เร่งแผนฟื้นฟู‘บินไทย’ บิ๊กตู่ลั่นโอกาสสุดท้าย


เพิ่มเพื่อน    

 นายกฯ ระบุแผนฟื้นฟูการบินไทยยังไม่เข้า ครม. ซัดให้เวลาปรับโครงสร้าง 5 ปีแล้วยังเหลว ลั่นให้โอกาสครั้งสุดท้าย ดักคอสหภาพต่างๆ ต้องร่วมมือเพราะเป็นความเป็นความตายพวกท่าน  รมว.คมนาคมเผย "คนร." ยังไม่มีมติอย่างเป็นทางการ กำชับแผนฟื้นฟูต้องชัดเจนนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง "อุตตม" ยันการบินไทยจะมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจเหมือนเดิม แต่สัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังจะมีการเปลี่ยนแปลง

    พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 พ.ค.63 ถึงแผนฟื้นฟูบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จำนวนแสนล้านบาทว่า เป็นเรื่องของกระทรวงคมนาคม และคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่จะเสนอมา  เพราะอยู่ในเรื่องของรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลต้องฟื้นฟูอยู่แล้ว ซึ่งใช้เวลามานานหลายปีพอสมควร และนี่เป็นโอกาสสุดท้ายที่เราจะดูแลตรงนี้ไม่ให้แย่ไปกว่านี้ เพราะมันค่อนข้างยากที่จะมีการปรับทั้งในองค์กร  บุคลากร ปรับโครงสร้างต่างๆ ทั้งหมด ซึ่งคณะกรรมการผู้บริหารและสหภาพแรงงานทุกคนต้องร่วมมือกัน ถ้าท่านยังคงไม่ปฏิบัติตามก็จะเกิดปัญหาและลำบากไปกว่านี้ เมื่อถึงเวลาก็มีกฎหมายทุกตัว เมื่อเข้าเกณฑ์ตรงนั้นก็ต้องไปตรงนั้น รัฐบาลก็เข้าไปดูแลไม่ได้ นี่คือสิ่งที่เป็นเหตุผลและความจำเป็น
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า วันนี้มีประมาณ 10 ประการที่เป็นแผนงานฟื้นฟู ก็ต้องทำให้ได้ ฉะนั้นการที่จะให้เงินกู้หรืออะไรต่างๆ ไป ไม่ใช่ให้ไปแล้วใช้จนหมด แล้วทุกอย่างก็ยังเป็นเหมือนเดิม ฉะนั้นครั้งนี้ท่านต้องปรับโครงสร้างทั้งหมด ตนไม่ได้อยากไปก้าวล่วงอำนาจของใครทั้งสิ้น เพราะมีกฎหมายของท่านอยู่ วันนี้ต้องหามาตรการที่มีความเหมาะสม ในเรื่องของรัฐวิสาหกิจที่มีหลายส่วนเกี่ยวข้องกับการบินเหล่านี้ ก็ขอให้ติดตามความก้าวหน้าต่อไป วันนี้ยังไม่นำเข้า ครม. ตนพยายามชี้แจงให้เกิดความชัดเจน แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือความร่วมมือ 
    "ผมขอร้องบรรดาลูกจ้าง พนักงานของการบินไทยทุกคนต้องร่วมมือกัน ไม่อย่างนั้นไปไม่ได้แน่นอน และมีเหตุผลความจำเป็นต้องมีการบินไทยอยู่ ส่วนในเรื่องของการขายตั๋ว การจัดตั้งตำแหน่งต่างๆ การลดรายจ่ายต่างๆ ที่เกินความจำเป็นต้องนำมาแก้ไขทั้งหมด" นายกฯ กล่าวและว่า "ผมให้เวลาไปแก้ไข 5 ปีแล้วก็ยังไม่สำเร็จ ฉะนั้นครั้งนี้ก็ถือว่าเป็นครั้งสุดท้ายที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการให้ได้ตามนั้น ก็ต้องขอความร่วมมือจากบรรดาสหภาพต่างๆ ด้วย เพราะนั่นคือความเป็นความตายของท่าน  อันนี้ก็ขอฝากไว้ด้วยและขอให้ทำความเข้าใจด้วย" นายกฯ กล่าว
    ขณะที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากกรณีที่แผนฟื้นฟูของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติ ยังไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในวันที่ 5 พ.ค.นั้น เนื่องจากมติของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ยังไม่ได้จัดส่งมายังกระทรวงคมนาคม ขณะเดียวกันกระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับปรุงแผนฟื้นฟู การบินไทยให้มีความชัดเจนมากขึ้น ให้เป็นลักษณะของแผนปฏิบัติการ (action plan) ที่จะนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง
    อย่างไรก็ตาม ได้มอบหมายให้นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม และนายชยธรรม์  พรหมศร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ร่วมกันดูรายละเอียดของแผนฟื้นฟูการบินไทยที่มีการปรับปรุง ก่อนที่จะนำเสนอให้กระทรวงคมนาคมสรุปผลอย่างเป็นทางการแล้วนำเข้า ครม.อีกครั้งหนึ่ง
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับแผนฟื้นฟูของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) นั้น พบว่าไม่มีแผนการสร้างรายได้ในอนาคตที่ชัดเจน, แผนการบริหารหนี้, แผนรายจ่ายที่จะต้องดำเนินการตามกรอบเวลาให้เห็นภาพที่ชัดเจน ขณะเดียวกันตามแผนยุทธศาสตร์ที่จะดำเนินการทุกข้อของการบินไทย มีการระบุว่าล้วนมีความเสี่ยงในทุกแผนการดำเนินงาน ดังนั้นจึงทำให้มีข้อกังวลว่า หากแผนมีการดำเนินการและเกิดความเสี่ยงขึ้น การที่ภาครัฐบาลใส่เม็ดเงินเข้าไปช่วยเหลือจะเป็นการสูญเปล่าหรือไม่
    นอกจากนี้ ในแผนฟื้นฟูที่การบินไทยทำมาก็ไม่มีการวิเคราะห์ถึงผลกระทบของการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ว่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินต่อไปอย่างไรบ้าง และไม่มีการประเมินเปรียบเทียบ หรือหากระยะเวลาการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 จะยุติในระยะสั้น หรือยืดเยื้อในอนาคต ต้องใช้เงินในการฟื้นฟูเท่าไหร่ หรือหากการแพร่ระบาดผ่านพ้นไปแล้ว การบินไทยจะมีแผนการสร้างรายได้จากธุรกิจที่มีอยู่ หรือจัดตั้งเป็นหน่วยธุรกิจ และมีพันธมิตรที่จะมาร่วมดำเนินการเพื่อต่อยอดธุรกิจเพิ่มเติมอย่างไรบ้าง ซึ่งแผนทั้งหมดเห็นได้ว่าไม่มีความชัดเจนที่จะแก้ไขปัญหาและสร้างรายได้ให้กลับมา 
    อย่างไรก็ตาม ในส่วนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคม ก็พร้อมที่จะเข้าไปช่วยเหลือเพื่อให้การบินไทยกลับมาเป็นสายการบินแห่งชาติที่ยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง แต่การบินไทยเองก็ต้องช่วยเหลือตัวเองที่จะรักษาองค์กรให้เดินหน้าต่อไปได้ร่วมกัน ไม่ใช่นึกถึงแต่ประโยชน์เฉพาะหน้าของตัวเองเป็นหลัก
    ด้านนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวยืนยันว่า แผนการฟื้นฟูบริษัท  การบินไทย จำกัด (มหาชน) ในครั้งนี้ยังไม่มีการพูดถึงเรื่องลดจำนวนพนักงาน การจำหน่ายตั๋วโดยสาร และการจัดซื้อจัดจ้าง กระทรวงการคลังไม่ได้เข้าไปแตะต้อง เพราะเรื่องเหล่านี้การบินไทยต้องดูแลตัวเองให้ดี โดยยืนยันว่าการบินไทยยังมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจเหมือนเดิม แม้สัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังในการบินไทยอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงบ้าง
    ทั้งนี้ ยอมรับว่าปัญหาของการบินไทยไม่ได้มีข้อเสียทั้งหมด ยังมีข้อดีอยู่บ้าง เช่น การให้บริการภาคพื้น (Ground Service), การบริการด้านอาหารของครัวการบินไทย และการซ่อมบำรุง เป็นต้น ดังนั้น การแก้ปัญหาในครั้งนี้กระทรวงการคลังต้องจัดการให้เรียบร้อย รอบคอบ มีประสิทธิภาพ และเห็นผลอย่างชัดเจน
    "ขณะนี้เป็นเวลาสำคัญที่การบินไทยต้องปรับตัว เพราะการบินไทยมีสถานะเหมือนกับสายการบินอื่นๆ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และก่อนหน้านี้การบินไทยเองก็มีปัญหาเรื่องผลการดำเนินงานอยู่แล้ว ดังนั้นในครั้งนี้ต้องแก้ปัญหาให้เรียบร้อย" นายอุตตมกล่าว
    อย่างไรก็ตาม ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 พ.ค.63 ยังไม่ได้มีการเสนอแผนพื้นฟูการบินไทยเข้าสู่การพิจารณา เนื่องจากอยู่ระหว่างดำเนินการของกระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคม ส่วนวงเงินกู้ที่ต้องการใช้อีก 50,000 ล้านบาทนั้น เป็นความต้องการใช้เงินของการบินไทย ไม่ใช่ตัวเลขที่กระทรวงการคลังกำลังพิจารณา.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"