ออเจ้าปลุกผ้าไทย ทอขายแทบไม่ทัน


เพิ่มเพื่อน    

    วธ.ต่อยอด "ออเจ้า" ฟีเวอร์ ระดมสมองหากลยุทธ์ใส่ผ้าไทยยั่งยืน ผู้ประกอบการหนุนดาราในบุพเพฯ ร่วมแต่งต่อเป็น "ไอดอล" ให้ประชาชน แพร่-สุโขทัย ต้นแบบสวมใส่ผ้าพื้นเมือง เผยตลาดผ้า-เงิน-ทองคึกคัก คนแห่ซื้อ ช่างทอไม่ทัน สร้างรายได้เกิน 2 แสนต่อวัน
    จากกระแสความแรงของละครเรื่อง บุพเพสันนิวาส ส่งผลให้หลายภาคส่วนในสังคมหันมาร่วมอนุรักษ์รักษาความเป็นไทย จนเกิดปรากฏการณ์การแต่งกายชุดไทยขึ้นทั่วทั้งประเทศนั้น เมื่อวันที่ 5 เม.ย. ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) จัดประชุมหัวข้อ ผ้าไทยสวมใส่อย่างไรให้ยั่งยืน โดยเชิญหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ผู้ประกอบการ เครือข่ายวัฒนธรรม มาร่วมหารือถึงการดำเนินงานส่งเสริมการใส่ผ้าไทยให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม    
    นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า ตามที่ละครเรื่อง บุพเพสันนิวาส เป็นตัวอย่างละครอิงประวัติศาสตร์ สร้างความฮือฮาให้กับแฟนละครทั่วประเทศหันมาสวมใส่ผ้าไทย และกระตุ้นการใช้สอยผลิตภัณฑ์ของไทยนั้น จากการระดมความคิดเห็นของทุกฝ่ายเห็นว่า ควรใช้กระแสของละครสร้างโอกาสในการต่อยอดรณรงค์สวมใส่ผ้าไทยให้เกิดในกลุ่มคนไทยทุกพื้นที่ โดยให้ วธ.เป็นแกนหลักในการดำเนินงานรณรงค์ ร่วมมือกับผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดในการหาแนวทางการรณรงค์ ซึ่งจะไม่เป็นการบังคับประชาชน แต่ต้องมีวิธีการที่จะชักจูง ดึงดูด หรือสร้างการมีส่วนร่วมให้เห็นพ้องกันในการร่วมสวมใส่เพื่อให้เกิดความยั่งยืน  
    รมว.วัฒนธรรมกล่าวว่า ที่ประชุมได้มีข้อเสนอแนะถึงการรณรงค์ โดยให้มีการจัดสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับผ้าไทย สร้างเรื่องราวของการสวมใส่ผ้าไทยให้น่าสนใจ รวมถึงการสร้างต้นแบบของการสวมใส่ผ้าไทย และพยายามหากลยุทธ์สร้างกระแสในแง่มุมต่างๆ ทั้งการหาพรีเซนเตอร์จากทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ โดยใช้สื่อโซเชียลทุกแขนงมาเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความเคลื่อนไหว สร้างจุดขายและสร้างความน่าสนใจในสังคม จนเกิดเป็นเทรนด์แฟชั่นผ้าไทยในกลุ่มคนต่างๆ นอกจากนี้ ขอให้มีการสนับสนุนการใช้ผ้าไทยในกิจกรรมหรือการจัดงานต่างๆ ของทุกจังหวัด ขณะที่ในส่วนผู้ประกอบการผ้าไทยได้ให้ข้อคิดเห็นว่า เนื่องจากปัจจุบันการที่คนไทยไม่นิยมใส่ผ้าไทย เพราะมีข้อจำกัดหลายด้าน ทั้งราคาสูง ลักษณะของผ้าไม่เหมาะสมกับสภาพอากาศ ตลอดจนรูปแบบการตัดเย็บไม่สวยงาม การดูแลยาก ดังนั้นจึงเสนอให้ วธ.ร่วมกับดีไซเนอร์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หาแนวทางในการสนับสนุนการออกแบบชุดผ้าไทยให้มีความหลากหลาย 
    นายบุญชัย ทองเจริญบัวงาม ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งทอไทยและผู้ประกอบกิจการผ้าไทย จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 300 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่สมัยอยุธยา ประเทศไทยได้นำเข้าผ้าจากต่างประเทศ ทั้งฝรั่งเศส อินเดีย อิหร่าน จีน และรับอิทธิพลจากการนิยมของนอกมาโดยตลอด ทำให้คนไทยส่วนใหญ่มองข้ามความสำคัญและคุณค่าของมรดกทางภูมิปัญญาของไทย ดังนั้น ในฐานะผู้ผลิตมีมุมมองในแง่การอนุรักษ์มรดกทางภูมิปัญญาของงานผ้าที่ต้องรักษาเอาไว้ ซึ่งภาครัฐควรมีหน้าที่ให้ความรู้คนไทยเกี่ยวกับมรดกทางภูมิปัญญาผ้าไทย ทั้งในแง่ประโยชน์ การใช้สอย และคุณค่า รวมทั้งจะต้องพยายามหาทางปลดปล่อยความเห่อแฟชั่นของนอกออกจากความคิดคนไทยให้ได้ พยายามสร้างแนวคิดใหม่ให้เห็นคุณค่าที่สูงส่งของสิ่งที่คนไทยทำ คนไทยผลิต โดยสิ่งที่สะท้อนชัดเจนจากเครื่องแต่งกายของตัวละคร บุพเพสันนิวาส แต่ละชุดมีความสวยงาม มีลวดลายที่แสดงให้เห็นเอกลักษณ์ความเป็นไทย ขณะเดียวกันควรให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลรักษาผ้า ให้ความสำคัญกับนักออกแบบ ให้การออกแบบผ้าไทยน่าสวมใส่ เข้ากับยุค ทันสมัย เพื่อให้เกิดการยอมรับ การใช้ผ้าไทยอย่างมั่นใจในกระแสนิยมสมัยใหม่ด้วย
    "ผมเชื่อว่ากระแสคือกระแส ละครจบ ความนิยมใส่ผ้าไทยก็อาจจะจบตามไปด้วย แต่หากทุกภาคส่วนร่วมกันใช้โอกาสในวันนี้ต่อยอด ต่อลมหายใจ การใช้ การผลิต และความนิยมอย่างต่อเนื่องจะทำให้กระแสคงอยู่ต่อไป ผมอยากเชิญชวนให้คนไทยลองปรับทัศนคติ ซื้อหาผ้าไทยซึ่งไม่จำเป็นต้องแพง และลองนำผ้าไทยมาสวมใส่วันละชิ้นสองชิ้น มามิกซ์แอนด์แมตช์ให้เข้ากับเสื้อหรือกางเกงที่มีอยู่ จะเกิดความเคยชินจนกลับมาเป็นกระแสความนิยมได้ ผมอยากชวนดารา นักแสดง และบุคคลสาธารณะ โดยเฉพาะตัวละครเรื่องบุพเพสันนิวาส แม้ว่าละครจะจบในอีกไม่กี่วันนี้ แต่หากพวกคุณมาช่วยเป็นอีกแรงหนึ่งในการผลักดันการรณรงค์ อย่างน้อยลองใส่ผ้าไทยเป็นตัวอย่างต่อไปคนละ 1 วันต่อสัปดาห์ หรือต่อเดือน จะช่วยรักษา ฟื้นฟูมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ และรักษาความงดงามของผ้าไทยไว้ได้โดยไม่ต้องลงทุนอะไรมากเลย" นายบุญชัยกล่าว
    นางรุจิกาญจน์ ทันใจ วัฒนธรรมจังหวัดแพร่ กล่าวว่า จากกระแสละครบุพเพสันนิวาส ยิ่งทำให้ชาว จ.แพร่ ร่วมให้ความสำคัญของการสวมใส่ชุดผ้าไทยมากขึ้น ขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่เป็นแกนนำในการรณรงค์ให้ประชาชนสวมใส่ผ้าไทย ผ้าพื้นเมืองกันทั้งเมือง โดยเฉพาะเสื้อหม้อห้อมและผ้าจก ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึงนี้และตลอดทั้งเดือน เม.ย. เดือนอนุรักษ์มรดกไทย ชาว จ.แพร่พร้อมใจสานต่อสวมใส่ผ้าไทยกันทุกวันให้เป็นวิถี และเป็นจังหวัดต้นแบบของการรณรงค์สวมใส่ผ้าพื้นเมือง
    นางจิตรา สิทธนานุวัฒน์ วัฒนธรรมจังหวัดสุโขทัย กล่าวว่า ในส่วน จ.สุโขทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นต้นแบบนำแต่งกายย้อนยุคตามรอยละคร และรณรงค์ให้ตลอดเดือนเมษายน ข้าราชการแต่งผ้าไทย หลังจากนั้นให้แต่งผ้าไทยทุกวันพฤหัสฯ และวันที่ 7 เม.ย. จะมีกิจกรรมรณรงค์แต่งกายชุดไทยพร้อมขบวนรถโบราณในงานถนนสายวัฒนธรรม เพื่อให้แสดงวัฒนธรรม ประเพณีและการแต่งกายแบบคนสุโขทัย ส่วนช่วงเทศกาลสงกรานต์รณรงค์แต่งชุดไทยและจัดประกวดแต่งกายย้อนยุค นอกจากนี้ยังรณรงค์ในสถานศึกษา มี 168 โรงเรียนที่แต่งกายด้วยผ้าไทย ส่วนสถานการณ์ผ้าไทยใน จ.สุโขทัย ขณะนี้มีความคึกคักมาก สร้างรายได้เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ โดยเฉพาะผ้าหาดเสี้ยว ผ้าศรีสัชนาลัย และการจำหน่ายผ้าที่บ้านมะขวิด โดยร้านสาธรผ้าทองคำ มีรายได้เพิ่มถึง 2-3 แสนบาทต่อวัน เช่นเดียวกับร้านจำหน่ายผ้า 55 แห่งในสุโขทัย จากการสำรวจและสอบถามผู้ประกอบการโดยสุ่มตัวอย่าง 15 แห่ง พบว่า รายได้กระเตื้องขึ้น ผ้าทอไม่พอขาย คนทอก็ทอไม่ทัน นอกจากนี้ร้านจำหน่ายเครื่องเงินและเครื่องทองยังได้รับอานิสงส์ไปด้วย รายได้เพิ่มขึ้น เพราะใช้เป็นเครื่องประดับเมื่อสวมชุดผ้าไทย ส่วนในเขตโบราณสถานสุโขทัยมีการจัดตลาด 800 ปี กรุงสุโขทัย และตลาดวัฒนธรรม มีนักท่องเที่ยวทั้งกลางวันและกลางคืนแต่งชุดไทยมาเที่ยวและถ่ายภาพจนแน่นขนัด.          


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"