หวังคลายล็อกดีขึ้นเรื่อยๆ ถ้าแออัดห้างปิดได้ทันที


เพิ่มเพื่อน    

 ไทยป่วยเพิ่ม 3 ราย ศบค.ชี้เดินทางข้ามจังหวัดยังเสี่ยงแพร่เชื้อ รับคลายล็อกเฟส 2 คนแห่แน่นห้าง ช่วงแรกขรุขระบ้าง เรียนรู้ไปด้วยกัน แต่เชื่อจะดีขึ้น ชมเช็กอิน "ไทยชนะ" กว่า 2  ล้าน "อนุทิน" ย้ำอย่าการ์ดตก ให้อำนาจห้างปิดได้ทันทีหากแออัด สธ.ห่วงหน้าฝนไวรัสอยู่นานขึ้น กรมสุขภาพจิตเผยหมอ-ปชช.เครียดลดลงหลังผ่อนปรน

    ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม เวลา 11.30 น. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทย มีผู้ป่วยรายใหม่ 3 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสม 3,031 ราย หายป่วยสะสม 2,857 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมยังคงอยู่ที่ 56 ราย อยู่ระหว่างรักษา 118 ราย สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ 3 ราย มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า โดย 2 ราย เป็นหญิงไทย อายุ 29 ปี และชายไทย 55 ปี ติดเชื้อจากหน่วยงานราชการใน กทม. ตรวจพบเชื้อเมื่อวันที่ 15 พ.ค. ซึ่งสถานที่ราชการดังกล่าวพบผู้ติดเชื้อแล้ว 6 ราย กรมควบคุมโรคกำลังติดตามผู้ที่ใกล้ชิดเพื่อให้เข้ารับการตรวจต่อไป ส่วนอีก 1 ราย เป็นหญิงไทย อายุ 27 ปี เป็นพนักงานขายสินค้าที่ จ.ภูเก็ต มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันที่ทำงานที่ จ.ภูเก็ต และเดินทางกลับไปยัง จ.ปราจีนบุรี ทั้งนี้ จากข้อมูลของ จ.ภูเก็ต มีผู้ที่เดินทางออกจาก จ.ภูเก็ต และตรวจพบเชื้อโควิด-19 ในเดือน มี.ค. 7 คน เม.ย. 5? คน และ พ.ค. 2 คน โดยการเดินทางข้ามจังหวัดประชาชนมีอิสระ แต่ต้องเข้าใจว่ามีความเสี่ยง หากมีอาการต้องรีบเข้าตรวจ
     นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ผลการเฝ้าระวังตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ของกรมอนามัย ที่สำรวจระหว่างวันที่ 7-15 พ.ค. จำนวน 2,375 กิจการ/กิจกรรมทั่วประเทศ พบว่า ในตลาดสด ประชาชนสวมหน้ากาก มีจุดล้างมือ ซึ่งทำได้ดี แต่ยังต้องพัฒนาเรื่องความแออัด ระยะเวลาการอยู่ในตลาดนานเกินไป ไม่เว้นระยะห่าง ส่วนร้านอาหารแผงลอย มีจุดล้างมือดี แต่ต้องปรับปรุงการทำความสะอาดพื้นผิว ขณะที่สวนสาธารณะ สนามกีฬา ประชาชนร่วมมือใส่หน้ากากเป็นอย่างดี มีการเว้นระยะห่าง แต่ยังต้องปรับปรุงเรื่องการทำความสะอาดอุปกรณ์บ่อยๆ ส่วนร้านเสริมสวย มีการเว้นระยะบุคคล แต่ต้องพัฒนาเรื่องการสวมหน้ากากและภาชนะรองรับขยะ
    ส่วนข้อมูลจาก www.ไทยชนะ.com เมื่อเวลา 20.00 น. วันที่ 17 พ.ค. มีร้านค้าลงทะเบียน 44,386 แห่ง ผู้ใช้งาน 2,002,897 คน จำนวนเช็กอิน 2,658,754 ครั้ง เช็กเอาต์ 1,845,191 ครั้ง ประเมินร้าน 1,258,261 ครั้ง ซึ่งผู้ประกอบการที่ลงทะเบียนมากที่สุดคือ ร้านอาหาร รองลงมาคือห้างสรรพสินค้า ส่วนสถานที่ที่ประชาชนใช้บริการมากที่สุดคือห้างสรรพสินค้า รองลงมาคือซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านอาหาร แต่ปัญหาที่พบคือคนเช็กอินแล้วไม่เช็กเอาต์ ทำให้มีปริมาณประชาชนในพื้นที่นั้นๆ มากกว่าความเป็นจริง
    โฆษก ศบค.กล่าวว่า ภาพประชาชนไปแออัดก่อนเข้าห้างสรรพสินค้าจำนวนมากในวันแรกที่มีการผ่อนปรนนั้น มาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2 เพิ่งจะผ่านไป 1 วัน เราต้องเรียนรู้ไปด้วยกัน ส่วนตัวขอบคุณประชาชนและร้านค้าที่ให้ความร่วมมือ ได้เห็นภาพการผ่อนคลายของประชาชน ทำให้เศรษฐกิจกลับมาหมุนเวียน
คลายล็อกเฟส 2 ขรุขระบ้าง
     "เราเพิ่งผ่อนปรนระยะที่ 2 มาได้ไม่กี่วัน จะให้เนี้ยบให้ดีคงเป็นไปไม่ได้ ต้องมีขรุขระไม่สะดวกสบายบ้าง เราเรียนรู้ร่วมกันเพื่อพัฒนาไปด้วยกัน พรุ่งนี้จะดีกว่าวันนี้ ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ เชื่อว่าถ้าทำกันได้อย่างดีในระยะที่ 2 ที่มีความเสี่ยงปานกลาง ในระยะที่ 3 ที่มีความเสี่ยงสูงก็จะเกิดขึ้นได้ ย้ำว่าถ้าทำระยะที่ 2 ได้ดี ระยะการผ่อนปรนที่ 3 มีแน่นอน" นพ.ทวีศิลป์ระบุ
    ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการผ่อนปรนมาตรการระยะที่ 2 ว่า ยังมีความเป็นห่วงและอยากให้ประชาชนทุกคนใช้วิถีชีวิตแบบใหม่ และยังต้องรักษาระยะห่างทางสังคมอย่างเคร่งครัดเรื่องของการออกนอกเคหสถาน จะต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง การผ่อนคลายอาจจะให้ไปในสถานที่จำเป็น แต่การทำงานที่บ้านยังเป็นสิ่งที่จำเป็นอยู่ การรับประทานอาหารยังคงต้องแยก ต้องขอความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการปฏิบัติตนอย่างเข้มงวดเหมือนเดิม
    ส่วนกรณีห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งย่านบางนามีประชาชนเข้าไปใช้บริการอย่างหนาแน่นนั้น นายอนุทินกล่าวว่า ยังไม่ทันได้ขอความร่วมมือ แต่เขาก็ปิดร้านไปก่อน เพราะก็คงรับไม่ไหวเหมือนกัน ซึ่งไม่อยากใช้มาตรการทางกฎหมายบังคับ แต่ขอความร่วมมือจากประชาชนหากที่ไหนหนาแน่นควรหลีกเลี่ยง ทั้งนี้ สถานที่ใดหากเกิดความแออัด ผู้ประกอบการสามารถสั่งปิดได้เลย
     ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน, นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข รับมอบซิมฮีโร่จากเอไอเอส พร้อมสิทธิ์คุ้มครองประกันภัยโควิด-19 เพื่อมอบให้กับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการปฏิบัติงานสู้ภัยโควิด-19 โดยนายอนุทินระบุว่า เป็นการตอบแทนนักรบเสื้อเทา ที่ทุ่มเท เสียสละทำงานด้วยจิตอาสาในการดูแลป้องกันโรค
    นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค แถลงว่า หลังจากที่มีการเปิดห้างสรรพสินค้าในวันแรก มีประชาชนเข้าใช้บริการเป็นจำนวนมาก และบางห้างมีความแออัดกันสูงมาก เป็นเรื่องที่ไม่น่าเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม อาจจะยอมรับได้เนื่องจากประชาชนมีความอัดอั้นมานาน แต่หลังจากนี้ห้างสรรพสินค้าต่างๆ จะต้องทำให้ได้ ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ประชาชนปลอดภัย
    เมื่อถามว่า เชื้อโควิด-19 เติบโตได้ดีในอากาศเย็น ชื้นในช่วงฤดูฝน ต้องเฝ้าระวังอย่างไร กล่าวว่า ยังไม่มีองค์ความรู้ที่แน่ชัดเกี่ยวกับโควิด-19 แต่เชื้อโคโรนาไวรัส 2019 อยู่ในกลุ่มไวรัสเดียวกันกับซาร์สและเมอร์ส ซึ่งโดยฤดูฝนมีทั้งความชื้นและอุณหภูมิลดลง เชื้อไวรัสจึงอยู่ได้นาน ซึ่งสิ่งที่น่ากังวลคือประเทศไทยในช่วงหน้าฝนจะมีโรคประจำถิ่นที่จะระบาดอยู่คือไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล จึงมีการรณรงค์ให้ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่และโรคไข้เลือดออก ดังนั้นจึงต้องตรวจหาโรคโดยใช้วิธี RT-PCR กับโรคโควิด-19 ก่อน เพราะเป็นโรคที่อันตราย เมื่อพบว่าเป็นลบ ต้องทำเช่นเดียวกันกับโรคไข้หวัดใหญ่ เพื่อให้แพทย์สามารถรักษาได้ถูกต้อง
    นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ผลกระทบระยะยาวจากโรคโควิด-19 จะแบ่งออกเป็น 4 ระยะ คือ คลื่นลูกที่หนึ่ง ตั้งแต่ช่วง1-3 เดือนแรกที่มีโรคระบาด เป็นช่วงที่สร้างผลกระทบกับสุขภาพของคนและขีดความสามารถของโรงพยาบาล เพราะพบผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตต่อเนื่อง, คลื่นลูกที่ 2 ช่วง 2-4 เดือนหลังเริ่มมีการระบาด โดยเป็นช่วงที่ผู้ป่วยเร่งด่วนที่ไม่ติดเชื้อโควิด-19 มาใช้บริการ ซึ่งอาจทำให้เกิดการล้นทะลักเพราะไม่สามารถให้บริการได้เพียงพอ, คลื่นลูกที่ 3 ช่วง 4-9 เดือนหลังเริ่มมีโรคระบาด เป็นช่วงที่ผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ต้องกลับมาโรงพยาบาล?เพื่อพบแพทย์หรือรับการรักษา และคลื่นลูกที่ 4 ช่วง 2 เดือนถึง 3 ปี หลังมีโรคระบาด ผลกระทบทางเศรษฐกิจยังเป็นลูกโซ่ ส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพจิต คนมีความเครียด ซึมเศร้า หรือฆ่าตัวตาย นอกจากนี้ การให้บริการในภาวะวิกฤติมาอย่างยาวนาน ยังส่งผลต่อสุขภาพจิตของบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งอาจมีภาวะเหนื่อยล้าและหมดไฟ
หมอ-ปชช.เครียดลดลง
     "จากการประเมินระดับความเครียดของบุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนทั่วไปนั้น ในเดือน พ.ค. มีความเครียดที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยการสำรวจในช่วง 30 มี.ค.-5 เม.ย.63 บุคลากรทางการแพทย์มีความเครียดมาก คิดเป็นร้อยละ 9.4 และประชาชนมีความเครียดมาก คิดเป็นร้อยละ 8.1 โดยเมื่อดูผลสำรวจในช่วง 27 เม.ย.-3 พ.ค.63 จะเห็นได้ว่าบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเครียดมาก มีเปอร์เซ็นต์ลดลงกว่า 5.6 เปอร์เซ็นต์ และประชาชนที่มีความเครียดมาก มีเปอร์เซ็นต์ลดลงกว่า 2.9 เปอร์เซ็นต์ โดยสาเหตุที่ความเครียดลดลงเพราะรัฐบาลได้มีการประกาศผ่อนคลายมาตรการ" นพ.เกียรติภูมิระบุ
    อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า กรมได้มีการเก็บสถิติอัตราการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายในช่วงปี 2540 ซึ่งเป็นช่วงที่มีปัญหาเศรษฐกิจเกิดขึ้น พบว่า มีอัตราการฆ่าตัวตาย 8.59 ต่อหนึ่งแสนประชากร หลังจากนั้นในช่วง 10 ปี หลังมีอัตราการฆ่าตัวตายลดลงมาโดยตลอด โดยปัจจุบันมีการฆ่าตัวตายกว่า 6.6 ต่อหนึ่งแสนประชากร โดยแนวโน้มการฆ่าตัวตายในปีนี้ถ้าไม่มีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวก็อาจจะมีการฆ่าตัวตายกว่า 8.8 ต่อหนึ่งแสนประชากร
     ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก เปิดเผยว่า พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับผู้บังคับหน่วยทั่วประเทศ โดยได้กล่าวถึงการที่รัฐบาลได้มีคำสั่งผ่อนคลายมาตรการระยะที่ 2 รวมถึงการปรับลดเวลาเคอร์ฟิวนั้น ผบ.ทบ.กำชับให้ทุกหน่วยได้ปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด และจะปรับเวลาการกลับเข้าที่พักอาศัยของหน่วยทหารเป็นเวลา 23.00-04.00 น. รวมทั้งเน้นย้ำให้ดำรงการช่วยเหลือประชาชน ควบคู่ไปกับการดูแลกำลังพลและครอบครัว ไม่ให้มีการติดเชื้อและมีการดำรงชีวิตแบบ New Normal อย่างเหมาะสม
    ที่ จ.ภูเก็ต คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ตแจ้งสถานการณ์โรคติดเชื้อโควิด-19 ว่า มีผู้ติดเชื้อยืนยันโรคโควิด-19 แล้วจำนวน 224 ราย ไม่พบรายใหม่ (ต่อเนื่องเป็นวันที่ 17 แล้ว) โดยผู้ติดเชื้อได้รับอนุญาตให้กลับบ้าน 202 ราย (ไม่มีกลับบ้านเพิ่ม) เสียชีวิต 3 ราย (ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม) กำลังรักษาพยาบาลอยู่  18 ราย
    ที่โรงพยาบาลปัตตานี อ.เมืองฯ จ.ปัตตานี นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี พร้อมด้วยบุคลากรทางการแพทย์จังหวัดปัตตานี ร่วมแสดงความยินดีพร้อมมอบแจกันดอกไม้และกระเช้าให้แก่ผู้ป่วยที่หายจากเชื้อโควิด-19 คนสุดท้ายของจังหวัดปัตตานี โดยมีรถโรงพยาบาลยะรังมารับกลับภูมิลำเนา ทั้งนี้ จังหวัดปัตตานีไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มติดต่อกันมาแล้ว 27 วัน โดยมีผู้ติดเชื้อสะสม 91 ราย เสียชีวิต 1 ราย.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"