สภาสูงเตือนรบ. กรองงบ1ล้านล.


เพิ่มเพื่อน    


    สภาสูงผวา แบ่งเค้ก 1 ล้านล้านบาท แนะป้องกันแร้งลง-รุมทึ้ง-เชื้อชั่วไม่ยอมตายถลุงงบ รัฐบาลควรตั้งคนนอก ผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคประชาสังคมร่วมเป็นกรรมการกลั่นกรอง  "ศรีสุวรรณ" ขวางลำ พ.ร.ก.ให้แบงก์ชาติอุ้มตราสารหนี้เอกชน ยื่นผู้ตรวจการแผ่นดินหวังสกัด 
    เมื่อวันที่ 24 พ.ค. นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธาน ส.ส.ของพรรค กล่าวถึงความพร้อมของพรรคประชาธิปัตย์ในการพิจารณาพระราชกำหนดที่เกี่ยวข้องกับเงินกู้ ในการฟื้นฟูประเทศจากสถานการณ์โควิด-19 ทั้ง 3 ฉบับ โดยสภาผู้แทนราษฎร ระหว่าง 27-31 พฤษภาคมนี้ว่า  ส.ส.ของพรรคได้เตรียมการอภิปรายอย่างสร้างสรรค์ถึงผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนกระทบต่อวิถีชีวิตและระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนแล้ว เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการใช้งบประมาณของรัฐบาลอย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ และเห็นว่าไม่ควรใช้เวลาเป็นตัวตั้งการอภิปรายว่าจะใช้เวลาอภิปรายมากน้อยเพียงใด แต่ขอให้โฟกัสที่เนื้อหาที่จะอภิปราย เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการใช้งบประมาณของรัฐบาล และเชื่อมั่นว่า ส.ส.ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลจะอภิปรายให้เกิดประโยชน์สูงสุด 
    นายองอาจยังกล่าวถึงข้อกังวลของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่เกรงว่าการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาพระราชกำหนด 3 ฉบับดังกล่าวในวันเสาร์-อาทิตย์ ส.ส.อาจจะขาดการประชุมนั้น โดยยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีปัญหาสำหรับการประชุมสภาในวันเสาร์-อาทิตย์ เพราะตลอดระยะเวลาการประชุมที่ผ่านมา ส.ส.ของพรรคให้ความร่วมมือประชุมตามปกติ และยืนยัน ส.ส.ของพรรคจะทำหน้าที่อย่างเต็มที่
    ส่วนจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ต่อกรณีที่ฝ่ายค้านยื่นญัตติเสนอตั้งกรรมาธิการตรวจสอบการใช้งบประมาณเงินกู้จากพระราชกำหนดทั้ง 3 ฉบับนั้น นายองอาจระบุว่า จะต้องรอดูจากการอภิปรายในพระราชกำหนดทั้ง 3 ฉบับดังกล่าวก่อนว่าเป็นอย่างไร และคณะรัฐมนตรีสามารถตอบข้อซักถามของ ส.ส.ได้กระจ่างชัดหรือไม่ จากนั้นพรรคจึงจะค่อยมาพิจารณาว่าจำเป็นจะต้องมีการตั้งกรรมาธิการขึ้นมาเพื่อติดตามตรวจสอบการใช้งบประมาณก้อนนี้หรือไม่ โดยในวันที่ 26 พ.ค. พรรคจะนัด ส.ส.ประชุมหารือกัน ทั้งการอภิปรายและการจัดลำดับผู้อภิปราย เนื้อหาวาระ รวมถึงการลงมติ ซึ่งส่วนใหญ่การลงมติของพรรคจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับที่ประชุม
    ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน วุฒิสภา ให้ความเห็นว่า พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 1 ล้านล้านบาทมีมิติใหม่ขึ้นมาประการหนึ่งที่นายกรัฐมนตรีควรจะต้องใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด นั่นคือได้มีการบัญญัติไว้ในมาตรา 7 ให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ขึ้นมาเป็นครั้งแรก ปกติในพระราชกำหนดกู้เงินลักษณะนี้ฉบับก่อนๆ จะไม่มีบัญญัติไว้ โดยจะไปอยู่ในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีที่ตราขึ้นตามพระราชกำหนดนั้นๆ โดยแม้ว่าโครงสร้างของคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ทั้งหมด 11 คนจะมาจากภาคราชการเสีย 6 คน เป็นเสียงข้างมากอยู่แล้ว แต่ก็ไม่มีปัญหา เพราะหากนายกรัฐมนตรีตั้งผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกระบบราชการ โดยให้มาจากผู้มีประสบการณ์ในภาคประชาสังคมก็จะทำให้คณะกรรมการกลั่นกรองฯ เป็นที่รวมภูมิปัญญามากขึ้น สามารถกลั่นกรองโครงการในส่วนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในชุมชนทั่วประเทศ 4 แสนล้านบาทได้อย่างตอบโจทย์มากขึ้น
    นายคำนูณกล่าวอีกว่า ทราบว่าขณะนี้นายกรัฐมนตรีตั้งไปเพียง 1 คน เป็นเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา มาจากภาคราชการ หากนายกรัฐมนตรีใช้โควตาที่เหลือในสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒินี้ แต่งตั้งบุคคลจากภาคประชาสังคมเข้ามาร่วมทำงานในคณะกรรมการชุดที่มีความสำคัญยิ่งนี้ เชื่อว่าจะเกิดประโยชน์มหาศาล โดยเฉพาะการสร้างความมั่นใจให้กับพี่น้องประชาชนทุกภาคส่วน และตอบคำถามฝ่ายการเมืองในทั้ง 2 สภาได้อย่างองอาจ นี่เป็นข้อแรกที่ทำได้ และควรต้องทำทันที เพราะขณะนี้การคิดโครงการจากกระทรวงทบวงกรมต่างๆ ในสัดส่วน 4 แสนล้านบาทมีความเข้มข้นมาก ขณะที่ภาคประชาสังคมก็มีข้อเสนอจำนวนไม่น้อย หากรวมๆ แล้วเกินวงเงินแน่ จะมีหลักการในการคัดเลือกอย่างไร โดยเฉพาะหลักการที่จะทำให้โครงการเหล่านี้สามารถผลิดอกออกผล ไม่เป็นเบี้ยหัวแตก หรือแบ่งปันกันไปตามโควตากระทรวง เหมือนโควตารัฐมนตรีตามพรรคตามมุ้งที่เป็นความปกติเดิมๆ ของสังคมไทย
    นายคำนูณกล่าวอีกว่า ข้อต่อมาที่สามารถทำได้เช่นกัน คือการแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการดําเนินการตามแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อํานาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 พ.ศ.2563 ที่ออกตามความในมาตรา 7 วรรคสามแห่งพระราชกำหนดฉบับนี้ ให้มีความเข้มข้นขึ้น ในระดับเทียบเท่าหรืออย่างน้อยก็น้องๆ การใช้งบประมาณรายจ่ายในกฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปี โดยเฉพาะการนำเนื้อหาในรัฐธรรมนูญมาตรา 144 มาประยุกต์บรรจุไว้เท่าที่สามารถจะทำได้ ปัจจุบันมีระเบียบนี้ออกมาแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2563 แต่เนื้อหาสาระยังคงใกล้เคียงกับระเบียบฉบับเดิมๆ ที่ออกตามพระราชกำหนดกู้เงินลักษณะนี้ในอดีต
    "จะเป็นไปได้ไหมว่าเมื่อมีการตั้งผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคประชาสังคมเข้ามาอีก 4 คนเข้ามาเป็นคณะกรรมการกลั่นกรองฯ แล้ว ก็ให้คณะกรรมการกลั่นกรองฯ พิจารณาเสนอแนะนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการแก้ไขระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีดังฉบับนี้ต่อไป โดยนำสารัตถะที่ได้จากการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภามาประกอบการพิจารณาด้วย" นายคำนูณเสนอความเห็น 
    นายคำนูณกล่าวอีกว่า ข้อสุดท้ายคือตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบการใช้เงินตามข้อเสนอของนายประมนต์ สุธีวงศ์ ส.ว. ที่มาจากภาคธุรกิจเอกชน และมีบทบาทสำคัญต่อเนื่องในการรณรงค์ต่อต้านการทุจริตประพฤติมิชอบมาโดยตลอด ทำให้รัฐบาลมีตัวช่วยที่มีประสิทธิภาพและทรงพลัง ทั้ง 3 ข้อนี้ นายกรัฐมนตรีสามารถดำเนินการได้ทันทีตามลำดับ 1-2-3 ที่เสนอมา
    "ทั้ง 3 ข้อนี้เป็นการเพิ่มบทบาทให้กับภาคประชาสังคมและภาคประชาชนที่ควรจะต้องเป็นความปกติใหม่ในการบริหารราชการแผ่นดินยุคหลังมหาวิกฤติโควิด-19 และเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ทั้ง 3 ข้อนี้จะเป็นการยกระดับความมั่นใจและความศรัทธาของประชาชนในเป้าหมายขจัดสภาวะแร้งลง-รุมทึ้ง-เชื้อชั่วไม่ยอมตายไม่ให้มาแผ้วพานกับเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท" นายคำนูณระบุ
ขวางพ.ร.ก.แบงก์ชาติช่วยเอกชน 
    นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่กรณีรัฐบาล
ออกพระราชกำหนดการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ 2563 เพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กู้เงินไม่เกิน 4 แสนล้านบาท มาทำการซื้อตราสารหนี้ของเอกชนที่ครบกำหนดไถ่ถอนภายในปี 2563 และ 2564 ที่ไม่สามารถหาแหล่งเงินที่จะไถ่ถอนหรือออกตราสารหนี้ใหม่เพื่อไถ่ถอนตราสารหนี้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนได้ โดยอ้างว่าเพื่อบรรเทาผลกระทบอันเนื่องมาจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และเพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจโดยรวม เพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน
    นายศรีสุวรรณกล่าวว่า การออก พ.ร.ก.ดังกล่าว เป็นเสมือนการลักไก่อาศัยสถานการณ์ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เท่านั้น โดยเอาความเสี่ยงและฐานะทางการคลังของประเทศเข้าไปอุ้มเอกชนที่รวยล้นฟ้าอยู่แล้ว และถ้าเกิดความเสียหายขึ้นแก่ธนาคารแห่งประเทศไทย กลับให้กระทรวงการคลังต้องนำเงินภาษีของประชาชนทั้งประเทศไปชดเชยความเสียหายให้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทย ในวงเงินไม่เกิน 4 หมื่นล้านบาทอีกด้วย
     นายศรีสุวรรณกล่าวต่อไปว่า การซื้อขายตราสารหนี้ของเอกชนหรือของคนรวยนั้น เป็นการดำเนินธุรกิจตามปกติที่ต่างรู้ถึงความเสี่ยงของการดำเนินธุรกิจกันอยู่แล้วตามปกติ แต่การที่รัฐบาลใช้อำนาจออก พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านบาทให้ ธปท.ไปช่วยอุ้มหนี้เอกชนดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการใช้ ธปท.เป็นเครื่องมือในการผลักภาระขาดทุนของบริษัทเอกชนไปให้เป็นภาระแก่ประเทศชาติ อันจะทำให้ ธปท.ดำเนินการในสิ่งที่นอกเหนือการดำเนินนโยบายการเงินและวัตถุประสงค์ของ ธปท. ตามของเขตของกฎหมาย ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ม.172 ประกอบ ม.140 บัญญัติให้อำนาจรัฐบาลออกพระราชกำหนดได้ก็แต่เฉพาะเป็นกรณีฉุกเฉินที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่มีความจําเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้เท่านั้น ซึ่งเอกชนที่มีตราสารหนี้ต่างๆ สามารถที่จะหาแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินของรัฐบาล เช่น ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรฯ และหรือธนาคารอาคารสงเคราะห์ ฯลฯ ได้อยู่แล้ว โดยไม่จำต้องให้ ธปท.ออกหน้ามาดำเนินการ
        "ด้วยเหตุดังกล่าว สมาคมจึงจะนำความไปร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้ส่งเรื่องดังกล่าวไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่า พ.ร.ก.ให้ ธปท.กู้เงิน 4 แสนล้านบาทเพื่ออุ้มคนรวยนั้น ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2560 ม.172 ประกอบ ม.144 หรือไม่ โดยจะเดินทางไปยื่นคำร้องในวันจันทร์ที่ 25 พ.ค.2563 เวลา 10.30 น. ณ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ศูนย์ราชการฯ" นายศรีสุวรรณเปิดเผย
โฆษกรัฐบาลแจงผลงานนายกฯ ลุงตู่ 
    ด้านนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงกรณีที่ฝ่ายค้านกล่าวโจมตีการทำงานของรัฐบาล ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตลอดระยะเวลา  6 ปีว่า นายกรัฐมนตรีย้ำอยู่เสมอถึงความจำเป็นในการเข้ามาบริหารประเทศเพื่อหยุดความขัดแย้ง สร้างความปรองดอง และที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีได้แก้ไขปัญหาที่สะสมมานาน ซึ่งภารกิจหลักคือการช่วยเหลือประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกร ผ่านโครงการต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม​ ขณะเดียวกันได้ดำเนินโครงการพัฒนาประเทศ ทั้งการขยายโครงข่ายด้านคมนาคม การขยายโครงข่ายรถไฟฟ้าหลายสายทั่วกรุงเทพฯ กว่า 160 กิโลเมตร รวมถึงโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เพื่อความสะดวกในอนาคต และโครงการพัฒนาเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี เพื่อให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนใประเทศไทยเพิ่มขึ้น 
    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า จากปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม ทำให้ไทยถูกใบเหลืองจากทางสหภาพยุโรป (อียู) รัฐบาลได้พยายามแก้ไขปัญหาที่สะสมมานานหลายด้าน ทั้งการจดทะเบียนเรือประมง แก้ปัญหาการค้ามนุษย์ โดยการเดินหน้าเรื่องนี้อย่างจริงจัง จนสามารถปลดใบเหลืองได้ รวมถึงการปราบปรามผู้มีอิทธิพล ถือเป็นมาตรการที่รัฐบาลดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยการทำงานแบบบูรณาการของทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง 
    ส่วนกรณีที่ฝ่ายค้านออกมาโจมตีรัฐบาลในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจว่าล้มเหลวนั้น หากมองภาพรวมของเศรษฐกิจทั่วโลกที่กำลังประสบปัญหาการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 จะเห็นได้ว่าเกิดการชะลอตัว แต่สำหรับประเทศไทย ยังได้รับการกล่าวขวัญจากนานาประเทศว่าเป็นประเทศที่ดำเนินการมาตรการได้ดีในการปกป้องการแพร่ระบาด และจากผลสำรวจ ประชาชนส่วนใหญ่พอใจผลงานของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาโควิด-19  ส่วนในด้านการลงทุน ประเทศไทยถูกจัดให้เป็นประเทศที่ดีที่สุดในการเริ่มต้นธุรกิจ จากทั้งหมด 73 ประเทศ ถือได้ว่าต่างประเทศให้การยอมรับ แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในศักยภาพของประเทศไทย
    "ช่วงเวลานี้ประเทศต้องการความสามัคคี ก้าวผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน จึงอยากให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากัน ทำงานเพื่อประชาชนและประเทศชาติ ขอให้คำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก ไม่ใช่เวลาที่ออกมาสร้างความขัดแย้ง หวังผลทางการเมือง" นางนฤมลกล่าว 
     นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ระบุไม่มั่นใจที่รัฐบาลออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาท และทำแผนหละหลวมส่อทุจริตว่า ต้องขอทำความเข้าใจกับคุณหญิงสุดารัตน์ก่อนว่ารัฐบาลออก พ.ร.ก.กู้เงินเพียง 1 ล้านล้านบาทเท่านั้น ไม่ใช่ 1.9 ล้านล้านบาท และทุกอย่างมีขั้นตอน มีเป้าหมาย มีแผนงาน โครงการชัดเจน ที่สำคัญมีคณะกรรมการกลั่นกรองดูแลอย่างใกล้ชิดก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งในส่วน 1 ล้านล้านบาทใช้ด้านการแพทย์ เยียวยาพี่น้องประชาชน 6 แสนล้านบาท อีก 4 แสนล้านบาทใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม โดยการเยียวยา 6 แสนล้านบาทนั้น ก็จ่ายในโครงการเราไม่ทิ้งกัน เยียวยา 5,000 บาทอาชีพอิสระ เกษตรกร ซึ่งจ่ายตรงถึงมือพี่น้องประชาชนไปแล้ว ส่วนอีก 4 แสนล้านบาทใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมก็ยังไม่ได้ดำเนินการ แล้วจะส่อทุจริตตรงไหน
     “รัฐบาลทำทุกอย่างด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นบุคคลที่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ท่านนายกฯ ไม่ปล่อยให้มีการทุจริตเหมือนรัฐบาลในอดีตแน่นอน” นายธนกรกล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"