เช็งเม้ง...แบบร่วมสมัย 


เพิ่มเพื่อน    


    คนไทยเชื้อสายจีนที่เชื่อว่าปะปนอยู่มากกว่าครึ่งค่อนของประเทศนั้น ตระหนักรู้ถึงวันสำคัญของวันเช็งเม้งได้อย่างดี ว่าเป็นวันรวมญาติประจำปีอีกวัน จะแตกต่างจากวันตรุษจีนก็ตรงที่ การไหว้เช็งเม้งนั้นเขาจะไปรวมหมู่กันตามสุสานหรือสถานที่ไว้ศพของบรรพบุรุษ ไม่ใช่กราบไหว้กันที่บ้านเหมือนวันตรุษจีน
    วันที่ 5 เมษายนของทุกปี ถือเป็นวันเช็งเม้ง แต่ด้วยกาลเวลาและยุคสมัยที่เปลี่ยนไป การไหว้วันเช็งเม้งก็จะถือตามฤกษ์สะดวกของแต่ละครอบครัว ซึ่งมักจะเริ่มต้นก่อน 1 หรือ 2 สัปดาห์ แต่จะไม่เกินวันที่ 5 เมษายน  
    เวลาเปลี่ยน ชีวิตก็ต้องปรับ การปฏิบัติสำหรับวันเช็งเม้งก็จะไม่เหมือนแต่ก่อนแต่เก่า  เช่น ถือเอาวันที่ทุกคนว่างเป็นหลัก ไม่ใช่เอาวันเช็งเม้งเป็นหลัก บางบ้านก็ถือเอาวันที่การจราจรไม่แน่นขนัด เป็นต้น 
    อีกเรื่องก็คือ ของที่จะใช้เซ่นไหว้บรรพบุรุษนั้น จำได้ว่าตอนเด็กๆ ต้องจัดหนัก จัดเต็ม หมูเห็ดเป็ดไก่เพียบ และที่ขาดไม่ได้เด็ดขาดคือ หอยแครงลวก ซึ่งเมนูนี้ต้องกินกันสดๆ หน้าหลุมฝังศพหรือสุสานกันเลยทีเดียว ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ด้วยความเชื่อที่เล่าต่อๆ กันมาว่า อาหารการกินอุดมสมบูรณ์ที่เซ่นไหว้บรรพบุรุษ หมายความว่าครอบครัวของเราจะโชคดี มีลาภ ทำมาค้าขายร่ำรวย มีเหลือกินเหลือใช้
    แต่มาวันนี้ไม่ใช่แล้วค่ะ ทุกอย่างเอาความสะดวกของลูกหลานเป็นที่ตั้ง บางบ้านก็จัดอาหารแค่ 3 อย่าง 5 อย่าง จากเดิมที่เคยมีถึง 10 อย่างขึ้นไป บางคนก็จัดอาหารเจแทนหมูเห็ดเป็ดไก่ ด้วยแนวคิดว่าถือโอกาสนี้ละเว้นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต สร้างอานิสงส์ให้แก่บรรพบุรุษ 
    สิ่งที่คู่กับวันเช็งเม้งที่ลืมไม่ได้ ก็น่าจะเป็นบรรดาเครื่องไหว้ที่ทำจากกระดาษทั้งหลายค่ะ และสิ่งนี้นี่เองที่ทำให้ลูกหลานยุคใหม่สนุกสนานทุกครั้งที่ได้เห็นไอแพดทำจากกระดาษ กระเป๋าหลุยส์วิตตอง สมาร์ทโฟน รถยนต์สปอร์ต เสื้อผ้าแบรนด์เนม กระเป๋าเอกสาร และอื่นๆ อีกมากมายนอกเหนือจากเงินทอง เดี๋ยวนี้ยังมีใบหุ้นอีกต่างหาก (ไม่แน่ปีหน้าอาจจะมีบิตคอยน์จำหน่ายก็ได้)
    เมื่อก่อนเครื่องไหว้ทำจากกระดาษนี้ต้องจัดเพียบจัดเต็มแบบยกบ้าน ยกคอนโดฯ ใส่รถไปเซ่นไหว้กันทีเดียว แต่วันนี้ แค่ร่วมสมัยเล็กๆ น้อยๆ เลือกเฉพาะสิ่งของที่คิดว่าจำเป็นแบบชิ้นเล็กชิ้นน้อยเท่านั้น ซึ่งผู้ขายก็อินเทรนด์นำเสนอแอคเซสเซอรีที่นำสมัยทุกปีเลยทีเดียว
    จำได้ว่าไปเช็งเม้งทุกปี มีขาดอยู่สักครั้งสองครั้งตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นประถมปีที่ 6 มองเห็นความเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา ซึ่งก็น่าจะมาจากการความรู้ในโลกกว้าง ทำให้ทัศนคติหรือค่านิยมของคนยุคนี้เปลี่ยนไป และตอนนี้ที่เห็นชัดเจนมากขึ้นคือ การจับจองซื้อฮวงซุ้ยแบบผืนดินใหญ่จุได้อย่างน้อย 2 คน ที่มักจะซื้อเผื่อกันไว้ระหว่างสามีภรรยา พ่อแม่ ปู่ย่านั้น ยุคสมัยเปลี่ยนกลายเป็นการจับจองเป็นเจดีย์ที่กินพื้นที่แนวตั้งมากกว่าแนวนอน ประหยัดได้มากกว่า และร่วมสมัยในการเลือกที่จะเผาศพมากกว่าฝัง
    แต่เพื่อให้คงความเป็นประเพณีแบบจีน เขาก็สร้างเจดีย์สไตล์จีนให้ลูกหลานนำเถ้ากระดูกมาฝังค่ะ 
    ฉะนั้นไม่ว่าจารีตประเพณีอะไรก็ปรับเปลี่ยนได้ด้วยเราเอง ใครที่ถือนั่นถือนี่ ปล่อยวางบ้างก็จะเบาตัวเบาใจนะคะ.
                                        "ป้าเอง"     


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"