งวดแรก15พ.ค. เกษตรกรรับ5พัน


เพิ่มเพื่อน    

  ปลัด ก.เกษตรฯ ชงชื่อเกษตรกร 8.3 ล้านให้คลังเช็กไม่ให้ซ้ำซ้อนแล้ว ลั่น 15 พ.ค.เริ่มจ่ายเงินงวดแรกถึงมือแน่ ชาว อ.นาทม จ.นครพนม สุดช้ำ ไปขอเยียวยาเราไม่ทิ้งกันก็ถูกเอไอตีตก ไปขึ้นทะเบียนเกษตรกรก็เจอบอกไม่ใช่ทายาท ไม่อัพเดตสมุดเขียว 

    เมื่อวันพุธที่ 6 พฤษภาคม ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา  2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) แถลงถึงโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า ขณะนี้มีเกษตรกรขึ้นทะเบียนกับทุกหน่วยงาน 7 ฐานข้อมูล รวมจำนวน 8.3 ล้านคน ซึ่งกระทรวงได้ส่งให้กระทรวงการคลังตรวจสอบไม่ให้ข้อมูลของผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือเกิดความซ้ำซ้อนจากมาตรการอื่นๆ ของภาครัฐ เช่น โครงการเราไม่ทิ้งกัน คาดว่าจะส่งรายชื่อเกษตรกรชุดแรกให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ขึ้นเว็บไซต์ เพื่อโอนเงินให้เกษตรกรผ่านบัญชีธนาคาร และเริ่มจ่ายเดือนละ 5,000 บาทได้ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค.นี้ โดยจะจ่ายเงินช่วยเหลือ 3 เดือนในช่วง พ.ค.-ก.ค.63
    หากเกษตรกรไม่มีบัญชีของ ธ.ก.ส.สามารถแจ้งบัญชีของธนาคารที่มีอยู่ และขอเชิญชวนให้เกษตรกรมาปรับปรุงทะเบียน และผู้ที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนให้มาขึ้นทะเบียนได้จนถึงวันที่ 15 พ.ค. โดยคาดว่าจะมีอีกกว่า 1 ล้านคน โดยกรมส่งเสริมการเกษตรเปิดให้เกษตรกรสามารถขึ้นทะเบียนกับผู้นำท้องถิ่น หรืออาสาสมัครเกษตรในหมู่บ้าน ไม่จำเป็นต้องไปถึงเกษตรอำเภอ และสามารถมอบอำนาจซึ่งกันและกันได้ โดยให้ผู้นำท้องถิ่นรับรอง เพื่อรวบรวมส่งรายชื่อให้เกษตรอำเภอ” นายอนันต์กล่าว
    ด้านนายปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า  ในส่วน พม.ได้ดำเนินการมาตรการต่างๆ ของกระทรวงตามที่ได้แจ้งไปแล้ว อาทิ ลดค่าเช่าบ้านมั่นคงของการเคหะแห่งชาติ, ลดดอกเบี้ยกองทุนกู้ยืมต่างๆ ทั้งผู้พิการ ผู้สูงอายุ และลดดอกเบี้ยเป็นพิเศษร้อยละ 0.125 ในส่วนของโรงรับจำนำของรัฐ รวมถึงขยายเวลาไถ่ถอนออกไป รวมถึงเงินของคนพิการ  1,000 บาทที่ครอบคลุมคนพิการทุกประเภท โดยไม่ต้องมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) จะได้ทุกคนประมาณ 2 ล้านคน  
“การดูแลคนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะที่ผ่านมา พม.พยายามชักชวนให้มาอยู่ในสถานที่ดูแลของกระทรวง ซึ่งในส่วนของ กทม.มีกลุ่มคนดังกล่าวเข้ามาอยู่ในการดูแลประมาณ 200 คน และต่างจังหวัดอีก 400-500 คน แต่ยังมีกลุ่มที่สะดวกจะอยู่ข้างนอก ซึ่งเราได้แจกหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ  อาหาร และให้ความรู้ในการดูแลตัวเอง ซึ่งจะช่วยให้คนกลุ่มนี้ปลอดภัย” นายปรเมธีกล่าว
     สำหรับบรรยากาศที่สำนักงานเกษตรอำเภอหาดใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่ภายในที่ว่าการอำเภอหาดใหญ่ แม้ว่าเป็นวันหยุดราชการ แต่ก็ยังคงเปิดบริการให้เกษตรกรทั้งรายใหม่และรายเก่าไปขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเช้า เพื่อให้เสร็จก่อนวันที่ 15 พ.ค. และไม่ให้ตกหล่นในการรับเงินเยียวยาจากรัฐบาลเดือนละ 5,000 บาท รวม 3 เดือน ขณะที่เกษตรกรอีกส่วนหนึ่งก็เดินทางมารับสมุดเกษตรกร ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ทำเสร็จแล้วเพื่อรอรับเงิน 5,000 บาทที่กำลังจะเข้ามา โดยเกษตรกรพอใจมากกับมาตรการช่วยเหลือ โดยเฉพาะกลุ่มชาวสวนยาง ซึ่งขณะนี้ยางพาราได้รับผลกระทบ เพราะเป็นช่วงหน้าแล้งที่ปริมาณน้ำยางมีน้อย รายได้ลดลง และต้องเผชิญกับวิกฤติโควิด-19
8 พ.ค.เร่งโอนเงิน
    ด้านนายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวถึงมาตรการเยียวยา 5,000 บาท ว่ามีผู้ผ่านเกณฑ์แล้ว 12.8 ล้านราย โดยเป็นกลุ่มผ่านเกณฑ์การคัดกรองตั้งแต่รอบแรก 4.4 ล้านราย กลุ่มที่ขอข้อมูลประกอบอาชีพเพิ่ม 5 ล้านราย และกลุ่มที่ขอทบทวนสิทธิ์อีก 3.3 ล้านราย ซึ่งผู้ที่ได้รับสิทธิ์ 11 ล้านราย กระทรวงจะเร่งโอนเงินให้ภายในวันที่ 8  พ.ค. ส่วนที่เหลืออีก 1.8 ล้านรายจะดำเนินการให้แล้วเสร็จในสัปดาห์หน้า
    ส่วนนายกษาปณ์ เงินรวง รองผู้จัดการ ธ.ก.ส.กล่าวภายหลังลงพื้นที่พร้อมกับพนักงาน ธ.ก.ส.ที่ปฏิบัติหน้าที่ผู้พิทักษ์สิทธิ ณ วัดหนองจอก เขตมีนบุรี และสาขาบางเขน ว่า ธ.ก.ส.ได้รับยอดให้สอบทานสิทธิ์ 2 ครั้ง รวม 54,819 ราย และได้ดำเนินการยืนยันตัวตนผู้ขอทบทวนไปแล้วกว่า 83% ซึ่งล่าสุดมีตัวเลขเพื่อร่วมตรวจสอบสิทธิ์เพิ่มอีก 36,841 ราย รวมจำนวน 91,660 ราย ซึ่ง ธ.ก.ส.จะเร่งตรวจสอบข้อมูลทั้งหมด โดยมอบหมายให้พนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ผู้พิทักษ์สิทธิทั่วประเทศกว่า 8,000  รายออกไปตรวจสอบข้อมูลถึงในพื้นที่ โดยไม่เว้นวันหยุดราชการ พร้อมกำหนดจุดนัดหมายที่สามารถอำนวยความสะดวกทั้งผู้ขอทบทวนสิทธิ์และการสอบทานของเจ้าหน้าที่ ควบคู่กับการยึดหลักการบริหารจัดการตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม โดยคาดหมายว่าจะแล้วเสร็จภายใน 17 พ.ค.หรือเร็วที่สุดตามที่ สศค.กำหนด
    ผู้สื่อข่าวได้รับการร้องทุกข์จากนายชัยพิชิต ลากลาง อายุ 40 ปี บ้านเลขที่ 190 และนางแสงจันทร์  ศรีนาทม อายุ 48 ปี บ้านเลขที่ 49 หมู่ที่ 9 บ้านเทพนิมิต ต.หนองซน อ.นาทม จ.นครพนม ถึงกรณีรัฐบาลให้ลงทะเบียนเพื่อรับความช่วยเหลือผ่านเว็บไซต์เราไม่ทิ้งกัน แต่ถูกระบบ AI ตัดสิทธิ์ โดยแจ้งว่าเป็นเกษตรกรจึงนำสมุดเล่มเขียวเกษตรกรไปขออัพเดตข้อมูลเพื่อให้ได้สิทธิ์รับเงินเยียวยา แต่เมื่อมาถึงสำนักงานเกษตร อ.นาทม ก็ได้รับคำตอบจากเจ้าหน้าที่ว่าไม่สามารถขอขึ้นทะเบียนได้ เนื่องจากขาดการติดต่อนานกว่า 2 ปี จึงไม่รู้ว่ารัฐจะให้ตนเองยืนอยู่ตรงไหนเพื่อมีสิทธิ์รับเงินช่วยเหลือ
คนนครพนมสุดมึน
         “พ่อได้ที่ดิน ส.ป.ก. 1 แปลง ปลูกยางพาราเต็มพื้นที่ หลังเสร็จจากกรีดยางก็จะรับจ้างทั่วไป เมื่อรัฐประกาศให้เงินเยียวยา 5 พันบาท จึงลงทะเบียนตามขั้นตอน ภายหลังรับ SMS ว่าเป็นเกษตรกรจึงมาใช้สิทธิ์ดังกล่าวขอรับเงินเยียวยา แต่กลับถูกปฏิเสธจากเจ้าหน้าที่” นายชัยพิชิตกล่าว 
         นางแสงจันทร์กล่าวเช่นกันว่า ปลูกยางพารา ทำนา และเลี้ยงปลาเป็นอาชีพเสริม ทำกินบนที่ดิน  ส.ป.ก.เช่นเดียวกัน แต่เป็นชื่อของญาติที่ขอเช่าทำกิน ทุกปีจะไปเสียภาษีเข้ารัฐไม่ได้ขาด พร้อมแสดงหลักฐานใบเสร็จรับเงินประกอบ 
         ต่อมาผู้สื่อข่าวเดินทางไปสำนักงานเกษตร อ.นาทม ไม่พบนายวิชา คำมุงคุณ หัวหน้าสำนักงาน มีเพียงพนักงาน 2 คน โดยชี้แจงว่าประมาณปี 2558 กระทรวงเกษตรฯ ได้ให้เกษตรกรไปขึ้นทะเบียนเพื่อรับเงินชดเชยราคายางตกต่ำ ต่อมาได้เพิ่มเงื่อนไขมาว่าผู้ที่มีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยาต้องเป็นผู้มีรายชื่อในที่ดิน ส.ป.ก. และเป็นผู้ประกอบกิจกรรมการเกษตรในที่ ส.ป.ก. จึงมีสิทธิ์ยื่นขึ้นทะเบียนเท่านั้น ในกรณีที่ผู้มีชื่อในที่ดิน ส.ป.ก.ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเกษตรกร อนุโลมให้เป็นคู่สมรสและบุตรของเจ้าของพื้นที่ ส.ป.ก.ที่อยู่ในครัวเรือนเกษตรกรเดียวกันถึงจะขึ้นทะเบียนได้ กรณีนายชัยพิชิต แม้เป็นลูกผู้ครอบครองที่ดิน ส.ป.ก. แต่แยกครอบครัวออกไปอยู่ทะเบียนบ้านหลังใหม่ จึงไม่ได้อยู่ในครัวเรือนเดียวกัน เลยไม่ได้รับสิทธิ์ในฐานะทายาท หรือนางแสงจันทร์ก็เช่าเจ้าของพื้นที่ตัวจริง และตรวจสอบแล้วพบว่าเจ้าของพื้นที่ ส.ป.ก.ทั้งสองแปลงได้สิทธิ์รับเงินเยียวยาครบถ้วน 
         นางสุกัญญา ลากลาง อายุ 35 ปี ภรรยาของนายชัยพิชิตกล่าวเพิ่มเติมว่า ได้รับเงินเยียวยา 5 พันบาทเพราะไม่ได้เป็นเกษตรกร และลงทะเบียนเป็นผู้รับจ้างทั่วไป ซึ่งตามหลักความจริงการทำเกษตรในลักษณะนี้มีจำนวนมาก หากรัฐกำหนดเงื่อนไขว่าต้องเป็นเจ้าของพื้นที่ ส.ป.ก.หรือทายาทในครอบครัวเดียวกันเท่านั้น ก็ต้องมีผู้ถูกตัดสิทธิ์ทั่วประเทศอีกเป็นจำนวนมาก อยากให้รัฐมองถึงจุดนี้ด้วย เช่น กรณีของสามีก็ได้รับการแบ่งแยกจากผู้เป็นพ่อจริง แต่ยังไม่ได้ทำนิติกรรมทางกฎหมาย ผู้ใหญ่บ้านก็เซ็นรับรองครบถ้วน พอมายื่นที่เกษตรอำเภอก็ไม่ยอมให้ขึ้นทะเบียน 
“อยากถามรัฐว่าเป็นผู้รับจ้างทั่วไป AI ก็บอกว่าเป็นเกษตรกร พอถือสมุดเล่มเขียวมายืนยันเจ้าหน้าที่ก็ไม่ยอมรับ แล้วจะให้เราไปเป็นอะไรถึงจะได้เงินเยียวยา 5 พันบาท” นางสุกัญญากล่าว 
         ต่อมานายวิชาให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ว่า รัฐไม่ได้กีดกันไม่ให้เกษตรกรขึ้นทะเบียนเพื่อรับเงินเยียวยา แต่มีเกษตรกรบางคนหลังรับสมุดเล่มเขียวยืนยันตัวว่าเป็นเกษตรกรแล้ว ไม่ยอมมาอัพเดตข้อมูลประจำปี อย่างกรณีทั้งสองรายหลังได้เงินชดเชยยางพาราเมื่อปี 2558 ก็ไม่มาติดต่ออีกเลย ซึ่งเลยระยะเวลา 3 ปี จะถูกตัดสิทธิ์โดยอัตโนมัติ
         นายชัยพิชิตและนางแสงจันทร์แย้งว่า พวกตนเองและชาวบ้านอีกไม่น้อยกว่า 100 ครัวเรือน ส่วนมากจะเช่าที่ดิน ส.ป.ก.หรือรับช่วงต่อจากพ่อแม่ แต่ไม่ทราบเงื่อนไขว่าถ้าแยกตัวออกจากทะเบียนบ้านจะถูกตัดสิทธิ์นั้น ไม่ทราบจริงๆ และผู้ใหญ่บ้านก็ไม่เคยประกาศเรื่องแบบนี้ให้ชาวบ้านรู้ แต่กลับมาบอกพวกตนว่าไม่ต้องเอาสมุดเล่มเขียวไปอัพเดตข้อมูลให้ยุ่งยาก เพราะถึงอย่างไรก็ไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลืออะไรจากรัฐ ตลอดกว่า 3 ปีพวกตนจึงไม่ได้มาเช็กสิทธิ์ใดๆ เพราะเชื่อผู้ใหญ่บ้าน
เตือนพิธาอย่าถูกจูงจมูก
นายจาตุรันต์ บุญเบ็ญจรัตน์ โฆษกพรรคพลังธรรมใหม่ กล่าวถึงกรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ยื่นญัตติด่วนขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้ง กมธ.วิสามัญติดตามตรวจสอบการใช้งบประมาณและมาตรการแก้ไขปัญหาภายใต้วิกฤติการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้นว่า ทำถูกทางเเละเหมาะสมในการทำหน้าที่ ส.ส.ในเวทีสภา และควรใช้เวทีนี้ตรวจสอบอย่างสร้างสรรค์
    “การใช้งบประมาณแผ่นดินในการแก้ไขปัญหา ไม่ให้งบประมาณรั่วไหลต้องตรวจสอบได้ มีที่มาที่ไป เป้าหมายสำคัญคือต้องถึงมือประชาชนที่กำลังเผชิญวิกฤติ ซึ่งสมควรต้องได้รับการเยียวยาในสภาวะปัจจุบันอย่างเร่งด่วน อีกทั้งรัฐบาลยังต้องเตรียมแผนฟื้นฟูประเทศชาติในอนาคตหลังหมดวิกฤติไวรัสโควิด-19 ดังนั้นการเสนอตั้ง กมธ.วิสามัญชุดนี้ขึ้นมาจากฝ่ายค้าน เห็นว่ามีเหตุผลเพียงพอและมีความจำเป็น ไม่น่าจะมีอะไรเสียหาย รัฐบาลไม่ต้องกังวล” โฆษกพรรคพลังธรรมใหม่กล่าว
    นายจาตุรันต์กล่าวต่อว่า ถ้านายพิธาต้องการใช้ กมธ.วิสามัญมาร่วมแก้ปัญหาประเทศชาติจริงๆ  นายพิธาต้องยึดใช้เวทีสภาแก้ปัญหาร่วมกันให้ประเทศชาติ และต้องระวังอย่าให้คนนอกพรรค ทั้งนายปิยบุตร แสงกนกกุล และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่อาจหวังใช้เวที กมธ.คณะนี้ล็อกเป้าโจมตีทำลายล้างทางการเมือง เพราะถ้าสามารถพิสูจน์ได้ว่านายธนาธรและนายปิยบุตรซึ่งถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเข้ามาครอบงำพรรคและตัวนายพิธา จะสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ ชะตากรรมพรรคก้าวไกลคงไม่ต่างจากพรรคอนาคตใหม่
    “อยากฝากถึงพี่น้องประชาชน อย่าหลงไปเป็นเหยื่อความแค้นของนายธนาธรและนายปิยบุตร  เพราะหลังวิกฤติโควิด-19 คลี่คลาย คนไทยควรหันหน้าเข้าสู่ความร่วมมือร่วมใจในการร่วมฟื้นฟูประเทศชาติ ในทางที่ตนเองสามารถช่วยเหลือได้คนละเล็กละน้อยจะเหมาะสมกว่า” นายจาตุรันต์กล่าว.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"