จัดการน้ำชุมชนแบบมีส่วนร่วม ฟื้นป่าแม่แจ่ม ลดผลกระทบภัยแล้ง


เพิ่มเพื่อน    

สภาพภูเขาหัวโล้นค่อยๆ กลับกลายเป็นพื้นที่สีเขียวที่ต.แม่นาจร อ.แม่แจ่ม 

 

 

     ผืนป่าที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นจุดหนึ่งที่มีการทําเกษตรเชิงเดี่ยวอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะ "ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์" ในพื้นที่ลาดชัน ชุมชนชาวเขาที่อยู่ในป่ามีการหักล้างถางเพิ่มเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจ ส่งผลให้เกิดความเสียหายของระบบนิเวศ เกิดการชะล้างพังทลายของหน้าดิน จนกลายเป็นภูเขาหัวโล้น ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรม

      อุทัย พายัพธนกร หรือพ่อหลวงอุทัย อดีตผู้ใหญ่บ้านแม่ขอ ต.แม่นาจร อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ และผู้นำชุมชนสู้ภัยแล้งต้นแบบในโครงการ “เอสซีจีร้อยใจ 108 ชุมชนรอดภัยแล้ง” ซึ่งอยู่ในพื้นที่ประสบปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ  เคยเป็นแกนนำต่อต้านการสร้างเขื่อน เรียกร้องให้มีการเปิดพื้นที่ป่าชุมชนให้ชาวบ้านมีสิทธิ์ทำกิน ได้พลิกบทบาทมาเป็นผู้สร้างเครือข่ายอนุรักษ์ผืนป่า ลุกขึ้นมาทำงานร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) เพื่อหยุดความเสื่อมโทรมของป่าต้นน้ำแม่แจ่ม และแก้ไขปัญหาจากการขาดแคลนน้ำ เพราะแม่แจ่มเป็นหนึ่งในอำเภอที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งหนักสุด

 

อุทัย พายัพธนกร ผู้นำชุมชนสู้ภัยแล้งต้นแบบ

 

      ชุมชนแห่งนี้เคยสร้างปัญหาจากการเปิดหน้าดินทำไร่หมุนเวียน นำข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เข้ามาในพื้นที่ และได้มีการเปลี่ยนแปลงชักชวนชุมชนข้างเคียงก่อตั้งกลุ่ม “กะเหรี่ยงรักษาป่า” ช่วยกันวางกฎกติกา ปกป้องอนุรักษ์ผืนป่าและสัตว์ป่า จนเมื่อแนวคิดและการทำงานของกลุ่มขยายกว้างขึ้น ให้คนเมืองสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้เปลี่ยนชื่อเป็น “เครือข่ายรักษาป่า” โดยมีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาร่วมดำเนินการให้มีการจัดการพื้นที่ ฟื้นฟูป่า และการอยู่ร่วมกันของประชาชนในพื้นที่ 

      พ่อหลวงอุทัย เล่าว่า สภาพป่าไม้ของแม่แจ่มตกอยู่ในวังวนปัญหาทั้งน้ำแล้ง น้ำหลากซ้ำซาก เพราะสัดส่วนพื้นที่ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 อยู่เหนือแหล่งน้ำ จึงยากต่อการทำการเกษตรที่ต้องใช้น้ำ มีเพียงแค่ข้าวโพดซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่ปลูกได้ง่าย ปัญหาหลักคือขาดแคลนน้ำสำหรับการเพาะปลูก ต้องรอน้ำฝนอย่างเดียว ชุมชนมีกำลังน้อย หวังว่าการปลูกข้าวโพดที่ใช้น้ำน้อยจะได้เงินเยอะ แต่หลังจากขายข้าวโพด ต้องจ่ายค่าปุ๋ย ค่ายาแล้ว เหลือเงินนิดเดียว หลังเก็บเกี่ยวต้องนำเงินมาใช้หนี้ ส่งค่าเทอมให้ลูก รวมถึงมีการเพิ่มพื้นที่เกษตรเมื่อครอบครัวขยาย ชาวบ้านจะเปิดหน้าดินรุกล้ำผืนป่าไปเรื่อยๆ

      “ มูลนิธิอุทกพัฒน์ และ สสน.เปิดเวทีการพูดคุย ผมพูดก่อนเลยว่า หากมีแนวคิดสร้างเขื่อนแม่แจ่ม ขอคัดค้าน เพราะจะมีผลกระทบต่อบ้านผมจริงๆ มูลนิธิตอบว่า วิธีการแก้ปัญหาภัยแล้งและน้ำหลากด้วยการสร้างเขื่อนไม่ใช่คำตอบเดียว แต่เป็นแค่หนึ่งในแนวทางแก้ปัญหา ยังมีวิธีอื่นๆ ที่ได้ผลดี เช่น การทำอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ตามแม่น้ำสาขา ได้ยินแบบนั้นก็เลยตัดสินใจเข้าร่วม เน้นการจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมของคนในชุมชน หน่วยงานจะช่วยเสริมเครื่องมือต่างๆ อำนวยความสะดวกในการบริหารจัดการน้ำในชุมชนและอนุรักษ์ผืนป่า" พ่อหลวงอุทัย กล่าว

 

ชุมชนร่วมกันวางแผนบริหารจัดการน้ำ โดยการใช้ความรู้ศึกษาจากแผนที่

 

      ผืนดินแห้งแล้งเสื่อมโทรมปรับเปลี่ยนมีการบริหารจัดการแหล่งน้ำในชุมชน โดยสร้างฝายชะลอน้ำ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดิน น้ำ ป่า ผสมผสานกับการปลูกกล้วยเพื่อให้ผืนดินดูดซับน้ำไว้ รวมทั้งการสร้างระบบประปาภูเขา วางท่อส่งน้ำ มาเก็บในถังเก็บน้ำสำหรับใช้อุปโภคในครัวเรือน ติดตั้งระบบกรองน้ำดื่มสะอาดไว้ใช้ทั้งชุมชน และการซ่อมบ่อเก็บน้ำ เพื่อกระจายน้ำทำเกษตรบริเวณไหล่เขาของเกษตรกรในชุมชน จึงแก้ปัญหาน้ำของชุมชนทั้งสำหรับการอุปโภค-บริโภค และการเกษตร ชุมชนได้ขยายผลไปสู่การทำวนเกษตร สร้างป่าธรรมชาติในพื้นที่ตนเอง

      ชุมชนมีการน้อมนำแนวคิดการทำเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ของในหลวงรัชกาลที่ 9 และการปลูกพืชผสมผสานในรูปแบบวนเกษตรมาปรับใช้จริงในพื้นที่ของตนเอง โดยสามารถเลือกปลูกพืชได้ตามความต้องการของชุมชนเป็นหลัก

      พ่อหลวงอุทัย กล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำเป็นวิธีการได้รับประโยชน์เป็นส่วนรวม ไม่ใช่แปลงใครแปลงเดียว และยังมีการทำวนเกษตร เช่น ปลูกเสาวรส ลิ้นจี่และไม้ผล ไม้ยืนต้น ได้ประโยชน์ทางอ้อมในเรื่องการเพิ่มพื้นที่สีเขียว จึงชวนคนทั้งชุมชนมาช่วยกัน มีชุมชนอื่นๆ ติดต่อมามาก แต่อยากให้ค่อยเป็นค่อยไป ทำให้สำเร็จก่อนแล้วจะขยายไปยังชุมชนข้างเคียง

ห้วยผาลุ ต้นน้ำประปาหมู่บ้าน 

 

      ในฐานะผู้นำผ่านบทเรียนการทำงานกับชุมชนที่มีทั้งคนที่เฉยๆ คนเห็นด้วย และคนที่ต่อต้าน จนนำไปสู่การปะทะทางความคิดอยู่หลายครั้ง แต่ด้วยหัวใจของความเป็นนักสู้ที่ทั้งอดทน ยอมรับฟัง มีสติ ไม่หวั่นไหว เพื่อให้เข้าใจถึงปัญหา พร้อมยอมรับคำตำหนิ เพื่อนำมาปรับปรุงตนเองและวิธีการทำงานให้สามารถสร้างความร่วมมือได้ดียิ่งขึ้น

      ผู้นำชุมชนบอกหลักในการทำงานว่า ต้องทำงานอย่างมีระบบ เข้าใจปัญหาชุมชน ต้องสู้ ระยะแรกต้องใช้ความอดทนสูงมาก เจอคนไม่เอาด้วย ไม่เป็นไร ไม่ปฏิเสธ ไม่ยอมแพ้ ถูกตำหนิก็ไม่สนใจ ไม่ทะเลาะกับใคร เพราะถือว่าเป็นการอุดช่องโหว่ความบกพร่องของเรา เพื่อนำมาดูว่าเราต้องปรับปรุงอะไร เมื่อเข้าใจปัญหา จึงค่อยๆ อธิบาย และไม่เพียงพูดอย่างเดียว ต้องทำให้เห็นประโยชน์ ชุมชนจึงพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตาม โดยหากเอาประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ทุกคนก็พร้อมร่วมมือ ชีวิตใหม่ของชาวเขาที่นี่ไม่แร้นแค้นเหมือนอดีต ตนผ่านจุดลำบากในวัยเด็ก พื้นที่นี้เคยแห้งแล้งถึงขั้นต้องขุดหัวมัน กอย มาคลุกข้าวกินเพื่อประทังชีวิต เป็นเพราะชาวบ้านมีวิถีดั้งเดิมคือการพึ่งพิงธรรมชาติ แต่ขาดความเข้าใจวัฏจักรตามธรรมชาติ

 

สร้างระบบประปาภูเขา วางท่อส่งน้ำ สำหรับใช้อุปโภคในครัวเรือน 

 

      ฉะนั้น การกลับมาพึ่งพาธรรมชาติ ตระหนักถึงการดูแลรักษาธรรมชาติ สร้างความอุดมสมบูรณ์ได้ด้วยการบริหารจัดการดิน น้ำ ป่า เป็นหัวใจสำคัญของการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของคนบนพื้นที่สูง และหยุดยั้งการบุกรุกแผ้วถางป่าแม่แจ่มได้ ทั้งยังมีน้ำใช้เพาะปลูกสร้างแหล่งอาหารที่มั่นคง ช่วยลดผลกระทบจากภัยแล้ง หรือแม้แต่วิกฤติไวรัสโคโรนาระบาด เป็นแหล่งต้นน้ำ ผลิตข้าวปลาอาหาร ช่วยเหลือประเทศห้วงเวลาที่เผชิญความยากลำบาก

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"