ต่อฉุกเฉิน1เดือน/จ่อเชือด'พ.'กินหัวคิว


เพิ่มเพื่อน    


    "ประยุทธ์" นั่งหัวโต๊ะประชุม ครม.เคาะต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีก 1 เดือนไปจบที่ 30 มิ.ย.  ลั่นให้สอดคล้องคลายล็อกเฟส 3-4 "หมอทวีศิลป์-หมออนุพงศ์" ชี้จำเป็น ช่วยให้ทำงานข้ามกระทรวงได้ เพราะรวบกฎหมาย 40 ฉบับมารวมกัน หากไม่มีได้เห็นคนป่วยทะลุหลักร้อยทุกวันแน่ โฆษก ศบค.แถลงไทยมีติดเชื้อใหม่ 3 ราย รับน่าห่วงเป็นวัยแรงงานและแทบไม่แสดงอาการ ย้ำอย่าประมาทหลังจ่อผ่อนปรนระยะ 3 กห.ชี้ส่งหลักฐานข่าวรับค่าต๋งสถานกักตัวให้ ตร.แล้ว "ผบช.ภ.2" บอกยังไม่รู้อักษร พ.คือใคร
    เมื่อวันอังคารที่ 26 พ.ค. นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เน้นย้ำถึงการพิจารณาขยายเวลาการบังคับใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีก 1 เดือนจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน ว่าเป็นไปตามข้อเสนอของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ซึ่งได้พิจารณาปัจจัยต่างๆ อย่างรอบด้าน และเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมโรคให้มีประสิทธิภาพรองรับการผ่อนคลายมาตรการในระยะที่ 3 และ 4 ซึ่งหลังจากผ่อนคลายมาตรการในระยะที่ 3 แล้วจะส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น
    ต่อมานางนฤมลแถลงผลหลังประชุม ครม.ว่า ครม.เห็นชอบขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรออกไปอีก 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. ถึง 30  มิ.ย.63 เพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในประเทศ ตามที่ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 เมื่อวันที่ 21 พ.ค.มีความเห็นสอดคล้องกันว่า การบังคับใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินยังมีความจำเป็น เนื่องจากช่วยสร้างระบบการบริหารจัดการในเชิงบูรณาการที่ดีให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อชะลอ ควบคุม และป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ช่วยสนับสนุนให้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่มีความเป็นเอกภาพ รวดเร็ว มีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง รวมทั้งสร้างมาตรฐานกลางด้านสาธารณสุขและช่วยเยียวยาประชาชนได้อย่างครอบคลุมภาพรวมของประเทศอีกด้วย 
"ไทยอยู่ในช่วงการพิจารณาผ่อนคลายมาตรการบังคับใช้กฎหมายในระยะที่ 3 และ 4 ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรคในระดับสูง จึงจำเป็นต้องมีการดำเนินการอย่างเป็นระบบและอยู่ในเวลาที่เหมาะสม ซึ่งส่วนราชการเองจำเป็นต้องมีมาตรการด้านกฎหมายเพื่อกำกับดูแลและบริหารจัดการให้เป็นไปตามมาตรฐานด้านสาธารณสุขอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังไม่สิ้นสุด เพราะยังพบการระบาดและผู้ติดเชื้อในระดับสูงในหลายประเทศ"
    นางนฤมลกล่าวอีกว่า ที่ประชุม ครม.ได้เสนอแนะแนวทางดำเนินการควบคู่ไปกับการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในช่วงที่ 2 โดยกำหนดมาตรการผ่อนคลายการบังคับใช้กฎหมายเพิ่มเติม เพื่อให้ประชาชนสามารถประกอบอาชีพได้เป็นปกติยิ่งขึ้น และมีการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายอย่างเหมาะสมและทั่วถึง โดยให้ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมและสามารถชี้แจงประชาชนได้อย่างชัดเจนด้วย
ย้ำเหตุคงอายุ พ.ร.ก.
    ขณะที่ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ตอบคำถามถึงการไม่ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทั้งที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่มากแล้วว่า ตอนเราใช้พระราชบัญญัติโรคติดต่ออย่างเดียว ต้องมีการทำงานข้ามกระทรวง ซึ่งการสั่งการทำได้ แต่มีปัญหา แตกต่างจากตอนมี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่นำเอากฎหมายกว่า 40 ฉบับ รวมถึง พ.ร.บ.โรคติดต่อมาอยู่ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้เกิดการบูรณาการทำงานกัน ยกตัวอย่างเรื่องปัญหาหน้ากากอนามัยที่ตอนแรกบอกว่ากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ต้องเป็นผู้บริหารจัดการ แต่พอไปดูรายละเอียดเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน พ.ร.บ.โรคติดต่อไม่สามารถจัดการสิ่งเหล่านี้ได้ พอเราใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็ทำให้บริหารจัดการได้ 
"เหตุที่เราต้องรวบอำนาจก็เพื่อต้องการจัดการแบบเบ็ดเสร็จเพื่อควบคุมโรคให้ได้ ความสำเร็จในการควบคุมโรคส่วนหนึ่งก็มาจากการบริหารจัดกฎหมายตรงนี้" นพ.ทวีศิลป์ระบุ
    นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กล่าวเช่นกันว่า ไทยเริ่มใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ควบคุมโรค ซึ่งได้รับความร่วมมือจากประชาชน ไม่ว่าเป็นการกักตัวที่บ้าน แต่ก็พบว่ามีตัวอย่างที่ประชาชนไม่ยอมกักตัวที่บ้านแล้วเจ้าหน้าที่ทำอะไรไม่ได้ เมื่อมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงกลางเดือน มี.ค.จาก 3 สถานที่ทั้งสนามมวย สถานบันเทิง และกลับมาจากการประกอบศาสนกิจในต่างประเทศ จึงต้องนำ พ.ร.ก.ฉุกเฉินมาบังคับใช้ โดยประโยชน์เพื่อกระชับอำนาจในกฎหมายทั้ง 40  ฉบับ โดยทั้งหมดนี้อยู่ในมือนายกฯ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการ ศบค.มอบอำนาจมาที่จังหวัด และมีสิ่งที่เพิ่มเติมขึ้นมาใน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คือการห้ามออกจากเคหสถานตามเวลาที่กำหนดหรือเคอร์ฟิว การปิดสถานที่เสี่ยง การห้ามเดินทางข้ามจังหวัด รวมทั้งการห้ามกักตุนสินค้าและป้องกันเฟกนิวส์ ซึ่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ช่วยควบคุมโรคได้ดีขึ้น การกักกันก็เป็นลักษณะการบังคับ มิฉะนั้นเราไม่สามารถควบคุมสถานการณ์อยู่ เพราะช่วงเดือน มี.ค.พบผู้ป่วยไต่ขึ้น 100 รายทุกวัน
    "การประกาศเคอร์ฟิวยังจำเป็น โดยเฉพาะช่วงการผ่อนปรนมาตรการ ทั้งนี้ถ้ามาตรการผ่อนปรนให้เปิดกิจการต่างๆ กลับมาเข้าสู่สภาวะปกติเชื่อว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็ไม่มีความจำเป็นแล้ว เนื่องจากสถานการณ์เริ่มดีขึ้น ประชาชนก็เข้าใจแล้วว่าโรคระบาดเกิดจากอะไร และป้องกันอย่างไร ประชาชนมีวัคซีนอยู่ในตัวแล้ว" นพ.อนุพงศ์กล่าว
    ทั้งนี้ ในช่วงเช้าที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (ฝั่ง ก.พ.) กลุ่มเครือข่ายประชาชน 5 ภูมิภาค จำนวน 10 คน นำโดย น.ส.รัตนมณี พลกล้า และนายจำนงค์ หนูพันธ์ ตัวแทนเครือข่าย เดินทางมายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ผ่านนายสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกฯ เพื่อขอให้รัฐบาลยกเลิกการเตรียมประกาศต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีก 1 เดือน  เนื่องจากสถิติของผู้ติดเชื้อได้ลดลงตามลำดับ สามารถใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อดูแลแทน หากขยายเวลาประกาศใช้ พ.ร.ก ฉุกเฉินออกไปอีก จะเกิดผลกระทบกับการดำรงชีวิตของประชาชน และเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนจำนวนมากเกินความจำเป็น รวมถึงอาจใช้อำนาจอย่างคลุมเครือไปในทางที่ไม่เกี่ยวข้องกับการป้องกันควบคุมโรคระบาด
    คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ออกแถลงการณ์เช่นกันให้ยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และให้ใช้กฎหมายปกติควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยระบุว่าเห็นพ้องกับเครือข่ายประชาชน 5 ภูมิภาค ที่ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการขยายเวลาประกาศใช้  พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และให้นำกฎหมายที่มีอยู่แล้วมาบังคับใช้อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสร้ายดังกล่าว พร้อมกันนี้รัฐบาลต้องเร่งฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และสิทธิเสรีภาพของประชาชนในภาพรวมไปด้วย
ติดเชื้อรายใหม่ 3 ราย
    วันเดียวกัน นพ.ทวีศิลป์แถลงถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในไทยว่า มีผู้ป่วยรายใหม่ 3  ราย โดยเป็นหญิงไทย อายุ 51 ปี เป็นพนักงานนวดเดินทางกลับจากรัสเซียเมื่อวันที่ 12 พ.ค. พักอยู่สถานกักตัวของรัฐที่ จ.ชลบุรี ตรวจพบเชื้อโควิด-19 เมื่อวันที่ 25 พ.ค. ตอนตรวจเชื้อไม่มีอาการ อีก 2  ราย เป็นชายไทย อายุ 45 ปี ทั้งสองคนอาชีพแรงงานรับจ้างเดินทางกลับมาจากคูเวตเมื่อวันที่ 24 พ.ค. พักอยู่สถานกักตัวของรัฐที่ จ.สมุทรปราการ ทั้งสองรายมีอาการไอ ตรวจพบเชื้อเมื่อวันที่ 25 พ.ค. ซึ่งผู้ป่วยรายใหม่ทั้ง 3 รายเป็นวัยแรงงาน มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการเลย ถือเป็นสิ่งที่น่ากังวลใจ ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสม 3,045 ราย หายป่วยสะสม 2,929 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมยังคงที่ 57 ราย และอยู่ระหว่างรักษาตัว 59 ราย 
"เรากำลังเข้าสู่มาตรการผ่อนปรนระยะที่ 3 จะมีกิจการ/กิจกรรมที่มีความเสี่ยงระดับปานถึงสูงที่จะได้รับอนุญาตให้กลับมาเปิด แต่อย่าลืมมาตรการหลัก 5 ข้อ เพราะไม่ว่ากิจการ/กิจกรรมจะความเสี่ยงสูงแค่ไหน ถ้าเราป้องกันอย่างดีก็สามารถป้องกันโรคได้"
    นพ.ทวีศิลป์กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดจากทั่วโลกที่น่าสนใจว่า กระทรวงสาธารณสุขสหรัฐอเมริกาพบการระบาดของโควิด-19 จากร้านตัดผมในรัฐมิสซูรี จากการสอบสวนโรคพบว่ามีช่างทำผม 1 ราย มีอาการป่วยตั้งแต่วันที่ 12 พ.ค.แต่ยังทำงานต่อเนื่องมากว่า 1 สัปดาห์ และรับลูกค้า 91 ราย  รวมถึงมีช่างทำผมรายที่ 2 มีอาการป่วย แต่ยังทำงานต่อเนื่องไปอีก 5 วัน รับลูกค้า 56 ราย และมีพนักงานคนอื่นๆ ในร้านอีก 7 คน รวมแล้วมีบุคคลที่มีความเสี่ยง 154 ราย ทั้งนี้ ภายในร้านทำผมทั้งผู้ให้บริการและลูกค้าใส่หน้ากากอนามัย จึงมีโอกาสลดการติดเชื้อ และขณะนี้มีผู้ติดเชื้อจากกรณีดังกล่าวเพียง 2 รายคือช่างทำผม นอกจากนี้ แพทย์โรคหัวใจสหรัฐอเมริการายหนึ่งได้ยกย่องไทยติด 1 ในประเทศที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้สำเร็จ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกจำนวน 5 แห่ง มีแผนปรับตัวให้เข้ากับชีวิตวิถีใหม่ โดยให้พนักงานทำงานที่บ้านภายใน 5-10  ปีข้างหน้า อาทิ เฟซบุ๊กที่ผู้บริหารจะให้พนักงาน 50% ทำงานที่บ้านในช่วงเวลา 5-10 ปีข้างหน้า รวมถึงทวิตเตอร์ก็มีแนวคิดทำงานที่บ้านเหมือนกัน
    นพ.ทวีศิลป์กล่าวอีกว่า ในวันที่ 26 พ.ค.จะมีคนไทยเดินทางกลับประเทศ 4 เที่ยวบิน จำนวน 386  ราย และวันที่ 27 พ.ค. 4 เที่ยวบิน 401 ราย สำหรับคนไทยที่เดินทางกลับมาประเทศและอยู่ในสถานกักตัวของรัฐตลอดเวลาที่ผ่านมามีจำนวน 26,095 ราย พบติดเชื้อ 108 ราย หากเขาไม่เข้าไปอยู่ในสถานกักตัวของรัฐ ตัวเลขผู้ติดเชื้อในไทยอาจมีมากกว่า 3,045 ราย จึงต้องขอบคุณเจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้องทุกคนที่ร่วมกันทำงานในส่วนนี้ 
    "สถานกักตัวของรัฐในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีบางส่วนใช้โรงเรียนเป็นสถานที่กักตัว เนื่องจากโรงแรมไม่เพียงพอ แต่ในวันที่ 1 ก.ค.จะเปิดเรียน จึงจำเป็นต้องคืนพื้นที่ให้โรงเรียน และต้องคืนก่อนวันที่ 1 ก.ค.เพราะต้องทำความสะอาดฆ่าเชื้อและพักไว้ก่อนครึ่งเดือน เพื่อความปลอดภัยของนักเรียน แต่ยืนยันว่าจะไม่มีผลกระทบกับสถานกักตัวของรัฐ เพราะผู้ที่เดินทางกลับจากมาเลเซียลดลง ทำให้บริหารจัดการในส่วนนี้ได้" 
    นพ.ทวีศิลป์กล่าวตอนท้ายว่า เรามาอยู่ในช่วงเวลานี้ได้ ไม่ได้ต้องการให้ใครเป็นคนที่จะได้เครดิตหรือความชอบอย่างเดียว เรื่องนี้ภาครัฐต้องเข้มข้น เอกชนต้องเข้มแข็ง ประชาชนต้องมาร่วมแรงกันประเทศไทยถึงจะได้ไปต่อ เพราะตอนนี้กิจการ/กิจกรรมต่างๆ เปิดแล้ว ประชาชนต้องช่วยเราร่วมแรงร่วมใจเราถึงจะชนะ
สธ.ย้ำห้ามประมาท
    ด้าน นพ.อนุพงศ์กล่าวว่า แนวโน้มขณะนี้จะพบว่าไทยมีผู้ป่วยแค่เลขหลักเดียวติดต่อกันมานานพอสมควร แต่ถ้าจบระยะแรกแล้วประชาชนไม่ตระหนักไม่นำบทเรียนจากประเทศอื่นๆ ที่เคยจบระลอกแรกแล้วเกิดติดเชื้อขึ้นอีกครั้งทั้งจีน สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น เราก็จะเผชิญกับระลอกที่ 2 วันนี้เราอยู่ช่วงขาลงของการแพร่ระบาดชัดเจน เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องควบคุมให้ได้คือต้องไม่ประมาท โดยเฉพาะ การผ่อนปรนระยะที่ 3 ที่กำลังจะเปิด และในอนาคตที่จะเปิดโรงเรียนอยากให้ประชาชนให้ความร่วมมือ 
    นพ.อนุพงศ์กล่าวถึงความคืบหน้าการสอบสวนโรค กรณีพบผู้ติดเชื้ออายุ 72 ปีที่ไปใช้บริการที่ร้านตัดผมว่า ยังสรุปได้ยาก เพราะก่อนผู้ติดเชื้อไปร้านตัดผมนั้นได้ไปกันหลายสถานที่ ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน โดยอยากฝากถึงประชาชนว่า โรงพยาบาลเป็นสถานที่ที่มีความเสี่ยงอาจมีผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ไปที่โรงพยาบาล เพราะฉะนั้นแนะนำว่าทุกคนใส่หน้ากากอนามัยและไปโรงพยาบาลเท่าที่จำเป็นก็จะเป็นเรื่องที่ดี 
ด้าน นพ.พลวรรธน์ วิทูรกลชิต ผู้ตรวจราชการ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)  กล่าวถึงแพลตฟอร์มไทยชนะว่า ขณะนี้มีการใช้งานมากกว่า 50 ล้านครั้ง ประชาชนที่เข้ามาใช้งานมีกว่า 13 ล้านคน ส่วนร้านค้าที่ลงทะเบียนมี 110,900 ร้านค้า เป็นการตอบรับที่ดี พบว่าการประเมินต่างๆ มีกว่า 12 ล้านครั้ง ค่าเฉลี่ยการประเมินเป็นที่น่าภูมิใจว่าหลายร้านค้ามีคะแนนกว่า 4.93  
    นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจของสหรัฐอเมริกายกย่องไทยเป็นประเทศ 1 ใน 5 ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของโลก ว่าต้องยอมรับว่าแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่การแพทย์และสาธารณสุขของไทยทุ่มเททำงานขนาดนี้ ถ้าประเทศเราไม่ติดอันดับความน่าเชื่อถือก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ประเทศไทยถือว่าครบหมดทุกด้าน แพทย์และพยาบาลเก่ง รวมถึงประชาชนให้ความร่วมมือและมีจิตศรัทธาบริจาคสิ่งของต่างๆ ช่วยกันยามยาก อีกทั้งยาก็พร้อม รวมถึงมีมิตรประเทศที่ดี 
    ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวฯ จะเสนอต่อที่ประชุม ศบค. ชุดใหญ่ในวันที่ 29 พ.ค.นี้ ให้ผ่อนคลายในระยะที่ 3 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการท่องเที่ยวภายในประเทศ  นายอนุทินกล่าวว่า ยังไม่ได้คุยรายละเอียดกับนายพิพัฒน์ แต่ทุกอย่างต้องเป็น New Normal ถ้าจะมีการเปิด เราจะต้องอยู่กับ New Normal ต่อไปจนกว่าจะมีวัคซีน
    "เราน่าจะมีข่าวดีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่เราอย่าการ์ดตก อย่าประมาท ล้างมือออกจากบ้านก็ใส่หน้ากาก กินข้าวแยกช้อนกัน แล้วยังต้องรักษาระยะห่างทางสังคมต่อไป" นายอนุทินกล่าว
ส่งข้อมูลค่าต๋งถึง ตร .
เมื่อถามถึงกรณีที่มีข่าวคนใน สธ.ไปแอบอ้างและไปหักหัวคิวจากโรงแรมที่เข้าโครงการเป็นสถานที่กักกันของรัฐ นายอนุทินกล่าวว่า ยืนยันว่าไม่มี และไม่ต้องห่วงเรามีทั้งกล้องวงจรปิดและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ถ้าใครมีหลักฐานอะไรขอให้ส่งเข้ามา
    พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบข้อกล่าวหามีมูลและมีผู้เกี่ยวข้องหลายคน ไม่เฉพาะอักษรย่อ "พ." ที่นายศรีสุวรรณ จรรยา  เลขาธิการองค์กรพิทักษ์รัฐธรรมนูญระบุ แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดทั้งหมดได้ เพราะจะมีผลต่อรูปคดี ซึ่งได้ส่งเอกสารหลักฐานให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการสอบสวนต่อแล้ว และหากผู้กระทำผิดเป็นข้าราชการก็ต้องเอาผิดทั้งวินัย และอาญา ซึ่งเชื่อว่ากระบวนการของตำรวจจะดำเนินการเอาคนผิดมาลงโทษได้เร็ว
    "การกระทำผิดของกลุ่มบุคคลดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับหน่วยงานราชการแต่อย่างใด แต่เป็นความผิดเฉพาะตัวบุคคลเท่านั้น" พล.ท.คงชีพระบุ
พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  (สตช.) กล่าวถึงกรณี กห.นำหลักฐานข้อมูลเกี่ยวกับขบวนการแอบอ้างเรียกเก็บเงินค่าหัวคิวผู้ประกอบการโรงแรมที่ใช้เป็นสถานที่กักตัวคนไทยกลับจากต่างประเทศ (State Quarantine) ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ว่า กห.ไม่ได้ส่งข้อมูลมาที่ สตช. เพราะเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นที่พัทยา จ.ชลบุรี คาดว่าข้อมูลน่าจะส่งไปให้ตำรวจภูธรภาค 2 ดำเนินการ ซึ่ง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.ไม่ได้สั่งกำชับอะไรเป็นพิเศษ เมื่อมีการร้องเรียนให้ดำเนินคดีหรือตรวจสอบ ตำรวจภูธรภาค 2 ก็ดำเนินไปตามขั้นตอน
     ด้าน พล.ต.ท.มนตรี ยิ้มแย้ม ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 กล่าวว่า ได้รับ​มูลหลักฐานจาก กห.แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายชื่อของบุคคลที่คาดว่าจะเกี่ยวข้องกับการการเรียกค่าหัวคิว ซึ่งขอเวลาในการสืบสวนข้อเท็จจริงก่อน หากบุคคลใดกระทำผิดก็ต้องดำเนินคดีไปตามกฎหมาย ยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐหรือคนใน ศบค.เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด ส่วนอักษรย่อ "พ." ที่นายศรีสุวรรณอ้างว่าเป็นคนใน ศบค.และเกี่ยวข้องนั้น ตำรวจยังไม่ทราบว่าเป็นใคร ยังไม่มีข้อมูลในส่วนนี้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"