พ.ย.ลองวัคซีนในคน คาดปลายปี2564ผลิตได้/สมช.แนะปรับตัวคลายล็อกเฟส3


เพิ่มเพื่อน    


    ข่าวดี! ไทยไร้ผู้ป่วยรายใหม่ เหลือรักษาตัวแค่ 63  ราย ไม่มีเสียชีวิตเพิ่ม จุฬาฯ เผย 1 วันหลังฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิด mRNA ในลิงยังปกติไม่มีไข้ ระบุแผนฉีดต่อในคนเข็มแรกพ.ย. ในกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อต่ำ 100 คน หากเป็นไปตามแผนปลายปี 64 ผลิตวัคซีนในไทยได้ “ไบโอเนท” พร้อมรับถ่ายทอดเทคโนโลยี เลขาฯ สมช.ให้ผู้ประกอบกิจการ/กิจกรรมเตรียมตัวให้พร้อมหากผ่อนคลายระยะ 3 จ่อถกปรับเวลาเคอร์ฟิวก่อนเสนอ ศบค.เคาะ มีผล 1 มิ.ย.นี้ "จตุพร" ชี้อำนาจ "ประยุทธ์" ใกล้ "รัฏฐาธิปัตย์" ฟันธงใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินถึง ก.ค.
    เมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 พฤษภาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทย ไม่มีรายงานผู้ป่วยรายใหม่ ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมยังอยู่ที่ 3,040 ราย หายป่วยกลับบ้านได้เพิ่ม 5 ราย ทำให้ยอดผู้หายป่วยสะสมอยู่ที่ 2,921 ราย อยู่ระหว่างรักษาเพียง 63 ราย ไม่มีรายงานเสียชีวิตเพิ่มเติม ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตยังอยู่ที่ 56 ราย โดยอายุเฉลี่ยของผู้ติดเชื้อคือ 39 ปี เพศชายมากกว่าเพศหญิง อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่าเมื่อออกจากบ้านควรสวมหน้ากาก พกเจลล้างมือ การ์ดอย่าตก หน้ากากอย่าตก
    พญ.พรรณประภากล่าวว่า ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วโลก มีผู้ติดเชื้อ 5,403,979 ราย เสียชีวิต 343,975 ราย ขณะที่ประเด็นข่าวที่น่าสนใจในต่างประเทศ ผลการทดลองวัคซีนโควิด-19 ของจีน ตัวแรกผ่านการทดลองทางคลินิกระยะที่ 1 พบว่าปลอดภัยและสร้างการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต้านไวรัสได้ และการทดลองแบบเปิดในผู้ใหญ่สุขภาพดี 108 ราย ได้ผลลัพธ์เชิงบวกหลังเวลาผ่านไป 28 วัน โดยจะมีการประเมินผลลัพธ์สุดท้ายภายใน 6 เดือน 
    “ขณะเดียวกัน จะต้องมีการทดลองเพิ่มเติมเพื่อพิสูจน์ว่าการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นสามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ ขณะที่องค์การอนามัยโลกออกมาประกาศให้อเมริกาใต้เป็นศูนย์การระบาดใหม่ของโควิด-19 ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมของบราซิลมีจำนวนเกือบ 3.5 แสนราย แต่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าการไม่มีการตรวจโรคอย่างกว้างขวางทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่แท้จริงน่าจะสูงกว่านี้” พญ.พรรณประภา กล่าว
    นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผอ.พัฒนาวัคซีนโควิด-19 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ว่า ปัจจุบันมีประมาณ 6-7 เทคโนโลยีการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งประเทศไทยเลือกเทคโนโลยี mRNA ที่ใช้เอสโปรตีน (s protein) ทั้งตัว ซึ่งจากการทดลองในสัตว์ทดลองในหนู พบว่าสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ผลดี และเมื่อวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา มีการเริ่มฉีดวัคซีนดังกล่าวในลิงทดลอง ซึ่งปกติภูมิฯ จะขึ้นต้องใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ แต่จะขึ้นสูงใช้เวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์ ดังนั้นจะตรวจเลือดลิงรอบแรกประมาณกลาง มิ.ย.นี้ ถ้าภูมิฯ ต่ำ ก็จะไปตรวจอีกครั้งประมาณต้นเดือนหรือปลายเดือน ก.ค.
ปลายปี 64 ไทยมีวัคซีนใช้
    นพ.เกียรติกล่าวต่อว่า นอกจากนี้สิ่งที่ทำคู่ขนานกันไปคือประสานโรงงานผลิตวัคซีน mRNA 2 แห่ง คือบริษัทไบโอเนท สหรัฐอเมริกา และไบโอเนทเยอรมัน เพื่อผลิตวัคซีนจำนวน 10,000 โดส เพื่อใช้ในการทดลองในกลุ่มอาสาสมัคร เพื่อดูว่าปลอดภัยหรือไม่ กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้หรือไม่ กระตุ้นได้ยาวนานแค่ไหน และสามารถป้องกันโรคได้จริงหรือไม่ ซึ่งคาดว่าจะใช้คนละ 2 โดส ทั้งนี้ การทดลองในอาสาสมัครที่เป็นคนไทยจะแบ่งออกเป็น 3 เฟส เฟสแรก เป็นกลุ่มอาสาสมัครที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ต่ำ ประมาณ 100 คน แบ่งออกเป็นกลุ่มๆ กลุ่มละ 10-15 คน โดยให้วัคซีนในจำนวนโดสที่แตกต่างกัน แบ่งเป็นขนาดสูง กลาง ต่ำ
    เฟสที่ 2 เป็นกลุ่มอาสาสมัครที่มีทั้งความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโคโรนา 2019 สูงและต่ำ ประมาณกว่า 500 คน และเฟสที่ 3 ใช้อาสาสมัครที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อสูง และบางส่วนต้องใช้อาสาสมัครที่อยู่ในพื้นที่ที่มีการติดเชื้อด้วย โดยใช้อาสาสมัครประมาณหลักพันคน แต่ในสถานการณ์ของไทยตอนนี้ จำนวนผู้ป่วยอยู่ในระดับน้อย ดังนั้นเฟส 3 ก็ต้องประเมินกันอีกครั้ง อาจจะต้องมีความร่วมมือกับต่างประเทศ
     “ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่เราวางไว้ วัคซีนเข็มแรกที่จะทดลองในอาสาสมัครคนไทยจะเริ่มประมาณเดือน พ.ย. ส่วนที่มีข่าวว่าจะเริ่ม ส.ค.นั้น เป็นแผนการเดิม ทั้งนี้คาดว่าต้องใช้เวลาประมาณปีครึ่ง หรือประมาณปลายปี 2564 ประเทศไทยจะสามารถผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในประเทศไทยและเพื่อคนไทยได้เอง ตอนนี้ก็รอดูผลการฉีดวัคซีนในลิงว่าจะออกมาเป็นอย่างไร ถ้าไม่ดีเราก็กลับมาพัฒนาเริ่มต้นที่การทดลองในหนูอีกครั้ง แต่หลังจากฉีดวัคซีนให้ลิง 1 วันตอนนี้ก็ยังปกติ ไม่มีไข้” นพ.เกียรติกล่าว 
    นพ.เกียรติกล่าวด้วยว่า ส่วนเรื่องการสร้างความปลอดภัยทางชีวภาพระดับที่ 3 (Biosafety-Level 3 : BSL3) ที่ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อรองรับการพัฒนาวัคซีนสำหรับป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจนั้น เนื่องจาก ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) ไปตรวจเยี่ยมการทดลองฉีดวัคซีนในลิงนั้น พบว่าสิ่งที่เราขาดคือห้องที่มีความปลอดภัยทางชีวภาพระดับสูง ซึ่งรัฐบาลก็ได้ตั้งงบสำหรับตั้ง BSL3 เป็นยูนิตฉุกเฉินก่อนในระยะ 3 เดือนนี้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาวัคซีนตัวอื่นอีกด้วย
    ด้าน นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า การพัฒนาและจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มีหลายความร่วมมือ ทั้งความร่วมมือสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) คณะแพทยศาสตร์ศิริราช คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล คณะเภสัชฯ จุฬาฯ และไบโอเทค สวทช. และ บ.ไบโอเนท-เอเชีย เพื่อพัฒนาวัคซีนในประเทศให้มีทิศทางเดียวกับการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลก วัคซีนที่เริ่มการทดสอบในสัตว์ทดลอง 114 ชนิด ส่วนที่เริ่มทดลองในคนมี 10 ชนิด ได้แก่ จีน 5 ชนิด, สหรัฐ 2 ชนิด, อังกฤษ 1 ชนิด,  เยอรมนี 1 ชนิด และออสเตรเลีย 1 ชนิด ส่วนของไทยได้เริ่มทดสอบในสัตว์ทดลอง และจะพัฒนาสู่การฉีดในคนต่อไป
    “ขณะเดียวกันได้มีการประสานความร่วมมือผู้พัฒนาวัคซีนในต่างประเทศเพื่อพัฒนาวัคซีนร่วมกัน เพื่อรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีมาผลิตต่อในประเทศไทย และเพื่อขอซื้อวัคซีนที่สำเร็จแล้วมาใช้ในประเทศไทยในระยะต้น ซึ่งในการพัฒนาวัคซีนจากทั่วโลก ถ้าเป็นไปตามขั้นตอนประมาณปลายปี 2564 จะมีวัคซีนใช้ในโลก แต่หากการพัฒนาวัคซีนสะดุดติดขัด ก็ต้องปรับรูปแบบวัคซีนกันใหม่ ดังนั้นถือเป็นเรื่องของงานวิจัย และเป็นสิ่งที่ท้าทายนักวิทยาศาสตร์ไทยและทั่วโลก ที่ได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่พัฒนาวัคซีนด้วยความเร็วอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน” นพ.นคร กล่าว
“ไบโอเนท”พร้อมต่อยอด
    ขณะที่นายวิฑูรย์ วงศ์หาญกุล ประธานกรรมการบริหาร บ.ไบโอเนทเอเชีย จำกัด กล่าวว่า จากการหารือก็เห็นตรงกันว่า ช่วงโรคระบาดจะต้องเลือกพัฒนาวัคซีนที่มีความรวดเร็วและปลอดภัย ดังนั้น DNA และ mRNA วัคซีนเป็นคำตอบ บริษัทจึงหันมาทำทาง DNA วัคซีน ซึ่งเราก็พัฒนาได้อย่างรวดเร็ว และเรามีศักยภาพที่จะผลิต DNA วัคซีนเพื่อใช้ในประเทศได้ และพร้อมรับการถ่ายทอด mRNA
       เมื่อถามถึงความร่วมมือการพัฒนาวัคซีนกับประเทศอื่นๆ นพ.นครกล่าวว่า ขณะนี้กำลังเร่งทำความร่วมมือพันธมิตรในการร่วมวิจัยพัฒนาวัคซีน โดยบางส่วนได้รับความร่วมมือมาแล้ว เช่น จีน ในการร่วมการวิจัย ซึ่งถ้าสำเร็จเราก็จะรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อผลิตเองในประเทศ แต่กว่าจะผลิตเองได้ต้องใช้เวลา ก็มีความตกลงว่าไทยจะซื้อวัคซีนบางส่วนจากประเทศต้นทางเพื่อมาใช้ในช่วงสั้นๆ ก่อนระหว่างรับถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อผลิตเองให้เพียงพอ เพราะไม่มีประเทศใดผลิตให้เพียงพอคนทั้งโลกได้ ความร่วมมือจึงเป็นสิ่งจำเป็น และขยายการผลิตวัคซีนให้กว้างขวาง ไม่ว่าใครสำเร็จต้องสร้างความร่วมมือต่อกัน 
      ด้าน พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจฯ ในวันที่ 27 พ.ค.นี้ จะมีการพิจารณาผ่อนปรนมาตรการให้กับกิจการและกิจกรรมเพิ่มเติมสามารถดำเนินการได้ แต่ยังเปิดเผยไม่ได้ว่ามีประเภทหรือกิจการใดบ้างที่เข้าข่ายผ่อนปรนในระยะ 3 เพราะต้องรอให้มีการประชุม โดยนำข้อมูลจากหลายส่วน โดยเฉพาะข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขจากแพทย์ ข้อมูลด้านเศรษฐกิจจากผู้ประกอบการ ปัญหาปากท้องของประชาชน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รวบรวมไว้มาพิจารณาประกอบ โดยยึดหลักการพิจารณาเช่นเดิมคือคำนึงถึงความปลอดภัย ไม่มีการแพร่ระบาดของโรค ควบคู่ไปกับเศรษฐกิจอย่างที่เคยพิจารณาผ่อนปรนไปแล้วในระยะ 2
    “การพิจารณาผ่อนปรนในระยะ 3 และ 4 ซึ่งเป็นประเภทธุรกิจที่มีความเสี่ยงมากกว่าระยะที่ 1 และ 2 ต้องพิจารณาปัจจัยประกอบหลายอย่าง อาทิ การเตรียมเปิดภาคเรียนของโรงเรียนบางส่วนที่จะเริ่มเรียนในเดือน มิ.ย.และเดือน ก.ค. สภาพอากาศที่เข้าสู่ฤดูฝนแล้ว รวมถึงการประกาศเคอร์ฟิว ต้องสอดรับ มีความปลอดภัย ไม่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ ทั้งนี้ ขอให้ธุรกิจที่รอการผ่อนปรนเตรียมตัวและปรับแนวทางการให้บริการไว้ให้พร้อม แม้จะยังไม่ได้รับการผ่อนปรนในระยะที่ 3 ก็จะได้รับการผ่อนปรนในระยะที่ 4 อยู่แล้ว จึงขอให้เตรียมความพร้อมไว้ในระหว่างนี้ได้”
     เลขาธิการ สมช.กล่าวต่อว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจฯ จะพิจารณาระยะเวลาในการประกาศเคอร์ฟิวว่าจะยังคงไว้ที่ 23.00-04.00 น.ต่อไปอีกหรือไม่ หรือหากมีการปรับลดเวลาลงจะคงไว้ที่กี่ชั่วโมง และหากจะปรับควรจะขยับจากเวลา 23.00 น. เป็น 24.00-04.00 น. หรือเริ่มที่ 23.00-03.00 น. โดยทุกอย่างต้องสอดคล้องกันสรุปผลการประชุมวันที่ 27 พ.ค.นี้ จะนำเสนอต่อที่ประชุม ศบค.ในวันที่ 29 พ.ค. เพื่อให้มีการผ่อนปรนระยะที่ 3 มีผลใช้ในวันที่ 1 มิ.ย.นี้
เตือนหลอกดาวน์โหลดแอปไทยชนะ
    วันเดียวกัน ศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ประเทศไทย หรือไทยเซิร์ต (ThaiCERT) แจ้งเตือนว่า พบการแพร่กระจายมัลแวร์โจมตีผู้ใช้งาน Android ในประเทศไทย โดยช่องทางการโจมตีผู้ไม่หวังดีจะส่ง SMS ที่แอบอ้างว่าเป็นการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันไทยชนะใน SMS ดังกล่าวจะมีลิงก์ไปยังเว็บไซต์หลอกลวง เช่น thaichana[.]asia, thai-chana[.]asia,            thaichana[.]pro หน้าเว็บไซต์ดังกล่าวสร้างเลียนแบบเว็บไซต์จริงของโครงการไทยชนะ โดยจะมีปุ่มที่ให้ดาวน์โหลดไฟล์ .apk มาติดตั้ง ไฟล์ดังกล่าวตรวจสอบแล้วเป็นมัลแวร์ขโมยข้อมูลทางการเงิน (บางแอนติไวรัสระบุว่าเป็นมัลแวร์สายพันธุ์ Cerberus) โดยตัวมัลแวร์ขอสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูลการโทร.รับ-ส่ง SMS แอบอัดเสียง และเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ภายในเครื่อง ปัจจุบันโครงการไทยชนะมีเฉพาะเว็บไซต์ https://www.ไทยชนะ.com/ และ https://www.thaichana.com/ โดยรูปแบบการใช้งานจะเป็นการเข้าผ่านเว็บไซต์เท่านั้น ยังไม่มีแอปพลิเคชันให้ดาวน์โหลดแต่อย่างใด
        “จากการตรวจสอบข้อมูลของเว็บไซต์หลอกลวง พบว่าถูกจดโดเมนในช่วงวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 ปัจจุบันไทยเซิร์ตได้ประสานเพื่อระงับการเข้าถึงเว็บไซต์ดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้ ผู้ใช้ควรระมัดระวังก่อนคลิกลิงก์ที่ส่งมาใน SMS รวมถึงไม่ควรดาวน์โหลดและติดตั้งซอฟต์แวร์ที่ไม่สามารถยืนยันความน่าเชื่อถือของแหล่งที่มา” ไทยเซิร์ตระบุ
    ทางด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. กล่าวว่า การลาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้นจะมีการผ่อนคลาย หลายคนก็ตั้งข้อสงสัยว่า เมื่อครบมาตรการผ่อนปรน 4 ระยะแล้วทุกอย่างจะจบลงในเดือนกรกฎาคมหรือไม่นั้น ต้องรอดูกัน และขอให้ใจเย็นๆ เพราะอาจจะมีการผ่อนคลายในแบบระยะที่ 4 ทับ 1 ทับ 2 ทับ 3 ก็เป็นไปได้ รัฐบาลชนะอยู่มุมเดียวคือ การคุมการติดเชื้อโควิด-19 ได้ และวันนี้ก็ไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มแม้แต่เพียงรายเดียว ดังนั้นเรื่องชัยชนะโควิด-19 ในทางการเเพทย์ก็สามารถกุมชัยชนะไว้ได้ ส่วนในทางการเมือง แม้จะมีการบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉินจัดการโควิด-19 ซึ่งก็จะใช้เป็นเหตุผลในการกุมอำนาจของบรรดารัฐมนตรีทั้งหลาย อำนาจของพลเอกประยุทธ์ แม้จะไม่เท่าในขณะที่เป็นรัฏฐาธิปัตย์ก็ตาม แต่เมื่อมีประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้น ก็ถือว่าอยู่ในระดับที่ใกล้กับรัฏฐาธิปัตย์ 
    “ดังนั้นการกุมสภาพดังกล่าวยังสามารถจัดการโดยการใช้กฎหมายฉบับนี้ได้ ผมยังไม่เห็นมีใครออกมาพูดว่าจะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินเมื่อมีวัคซีนป้องกันโควิด-19 ดังนั้นหากมีใครยกตัวอย่างว่าหากต้องยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินเมื่อมีวัคซีนโควิด-19 นั้นถือว่าจบข่าว เพราะไม่รู้ว่าจะได้จริงเมื่อไหร่ แม้ว่าทางการแพทย์บางคนจะบอกว่าวัคซีนจะแล้วเสร็จในเมษายนปีหน้านั้น ที่ผ่านมามีหลายโรคที่เกิดขึ้นในโลกนี้ที่ดูเหมือนว่าจะผลิตวัคซีนกันได้ แต่สุดท้ายก็หาวัคซีนไม่ได้ และคนก็อยู่ร่วมกับโรคดังกล่าวในโลกนี้ได้ วันนี้ก็เช่นเดียวกัน เชื่อว่าขอให้ทุกคนใจเย็นๆ เพราะเชื่อว่ารัฐบาลจะใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปถึงเดือนกรกฎาคมแน่นอน” นายจตุพรกล่าว. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"