'คมนาคม'ชงครม.ลุยแผ่นยางหุ้มแบริเออร์เล็งของบ 3 ปี 8 หมื่นล้านโวเงินถึงมือเกษตรกรแน่นอน


เพิ่มเพื่อน    

25 พ.ค.2563 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดทำแผ่นยางพาราหุ้มแบริเออร์ (Rubber Fender Barriers) ว่า ในวันที่ 26 พ.ค. นี้ กระทรวงคมนาคมเตรียมเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบการดำเนินการจัดทำแผ่นยางหุ้มแบริเออร์ (Rubber Fender Barrier) สามารถใช้วิธีการจัดซื้อโดยวิธีเฉพาะเจาะจงได้ เพื่อให้กรมบัญชีกลางบรรจุลงในรายละเอียดต่อไป รวมถึงพิจารณา (ร่าง) ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่างกระทรวงคมนาคมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดให้เกษตรกรเป็นผู้จำหน่ายและผลิตโดยตรงให้กับกรมทางหลวง(ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) โดยไม่ผ่านบริษัทอื่นๆ หรือนายหน้า 


“ ในเบื้องต้นมีสหกรณ์ 8 แห่งที่มีความพร้อมในการดำเนินการ และจะขยายไปยังสหกรณ์แห่งอื่นๆ ทั่วประเทศต่อไปเมื่อ ครม. พิจารณาเห็นชอบแล้ว จะเปิดให้สหกรณ์ทั่วประเทศสามารถเข้าสู่การเปิดประกวดราคาได้ เพื่อทำสัญญาซื้อตรงกับสหกรณ์ทันที ขณะที่กรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) จะต้องไปถ่ายทอดวิธีการจัดทำกับเกษตรกร นอกจากนี้ได้สั่งการให้ ทล. และ ทช. ไปจดลิขสิทธิ์แผ่นยางพาราหุ้มแบริเออร์ เพื่อที่ในอนาคตจะสามารถนำไปขายในต่างประเทศได้ด้วยอย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า ขั้นตอนการดำเนินการต่างๆ นั้น มีความโปร่งใส และยืนยันว่าไม่รื้อเกาะกลางของเดิมอย่างแน่นอน”นายศักดิ์สยาม กล่าว


นายศักดิ์สยาม กล่าวว่าในส่วนของงบประมาณที่จะนำมาจัดทำบนถนนที่มีเกาะสีกั้นกลางของ ทล. และ ทช. กว่า12,000 กม. แบ่งเป็นถนนของ ทล. ประมาณ 11,000 กม. และ ถนนของ ทช. ประมาณ 1,000 กม. ใช้น้ำยางพารา360,000 ตัน ในระยะเวลา 3 ปี (2563-2565) นั้น กระทรวงคมนาคมจะเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณดำเนินการประมาณ 80,000 กว่าล้านบาท เบื้องต้นใช้งบประมาณของแต่ละหน่วยงานก่อน 


นอกจากนี้ จะขอเปลี่ยนแปลงงบประมาณในส่วนที่เป็นพาราแอสฟัลท์ติกคอนกรีต (PARA AC) ให้เหลือเพียงแค่แอสฟัลท์ติกคอนกรีต (AC) เท่านั้น เพื่อนำงบประมาณส่วนที่เหลือ มาจัดทำแผ่นยางพาราหุ้มแบริเออร์ และเสาหลักกันโค้ง หลังจากสอบถามไปยังกรมบัญชีกลางแล้วนั้น ยืนยันว่า สามารถดำเนินการได้ ซึ่งเบื้องต้นสามารถปรับลดงบประมาณได้ประมาณ 2,000 กว่าล้านบาท 


สำหรับการดำเนินการดังกล่าวนั้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร ในการสร้างความต้องการ (Demand) ของใช้น้ำยางพารา รวมถึงด้านความปลอดภัย ที่ผ่านการทดสอบมาแล้วจากทั้งในประเทศ และประเทศเกาหลี ซึ่งเป็นสถาบันระดับโลกที่มาตรฐานด้านความปลอดภัยด้วย นอกจากนี้ ยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เนื่องจากวิธีการดำเนินการในอดีตที่ผ่านมานั้น หากใช้งบประมาณ 100 บาท เงินจะถึงมือเกษตรกรเพียง 5.1 บาท หรือ 5.1% เท่านั้น แต่วิธีที่กระทรวงคมนาคมจะดำเนินการ ทั้งในเรื่องของแผ่นยางพาราหุ้มแบริเออร์ และเสาหลักกันโค้ง หากใช้งบประมาณ 100 บาท เงินจะถึงมือเกษตรกรประมาณ 70 บาทขึ้นไป หรือ 70%


นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า จะนำร่องใช้ในจุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยๆ ก่อน จากนั้นจะมีการเก็บสถิติอุบัติเหตุว่าสามารถลดลงหรือเมื่อเวลาเกิดอุบัติเหตุแล้วไม่รุนแรงได้หรือไม่ โดยจากผลการศึกษาที่ผ่านมานั้น พบว่า สถิติเรื่องอุบัติเหตุจะลดลง และเมื่อมีการชนแล้ว แบริเออร์ดังกล่าวจะไม่แตก พร้อมทั้งมีแรงเหวี่ยงซึ่งจะช่วยให้รถไม่พลิกคว่ำรวมทั้งรถคันหลังที่วิ่งตามมา จะไม่ชนแรงด้วย โดยโครงการดังกล่าว จะทำให้ประสิทธิภาพการใช้งบประมาณสูงขึ้น14 เท่า  รวมถึงทำให้ก่อสร้างรวดเร็ว และปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งหากทำได้จริง จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก  (WHO) ปัจจุบันไทยมีสถิติการเกิดอุบัติเหตุอยู่อันดับ 9 ของโลก อาจจะทำให้สถิติของไทยหายไปเลย


“การดำเนินการดังกล่าวได้มอบนโยบายไว้ตั้งแต่ 30 ก.ค.62 แต่ผลดำเนินการได้ช้า เพราะต้องผ่านกระบวนการทดสอบตามมาตรฐานโลก เราไม่กล้านำสิ่งที่ยังไม่ได้ผ่านการรองรับมาให้ประชาชนใช้ เพราะถ้าเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาทำให้เกิดความเสียหายและไม่สามารถรับผิดชอบชีวิตประชาชนได้ นอกจากนี้ ได้มอบนโยบายว่า เรื่องเหล่านี้ต้องดำเนินการควบคู่กับโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้างด้วย” นายศักดิ์สยาม กล่าว
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"