กบท.ปัดยื่นล้มละลาย จี้สอบไอ้โม่งกินหัวคิว


เพิ่มเพื่อน    

  "การบินไทย" อยู่ไม่ติด ปัดข่าวประชุม 15 พ.ค.มีมติยื่นศาลล้มละลาย ชี้แผนฟื้นฟูอยู่ระหว่างเสนอ ครม.พิจารณา ขณะทวีชง "วิษณุ -หม่อมเต่า" รับฟังความเห็นผู้บริหารบินไทยผู้รู้ดีก่อนตัดสินชะตากรรม ด้าน "เรืองไกร" จี้สอบไอ้โม่งกินหัวคิวประโยชน์หนี้ภาระผูกพันแฝง

    เมื่อวันอาทิตย์ ฝ่ายสื่อสารองค์กรและประชาสัมพันธ์ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ชี้แจงว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อบางฉบับและสื่อสังคมออนไลน์ว่า การประชุมคณะกรรมการการบินไทย เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 มีมติยื่นศาลล้มละลายนั้น  ไม่เป็นความจริง
    บริษัทได้ดำเนินการจัดทำแผนฟื้นฟูแล้วเสร็จ และผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2563 ซึ่งคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ได้พิจารณาแผนฟื้นฟูดังกล่าว เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2563 โดยขณะนี้แผนฟื้นฟูของบริษัทอยู่ระหว่างนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณากำหนดแนวทางการฟื้นฟูต่อไป
    ขณะที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุใจความว่า ก่อนที่รัฐบาลจะตัดสินใจเลือกแนวทางแก้ปัญหาวิกฤติการบินไทยในเร็วๆ นี้ ขอเสนอว่าควรมอบให้ ดร. วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีแรงงาน เป็นเจ้าภาพรับผิดชอบรับฟังความคิดเห็นของอดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ หรือดีดีการบินไทย อดีตเจ้าหน้าที่บริหาร และอดีตคณะกรรมการหรือบอร์ดการบินไทย ทั้งนี้เพราะทั้ง 2 ท่านต่างเคยเป็นบอร์ดการบินไทยมาก่อน ย่อมรู้เรื่องของการบินไทยในระดับที่ดีพอสมควร
    พ.ต.อ.ทวีระบุด้วยว่า นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายที่สังคมมีความเคลือบแคลงสงสัยในความโปร่งใส และกลุ่มบุคคลทั้งในและนอกองค์กรมุ่งแสวงหาผลประโยชน์จากการบินไทยมีอยู่ทุกหน่วยงานย่อยต่างๆ ที่มีการจัดซื้อจัดจ้างเกือบทุกประเภท ตั้งแต่เครื่องบิน เครื่องยนต์ วัตถุดิบต่างๆ เช่น ไวน์, เหล้า, อาหาร ที่ใช้เสิร์ฟในเที่ยวบิน รวมถึงการใช้สิทธิต่างๆ ของการบินไทย ที่มีขั้นตอนระบบที่ซับซ้อนและอื่นๆ อีก รวมทั้งที่การบินไทยไปลงทุนในบริษัทย่อย อีก 5 บริษัท ที่ประสบการขาดทุนตลอด คือ บจก.ไทยสมายล์แอร์เวย์ เป็นต้น
    "หลังรับฟังความคิดเห็นแล้ว เชื่อว่ารัฐบาลน่าจะได้รับแนวทางในการแก้วิกฤติการบินไทยที่ดี และเหมาะสมกับสถานการณ์ เพราะข้อเสนอที่เกิดจากการใช้สติปัญญาและความรู้ของผู้รู้ดี ไม่ใช่หวังดีเพียงอย่างเดียว" พ.ต.อ.ทวีระบุ 
    ขณะที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว. กล่าวว่า ตามที่ บมจ.การบินไทย ขอเลื่อนการส่งงบการเงินไตรมาสแรกปี 63 ออกไปถึงเดือนสิงหาคม 63 ทำให้เกิดข้อสงสัยเป็นอย่างยิ่ง เพราะเท่ากับว่า ข้อมูลตามงบการเงินที่จะใช้ในการพิจารณาเพื่อฟื้นฟูกิจการนั้น เป็นข้อมูลที่ตรวจสอบแล้วเพียง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 62 เท่านั้น โดยเหตุการณ์ภายหลังวันที่งบการเงิน อาจแปลว่ามีหนี้หรือภาระผูกพันบางอย่างแฝงอยู่ 
    นายเรืองไกรระบุด้วยว่า เมื่อไปตรวจสอบในหมายเหตุงบการเงิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 62 ข้อ 8.35 ซึ่งระบุว่า “ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 บริษัทได้ลงนามในสัญญาเช่าดำเนินงาน เครื่องบินจำนวน 42 ลำ โดยมีภาระผูกพันที่ต้องจ่ายค่าเช่าเครื่องบินตามสัญญาเช่าดำเนินงานเป็นจำนวนเงิน 3,587.67 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 108,818.64 ล้านบาท ประกอบด้วยเครื่องบิน A320-200 จำนวน 15 ลำ A350-900 จำนวน 8 ลำ B777-300ER 
     "มีเครื่องบินครบกำหนดสัญญาเช่าดำเนินงานในปี 2563-2567 จำนวน 6 ลำ เครื่องบินครบกำหนดสิ้นสุดสัญญาในปี 2568-2573 จำนวน 36 ลำ ภาระผูกพันที่ต้องจ่ายค่าเช่าเครื่องบินตามสัญญาเช่าดำเนินงานเป็นจำนวนเงินกว่าแสนล้านบาท น่าจะเป็นรายการหนี้ก้อนใหญ่ที่จะต้องชำระต่อไปตามสัญญาหลังวันที่ 31 ธันวาคม 62 ปัญหาที่ตามมาคือ จะเอาเงินที่ไหนมาชำระหนี้ตามภาระผูกพันก้อนนี้ และรายการนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เกิดขึ้นสมัยใด และมีใครได้รับผลประโยชน์โดยไม่ชอบหรือไม่ หรือพูดภาษาทั่วไปว่า มีใครได้หัวคิวหรือไม่ ภาระผูกพันกว่าแสนล้านบาทนี้ นายกฯ รู้เรื่องแล้วหรือยัง ถ้ายัง ผมก็ขอบอกให้รู้ไว้" นายเรืองไกรระบุ
    นายเรืองไกรระบุว่า ก่อนที่จะพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการ ควรตรวจสอบต่อไปว่าจะเอาเงินที่ไหนมาชำระหนี้ก้อนนี้ ด้วยเหตุนี้ ตนเองจึงจะทำหนังสือส่งไปทางไปรษณีย์ ในวันที่ 18 พ.ค.นี้ เพื่อแจ้งไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ให้ทราบ และเพื่อให้นายกฯ ทำการตรวจสอบต่อไปโดยเร็ว โดยเฉพาะมีใครได้หัวคิวจากภาระผูกพันก้อนนี้หรือไม่ 
    วันเดียวกัน นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง ระบุว่า เรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำคือ ประการแรก ต้องหยุดยั้งความตื่นตระหนกของบรรดาสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ทั้งหลายที่ถือหุ้นกู้การบินไทยอยู่ ที่แห่ไปถอนเงินฝากและขายหุ้น ซึ่งจะนำมาสู่ปัญหาของฐานะทางการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์บางแห่ง ขณะเดียวกันต้องป้องกันไม่ให้ลุกลามไปสู่สหกรณ์ออมทรัพย์อื่นๆ ที่มีธุรกรรมระหว่างกัน
    ขณะที่นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์  รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ให้กรมส่งเสริมสหกรณ์เตรียมแนวทางมาตรการที่จะดูแล 82 สหกรณ์เจ้าหนี้ที่ลงทุนในหลักทรัพย์ของ บมจ.การบินไทยไว้ทุกรูปแบบ รอเพียงมติคณะรัฐมนตรีที่จะออกมาเท่านั้นว่าจะมีออกมาแนวทางไหน อย่างไร และจะใช้โมเดลใดเข้าไปช่วยดูแล.   


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"