'ดร.สามารถ'เปิดข้อมูล'บินไทย'ผู้โดยสารเพียบ ทำไมขาดทุนซ้ำซาก!


เพิ่มเพื่อน    

18 พ.ค. 63 - ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ในหัวข้อ "ปริศนา! การบินไทยขาดทุนซ้ำซาก" โดยระบุว่า "บางเส้นทางมีผู้โดยสารมาก แต่ขาดทุนอย่างน่ากังขา! แม้ ครม.มีมติปี 57-62 ให้ทีจียกเครื่ององค์กร ลดรายจ่าย เพิ่มศักยภาพการแข่งขันถึง 8 ครั้ง แต่เหลว! ไม่มีอะไรดีขึ้น สุดยื้อการขาดทุน

เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า การบินไทยมีผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่องมานานหลายปี เช่น ปี 2561 ขาดทุน 11,569 ล้านบาท ปี 2562 ขาดทุน 12,017 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดของการขาดทุนดังนี้

ปี 2561 ขาดทุน 48 เส้นทาง ได้กำไร 59 เส้นทาง

ปี 2562 ขาดทุน 60 เส้นทาง ได้กำไร 39 เส้นทาง

เมื่อเจาะลึกดูการขาดทุนของบางเส้นทาง พบว่าน่าแปลกใจมากว่าทำไมการบินไทยจึงขาดทุนได้ ทั้งๆ ที่มีผู้โดยสารมากและราคาค่าโดยสารสูง ยกตัวอย่างเช่น

1. เส้นทาง กรุงเทพฯ-ลอนดอน
1.1 ปี 2561 มีเที่ยวบินไป-กลับ 1,434 เที่ยว มีผู้โดยสารเฉลี่ย 77.7% ของจำนวนที่นั่งทั้งหมด ขาดทุนรวม 669 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนเฉลี่ยเที่ยวละ 466,527 บาท
1.2 ปี 2562 มีเที่ยวบิน 1,434 เที่ยว มีผู้โดยสารเฉลี่ย 82.9% ของจำนวนที่นั่งทั้งหมด ขาดทุนรวม 799 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนเฉลี่ยเที่ยวละ 557,183 บาท

2. เส้นทาง กรุงเทพฯ-มอสโคว์
2.1 ปี 2561 มีเที่ยวบินไป-กลับ 418 เที่ยว มีผู้โดยสารเฉลี่ย 67.9% ของจำนวนที่นั่งทั้งหมด ขาดทุนรวม 470 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนเฉลี่ยเที่ยวละ 1,124,402 บาท
2.2 ปี 2562 มีเที่ยวบิน 416 เที่ยว มีผู้โดยสารเฉลี่ย 76.5% ของจำนวนที่นั่งทั้งหมด ขาดทุนรวม 477 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนเฉลี่ยเที่ยวละ 1,146,635 บาท

เมื่อย้อนดูมติ ครม.ในช่วงปี 2557-2562 พบว่า ครม.มีมติให้การบินไทยแก้ปัญหาการดำเนินงานถึง 8 ครั้ง เช่น

มติ ครม.วันที่ 27 ตุลาคม 2558 ให้การบินไทยปฏิรูปตัวเองโดยลดค่าใช้จ่ายการดำเนินงาน และปรับปรุงระบบการดำเนินงาน โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร รวมทั้งสิทธิประโยชน์ของผู้บริหารและพนักงานระดับสูงทั้งในอดีตและปัจจุบัน เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการขาดทุนสะสม และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจของการบินไทยต่อไป

มติ ครม.วันที่ 4 ธันวาคม 2561ให้ปรับปรุงพัฒนาการบริหารจัดการของการบินไทยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย และสามารถแข่งขันได้อย่างเต็มศักยภาพในธุรกิจการขนส่งทางอากาศในปัจจุบัน โดยการปรับโครงสร้างและการบริหารจัดการองค์กรให้เหมาะสม

ถึงแม้ว่า ครม.ได้มีมติให้การบินไทยแก้ปัญหาในช่วงปี 2557-2562 แล้วก็ตาม แต่ผลประกอบการของการบินไทยในช่วงปีดังกล่าวก็ยังคงขาดทุนทุกปี ยกเว้นปี 2559 เพียงปีเดียวที่มีกำไรแค่ 47 ล้านบาท

ถึงวันนี้จึงคาดกันว่า ครม.จะตัดสินใจไม่อนุมัติให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ระยะสั้นประมาณ 54,700 ล้านบาท ตามที่การบินไทยร้องขอ แต่จะเลือกแนวทางให้มีการฟื้นฟูกิจการการบินไทยโดยผ่านกระบวนการของศาลล้มละลายกลาง (ซึ่งไม่ใช่กระบวนการล้มละลาย) เพราะจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดของการบินไทย เนื่องจากสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ พักชำระหนี้ได้ และเจรจาให้เจ้าหนี้ลดหนี้ลงได้

ไม่ว่า ครม.จะเลือกแนวทางใดก็ตาม ผู้ที่จะทำให้การบินไทยอยู่รอดปลอดภัยได้ก็คือผู้บริหารและพนักงานของการบินไทยทุกคน ไม่ใช่คนอื่น ดังนั้น ถ้าทุกคนผนึกกำลังร่วมกันต่อสู้อย่างแน่วแน่และจริงจัง ผมมั่นใจว่าการบินไทยจะสามารถฝ่าฟันวิกฤตอันเลวร้ายนี้ไปได้ และในที่สุดจะทำให้สายการบินไทยกลับมาพลิกฟื้นทำกำไรได้เหมือนในอดีตที่เคยรุ่งเรือง".


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"