ฝ่ายแค้นไม่ฉุกเฉิน 50ส.ส.เพื่อไทยเตรียมถล่ม วิษณุ:เลิกพรก.จบเคอร์ฟิว


เพิ่มเพื่อน    


    "วิษณุ" ย้ำถ้าเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็ไม่ต้องพูดถึงเคอร์ฟิว ชี้สถิติโควิดดีขึ้นนั้นเป็นผลจากการควบคุม แต่ถ้าเราไม่ควบคุมสถิติก็อาจจะแย่ลงก็ได้ เลขาฯ สมช.เตรียมชง ครม. 26 พ.ค.นี้ อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาชี้คนที่ออกมาต่อต้านจ้องล้มรัฐบาลโดยไม่สนใจคนเจ็บป่วยล้มตาย ด้านเพื่อไทยเตรียมแก้ปัญหาโควิด-19 ด้วยปาก เตรียม 50 ขุนพลอภิปรายในสภา ยันรัฐบาลต้องยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินเท่านั้นก่อนเศรษฐกิจจะล่มสลาย
    เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญเพื่อพิจารณาร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เงินกู้ 3 ฉบับ ในวันที่ 27-31 พฤษภาคมนี้ ว่ารายละเอียดของการประชุมดังกล่าว เป็นเรื่องของวิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้านที่จะต้องหารือกัน และจะนำมารายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันอังคารที่ 26 พฤษภาคม ซึ่งการอภิปรายที่จะยาวไปถึงวันเสาร์-อาทิตย์นั้น มีปัญหาอยู่ว่าจะมีคนมาเข้าร่วมประชุมหรือไม่
    รองนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีในฐานะ ผอ.ศบค. มอบหมายให้ พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ไปพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะลดเวลาเคอร์ฟิวจากเที่ยงคืนถึงตีสี่ว่า มีการนำเสนอขึ้นมาในที่ประชุม แต่ยังไม่ใช่มติแต่อย่างใด
    ผู้สื่อข่าวถามว่าจะสามารถเชื่อมโยงไปถึงหลังการผ่อนคลายในระยะที่ 3 ได้หรือไม่ รองนายกฯ ตอบว่า ได้ ก็เป็นไปได้ แต่ก็ต้องเข้าใจก่อนว่าการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไปหรือไม่นั้นเป็นเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าไม่ใช้ต่อ เรื่องเคอร์ฟิวก็ไม่ต้องพูดถึง แต่ถ้าหากประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อ การนำเสนอในที่ประชุม ครม.ในสัปดาห์หน้านั้นก็ไม่จำเป็นว่าเมื่อประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แล้วจะต้องบังคับใช้มาตรการทุกอย่าง 
    ทั้งนี้ การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นไปตามมาตรา 5 แต่ผลของการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะเป็นไปตามมาตรา 9 ซึ่งมีอยู่ 7-8 ข้อ ดังนั้นจะเลือกใช้เป็นบางข้อก็ได้ เหมือนที่ผ่านมาเราประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินตามมาตรา 5 และประกาศใช้มาตรา 9 เกือบทุกข้อ ซึ่งข้อแรกคือเรื่องเคอร์ฟิว ดังนั้นถ้าต่อไปเราประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อาจจะเลือกบังคับใช้ตามมาตรา 9 เพียงบางข้อก็ได้ เช่น เคอร์ฟิวไม่มีก็ได้ หรือจะลดเวลาเคอร์ฟิวให้สั้นลงก็ได้ หรือเวลานี้ห้ามชุมนุม ต่อไปอาจจะไม่ห้ามก็ได้ ซึ่งนี่คือตัวอย่าง ที่ยกให้ฟังเพื่อให้เห็นว่าการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินกับการบังคับใช้มาตรการใดบ้างเป็นคนละส่วนกัน แต่ถ้าไม่ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ใช้ข้อไหนไม่ได้เลย
    ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกรัฐมนตรีแสดงความพอใจในภาพรวมแล้วบอกต่อที่ประชุม ศบค.อย่างไร นายวิษณุกล่าวว่า สถิติดูดีขึ้น ถ้าดูตัวเลขของสถิติแต่ทางการแพทย์ยืนยันว่าที่สถิติดีขึ้นนั้นเป็นผลจากการควบคุม แต่ถ้าเราไม่ควบคุม สถิติก็อาจจะแย่ลงก็ได้ ดังนั้นขอให้ตรึงไว้สักระยะหนึ่ง แล้วค่อยๆ ผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ลงตามลำดับ
    นายวิษณุยังเผยว่า ในวันอังคารที่ 26 พฤษภาคม เลขาฯ สมช.จะรายงานในนาม ศบค. เพื่อขอต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และต่อหรือไม่ต่อเคอร์ฟิวเท่านั้น ส่วนมาตรการผ่อนคลายอื่นๆ ไม่เคยเข้าครม. จะมีการเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ซึ่งเป็นไปตามอำนาจของ ผอ.ศบค. ดังนั้น สมช.จะประชุมในคณะย่อยในวันที่ 27 พฤษภาคม ก่อนที่จะเสนอเข้าที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ในวันที่ 29 พฤษภาคม เพื่อที่จะมีผลในวันอาทิตย์หรือวันจันทร์ถัดไป
มีวินัยไม่ต้องบังคับ
     ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha โดยระบุว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ยังคงมีแสดงว่ายังมีการระบาด สามารถประเมินได้ว่ามากหรือน้อยโดยเฉพาะกลุ่มแพร่ที่ไม่มีอาการ ด้วยการหาหลักฐานการติดเชื้อโดยการเจาะเลือด หาแอนติบอดี เป็นระยะในกลุ่มที่คัดเลือกที่เหมาะสมว่าเพิ่มขึ้นจริงหรือไม่ ในการมี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อเป็นการกระชับการควบคุมป้องกันโรคให้อยู่ในมาตรฐาน โดยให้มีการทำงานร่วมกันในการควบคุมอย่างมีเอกภาพ      
    "ถ้าคนไทย สถานประกอบการ การประกอบกิจกรรม มีวินัยไม่ต้องให้มีใครบังคับ ก็ไม่ต้องมี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือถ้ามุ่งประเด็นในการสามารถแยกกักกันควบคุมผู้ต้องสงสัยที่ไม่ปฏิบัติตาม จะสามารถใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อร้ายแรงได้อย่างเดียวหรือไม่ และจะเพียงพอหรือไม่" ศ.นพ.ธีระวัฒน์ตั้งคำถาม
    ด้านนายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Chuchart Srisaeng ระบุว่า ถ้ายกเลิกการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และใช้พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558  เพียงฉบับเดียวมาใช้ในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19  อำนาจในการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ เป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีท่านอื่นๆ ไม่มีอำนาจที่จะสั่งการใดๆ ตามกฎหมายฉบับนี้
    นายชูชาติระบุว่า ผู้ที่ออกมาต่อต้านและเรียกร้องให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน น่าจะรู้ดีว่าการแก้ปัญหาการระบาดของโควิด-19 ที่ประเทศไทยประสบความสำเร็จจนทั่วโลกให้การยอมรับและยกย่องนั้น เหตุผลสำคัญประการหนึ่งก็คือการนำ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาใช้ในการปัญหา เพราะนายกรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งการได้ในทุกกรณี
    "ถ้ายกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และใน รมต.สาธารณสุข ใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อแก้ปัญหา โดยนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีท่านอื่นๆ ไม่มีอำนาจยุ่งเกี่ยว เชื่อได้ว่าการระบาดของโควิด-19 รอบสอง เช่นที่เกิดขึ้นในประเทศสิงคโปร์ ที่ในรอบแรกมีผู้ป่วยเพียง 1,000 คนเศษ แต่ขณะนี้มีผู้ป่วยถึง 30,426 คน ทั้งๆ ที่มีประชากรทั้งประเทศเพียง 5 ล้านคนเศษเท่านั้น"
    อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกายังโพสต์ข้อความว่า ถ้าประเทศไทยมีผู้ป่วยเท่าหรือมากกว่าสิงคโปร์ จนเท่ากับประเทศฝรั่งเศสหรือสเปนหรือสหรัฐอเมริกาเมื่อใด ผู้ที่ออกมาต่อต้านการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และผู้ที่คอยจ้องล้มรัฐบาลชุดนี้ก็จะประสานเสียงออกมาขับไล่รัฐบาลชุดนี้โดยอ้างเหตุว่าแก้ไขป้องกันการระบาดของโควิด-19 ล้มเหลว ส่วนประชาชนคนไทยจะป่วยเจ็บและเสียชีวิตมากมาย แค่ไหน แม้อาจมีญาติพี่น้องของตนเองรวมอยู่ด้วย บุคคลเหล่านี้ก็คงไม่สนใจ เพราะต้องการเพียงให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พ้นจากผู้นำของประเทศไทยเท่านั้น
พท.เตรียม 50 ส.ส.
    วันเดียวกันนี้ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย เรียกประชุม ส.ส.หารือร่วมกัน ผ่านระบบซูม เนื่องจากต้องเว้นระยะห่างในช่วงการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 เพื่อเตรียมการอภิปราย โดยเฉพาะพระราชกำหนดรวม 3 ฉบับ ที่รัฐบาลออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ของพรรค ประกอบด้วย นายโภคิน พลกุล, นายชัยเกษม นิติสิริ, นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง, นายวัฒนา เมืองสุข, นายนพดล ปัทมะ, นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา, นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รวมทั้งนายสุชาติ ธาดาธำรงเวช เข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง ในการให้คำแนะนำประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและข้อกฎหมาย ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยมี ส.ส.ร่วมลงชื่อขออภิปรายดังกล่าวประมาณ 50 คน
    สาระในการประชุมสรุปเบื้องต้น พรรคเพื่อไทยเห็นว่า มาตรการที่รัฐใช้ในการควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ได้แก่ การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน การล็อกดาวน์ประเทศ การหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการประกาศเคอร์ฟิว ไม่ได้สัดส่วนกับการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด ทำให้เกิดผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจ ดังนั้นพรรคเพื่อไทยเห็นว่ารัฐบาลหมดความจำเป็นที่จะคงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอีกต่อไป ในทางกลับกัน รัฐบาลควรปลดล็อกให้ความสำคัญกับการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจที่จะเสียหายมากที่สุดในรอบ 100 ปี โดยประเมินว่าจีดีพีอาจจะติดลบถึงร้อยละ 7-9 ส่งผลคนตกงานมากกว่า 7-10 ล้านคน 
    สำหรับมาตรการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด พรรคเพื่อไทยเห็นว่ารัฐบาลยังเยียวยาไม่ทั่วถึง ดำเนินการด้วยความล่าช้า สร้างกติกากฎเกณฑ์ที่ยุ่งยากกับประชาชน ทำให้คนส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงการเยียวยา และส่อไปในทางทุจริตเอื้อพวกพ้อง รวมทั้งไม่มียุทธศาสตร์ที่ทำให้การเยียวยา เกิดผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ โดยจะเห็นได้จากข่าวทำให้ประชาชนต้องฆ่าตัวตาย และเงินเยียวยาที่ประชาชนจะต้องเป็นผู้ชำระหนี้ไหลไปสู่กระเป๋าของมหาเศรษฐีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เขียนจดหมายไปขอให้ช่วยรัฐบาล
    นอกจากนี้ ในส่วนการพยุงรักษาเศรษฐกิจไม่ให้ล่มสลาย พรรคเพื่อไทยเห็นว่ารัฐบาลมิได้มีมาตรการที่จะดูแลรักษาหรือช่วยเหลือผู้ประกอบการ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการต้องเลิกกิจการ หรือบางรายต้องย้ายฐานเศรษฐกิจไปลงทุนในประเทศอื่น ส่งผลทำให้เกิดการเลิกจ้างงาน ซึ่งจะทำให้คนตกงานอย่างมหาศาล ปัญหาอาชญากรรมจะตามมา พระราชกำหนด 2 ฉบับ ได้แก่ พระราชกำหนดช่วยเหลือเอสเอ็มอี และพระราชกำหนดรักษาเสถียรภาพทางการเงิน หรือที่เรียกว่าพระราชกำหนดอุ้มหุ้นกู้เศรษฐีที่กระทรวงการคลังจะต้องเข้าไปช่วยใช้หนี้จากเงินภาษีของประชาชนไม่ตอบโจทย์ของประเทศ และไม่สามารถพยุงรักษาเศรษฐกิจไว้ได้ ทางพรรคเพื่อไทยเห็นว่าสถานการณ์โควิด-19 แม้จะเป็นวิกฤติทางเศรษฐกิจของโลก แต่จะเป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่ของไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารปลอดภัย การท่องเที่ยวและบริการ การแพทย์และการสาธารณสุข การลงทุน และอสังหาริมทรัพย์ แต่รัฐบาลจะต้องรักษาฐานทางเศรษฐกิจของประเทศไว้ให้ได้ นั่นคือการบริโภคภายใน
เพื่อไทยกลัวคนตกงาน
    ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องเร่งฟื้นฟูด้วยการกระตุ้นให้เกิดการบริโภคภายใน เพื่อเป็นฐานค้ำยันเศรษฐกิจของประเทศไม่ให้ล่มสลายเพื่อรอให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจตัวอื่นได้ทำงานหลังโควิด ได้แก่การส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุน แต่ปัญหาคือคนไทยขาดกำลังซื้อมาก่อนเกิดโควิดแล้ว
    "โจทย์ของพรรคเพื่อไทยคือ รัฐบาลจะสร้างกำลังซื้อให้ประชาชนได้อย่างไร ในด้านผู้ขาย ได้แก่ ผู้ประกอบการรายย่อย หรือที่เรียกว่าเอสเอ็มอี ที่ได้รับความเสียหายมาก่อนเกิดโควิด-19 เช่นกัน แม้รัฐบาลจะออกพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอี โดยให้ธนาคารแห่งประเทศไทยจัดหาสินเชื่อรวม 500,000 บาท ให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอี แต่ก็ไม่ได้มีมาตรการใดที่จะทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหาทางด้านการเงินจะสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ อันจะทำให้ไม่เกิดการกระจายรายได้ เพราะเงินกู้ที่ประชาชนต้องใช้หนี้จะไหลไปสู่ธุรกิจของมหาเศรษฐีบางรายที่ค้ำจุนรัฐบาลอยู่ ปัญหาเหล่านี้รัฐบาลจะแก้อย่างไร" คุณหญิงสุดารัตน์กล่าว
    นอกจากนี้ ที่ประชุมพรรคเพื่อไทยยังมีความกังวลที่รัฐบาลไม่มีมาตรการดูแลคนที่จะตกงานอีกจำนวนมหาศาล รวมทั้งไม่มีมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิดที่คนในโลกจะให้ความสำคัญกับสุขภาพและความสะอาด (health & hygienity) นอกจากจะเอาเงินกู้ 400,000 ล้านบาท มาแจก ส.ส. เอาไปแสวงหาผลประโยชน์ แต่ภาระจะตกแก่ประชาชนที่จะต้องเป็นผู้ชำระหนี้ เหมือนกับโครงการมิยาซาวา หรือโครงการไทยนิยมที่ล้มเหลวมาก่อนแล้ว
    คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวในที่ประชุมอีกว่า ขอให้ ส.ส.ได้ลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาของประชาชนเรื่องการเยียวยา และรับฟังปัญหาของผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อนำมาอภิปรายในสภา โดยจะจัดให้มีการติวเข้ม ส.ส.ทุกวัน ตั้งแต่วันเสาร์จนถึงวันอังคารก่อนจะมีการอภิปราย โดยเชื่อว่าจะปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน และจะเสนอแนวทางที่เป็นประโยชน์ต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ
    นายตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส เลขาธิการกลุ่มเพื่อไทยพลัส และอดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงเหตุการณ์ที่ นพ.ทศพร เสรีรักษ์ โดนเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงรวบตัวไปเมื่อเย็นวันที่ 22 พ.ค. ในฐานความผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ว่าบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ มาตรา 44  รัฐธรรมนูญ 2560 หลังจาก นพ.ทศพร เสรีรักษ์ โดนฝ่ายความมั่นคงรวบตัวเมื่อเย็นเมื่อวานนี้ ขณะที่ออกมาแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ #6ปีรัฐประหาร โดยสงบ ที่หน้าหอศิลป์ ด้วยข้อกล่าวหาว่า ผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จึงเป็นสิ่งที่น่าคิดว่าเจตนารมณ์ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้น เพื่อป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด หรือเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของผู้มีอำนาจ เพราะตลอดระยะเวลา 6 ปีนับตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหารปี 2557 พลเอกประยุทธ์และผู้กระทำการรัฐประหารได้บอกกับสาธารณชนโดยเสมอว่าเข้ามาเพื่อปฏิรูปประเทศ และยึดตามหลักประชาธิปไตยมาโดยตลอด แต่การกระทำของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงนั้นก็ดูเหมือนจะสวนทางมาโดยเสมอ
"ศรีสุวรรณ"ร้องผู้ตรวจฯ
    จึงขอตั้งคำถามกลับไปสู่นายกรัฐมนตรีว่าความเข้าใจของคำว่าประชาธิปไตยของพลเอกประยุทธ์ คือการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ท่านบอกว่าจะใช้เพื่อควบคุมการระบาดของไวรัสโควิดมาดำเนินคดีกับผู้เห็นต่างทางการเมืองใช่หรือไม่ และถ้างั้นเจตนารมณ์ที่แท้จริงของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนี้คืออะไร
    ขณะที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ทุเลาเบาบางลงไปมากแล้ว ตามคำแถลงของโฆษก ศบค. แต่ทว่ารัฐบาลก็ยังคงใช้อำนาจโดยไม่มีการยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่ตาม พ.ร.ก.ดังกล่าว ม.11 วรรคท้าย ได้บัญญัติไว้ชัดเจนว่า เมื่อเหตุกาณ์ตามเหตุผลที่ประกาศได้ยุติลงแล้ว ให้นายกรัฐมนตรียกเลิกประกาศโดยเร็วนั้น
    การที่นายกรัฐมนตรีออกประกาศและข้อกำหนดต่างๆ ตาม ม.9 เป็นการกระทบต่อสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 ให้การรับรองและคุ้มครองไว้ แต่กลับมีการเขียนกฎหมายในลักษณะที่เป็นการตัดอำนาจศาลปกครองในการเข้าไปพิจารณาคดี ซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะข้อกำหนดที่ออกมาบังคับใช้ตามกฎหมายเหล่านั้น ส่วนใหญ่เป็นข้อพิพาททางปกครอง แต่กลับไปเขียนกฎหมายไม่ให้ศาลปกครองพิจารณา ตามที่ระบุไว้ใน ม.16 ที่ว่า “ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามพระราชกำหนดนี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง”
    ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ 2560 ม.197 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า “ศาลปกครองมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีปกครองอันเนื่องมาจากการใช้อํานาจทางปกครองตามกฎหมาย หรือเนื่องมาจากการดําเนินกิจการทางปกครอง” ประกอบ ม.3 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม” และ ม.5 บัญญัติว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญจะนำมาบังคับมิได้
    แต่การที่รัฐบาลประกาศและต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีเงื่อนไขกำหนดว่าจะจบลงอย่างไร หรือทีท่าว่าจะยกเลิกประกาศไปเมื่อใดและข้อกำหนดต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นกฎทางปกครองอย่างหนึ่งตามกฎหมาย ที่ออกมาบังคับใช้มีลักษณะของการ “เลือกปฏิบัติ” หลายประการ ย่อมชี้ให้เห็นว่า เป็นการใช้อำนาจที่ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม สร้างความเดือดร้อนและเสียหายต่อประชาชนหลายต่อหลายเรื่อง ซึ่งควรที่จะต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนใช้สิทธิในการนำคดีขึ้นฟ้องร้องต่อศาลปกครองได้ เพื่อจะได้เป็นข้อยุติว่าการใช้อำนาจนั้นๆ ของรัฐบาลชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แต่กลับมีการเขียนกฎหมายเพื่อตัดอำนาจหรือขจัดอำนาจของศาลปกครองไปเลย ซึ่งไม่น่าจะถูกต้อง
    ด้วยเหตุดังกล่าว สมาคมฯ จึงจะนำความไปร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้ส่งเรื่องดังกล่าวไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ม.16 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2560 ม.197 หรือไม่ โดยจะเดินทางไปยื่นคำร้องในวันจันทร์ที่ 25 พ.ค. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"