ทำโพลเช็กเลิกพรก. บิ๊กตู่สั่งกอ.รมน.สำรวจ‘สธ.’ผวาปชช.การ์ดตก


เพิ่มเพื่อน    

  สะพัด! บิ๊กตู่สั่งทำโพลสำรวจยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินดีหรือไม่ หลังใช้กว่า 1 เดือนแล้วเริ่มมีเสียงสะท้อน ศบค.แถลงพบผู้ป่วยเพิ่ม 5 ราย ไม่นับภูเก็ตอีก 4 คน โฆษก ศบค.ยกบทเรียนเกาหลีใต้มีผู้ติดเชื้อใหม่พุ่งสูงขึ้นจึงต้องเข้มข้นตลอด การ์ดตกไม่ได้ เล็งใช้แอปฯ ติดตามตัวมาช่วย ระบุโรงหนังไม่อยู่ในการผ่อนปรนระยะ 2 สธ.ห่วงประชาชนเริ่มการ์ดตก ออกจากบ้านโดยไม่สวมหน้ากากอนามัย ยังพบผู้ป่วยรายใหม่สะท้อนการระบาดรอบ 2 เกิดได้ตลอดเวลา 

    ที่ทำเนียบรัฐบาล เวลา 11.30 น. วันที่ 10 พฤษภาคม นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า สถานการณ์ของประเทศไทย มีผู้ป่วยรายใหม่ 5 ราย ยอดผู้ป่วยสะสม 3,009 ราย ใน 68 จังหวัด ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม หายป่วยสะสม 2,794 ราย อยู่ระหว่างรักษา 159 ราย โดยผู้ติดเชื้อรายใหม่ 5 ราย ได้แก่ กลุ่มผู้ป่วยจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้านี้ 2 ราย เป็นหญิงไทยอายุ 44 ปี ภูมิลำเนา กทม. โดยมีอาการไอ ถ่ายเหลว ในวันที่ 5 พ.ค. และชายไทย อายุ 80 ปี ภูมิลำเนา จ.นราธิวาส กลุ่มเดินทางกลับจากต่างประเทศ และเข้า State Quarantine 3 ราย เป็นหญิงไทย อายุ 41 ปี กลับมาจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ วันที่ 2 พ.ค. เป็นชายอายุ 26 ปี และอายุ 27 ปี เป็นนักศึกษากลับจากประเทศปากีสถาน วันที่ 7 พ.ค. มีอาการป่วยขณะพักที่ State Quarantine และยังไม่รวมผู้ป่วยรายใหม่ตามกระแสข่าวที่ระบุว่าพบที่ จ.ภูเก็ตอีก 4 ราย เพราะตัวเลขยืนยัน 5 ราย เป็นตัวเลขที่พบเมื่อวันที่ 9 พ.ค. ส่วนตัวเลข 4 ราย ผลตรวจเพิ่งออกมาเมื่อเช้าวันนี้ จึงยังไม่นำมานับรวม
    นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ขณะที่สถานการณ์ทั่วโลกมีผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 4,100,778 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 280,432 ราย และในส่วนประเทศเกาหลีใต้ ที่ได้รับการชื่นชมถึงการตรวจหาผู้ติดเชื้อ แต่เมื่อเขามีผู้ป่วยรายใหม่ จนตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งสูงขึ้น ทำให้เขาต้องปรับระบบจากการตรวจแบบปูพรม มาผสมกับการตรวจแบบจำเพาะเจาะจงเป็นบางกลุ่ม ซึ่งหลายประเทศก็ดำเนินการ ของประเทศไทยก็ไม่ต่างกัน 
    “ดังนั้น เราจึงต้องเข้มข้นเสมอ การ์ดตกไม่ได้ ขอภาวนาให้เกาหลีใต้ควบคุมโรคให้ได้ และต่อไปนี้เราต้องให้ความสำคัญเกี่ยวกับการติดตามตัวบุคคลเหมือนเช่นเกาหลีใต้ที่ต้องติดตามตัวบุคคลถึงกว่าพันคน จึงต้องใช้แอปพลิเคชันเข้ามาช่วย เหมือนจีนที่ประสบความสำเร็จในการติดตามตัวบุคคล ซึ่งเรื่องดังกล่าวปรากฏในข้อกำหนดที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หลักการนี้ขอความร่วมมือประชาชน เพราะการผ่อนคลายในระยะที่ 2 ต้องให้ความสำคัญกับตรงนี้”
    โฆษก ศบค.กล่าวว่า สำหรับมาตรการด้านความมั่นคงในช่วงเคอร์ฟิว คืนวันที่ 9 พ.ค. ต่อเนื่องวันที่ 10 พ.ค. มีผู้ออกนอกเคหสถาน 677 ราย เพิ่มขึ้น 37 ราย ชุมนุมมั่วสุม 147 ราย เพิ่มขึ้น 89 ราย สาเหตุหลักของการชุมนุมมั่วสุมคือเรื่องการดื่มสุรา ที่พุ่งขึ้นมาถึง 69 เปอร์เซ็นต์ ที่เรียกร้องให้มีการเปิดขายสุราอย่างเสรีนั้น ทุกท่านต้องอย่าทำผิดกฎหมาย เพราะการดื่มสุราเสี่ยงต่อการนำเชื้อเข้าครอบครัว เวลาดื่มไม่ได้ใส่หน้ากากกันแน่นอน การติดเชื้อในผับในพื้นที่ กทม.ก็มาจากการตั้งวงดื่มสุรา ขณะที่ผลสำรวจการปฏิบัติตามมาตรการผ่อนคลายเมื่อวันที่ 9 พ.ค. มีการสำรวจทั้งสิ้น 16,831 กิจการ/กิจกรรม ภาพรวมมีผู้ไม่ปฏิบัติตามมาตรการ 3.73 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากกว่าวันก่อน จากการสอบถามสาเหตุจากหน่วยงานด้านความมั่นคง ก็ระบุว่ามาจากการที่ตนประกาศให้ประชาชนแจ้งเบาะแสผู้ไม่ปฏิบัติตามมาตรการ ซึ่งต้องชื่นชมที่ทุกคนให้ความร่วมมือ จากนี้ก็ขอให้ทุกกิจการและกิจกรรมปรับตัวให้ตรงกับมาตรการ
โรงหนังยังไม่ผ่อนปรน
    เมื่อถามว่า การคลายล็อกระยะ 2 ที่ให้เปิดห้าง จะเปิดในส่วนของโรงภาพยนตร์ด้วยหรือไม่ นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ในส่วนของโรงภาพยนตร์ ต้องรอการประชุมของ ศบค.ชุดใหญ่ เพราะกิจการกิจกรรมต่างๆ ยังไม่กำหนดว่าชุดไหนจะได้รับการผ่อนปรนในระยะที่ 2, 3 และ 4 เราจะดูถึงความเสี่ยงของการติดโรคเป็นหลัก ซึ่งในส่วนของโรงภาพยนตร์นั้น ยังไม่เห็นในการผ่อนปรนระยะที่ 2 ส่วนกรณีที่ตนระบุว่าจะมีการเปิดห้างวันที่ 14-15 พ.ค.นี้ จะเป็นเพียงการออกแบบวิธีการเท่านั้น เพราะ ศบค.ชุดเล็กไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ ไม่สามารถเลือกพื้นที่ทดลองได้ ต้องรอข้อสรุปจาก ศบค.ชุดใหญ่ที่จะมีการประชุมกันวันที่ 15 พ.ค.นี้ และวันนี้ทุกห้างก็เปิดบริการกันอยู่ เพียงแต่เปิด 20 เปอร์เซ็นต์ในบางกิจการ/กิจกรรม ในการผ่อนคลายเพิ่มเติมก็จะขยายมาเปิดเป็น 30-50 เปอร์เซ็นต์ ตรงนี้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมได้ว่าอยากให้เปิดตรงไหนอย่างไร โดยการเข้าไปกรอกแบบสอบถามของศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง
    เมื่อถามว่า มีพื้นที่ไหนต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษเหมือน จ.ภูเก็ตก่อนหน้านี้ นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า พื้นที่ จ.ภูเก็ตยังเป็นพื้นที่ที่ต้องจับตาอยู่ตลอด การรายงานผู้ป่วยใหม่อย่างไม่เป็นทางการก็มีเข้ามาอีก 4 คน ก่อนหน้านี้ก็มีผู้เดินทางออกจากภูเก็ต 1-2 หมื่นคน ซึ่งเป็นรายงานที่ถูกปิดเมืองมาเกิน 14 วัน ก็ขอฝากให้ทุกคนช่วยกันดูแลตัวเอง และตอนนี้จะระบุพื้นที่ควบคุมพิเศษไม่ได้ เพราะเราให้ความสำคัญในแต่ละกลุ่มบุคคล อาทิ บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ต้องขังแรกรับ ผู้ขับขี่รถสาธารณะ อาชีพเสี่ยง และผู้ประกอบอาชีพเสี่ยง
    มีรายงานข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะหัวหน้าศูนย์บริหาร ศบค. และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เตรียมจัดทำโพลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ภายหลังประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินมากว่า 1 เดือน เพื่อดูผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของประชาชน รวมถึงขอความคิดเห็นว่าเห็นควรให้คง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือยกเลิกเพื่อเป็นแนวทางให้ ศบค.ตัดสินใจ เเนื่องจากขณะนี้ พบว่ามีเสียงสะท้อนมาจากสังคมหลายความคิดเห็น 1.ให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เนื่องจากกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและเศรษฐกิจของประเทศ อีกครั้งยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ก็ลดลงตามลำดับ และอยู่ในความสามารถของเจ้าหน้าที่ที่จะควบคุมได้ 2.ให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ยังไม่อยากให้นักท่องเที่ยวหรือชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาไทย และ 3.ให้คง พ.ร.ก.ฉุกเฉินเอาไว้ก่อน เพราะห่วงจะมีการระบาดของโควิด-19 อีกรอบ แต่ขอให้ผ่อนคลาย เช่น ยกเลิกประกาศเคอร์ฟิว หรือขยายเวลาเคอร์ฟิวออกไปจากเดิม 4 ทุ่มถึงตี 4 อาจเป็น 5 ทุ่ม ถึงตี 4 
    "ในวันอังคารที่ 12 พ.ค. พล.อ.ธีรวัฒน์ บุณยะวัฒน์ เสนาธิการทหารบก ในฐานะเสธ.กอ.รมน. จะเป็นประธานการประชุมเพื่อพิจารณาเนื้อหาในแบบสอบถาม ก่อนนำไปแจกจ่ายประชาชน คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการแล้วเสร็จ 1 สัปดาห์" รายงานระบุ 
    ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงว่า วันนี้แม้ว่าอัตราผู้ป่วยรายใหม่จะเพิ่มขึ้นแค่หลักหน่วย โดย 2 รายเป็นผู้ป่วยใน กทม.และนราธิวาส ซึ่งมีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด-19 มาก่อน ถือว่าสถานการณ์ค่อนข้างดี หลังมีการคลายล็อกให้ประชาชนใช้ชีวิตมา 1 สัปดาห์แล้ว สถานการณ์กลับมาเป็นการแพร่ระบาดในวงจำกัด ไม่ใช่การแพร่ระบาดในวงกว้าง แต่ต้องพยายามอย่างเต็มที่ในการรักษาระดับที่มีผู้ป่วยในอัตราน้อยๆ นี้เอาไว้ให้ได้ แต่ตนสังเกตเห็นว่าประชาชนเริ่มการ์ดตก มีการออกจากบ้านโดยไม่สวมหน้ากากอนามัย ดังนั้นต้องขอเตือนไว้ว่าเมื่อไหร่ที่เราประมาท ไม่ระมัดระวังตัว มีโอกาสที่โรคจะกลับมาระบาดในระดับวิกฤติได้  
    “การที่เรามีผู้ป่วยในประเทศ 2 ราย ไม่ได้หมายความว่าเรามีผู้ป่วยแค่นี้ ที่สำคัญคือยังมีคนที่มีอาการน้อยที่ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขถึงต้องมีการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง เราจะคลายกังวลได้ก็ต่อเมื่อทุกประเทศสามารถควบคุมการระบาดได้ หรือมีวัคซีนใช้ และไทยเองมีวัคซีนเพียงพอที่จะให้ประชากรกลุ่มเสี่ยง เราถึงจะไประยะที่ 3 คือการฟื้นฟู ซึ่งกระทรวงก็เตรียมการเอาไว้แล้ว” 
    นพ.ธนรักษ์กล่าวต่อว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดมี 2 ปัจจัย คือการติดเชื้อในชุมชน 2.การเจอคนมากน้อยแค่ไหน ยิ่งเจอมากยิ่งเสี่ยงมาก และขึ้นกับสถานที่ที่ไปเจอผู้คนด้วย โดยเฉพาะพื้นที่ที่เคยมีผู้ป่วยมาก่อนถือว่ามีความเสี่ยงสูง อย่างห้างสรรพสินค้าเปิดแล้ว ควรไปซื้อเฉพาะของที่ต้องการแล้วกลับ ไม่ควรอยู่นาน อย่าคิดว่าการไปห้างคือการพักผ่อน แต่การไปห้างคือการเพิ่มความเสี่ยง ส่วนการเจอผู้ป่วยเกิดการติดเชื้อในประเทศวันนี้เป็นสัญญาณที่เกิดขึ้นหลังการคลายล็อก 1 สัปดาห์หรือไม่ นั้น ตนมองว่าไม่ใช่ แต่เป็นเพราะเขาติดเชื้ออยู่แล้ว เพียงแต่เราเพิ่งหาเขาเจอ ส่วนที่การเจอผู้ป่วยที่ภูเก็ตเข้าใจว่าเป็นการเจอในพื้นที่ใหม่ พรุ่งนี้น่าจะมีการให้รายละเอียดอีกครั้ง ซึ่งก็เป็นที่มาที่เราต้องทำงานอย่างเข้มข้น ทั้งการเฝ้าระวังใน รพ. และการค้นหาผู้ป่วยในชุมชนแบบมีเป้าหมาย
ระบาดระลอก 2 เกิดได้ตลอด
    “ไม่อยากประเมินว่าการระบาดระลอกที่ 2 จะมาเมื่อไหร่ แต่ต้องเรียนว่าสถานการณ์ตอนนี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แต่ไม่ถึงกับกังวลถ้าไม่มีผู้ป่วยเพิ่มมากในระดับวิกฤติ ถ้าเจอจำนวนผู้ป่วยต่อวันจำนวนไม่มาก ถ้าพบผู้ป่วยต่อวันอยู่ที่ 5 รายต่อประชากร 1 ล้านคน เช่น กทม.เจอวันละ 30-40 ราย ระดับนี้ยังพอรับมือได้ ส่วนถ้าเร็วๆ นี้มีผู้ป่วยวันเดียว จะมีผลต่อการพิจารณาคลายล็อกรอบ 2 หรือไม่นั้น คงมองเป็นพื้นที่มากกว่า ไม่ใช่ทำทั้งประเทศ ถ้าพื้นที่ที่ยังมีปัญหาก็คงยังไม่มีการคลายล็อก”
    นพ.ธนรักษ์กล่าวต่อว่า ตนได้รับคำถามบ่อยว่าเราจะอยู่กับโรคนี้นานแค่ไหน ซึ่งเป็นคำถามที่ไม่ควรถามบุคลากรทางการแพทย์ เพราะพลังอำนาจที่จะหยุดการระบาดได้คือประชาชนที่ต้องถามตัวเองว่าทำเต็มที่หรือยัง ในการให้ความร่วมมือกันสวมหน้ากากอนามัย หน้ากากผ้า ล้างมือบ่อยๆ งานที่สามารถทำที่บ้านได้อยากให้ทำกันต่อ การเหลื่อมเวลาทำงานเพื่อลดความแออัดของที่ทำงาน และการเดินทาง ที่ทำงานควรจัดเว้นระยะห่าง 1-2 เมตร ถ้าเว้นไม่ได้ควรมีฉากกั้นที่สูงมาก ปิดแอร์ เปิดหน้าต่าง หรือติดตั้งระบบระบายอากาศ ทั้งนี้ อยากให้ทุกกิจการเปิดได้ แต่ต้องไม่เพิ่มความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรค ดังนั้นให้ร่วมมือกัน ขอย้ำว่ามาตรการเหล่านี้ควรทำต่อเนื่องแม้ว่าโควิดจะหมดไป เพื่อให้เป็นนิวนอร์มใหม่จริงๆ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหารถติด PM 2.5 ป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหารด้วย  
    ผู้สื่อข่าวถามถึงแผนฟื้นฟูที่กระทรวงระบุว่าได้เตรียมการเอาไว้แล้ว นพ.ธนรักษ์กล่าวว่า เป็นแผนพื้นฟูด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยการวิเคราะห์จากแผนที่ผ่านมา มีอะไรที่แก้ไข ต้องเตรียมการ เตรียมพร้อมเอาไว้รับกับสถานการณ์วิกฤติอันใกล้ และวิกฤติที่อาจจะมีการเกิดโรคอุบัติใหม่ในอนาคตด้วย ยกตัวอย่างเรื่องของยา เวชภัณฑ์ วัคซีน อุปกรณ์ป้องกันตัวต่างๆ ทั้งหน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 ชุด PPE เป็นต้น ต้องซัพพอร์ตมากกว่านี้ รวมถึงมีสำรองใช้ และต้องมองเรื่องการพึ่งพาตัวเองให้มากขึ้น ตลอดจนการบริหารบุคลากรในยามปกติและการปรับแผนรับกับภาวะวิกฤติ
    ด้าน พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย  โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากการรวบรวมสถิติเปรียบเทียบ 7 วันก่อนหน้านี้ที่มีการผ่อนคลาย และหลัง 7 วัน ไม่ว่าจะเป็นการนอกเคหสถานในช่วงเคอร์ฟิว หรือการรวมกลุ่ม มั่วสุม ลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ ทั้งสองส่วนปรากฏว่าหลังจากมีการผ่อนคลาย ภาพรวมกระทำผิดสูงขึ้นนิดหน่อย ไม่มาก จากเดิม 7 วันก่อนหน้านี้ประมาณ 4,407 คดี แต่หลังวันที่ 3 พ.ค.จนถึงวันที่ 10 พ.ค. จำนวน 5,363 คดี เพิ่มขึ้นประมาณกว่า 900 คดี หรือร้อยละ 21 หากแยกในรายละเอียดความผิดออกนอกเคหสถาน เพิ่มขึ้น 827 คดี ส่วนใหญ่ยังมีประชาชนบางส่วนไม่สามารถปรับการใช้ชีวิตประจำวัน ยังคงออกจากบ้านโดยไม่มีเหตุอันควร เช่น การไปเที่ยวบ้านเพื่อน ร้อนออกมาทำธุระ ซึ่งมันไม่ใช่
ดื่มเหล้า-เล่นพนันเพิ่ม
    ส่วนการเล่นการพนันจากเดิม 664 คดี เป็น 704 คดี เพิ่ม 40 คดี แต่ที่น่าสนใจคือ หลังวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา ความปิดเรื่องการมั่วสุม โดยการดื่มสุราสูงขึ้น เช่น 300 เป็น 600 เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครองเราไม่อยากจับกุมดำเนินคดี เราอยากตักเตือน แต่เหลือทนจริงๆ ประเภทเตือนแล้วครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 ไปยังเจออีก หรือมั่วสุม ดื่มสุรา ส่งเสียงรบกวนประชาชนโทรศัพท์แจ้งเราพบบ่อยมาก นอกจากนี้ที่ยังจับกุมได้อยู่ตลอดคือการเล่นการพนัน จำนวนรายลดลงก็จริง จากเดิมเล่น 2-3 คน แต่ระยะหลังพบว่ามีผู้เล่นสูงขึ้น 10-20 คน และมีการมั่วสุมในเรื่องสุราประกอบกัน ซึ่ง ผบ.ทสส.และ ผบ.ตร.ย้ำเสมอว่าตรงจุดนี้เป็นสิ่งที่เราตักเตือนมาพอสมควร ในความผิดประเภทซ้ำซ้อน จากนี้ต้องดำเนินการเข้มงวด
    เมื่อถามว่า มีภาพข่าวตั้งบ่อนการพนันหรือถูกจับกุม พอผู้สื่อข่าวไปสอบถามว่าไปรวมกลุ่มกันไม่กลัวหรือ พบว่าไม่กลัว เพราะมีเจลล้างมือและใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ตรงนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเข้าไปทำความเข้าใจหรือไม่ พล.ต.ท.ปิยะกล่าวว่า ต้องแยกให้ออก เรามีกฎหมายพิเศษ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ละจังหวัดมีพ.ร.บ.โรคติดต่อ ซึ่งจะออกข้อกำหนดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อแต่ละจังหวัด หลักใหญ่ 3 หลักที่ยังมีอยู่คือเรื่องหน้ากาก การล้างมือ แต่ที่บกพร่องบ่อยครั้งคือการรักษาระยะห่าง การรวมกลุ่มแบบนั้นเสี่ยงแพร่เชื้อโรค โดยปกติเจ้าหน้าที่สายตรวจชุดเคลื่อนที่เร็วดูครอบคลุมหลายส่วน 
    เมื่อถามว่า เมื่อวันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมา ตลาดนัดจตุจักรเปิดให้บริการเป็นวันแรก ตำรวจต้องเข้าไปตรวจดูหรือไม่ และพบการกระทำความผิดหรือความไม่เข้าใจของผู้ประกอบการและคนมาเดินจับจ่ายใช้สอยหรือไม่ พล.ต.ท.ปิยะกล่าวว่า ผู้ว่าฯ กทม.และผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ประชุมร่วมมือวางมาตรการกันก่อนหน้านี้แล้ว เมื่อวันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมา เป็นภาพที่น่าชื่นใจ ทุกจุดมีเจ้าหน้าที่ กทม. สำนักงานเขต ตำรวจ ทหาร สำนักอนามัย และฝ่ายสาธารณสุข เราตรวจก่อนตามระบบ ดูว่าใส่หน้ากากอนามัย และในระหว่างเดินตามร้านค้าต่างๆ ทุกร้านให้ความร่วมมืออย่างดี อาจจะต้องมีการตักเตือนกันบ้าง หรือเผอเรอกันบ้าง เบื้องต้นถือว่าเป็นที่น่าพอใจ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"