เด็กเอ๋ยเด็กนักเรียนช่วงล็อกดาวน์ ความพร้อมผู้ปกครอง..หัวใจสำคัญ


เพิ่มเพื่อน    

 ประเด็นของการเล่นและเรียนผ่านระบบออนไลน์ ที่ทางภาครัฐกำหนดให้โรงเรียนในเครือข่ายของ สพฐ. จำนวน 30,000 โรงเรียน จัดให้มีการเรียนการสอนระบบออนไลน์ตั้งแต่อนุบาลไปจนถึงระดับชั้น ม.ปลาย เพื่อให้ทันกับการเรียนรู้ในภาคเรียนต่อไป และกระตุ้นให้เด็กมีกิจกรรมที่เป็นประโยชน์

มองกันตามความเป็นจริง หลายๆ โรงเรียนที่มีเครื่องมือพร้อม ปกติก็มีการเรียนรู้ผ่านโลกโซเชียลและออนไลน์อยู่แล้ว ฉะนั้นเมื่อมีคำสั่งดังกล่าว ก็เป็นสิ่งที่สามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่บางโรงเรียนในต่างจังหวัดก็ใช้วิธีการสอนผ่านทางดาวเทียม ผ่านช่อง DLTV มีชื่อเต็มว่า มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ซึ่งเชื่อมต่อกับทีวีในครัวเรือนที่เชื่อมต่อกับจานดาวเทียมอยู่แล้ว นั่นก็ถือว่าไม่ผิดกฎกติกาการเรียนรู้ของเด็กๆ ในช่วงปิดเทอมยาวเพื่อรับมือกับโรคโควิด-19

แต่การเรียนการสอนที่ครูไม่ได้อยู่กำกับดูแลเด็กๆ นั้นจะมีเครื่องมือวัดความสำเร็จตามเป้าหมายได้อย่างไร นับเป็นคำถามที่หลายคนตั้งข้อสังเกต และสมควรที่จะต้องร่วมกันหาเครื่องมือที่เหมาะสมที่ดีที่สุด เพราะในอนาคตเราอาจจะต้องเจอสภาวะแบบเดียวกันนี้อีกได้ ..ใครจะไปรู้!!

อ.ปริศนา ปัญสิงห์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดดอนสุโข จ.สุพรรณบุรี บอกว่า “การที่โรงเรียนในต่างจังหวัดใช้วิธีการสอนผ่านออนไลน์ในช่วงโรคโควิด-19 ระบาดนั้น เนื่องจากเด็กมักจะอยู่กับปู่ย่าตายายเป็นส่วนใหญ่ และพ่อแม่ออกไปทำงาน อีกทั้งผู้สูงวัยอาจจะไม่มีความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี จึงอาจจะไม่สามารถควบคุมลูกหลานในการเรียนการสอนผ่านออนไลน์ได้เท่าที่ควร ยกเว้นว่าหากครอบครัวไหนเด็กอยู่กับผู้ปกครองตลอดเวลา และพ่อแม่มีความรู้เกี่ยวกับระบบออนไลน์ อีกทั้งคอยดู ก็จะทำให้เด็กๆ ได้รับประโยชน์จากการศึกษาผ่านทางออนไลน์

“ถ้าถามถึงประโยชน์ของการเรียนการสอนผ่านทางออนไลน์ในช่วงที่มีโรคระบาด และมีการปรับเลื่อนเวลาเปิดเทอมนั้น เป็นสิ่งที่ดีค่ะ เพราะเด็กจะได้ทบทวนความรู้ แม้ว่าบางครั้งอาจจะไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์เต็ม แต่ก็ดีกว่าไม่มีการเรียนการสอนผ่านทางออนไลน์เลย ที่สำคัญในโรงเรียนที่มีการจัดรูปแบบการให้ความรู้ผ่านออนไลน์ในช่วงนี้ ก็เท่ากับให้เด็กได้เลือกรูปแบบการเรียนรู้ที่เด็กๆ ยุคใหม่สนใจ แต่ทั้งนี้จะต้องมีผู้ปกครองคอยดูแลและควบคุมการใช้อุปกรณ์ต่างๆ เพื่อป้องกันว่าเวลาพักเด็กๆ จะหันไปเล่นเกม ดังนั้นถ้าหากมีการเรียนการสอนผ่านออนไลน์นานประมาณ 1 ชั่วโมง ก็ควรให้เด็กได้มีเวลาพักประมาณ 30 นาทีโดยที่ไม่เล่นเกม ที่สำคัญหากเรียนผ่านระบบออนไลน์คุณครูจะต้องให้เด็กตอบแบบทดสอบผ่านทางออนไลน์ หรือส่งการบ้านผ่านทางออนไลน์เช่นกัน จึงทำให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพค่ะ

ส่วนโรงเรียนของเรานั้นใช้วิธีการเรียนการสอนในช่วงนี้ผ่านทางช่องดาวเทียม หรือช่อง DLTV ซึ่งเป็นระบบที่โรงเรียนใช้ในการเรียนการสอนอยู่แล้ว จึงสามารถเปิดทีวีที่บ้านและปรับหาช่องดังกล่าวได้เลย เพราะระบบทีวีในต่างจังหวัดจะติดดาวเทียม และมีช่อง DLTV อยู่แล้ว ซึ่งตรงนี้ก็ทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ไปพร้อมกับผู้ปกครองได้เช่นเดียวกัน อีกทั้งช่วยลดการจ้องหน้าจอมือถือหรือแท็บเล็ตได้อีกด้วย เช่น การที่เด็กดูครูสอนในทีวี และครูบอกให้เด็กเต้นและร้องเพลง เด็กๆ ก็สามารถทำกิจกรรมดังกล่าว ได้เหมือนกับการที่เด็กอยู่ในห้องเรียน และมีคุณครูผู้สอนยืนอยู่หน้าชั้นเรียน นอกจากนี้ข้อดีของการเรียนการสอนผ่านช่องดาวเทียมคือ การที่เด็กเล็กๆ ในโรงเรียนของเราจะคุ้นเคยกับการเรียนในลักษณะดังกล่าวอยู่แล้วโดยไม่ต้องไปปรับจูน หรือหาแอปพลิเคชันในการเรียนออนไลน์อื่นๆ ค่ะ ที่สำคัญการเรียนการสอนผ่านออนไลน์ ครูและบุคลากรในโรงเรียนจะต้องสร้างข้อมูลการเรียนการสอนผ่านทางออนไลน์ ซึ่งเราอาจจะยังไม่พร้อมในจุดนี้ แต่เราได้จัดให้มีการเรียนการสอนผ่านทางดาวเทียมให้กับเด็กๆ อยู่แล้ว และนำมาใช้ในช่วงที่โรคโควิด-19 ระบาด ซึ่งได้เลื่อนการเปิดเทอมออกไปค่ะ”

            ด้าน อ.ปุ้ย (นามสมมุติ) ตัวแทนจากโรงเรียนเอกชนใน กทม. บอกว่า “ตอนนี้ทางโรงเรียนของเราได้มีการจัดทำการเรียนออนไลน์ในหลากหลายรูปแบบเพื่อลดปัญหาที่มีการขยายเวลาเปิดเทอมออกไป หรือประมาณ 2 เดือนครึ่งกว่าจะเปิดเทอม ซึ่งสื่อการเรียนการสอนผ่านออนไลน์ในโรงเรียนของเรานั้น คุณครูจะสร้างจากเพาเวอร์พอยต์ เป็นแบบทดสอบให้เด็กๆ ได้ทำ และเบื้องต้นทางโรงเรียนจะเรียกคุณครูไปพบและทำการสอนผ่านทางออนไลน์ช่วงต้นเดือน พ.ค.นี้ ซึ่งรูปแบบของการเรียนออนไลน์ คุณครูก็จะส่งลิงก์เพาเวอร์พอยต์ไปให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านอุปกรณ์แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ ขณะอยู่บ้าน ที่สำคัญจะมีหลากหลายวิชาความรู้เพื่อให้เด็กได้คลิกเข้าไปเรียน หรือเลือกสลับสับเปลี่ยนกันไปค่ะ

            เบื้องต้นทางโรงเรียนก็คำนึงถึงเรื่องสุขภาพและการเรียนของเด็กๆ ค่ะ โดยทุกๆ 15 นาทีก็จะให้เด็กๆ ได้เปลี่ยนสลับลิงก์ไปเลือกเรียนข้อมูลชุดความรู้อื่นๆ ที่สำคัญใน 1 วัน เด็กๆ ก็จะใช้เวลาในการเรียนไม่เกินวันละ 2 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้กระทบกับสุขภาพของเด็ก และเพื่อให้เด็กมีสมาธิ อีกทั้งใช้ระยะเวลาที่พอเหมาะเพื่อให้เด็กสนใจในการเรียนออนไลน์ หรือเด็กบางคนก็จะรับหนังสือเทอมใหม่กลับไปบ้าน จากนั้นคุณครูก็จะสั่งการบ้านผ่านลิงก์การสอนออนไลน์ในรายวิชานั้นๆ โดยให้เด็กอ่านหนังสือและทำการบ้านในวิชานั้น เมื่อถึงเวลาเปิดเทอมคุณครูก็จะกลับไปตรวจการบ้านเด็กๆ ที่ได้สั่งให้ทำในช่วงปิดเทอมยาว

            ซึ่งถ้าถามว่ามันจะมีประโยชน์กับเด็ก 100 เปอร์เซ็นต์หรือไม่นั้น มันก็อาจจะไม่ถึงขั้นนั้น แต่ก็ดีกว่าให้เด็กอยู่ว่างๆ และสุดท้ายเด็กก็จะหันไปเล่นเกมมือถือ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อสุขภาพมากกว่า ที่สำคัญการเรียนการสอนออนไลน์นั้นบางครั้งเด็กๆ เรียนผ่านมือถือก็จะไม่สมบูรณ์แบบเหมือนการเรียนการสอนในห้องเรียน แต่ทั้งนี้ทางโรงเรียนของเราก็ได้มีการปรับเวลาเหลือเพียงวิชาละ 15 นาที เพื่อให้เหมาะสมกับเด็กๆ

ส่วนที่หลายคนเป็นกังวลว่า การให้เด็กเล็กๆ เช่น เด็กอนุบาลนั้นมาเรียนออนไลน์ และใช้อุปกรณ์แท็บเล็ตต่างๆ นั้น จะส่งผลเสียต่อสุขภาพหรือไม่ ทั้งนี้ในมุมมองของตัวเองที่สอนเด็กๆ ชั้น ป.4 คิดว่าการที่แต่ละโรงเรียนจะให้เด็กเรียนรู้ผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ครูผู้สอนก็จะต้องออกแบบเนื้อหาหรือวิชาความรู้ที่สอดคล้องและเหมาะสมกับตัวเด็กๆ เองอยู่แล้ว โดยที่อาจจะไม่ได้ลงลึกรายละเอียดเกี่ยวกับการสอนออนไลน์ให้กับเด็กเล็กมากเกินไป เช่น คุณครูให้เด็กวาดรูปลงในอุปกรณ์แท็บเล็ตเพื่อฝึกกล้ามเนื้อมือ หรือฝึกสมาธิ หรือวันนี้ให้เด็กหัดอ่าน ก-ฮ ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อีกทั้งใช้ในระยะเวลาสั้นๆ ประมาณ 15 นาทีต่อคนเป็นต้นค่ะ ก็จะทำให้เด็กๆ ใช้เวลาอยู่กับมือถือหรือสื่อออนไลน์ต่างๆ ในเวลาที่เหมาะสม”

อ.ปุ้ย บอกอีกว่า “การเรียนการสอนผ่านออนไลน์ในช่วงโรคโควิด-19 ระบาดนั้น ส่วนหนึ่งก็เป็นการฝึกความมีระเบียบวินัยให้กับเด็กๆ อีกด้วย เช่น หากว่าคุณครูนัดผ่านลิงก์การเรียนออนไลน์เวลา 10 โมงเช้า เด็กๆ ก็จะรู้เวลาว่าช่วงนี้ต้องแบ่งให้การเรียน ซึ่งตอนแรกๆ อาจจะยาก เพราะเด็กอาจจะอยากเล่นซน ดังนั้นช่วงเริ่มแรกจะต้องมีผู้ปกครองคอยดูแลอยู่ห่างๆ เพื่อให้เด็กๆ ใช้เวลาผ่านการเรียนออนไลน์ และเมื่อเรียนไปสักพักเด็กๆ ก็จะคุ้นเคยกับการเรียนออนไลน์ และรู้จักแบ่งเวลาการเรียนการเล่นอย่างถูกต้องและเป็นไปโดยอัตโนมัติ”

ด้าน ครูชมพู่-อ.เสาวลักษณ์ พุ่มพวง ครูอันดับ คศ.2 วิทยฐานะครูชำนาญการ รร.วัดจันทาราม (ตั้งตรงจิตร 5) จ.ราชบุรี ที่สอนระดับชั้นอนุบาล-ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 บอกว่า “ที่ผ่านมาทางโรงเรียนได้ให้นักเรียนเรียนผ่านระบบออนไลน์อยู่แล้ว โดยนำเอาคลิปวิดีโอความรู้ต่างๆ ที่มีประโยชน์มาให้เด็กได้เรียนรู้ในห้องเรียน เพื่อไปสู่การปฏิบัติในรูปแบบที่เป็นไปได้ เนื่องจากเป็นโรงเรียนต่างจังหวัด

“ที่ผ่านมาทางโรงเรียนของเราได้เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ผ่านออนไลน์อยู่แล้ว เช่น การที่คุณครูพูดคุยสื่อสารกับเด็กในโปรแกรมแช้ต ซึ่งอยู่ในแอปพลิเคชัน Messenger ในเฟซบุ๊ก จากนั้นคุณครูก็จะส่งลิงก์ข้อมูลจากเว็บไซต์ต่างๆ ไปให้เด็กๆ ดู และตอบคำถามสั้นๆ ส่งกลับมายังแอปพลิเคชัน Messenger ของครูที่ได้จัดกลุ่มของเด็กๆ ในแต่ละชั้นซึ่งครูรับผิดชอบสอนอยู่ เช่น ครูชมพู่สอนวิชาวิทยาการคำนวณ เป็นวิชาที่สอนให้เด็กๆ คิดเพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบในศาสตร์ต่างๆ ทั้งเทคโนโลยี สังคม การรู้เท่าทันสื่อ ดังนั้นเราจำเป็นต้องอาศัยเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับความรู้ต่างๆ เพื่อให้เด็กศึกษาความรู้ประกอบ ดังนั้นครูชมพู่ก็จะแชร์ลิงก์ข้อมูลในเว็บไซต์เหล่านี้ไปให้เด็กๆ อ่านประกอบผ่านแอปพลิเคชัน Messenger อย่างที่บอกไว้ข้างต้น และเด็กๆ ก็จะตอบเป็นคำตอบสั้นๆ มาให้ครูชมพู่ เมื่อเด็กตอบกลับมาแล้ว คุณครูตอบคำตอบที่เฉลยส่งกลับไปให้เด็ก ทั้งนี้การเรียนการสอนดังกล่าว สำหรับเด็กๆ ในโรงเรียนของเรา แม้ว่าจะยังไม่เก่งมาก แต่ครูชมพู่เชื่อว่าเราจะค่อยๆ สอนให้ความรู้กับเด็กๆ เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนออนไลน์ควบคู่ไปกับการเรียนการสอนในห้องเรียนให้ได้มากที่สุดค่ะ

ส่วนเด็กๆ บางคนที่ต้องช่วยพ่อแม่ทำงานพิเศษ และไม่มีเวลาเล่นมือถือ หรือบางคนที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือนั้น หรือคิดเป็นประมาณ 4-5 คนในชั้นเรียน คุณครูจะให้เด็กทำงานผ่านรีพอร์ตหรือทำลงในกระดาษเหมือนเดิมค่ะ เพราะอันที่จริงแล้วการที่เด็กๆ ได้เขียนคำตอบลงในกระดาษนั้นจะผ่านสมอง ซึ่งจะทำให้เด็กได้คิดหรือฝึกการจดจำ เพราะทุกอย่างต้องเรียนรู้แบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากเราอยู่ต่างจังหวัดค่ะ”

อ.เสาวลักษณ์ บอกอีกว่า “สำหรับการใช้สื่อออนไลน์กับเด็กเล็ก หรือเด็กอนุบาลนั้น ตรงนี้ผู้ปกครองเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญ ซึ่งในโรงเรียนต่างจังหวัดนั้นพ่อแม่ต้องทำงานเยอะ ดังนั้นถ้าให้เด็กเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ก็อาจจะเป็นไปได้ยาก ส่วนหนึ่งผู้ปกครองอาจไม่มีความรู้เพียงพอ หรือหากบ้านไหนที่ผู้ปกครองออกไปทำงาน เด็กเล็กๆ ก็อาจจะไม่อยากเรียน ก็จะหันไปเล่นเกมแทน ซึ่งเป็นผลเสียต่อสุขภาพ แต่ถ้าหากครอบครัวไหนที่พ่อแม่สามารถดูแลควบคุมเด็กให้เรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์สำหรับเด็กเล็กได้ ก็ไม่ควรเกินวันละ 1-2 ชั่วโมง และที่สำคัญต้องมีการพักด้วยการหากิจกรรมที่ผ่อนคลายให้กับเด็กเล็ก หรือแม้แต่เด็กโตก็ตาม และประการสำคัญนั้นการใช้เทคโนโลยีมาประกอบการเรียนการสอนนั้น หากจะนำมาเป็นเรื่องหลักอาจจะไม่เหมาะสม โดยเฉพาะในเด็กเล็กๆ เพราะอย่างไรเสียคุณครูเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการเป็นโค้ช หรือเป็นพี่เลี้ยงให้กับเด็ก เป็นผู้ให้ความรู้ เป็นที่ปรึกษา หรือพูดง่ายๆ ว่าเป็นทุกอย่างให้กับเด็ก แต่ถ้าหากเป็นการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ในช่วงที่โรคโควิด-19 ระบาด ครูชมพู่ค่อนข้างเห็นด้วยค่ะ”

ผู้ปกครองมองประเด็นเรียนออนไลน์ช่วงโควิด-19 ระบาดอย่างไรให้ได้ประโยชน์สูงสุด?

ปิดท้ายกันที่ พี่บุศ-บุศราพร เมืองโคตร ผู้ปกครองและครูสอนพิเศษภาษาอังกฤษ บอกว่า “ส่วนตัวคิดว่าการเรียนออนไลน์ของเด็กๆ ในช่วงนี้เป็นเรื่องที่ปลอดภัยขณะที่โรคโควิด-19 ระบาด แต่จากประสบการณ์ในการสอนพิเศษนั้นมองว่าประเทศไทยอาจจะยังไม่พร้อมในเรื่องนี้ โดยเฉพาะการเรียนออนไลน์ในเด็กไทย เด็กในระดับชั้นประถมศึกษาตอนต้น ไปจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 เพราะเด็กวัยนี้เวลาอยู่ที่บ้านเขาจะไม่สามารถบังคับตัวเองให้ตั้งใจเรียนได้ ซึ่งอาจจะเป็นภาระของผู้ปกครองในการที่จะต้องควบคุมให้ลูกเรียนออนไลน์ เพราะอันที่จริงแล้วเด็กในวัยนี้เขาจะให้ความสนใจและจดจ่ออยู่กับการเรียนเมื่ออยู่บ้านได้ไม่เกิน 15 นาที เพราะเด็กอยากเล่นเกม ซึ่งอันที่จริงแล้วเวลา 15 นาทีอาจจะไม่เพียงพอต่อการเรียนรู้ก็เป็นได้ ดังนั้นถ้าเป็นไปได้พี่คิดว่าเด็กตั้งแต่ช่วงมัธยมปลายไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัยเป็นช่วงวัยที่เหมาะสมกับการเรียนออนไลน์ค่ะ ส่วนหนึ่งเพราะเด็กค่อนข้างที่จะมีความรับผิดชอบและความพร้อมในระดับหนึ่งแล้วค่ะ”.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"