เคาะ3.9หมื่นล.เยียวยากลุ่มเปราะบาง13ล้านคน


เพิ่มเพื่อน    


    "คลัง" แจงไม่จ่ายเยียวยาเพิ่มอีก 1 เดือน ยันสิ้นสุด มิ.ย.ตามเดิมแม้รัฐบาลขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ด้าน "ครม." ไฟเขียวงบ 3.9 หมื่นล้านบาท จ่ายเยียวยากลุ่มเปราะบาง 13 ล้านคนเพิ่มอีกรายละ 3 พันบาท ระยะเวลา 3 เดือน จบดรามาข้าราชการทำเกษตรเป็นอาชีพเสริมไม่เข้าข่ายได้รับเงินเยียวยา ขณะที่นายกฯ แถลงขอบคุณภาคธุรกิจห่วงใยประเทศ
    นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเมื่อ 26 พ.ค.63 ว่า กระทรวงการคลังจะไม่แจกเงินเยียวยา 5,000 บาทให้แก่ผู้มีอาชีพอิสระที่เข้าข่ายได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ ตามมาตรการเราไม่ทิ้งกัน จำนวน 15 ล้านคนเพิ่มอีก 1 เดือน แม้ว่ารัฐบาลจะประกาศขยายเวลาการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปถึง 30 มิ.ย.63 ก็ตาม โดยการจ่ายเงินให้ผู้มีอาชีพอิสระยังเป็น 3 เดือนเหมือนเดิม  คือตั้งแต่เดือน เม.ย.-มิ.ย.63 เท่านั้น
    ทั้งนี้ โครงการเราไม่ทิ้งกันจ่ายเงินเยียวยาให้ผู้มีอาชีพอิสระได้สิทธิ์จำนวน 15 ล้านคน ใช้งบประมาณ 2.4 แสนล้านบาท เป็นเงินงบประมาณ 2563 จำนวน 7 หมื่นล้านบาท และเงินกู้จาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท จำนวน 1.7 แสนล้านบาท
    นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี  (ครม.) เมื่อวันที่ 26 พ.ค.63 มีมติเห็นชอบในหลักการตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ตามมาตรการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งครอบคลุม 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเด็กแรกเกิด-6 ปี  จากครัวเรือนที่มีความยากจน จำนวน 1.45 ล้านคน กลุ่มผู้สูงอายุ จำนวน 9.66 ล้านคน และกลุ่มผู้พิการ จำนวน 2 ล้านคน รวมทั้งสิ้นประมาณ 13 ล้านคน
    ทั้งนี้ แนวทางการให้ความช่วยเหลือจะผ่านการจ่ายเงินเยียวยาให้รายละ 1 พันบาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือน พ.ค.-ก.ค.63 รวมทั้งสิ้น 3 พันบาทต่อคน โดยเงินเยียวยาดังกล่าวจะเป็นการให้เพิ่มเติมจากเงินอุดหนุนที่แต่ละกลุ่มได้รับจากภาครัฐอยู่แล้ว โดยมีวงเงินดำเนินการทั้งสิ้น  3.9 หมื่นล้านบาท จากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินฉุกเฉิน วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งจะเริ่มจ่ายเงินตั้งแต่เดือน มิ.ย.63 เป็นเงิน 2 พันบาทต่อคน และอีก 1 พันบาทต่อคนจะจ่ายให้ในเดือน ก.ค.นี้
    "เกณฑ์ของกลุ่มเปราะบาง 13 ล้านคนที่จะได้รับความช่วยเหลือนี้ กระทรวงการคลัง และ พม.จะไปพิจารณาเพื่อให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อให้เงินจ่ายถึงกลุ่มเปราะบางได้มากที่สุดและรวดเร็วที่สุด"  นางสาวรัชดากล่าว
    นางสาวรัชดากล่าวอีกว่า ครม.รับทราบเจตนารมณ์ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ครั้งที่ 2/2563 เรื่องโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (กรณีข้าราชการ) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องและเกิดความชัดเชนในทางปฏิบัติ โดยการให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรตามกลุ่มเป้าหมายของโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่มีรายได้หลักมาจากการประกอบอาชีพเกษตรกร และได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพ
    ส่วนกรณีข้าราชการ (ข้าราชการประจำและลูกจ้าง รวมถึงข้าราชการบำนาญ) ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรไม่เข้าข่ายเป็นผู้มีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือภายใต้มาตรการดังกล่าว เนื่องจากได้รับค่าตอบแทนและสวัสดิการของภาครัฐอยู่แล้ว ดังนั้น หากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จ่ายเงินช่วยเหลือให้กลุ่มข้าราชการดังกล่าวไปแล้ว ขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประสานกับกรมบัญชีกลาง พิจารณาดำเนินการหักเงินจากค่าตอบแทนคืนกระทรวงการคลังต่อไป ซึ่งขณะนี้ได้รับการยืนยันว่ายังไม่มีการโอนเงินเยียวยาให้กลุ่มดังกล่าวแต่อย่างใด
    นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.รับทราบรายงานความคืบหน้าการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานสำหรับผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ตามกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานอันเนื่องมาจากได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจ พ.ศ.2563 และกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ.2563
    ทั้งนี้ กระทรวงแรงงาน โดยสำนักประกันสังคมรายงานว่า ได้พิจารณาวินิจฉัยสั่งจ่ายไปแล้ว ณ  วันที่ 21 พ.ค.63 จำนวน 1.09 ล้านราย รวมเป็นเงิน 6.05 พันล้านบาท รวมทั้งติดตามนายจ้างที่ยังไม่ได้ออกหนังสือรับรองขอรับประโยชน์ทดแทน จำนวน 2.94 หมื่นราย โดยให้หน่วยปฏิบัติดำเนินการจัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์/อุทธรณ์โควิด-19 ณ สำนักงานประกันสังคม กรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา  ทั่วประเทศ และส่วนกลาง ณ สำนักงานประกันสังคม สำนักงานใหญ่ ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค.เป็นต้นไป
    นอกจากนี้ ยังมีหนังสือแจ้งสถานประกอบการที่ยังไม่ได้ออกหนังสือรับรองการขอรับประโยชน์ทดแทน ให้เร่งตรวจสอบและส่งชื่อลูกจ้างที่ยังไม่ได้รับเงิน เพื่อดำเนินการจ่ายเงินประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน โดยให้ยื่นเรื่องได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ทั่วประเทศ  พร้อมทั้งมีหนังสือแจ้งผู้ประกันตนที่ยังไม่ได้รับเงิน ให้ยื่นร้องทุกข์/อุทธรณ์ได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ทั่วประเทศด้วย
    เวลา 18.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศตอนหนึ่งว่า "ได้เดินทางไปพบกับสมาคมภาคธุรกิจต่างๆ ด้วยตัวของผมเอง ในช่วง 2 ถึง 3  สัปดาห์ที่ผ่านมา เน้นสมาคมที่เป็นตัวแทนของผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดเล็ก และคนทำมาหากินทั่วประเทศ เป็นสมาคมที่ผมอาจจะไม่มีโอกาสได้พบปะมาก่อน แต่ผมรู้ว่าเป็นภาคธุรกิจที่เจ็บปวดมากที่สุดจากสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้น
    การไปพบสมาคมภาคธุรกิจต่างๆ ด้วยตัวเอง โดยขอให้ทุกท่านเล่าความเดือดร้อน รวมทั้งแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ ให้ผมทราบ เพราะต้องการรับฟังโดยตรงเพื่อเข้าใจความเดือดร้อนที่แท้จริงที่เกิดขึ้น โดยเป้าหมายของผมคือ หาวิธีแก้ปัญหาตรงหน้าที่จะสามารถทำได้ทันที เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในระยะสั้นก่อน ซึ่งผมก็ได้รับข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์อย่างมากจากสมาคมต่างๆ
    การไปพบสมาคมภาคธุรกิจยังทำให้ผมได้รับกำลังใจกลับมาด้วย เมื่อผมได้เห็นว่ามีผู้มีความรู้ความสามารถมากมาย ที่เชี่ยวชาญและรู้ชัดว่าต้องทำอย่างไรกับภาคธุรกิจของตัวเอง และสิ่งที่สำคัญมากไปกว่านั้นคือ เขาเหล่านั้นมีความรักความห่วงใยประเทศ เขาไม่เพียง 'ขอ' ความช่วยเหลือให้กับภาคธุรกิจของตัวเอง แต่เขายังได้นำเสนอสิ่งที่จะดีสำหรับประเทศชาติด้วย".


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"