊าซต่ำสุดอยู่ที่ราว 5.32 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ถูกกว่าการจัดหาแอลเอ็นจีสัญญาระยะยาวของ ปตท.ที่มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ราว 7.30-9.50 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู นับเป็นการปูทางสู่การเปิดเสรีกิจการก๊าซเต็มรูปแบบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

            และล่าสุดเมื่อวันที่ 21 เม.ย.2563 ที่ผ่านมานี้ นายธวัชชัย จักรไพศาล รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก็ออกมาเปิดเผยว่า กฟผ.ได้นำเข้าแอลเอ็นจี จำนวน 65,000 ตัน จากเรือลำที่ 2 เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจากการนำเข้าดังกล่าวก็จะทำให้ครบกำหนดปริมาณที่ 1.5 ล้านตัน ซึ่งเรือดังกล่าวได้เดินทางมาถึงท่าเทียบเรือ บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด (PTT LNG) อ.มาบตาพุด จ.ระยอง

            ซึ่งแอลเอ็นจีล็อตนี้ กฟผ.จะนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าผ่านสถานีเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติของ PTT LNG และระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ปตท. (PTT TSO) ส่งไปยังโรงไฟฟ้าบางปะกง ชุดที่ 5, โรงไฟฟ้าวังน้อย ชุดที่ 4 และโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ชุดที่ 4 โดยมีระยะเวลาการใช้แอลเอ็นจีประมาณ 13 วัน คือระหว่างวันที่ 22 เม.ย.-4 พ.ค.2563 เพื่อผลิตไฟฟ้า เสริมความมั่นคงในระบบไฟฟ้าของประเทศ

            และเมื่อใช้ก๊าซแอลเอ็นจีล็อตนี้แล้วเสร็จ กฟผ.จะรายงานผลการทดสอบการเปิดให้บุคคลที่สามเข้าใช้ หรือเชื่อมต่อระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติและสถานีแอลเอ็นจี หรือเติร์ด ปาร์ตี้ แอสเซส (TPA) ไปยัง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ต่อไป โดยคาดว่าการจัดหาแอลเอ็นจีของ กฟผ.ทั้ง 2 ลำเรือ จะส่งผลให้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงลดลงจากเดิมที่เคยประมาณการไว้เมื่อปลายปี 2562 ที่ 0.21 สตางค์ต่อหน่วย เป็นลดลง 0.42 สตางค์ต่อหน่วย หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 500 ล้านบาท

            ทั้งนี้ กฟผ.เองก็ได้ชงแผนการจัดหาแอลเอ็นจีล็อตใหม่ระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2563-2565 ซึ่งเป็นการนำเข้าแบบตลาดจร (สปอต) ตามปริมาณความต้องการก๊าซธรรมชาติของ กฟผ. ซึ่งในส่วนนี้เองอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงพลังงาน เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

            โดยการนำเข้าดังกล่าวยังเป็นการตอบสนองต่อนโยบายภาครัฐที่เร่งให้นำเข้าแอลเอ็นจี ในช่วงที่สถานการณ์ในตลาดโลกมีปริมาณมากกว่าความต้องการและมีราคาถูก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดหาเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า และเป็นแผนที่จะทำให้เกิดการแข่งขันเสรีในธุรกิจนำเข้าแอลเอ็นจีในอนาคตอีกด้วย

            ก็ถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี หากการดำเนินงานดังกล่าวนั้นเป็นไปได้ด้วยดี และส่งผลให้ราคานำเข้านั้นถูกลงได้จริงๆ ก็จะครอบคลุมไปถึงราคาขายปลีกก๊าซธรรมชาติในประเทศจะถูกลงด้วย รวมถึงราคาค่าไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซผลิตก็จะถูกลง ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้บริโภคในประเทศอย่างแน่นอน ซึ่งต้องมาติดตามดูว่าในอนาคตแผนการดำเนินงานดังกล่าวจะไปได้ถึงไหน และจะมีเอกชนเจ้าไหนบ้างที่จะเข้ามาดำเนินการ. 

ณัฐวัฒน์ หาญกล้า


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"