เริ่มทดลองวัคซีนโควิดในลิง


เพิ่มเพื่อน    


    เตรียมรับข่าวดี! การทดลองวัคซีนโควิด-19 ในไทยเป็นรูปเป็นร่าง ทดสอบในหนูเรียบร้อยได้ผลดี เริ่มทดสอบในลิงแล้ว ก่อนทดสอบในมุษย์อีก 2-3 เดือนข้างหน้า     
    เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมผู้บริหาร อว.ลงพื้นที่เตรียมการทดสอบวัคซีนโควิด-19 ที่ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อ.แก่งคอย จ.สระบุรี เพื่อติดตามความคืบหน้างานวิจัยวัคซีนชนิด mRNA ที่ศูนย์วัคซีนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสถาบันวัคซีนแห่งชาติและกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่กระทรวงการอุดมศึกษาฯ ให้ทุนสนับสนุน ประสบความสำเร็จในระดับดี หลังทดสอบในหนูทดลองและกำลังเตรียมจะทดสอบในลิง
    รมว.การอุดมศึกษาฯ เผยว่า การทดสอบในลิงจะฉีด 3 ครั้ง สำหรับวัคซีนที่ทดลองในลิง ใช้เทคโนโลยีใหม่ของการวิจัยวัคซีนคือใช้สารพันธุกรรมของเชื้อชนิด mRNA โดยครั้งที่ 1 ฉีดวันที่ 23 พ.ค. เวลา 07.39 น., ครั้งที่ 2 นับไปอีก 4 สัปดาห์, ครั้ง 3 นับไปอีก 8 สัปดาห์ โดยหลังการทดสอบในเข็มที่ 2 จะทำให้เห็นผลการป้องกันโรคโควิด-19 ได้แล้ว 
    "ขั้นตอนการทดสอบในลิง ถือเป็นสัตว์ที่ตอบสนองกับไวรัสได้ใกล้เคียงกับมนุษย์มากที่สุด โดยการทดสอบในลิงจะดูเรื่องความปลอดภัย ไม่เกิดโรคแทรกซ้อนเมื่อได้รับวัคซีน และการตอบสนอง คือสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้จริง ก่อนที่จะทดสอบในมนุษย์ ซึ่งคาดว่าอีก 2-3 เดือนจะเริ่มทดสอบได้"
    นายสุวิทย์ระบุว่า กระบวนการทดสอบในมนุษย์มี 3 ระยะ พิจารณาใน 4 ประเด็น ได้แก่ ความเป็นพิษ ความปลอดภัยต่อร่างกาย การกระตุ้นภูมิคุ้มกัน และประสิทธิผลของวัคซีน คาดว่าจะเริ่มผลิตวัคซีนเพื่อทดสอบในคนได้ในเดือน ส.ค.ปีนี้
    สำหรับเฟสที่ 1 ทดสอบในคนจะเริ่มจากหลักสิบคน เพื่อดูว่าวัคซีนมีความปลอดภัยหรือไม่ จากนั้นเฟสที่ 2 เพิ่มเป็นหลักร้อยถึงพันคน เพื่อดูว่าสร้างภูมิคุ้มกันได้จริง และเฟสที่ 3 จะทดสอบในหลักหลายพันคน เพื่อดูว่าใช้ได้กับประชากรจำนวนมาก โดยวัคซีนชนิด mRNA ที่ประเทศไทยใช้ เป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด มีข้อดีคือสามารถใช้ได้ผลโดยการใช้ปริมาณวัคซีนที่ไม่มากนัก
    รมว.การอุดมศึกษาฯ บอกว่า ไทยได้สั่งจองการผลิตวัคซีนกับโรงงานผลิต ซึ่งไม่เพียงแก้ปัญหาสำหรับประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นการแก้ปัญหาโรคระบาดในระดับมนุษยชาติ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้นโยบายการพัฒนาวัคซีนของไทย คือให้คนไทยมีวัคซีนใช้ในเวลาที่ใกล้เคียงกับประเทศชั้นนำทั่วโลก โดยขณะนี้การทดลองวัคซีนส่วนใหญ่ในโลกนี้อยู่ในขั้นตอนที่ไล่เลี่ยกันกับประเทศไทย คือการทดสอบในสัตว์ทดลอง มีเพียง 6-7 แบบที่ทดลองในคนในระยะที่ 1 แล้ว เช่น ของจีนและสหรัฐอเมริกา เป็นต้น
    เขาระบุว่า สิ่งที่เราดำเนินการยังมีมากกว่า 1 วิธีการ โดยดำเนินยุทธศาสตร์ 3 แนวทางคู่ขนานกันคือ 1.การวิจัยและทดลองในประเทศไทย สร้างวัคซีนใช้เอง เพื่อยืนบนขาของตัวเอง 2.การร่วมมือกับนานาชาติ และ 3.การเตรียมความพร้อมในการผลิตวัคซีนที่ผ่านการทดลองและพิสูจน์ว่าใช้ได้ผลให้คนไทยได้ใช้อย่างทั่วถึง เพราะนายกรัฐมนตรีให้นโยบายมาว่า คนไทยต้องมีวัคซีนใช้ในเวลาเดียวกับประเทศชั้นนำอื่นๆ คาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะเสร็จสิ้นภายใน 6 เดือน ที่สำคัญขณะนี้ศูนย์ไพรเมทฯ วางแผนในระยะยาว คือการสร้างอาคารวิจัยวัคซีนโรคติดเชื้อทางอากาศ ซึ่งจะทำให้การวิจัยพัฒนาและการทดสอบวัคซีนมีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น ครอบคลุมโรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำ เหมือนอย่างในกรณีโรคโควิด-19
    นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ในที่ประชุม ศบค.ก็ได้มีการรายงานการพัฒนาวัคซีนของไทยให้นายกรัฐมนตรีได้รับทราบ ซึ่งนายกฯ ก็ได้ให้การสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุขอย่างเต็มที่ โดยในฐานะที่ตนเป็นประธานคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ก็ได้วางนโยบายอย่างชัดเจนให้สถาบันวัคซีนฯ ไปหาความร่วมมือและไปลงทุนในเรื่องการค้นคว้าวิจัยวัคซีนป้องกันโควิด ไม่ว่าจะเป็นการร่วมมือกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ได้มีการจัดสรรงบประมาณจำนวนหนึ่งให้สถาบันวัคซีนฯ ไปทำการเชิงรุกหาวิธีผลิตวัคซีนให้ได้ ซึ่งขณะนี้ถือว่ามีโอกาส เพราะเรามีความพร้อมในเรื่องของทุน วิชาการและนักวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่
    "เราทุ่มเทขนาดนี้แล้วก็ต้องหวังว่าจะได้ข่าวดี แต่สิ่งที่เป็นข่าวดีมาจนถึงทุกวันนี้ในเรื่องโควิด เกิดมาจากความทุ่มเทอย่างเต็มที่ และการทำงานอย่างหนักของบุคลากรทางการแพทย์และความร่วมมือของประชาชน หาก 3 ปัจจัยหลักนี้ยังคงความเข้มข้นอยู่ ประเทศไทยเราก็จะปลอดภัย พร้อมการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการที่นายกฯ มาเป็นประธาน ศบค.เอง ประกอบกับความร่วมมือของประชาชนและความทุ่มเทของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ถ้าจับมือกันต่อสู้โควิดไม่มีแพ้อย่างแน่นอน นอกจากนี้ อยากให้ทุกคนรีบไปฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์กันด้วยในช่วงนี้" รมว.สาธารณสุขกล่าว
    สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า วารสารการแพทย์เดอะแลนเซต (The Lancet) เปิดเผยว่า การทดลองวัคซีนโควิด-19 ของจีน ซึ่งเป็นวัคซีนโรคโควิด-19 ตัวแรกที่ผ่านการทดลองทางคลินิกระยะที่ 1 ปรากฏผลเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งพบว่ามีความปลอดภัย ทนทาน และสร้างการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต้านเชื้อไวรัสดังกล่าวในมนุษย์ได้
    ศาสตราจารย์เฉิน เวย นักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีชีวภาพปักกิ่ง ซึ่งรับผิดชอบการศึกษาครั้งนี้ ชี้ว่าผลลัพธ์เหล่านี้ถือเป็นหมุดหมายสำคัญ โดยการทดลองพบว่าวัคซีนโรคโควิด-19 ชนิดที่ใช้อะดิโนไวรัส ไทป์ 5 เป็นตัวนำพา (Ad5-nCoV) ผลิตแอนติบอดี และเซลล์ที (T cell) แบบจำเพาะไวรัสภายใน 14 วันนั้น เป็นวัคซีนที่มีศักยภาพสำหรับการตรวจสอบเพิ่มเติม
    "การตีความผลลัพธ์เหล่านี้ ควรทำอย่างรอบคอบ เพราะความท้าทายของการพัฒนาวัคซีนโรคโควิด-19 เป็นเรื่องที่ไม่มีใครรู้มาก่อน การที่วัคซีนกระตุ้นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันไม่ได้บ่งชี้ว่า จะปกป้องมนุษย์จากโรคโควิด-19 ได้เสมอไป" 
    การศึกษาครั้งนี้ระบุว่า ผลลัพธ์ที่ได้สะท้อนสัญญาณที่ดีของการพัฒนาวัคซีนโรคโควิด-19 แต่ยังอีกนานกว่าจะได้วัคซีนพร้อมใช้กับทุกคน
    อย่างไรก็ตาม การทดลองวัคซีนโควิด-19 เฟสหนึ่งเป็นแบบเปิด (open-label trial) ในผู้ใหญ่สุขภาพดี 108 คน พบผลลัพธ์เชิงบวกหลังเวลาผ่านไป 28 วัน โดยจะมีการประเมินผลลัพธ์สุดท้ายภายใน 6 เดือน ขณะเดียวกันจำเป็นต้องมีการทดลองเพิ่มเติมเพื่อพิสูจน์ว่า การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นสามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ อย่างไร.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"