ชงแผนฟื้นฟูบินไทยเข้าครม.


เพิ่มเพื่อน    

  "บิ๊กตู่" นั่งหัวโต๊ะประชุม "คนร." เคาะแผนฟื้นฟูการบินไทย ชงเข้า ครม.อังคารนี้ ยืนยันคนละเรื่องกับล้มละลาย "เสี่ยหนู" ชี้ในหลักการคลังไม่ต้องค้ำประกันเงินกู้ "วิชา" ย้ำเมื่อเข้าสู่การพิจารณาของศาลล้มละลายกลาง "บินไทย" จะสิ้นสภาพความเป็นรัฐวิสาหกิจโดยอัตโนมัติ 

    เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 18 พฤษภาคม ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) โดยมีนายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง, นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมหารือ
    ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมที่ใช้เวลาแค่ 1 ชั่วโมงว่า ที่ประชุมเห็นชอบจะนำเข้าแผนฟื้นฟู โดยจะเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ในวันที่ 19 พ.ค. 
    เมื่อถามว่าจะลดสัดส่วนผู้ถือหุ้นหรือไม่ นายกฯ ได้โบกมือทำสัญลักษณ์ว่าไม่มี พร้อมกล่าวว่า "วันนี้ขอให้รู้แค่นี้พอ ต้องให้เข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ก่อน จะให้พูดก่อน ครม.ได้อย่างไร จะไปวิพากษ์วิจารณ์ก่อนอะไร มันไม่ได้"
    ถามว่าแผนฟื้นฟูดังกล่าวเป็นไปตามกฎหมายล้มละลายหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า แผนการฟื้นฟูกับการล้มละลายเป็นคนละอันกัน อันนี้คือเรื่องมาตรการการฟื้นฟู 
    เมื่อถามย้ำว่า ไม่ได้มีการค้ำประกันเงินกู้แล้วใช่หรือไม่ นายกฯไม่ตอบคำถามดังกล่าว และเดินกลับไปยังห้องทำงานบนตึกไทยคู่ฟ้าทันที
    ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ตอนนี้ทุกคนในรัฐบาลชัดเจนว่า บมจ.การบินไทยต้องเข้าสู่การพื้นฟูกิจการตาม พ.ร.บ.ล้มละลายตนขอย้ำว่านี่ไม่ใช่การล้มละลาย แต่เป็นการปรับโครงสร้างหนี้โดยอาศัย พ.ร.บ.ล้มละลาย การฟื้นฟูกิจการอยู่ใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ 
    เมื่อถามว่า ในแผนดังกล่าว กระทรวงการคลังยังจะต้องค้ำประกันเงินกู้ให้ บมจ.การบินไทยหรือไม่ รองนายกฯ ตอบว่า โดยหลักแล้วไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น เพราะการบินไทยเป็นบริษัทมหาชน แต่ถ้ากระทรวงการคลังต้องค้ำประกันเงินกู้ให้ ก็ไม่ต้องฟื้นฟู
    ถามว่า หลังผ่านกระบวนการฟื้นฟูกิจการตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย การบินไทยจะต้องพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่  นายอนุทินตอบว่า ตามขั้นตอนก็คงเป็นอย่างนั้น เพราะจะได้มีความคล่องตัวมากขึ้น แต่ก็ไม่น่าจะเกี่ยว เพราะการฟื้นฟูกิจการตามแนวทางใน พ.ร.บ.ล้มละลาย เจ้าหนี้ของการบินไทยกับผู้จัดทำแผนต้องมาตกลงร่วมกัน เมื่อการบินไทยเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ คนร.จะหมดอำนาจ โดยอำนาจการบริหารจะอยู่กับผู้ทำแผนฯ ซึ่งศาลล้มละลายตั้งขึ้นตามคำแนะนำของเจ้าหนี้ ทั้งนี้ ขอให้รอดูเมื่อถึงวันก่อนดีกว่า
    "การฟื้นฟูกิจการในแนวทางดังกล่าวกับกิจการที่มีหนี้สินจำนวนมากนั้นเป็นสิ่งที่ดี เพราะจะทำให้กิจการนั้นไม่ต้องนำทรัพย์สินไปขายทอดตลาด และไม่ต้องชำระหนี้ เนื่องจากหลังการยื่นศาลล้มละลายกลางเพื่อขอฟื้นฟูกิจการ จะเกิดสภาวะที่เรียกว่า “ออโตเมติกสเตย์ (Automatic Stay - การพักการชำระหนี้โดยผลของกฎหมาย)” ทุกอย่างหมด เจ้าหนี้ไม่สามารถเรียกให้มีการแบ่งชำระหนี้" 
    ซักว่าจะส่งผลกับพนักงานการบินไทยมากน้อยแค่ไหน นายอนุทินกล่าวว่า ขึ้นอยู่กับผลประกอบการ กำไร-ขาดทุน และเส้นทางการบิน ตนคิดว่าระหว่างการทำแผนฟื้นฟู ผู้จัดทำแผนต้องหารือและตกลงร่วมกับพนักงานฝ่ายปฏิบัติการทั้งหลาย เพราะผู้จัดทำแผนมีอำนาจเสมือนเป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี)
    นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกฯ ได้กำชับให้สร้างการรับรู้ให้กับประชาชน ว่าวิธีการนี้ไม่ใช่เข้าสู่กระบวนการล้มละลาย เป็นการเข้าสู่กระบวนการเพื่อเข้าสู่แผนการฟื้นฟู ส่วนรายละเอียดชัดเจนคงต้องรอที่ประชุมครม. และยืนยันว่าไม่ใช่การล้มละลายอย่างแน่นอน
    น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์  รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าได้มอบให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ (กสส.) เตรียมรายละเอียดที่กรมจะใช้เข้าไปดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ทั้ง 82 แห่ง ที่ลงทุนในหุ้นกู้ บมจ.การบินไทย เพื่อแถลงรายละเอียดในแต่ละมาตรการ ที่กระทรวงเกษตรฯ ในช่วงบ่ายวันที่ 19 พ.ค. 
    เธอกล่าวว่า ภายหลังที่นายกรัฐมนตรีแถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีในเรื่องการฟื้นฟู บมจ.การบินไทยแล้วเสร็จ ตนเองและ นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดี กสส. จะแถลงรายละเอียดในมาตรการทั้งหมดที่จะนำมาดูแล  82 สหกรณ์ ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจกับสหกรณ์ออมทรัพย์และประชาชนที่สนใจในเรื่อง บมจ.การบินไทย ในภาคส่วนที่ตนกำกับดูแล  และหลังจากนั้นจะได้มีการนัด  82 สหกรณ์ออมทรัพย์มาหารือทิศทางการทำงานร่วมกันระหว่าง กสส.กับสหกรณ์เจ้าหนี้ในระยะต่อไป 
    ด้านนายวิชา มหาคุณ ประธานมูลนิธิต่อต้านการทุจริต และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายล้มละลาย-การฟื้นฟูกิจการ เปิดเผยว่า แม้ครม.จะไม่มีมติให้การบินไทยหลุดพ้นจากความเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่เมื่อแผนฟื้นฟูกิจการขึ้นสู่การพิจารณาของศาลล้มละลายกลางการบินไทยก็จะสิ้นสภาพความเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่ดี โดยศาลล้มละลายกลางจะมีคำสั่งตามข้อกฎหมาย เพื่อเปลี่ยนสภาพการบินไทยให้เป็นบริษัทเอกชน เพื่อให้การบริหารแผนฟื้นฟูฯ โดยผู้จัดทำแผนเกิดความคล่องตัว และผู้บริหารแผนฟื้นฟูสามารถตัดสินใจเจรจากับเจ้าหนี้ได้เลย ไม่ต้องกลับไปรายงานกับหน่วยงานรัฐบาลที่กำกับดูแลอีก
    เขากล่าวถึงการบินไทยมีเจ้าหนี้ต่างประเทศในวงเงินและสัดส่วนจำนวนมาก จะมีปัญหาขอบเขตอำนาจศาลต้องดำเนินการตามแผน ทั้งในประเทศและต่างประเทศหรือไม่ ว่าเจ้าหนี้ต่างประเทศก็สามารถยื่นข้อเรียกร้องต่อศาลล้มละลายกลางภายใต้กฎหมายของไทยได้ ซึ่งที่ผ่านมาในการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูฯ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายของบริษัทเอกชนในไทย ก็มีเจ้าหนี้ต่างประเทศยื่นคำร้อง ให้ลูกหนี้ชำระหนี้เป็นสกุลเงินต่างประเทศได้  ไม่มีการติดขัดตามขั้นตอนของกฎหมายแต่อย่างใด
    อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงประเด็นสถานะของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย หากการบินไทยเข้าแผนฟื้นฟูและสิ้นสภาพความเป็นรัฐวิสาหกิจนั้น มีรายงานข่าวระบุว่า จะต้องเปลี่ยนแปลงการบังคับใช้กฎหมาย เนื่องจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ จะใช้กฎหมายแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เป็นตัวกำกับการดำเนินกิจกรรมทางกฎหมาย ขณะที่บริษัทเอกชนก็สามารถมีสหภาพแรงงานได้ แต่จะอยู่ภายใต้กฎหมายแรงงานสัมพันธ์เท่านั้น ซึ่งกฎหมายทั้ง 2 ฉบับมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน.
    


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"