ขายหมดเกลี้ยง! พันธบัตร5หมื่นล. รุ่น'เราไม่ทิ้งกัน'


เพิ่มเพื่อน    

    "คลัง" เคาะ 15 ล้านคนผ่านเกณฑ์ได้สิทธิ์รับเยียวยา 5 พันบาทจากโครงการเราไม่ทิ้งกัน แจงลุยจ่ายเงินแล้ว 14.2 ล้านคน เตรียมจ่ายเพิ่มอีก 7 แสนคน เหลือเชื่อ! "สบน." แจงพันธบัตรออมทรัพย์รุ่นเราไม่ทิ้งกัน วงเงินรวม 5 หมื่นล้านบาท ขายดีเวอร์หมดก่อนกำหนด "หม่อมเต่า" ยันประกันสังคมมีเงินจ่ายครบแน่ แต่ช้าเพราะคอมพ์โบราณ
    เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า มาตรการเราไม่ทิ้งกัน โดยการจ่ายเงินเยียวยาให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระ 5,000 บาท (3 เดือน) ข้อมูลเมื่อวันที่ 20 พ.ค.63 มีผู้ผ่านเกณฑ์ทั้งหมด 15 ล้านคน จ่ายเงินไปแล้ว 14.2 ล้านคน โดยในสัปดาห์นี้เตรียมจ่ายเงินอีก 7 แสนคน และโอนเงินไม่สำเร็จอีก 1 แสนคน ซึ่งคลังขอให้ไปผูกพร้อมเพย์เลขบัตรประชาชนกับบัญชีเงินฝากเพื่อที่จะได้รับเงิน 5,000 บาท
    "ตอนนี้โครงการเราไม่ทิ้งกันสำเร็จไปแล้ว 99% ส่วนที่เหลือ 1% คลังกำลังเร่งดำเนินการให้เสร็จภายในสิ้นเดือนนี้" 
    นายลวรณกล่าวว่า ในส่วน 1% ที่ดำเนินการจ่ายเงินอยู่ มีจำนวน 2.4 แสนคนที่ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ผู้ขอทบทวนสิทธิ์ 8 หมื่นราย จะได้รับการติดต่อจากทีมผู้พิทักษ์สิทธิ์เพื่อนัดหมายยืนยันตัวตนและตรวจสอบการประกอบอาชีพตามที่ได้ลงทะเบียนไว้ กลุ่มที่ 2 ประมาณ 1 แสนราย เป็นผู้ขอทบทวนสิทธิ์ซึ่งเคยได้รับการติดต่อจากทีมผู้พิทักษ์สิทธิ์แล้ว แต่ไม่สามารถนัดพบได้หรือที่อยู่จริงในปัจจุบันไม่ตรงกับที่ได้ลงทะเบียนไว้ตอนขอทบทวนสิทธิ์ ทำให้ผู้พิทักษ์สิทธิ์ไม่สามารถพบตัวได้ สำหรับกลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มที่ผู้พิทักษ์สิทธิ์ได้พยายามติดต่อไปหาแล้วหลายครั้งแต่ติดต่อไม่ได้ จำนวน 6 หมื่นราย
    ดังนั้นในกลุ่มผู้ขอทบทวนสิทธิ์ในกลุ่มที่ 2 และ 3 กระทรวงการคลังจะมีการส่งเอสเอ็มเอสแจ้งให้ทราบอีกครั้งในวันที่ 22 พ.ค. เมื่อได้เอสเอ็มเอสแล้วให้ไปติดต่อที่สาขาธนาคารกรุงไทยที่สะดวกที่สุด เพื่อยืนยันตัวตนและการประกอบอาชีพ โดยนำบัตรประชาชนตัวจริงไปแสดงพร้อมหลักฐานการประกอบอาชีพได้จนถึงวันที่ 29 พ.ค.นี้เท่านั้น เพื่อที่กระทรวงการคลังจะได้ปิดโครงการเราไม่ทิ้งกัน
    "หลังจากปิดโครงการเราไม่ทิ้งกัน โดยจ่ายเงินให้ผู้ได้รับสิทธิ์ 15 คนแล้ว กระทรวงการคลังก็จะมาพิจารณามาตรการช่วยเหลือกลุ่มผู้ที่ลงทะเบียนเราไม่ทิ้งกันไม่สำเร็จอีก 1.7 ล้านคน และกลุ่มผู้มีรายได้น้อยอีก 2 ล้านคน ในมาตรการที่เหมาะสมอีกต่อไป" นายลวรณกล่าว
    สำหรับการเยียวยากลุ่มเปราะบางเป็นเรื่องของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ดำเนินการ มีจำนวน 13 ล้านคน ประกอบด้วยเด็กแรกเกิด ผู้สูงอายุ และคนพิการ ซึ่งจะมีการเสนอให้คณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณาเห็นชอบมาตรการเยียวยา เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรี  (ครม.) เห็นชอบต่อไป โดยจะต้องตรวจสอบไม่ให้การช่วยเหลือซ้ำซ้อนกับมาตรการเราไม่ทิ้งกัน การช่วยเหลือเกษตรกร การช่วยเหลือของกองทุนประกันสังคม ส่วนรูปแบบการเยียวยาจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับการเสนอของกระทรวง พม.
    หลังจากที่กระทรวงการคลังได้ออกจำหน่ายพันธบัตรพิเศษรุ่น "เราไม่ทิ้งกัน" ของกระทรวงการคลัง ในปีงบประมาณ พ.ศ.2563 แบบไร้ใบตราสาร (Scripless) วงเงินไม่เกิน 50,000 ล้านบาท จำนวน 2 รุ่น  อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได รุ่นอายุ 5 ปี เฉลี่ย 2.40% และรุ่นอายุ 10 ปี เฉลี่ย 3.00% ต่อปี โดยเริ่มจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยของประชาชนรายย่อย และเป็นการเยียวยาให้กลุ่มประชาชนที่เสียภาษีให้รัฐบาลได้รับผลตอบแทนที่ดีในช่วงที่ตลาดการเงินมีความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจนั้น
    สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) แจ้งว่า เมื่อวันที่ 21 พ.ค. เวลา 13.00 น. พันธบัตรออมทรัพย์พิเศษรุ่น "เราไม่ทิ้งกัน" ได้จำหน่ายครบวงเงิน 50,000 ล้านบาททุกช่องทางแล้ว โดย สบน.ขอขอบพระคุณผู้ลงทุนที่ให้ความสนใจลงทุนพันธบัตรออมทรัพย์ในครั้งนี้
    สำหรับวันที่จำหน่าย ผู้มีสิทธิ์ซื้อ และวงเงินซื้อขั้นต่ำ-ขั้นสูง แบ่งเป็น 3 ช่วง ช่วงที่ 1 วันที่ 14-20 พ.ค.63 ขายบุคคลธรรมดาที่ถือสัญชาติไทยหรือมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ขายหน่วยละ 1,000 บาท ซื้อขั้นต่ำได้ 1 หน่วย แต่ไม่เกิน 2 ล้านบาทต่อราย รวมทุกรุ่น ต่อธนาคาร
    ช่วงที่ 2 วันที่ 21-27 พ.ค.ขายให้บุคคลธรรมดาที่ถือสัญชาติไทยหรือมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย และช่วงที่ 3 วันที่ 28 พ.ค. - 10 มิ.ย.63 ขายให้บุคคลธรรมดาที่ถือสัญชาติไทยหรือมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย  และนิติบุคคลที่ไม่แสวงหากำไร ได้แก่ สภากาชาดไทย มูลนิธิ สมาคม สหกรณ์ วัด สถานศึกษาของรัฐ  โรงพยาบาลของรัฐ และนิติบุคคลอื่น
    ด้าน ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์เรื่องเงินเยียวยาในส่วนของประกันสังคมว่า ได้เชิญเลขาฯ ประกันสังคมมาพูดคุยแล้ว ยอมรับว่าต้องล่าช้าเพราะโดยลักษณะของระบบคอมพิวเตอร์ที่ไม่ใช่ออนไลน์ ต้องตรวจสอบ เราจะต้องรอ คงต้องใช้เวลาแก้ไข และการ อนุมัติก็ต้องผ่านการตรวจสอบและเซ็นลงนามถึงสองคน คือเมื่อลูกจ้างขอมานายจ้างก็ต้องเซ็น ภาคราชการก็ต้องตรวจสอบก่อนที่จะจ่ายเงิน  ขณะนี้ทางประกันสังคมสามารถรายงานให้คนทราบได้ทุกวันว่าวันนี้จ่ายได้กี่คน วันนี้ติดอยู่กี่คน กำลังพัฒนาอยู่
    ส่วนการชดเชยไม่มีปัญหา เข้าใจว่าลูกจ้างเป็นห่วงว่าเงินจะหมด แต่ไม่หมดหรอก เพราะถ้าประมาณการว่าคนละ 20,000 กว่าบาท ถ้าคิด 1 ล้านคนก็สองหมื่นกว่าล้าน ก็ต้องรอดูก่อนว่าเขากลับไปทำงานกันหมดแล้วหรือยังมีตกงานอีก จำนวนเพิ่มขึ้นหรือไม่ ซึ่งตอนนี้ขอมาเพิ่มวันหนึ่ง 30,000  ราย ซึ่งตนได้รับข้อมูลแล้วก็ต้องรอดูทุกวันว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 4 หมื่น หรือ 5 หมื่นหรือไม่ หรือว่ามีกลับไปทำงานกันมากขึ้น ต้องรอดู 1-2 เดือนด้วยว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มนิ่งหรือไม่ เปิดห้างสรรพสินค้าแล้ว พนักงานสามารถกลับไปทำงานได้กี่คน ผู้ผลิตขายของได้มากขึ้นหรือไม่ หรือหันไปซื้อออนไลน์กันหมด เราจะต้องประเมินจากของจริงด้วย
    นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) เปิดเผยว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นด้วยในการออกพระราชกำหนดกู้เงินจำนวน 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาประเทศ แต่เป็นกังวลเรื่องความโปร่งใสในการใช้เงินกู้ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน และฟื้นฟูประเทศอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะมีกระแสข่าวมาว่าฝ่ายรัฐบาลเตรียมโครงการที่จะเข้ามาของบประมาณ รวมทั้งมีการเตรียมการทำมาหากินกับงบประมาณแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ในภาวะเช่นนี้ไม่ควรมีใครไปหาประโยชน์จากความเดือดร้อนของประชาชน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"