พท.ข้องใจ'พินิจ' ถอนตัวกะทันหัน เลือกส.ส.ลำปาง


เพิ่มเพื่อน    


     พท.ชวดรักษาเก้าอี้ลำปางเขต 4 ข้องใจ "พินิจ" ถอนตัวกะทันหัน ปรับกลยุทธ์หนุนเสรีรวมไทยสู้ พปชร. "สมพงษ์" แจงเจ้าตัวให้เหตุผลยังเสียใจเรื่องลูกชาย เตรียมตัวชิงนายก อบจ. ไร้เงา "อุตตม-สนธิรัตน์" ร่วมประชุมพรรค ก้าวไกลตามบี้ "ธรรมนัส" ยื่น ปธ.สภาส่งศาล รธน.ถอดพ้น ส.ส.
     ที่บริเวณศาลาอเนกประสงค์ ที่ว่าการอำเภอสบปราบ จังหวัดลำปาง สถานที่รับสมัครเลือกตั้งซ่อม  ส.ส.เขต 4 ลำปาง เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ซึ่งเปิดรับสมัครเป็นวันสุดท้าย โดยเมื่อถึงเวลา 16.30 น. นางสาวณัฐนรี อินทร์พิจิตร์ ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งที่ 4 จังหวัดลำปาง ได้ประกาศปิดรับสมัครทันที และประกาศจำนวนผู้มาสมัครรวม 5 วัน มีจำนวน 5 คน และประกาศปิดหน่วยรับสมัคร โดยมี พ.ต.อ.ศราวุธ วะเท ผกก.สภ.สบปราบ มาร่วมเป็นพยาน
    นางสาวณัฐนรีเปิดเผยว่า หลังจากนี้ก็จะมีการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ที่มายื่นใบสมัครอีกครั้ง  โดยจะใช้เวลาในการตรวจสอบประมาณ 7 วัน ก่อนที่จะประกาศรายชื่อผู้สมัครทั้งหมดพร้อมหมายเลขประจำตัวเพื่อนำไปใช้หาเสียงต่อไป ประกอบด้วย หมายเลข 1 นายวัฒนา สิทธิวัง พรรคพลังประชารัฐ  หมายเลข 2 ร.ต.ท.สมบูรณ์ กล้าผจญ พรรคเสรีรวมไทย หมายเลข 3 นายอำพล คำศรีวรรณ พรรคพลังท้องถิ่นไท หมายเลข 4 นายองอาจ สินอนันต์เศรษฐ์ พรรคไทรักธรรม และหมายเลข 5 นางสาวปทิตตา  ชัยมูลชื่น พรรคเศรษฐกิจใหม่
     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เดิมมีข่าวว่านายพินิจ จันทรสุรินทร์ อดีต ส.ส.หลายสมัย บิดานายอิทธิรัตน์  จันทรสุรินทร์ อดีต ส.ส.ลำปาง เขต 4 พรรคเพื่อไทยที่เสียชีวิต ซึ่งพรรคเพื่อไทยมีมติส่งลงสมัครเพื่อรักษาเก้าอี้ของพรรคไว้จะเดินทางมาสมัครวันนี้ ดังนั้นการที่พรรคเพื่อไทยไม่ได้ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ ทำให้นายวัฒนา สิทธิวัง ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ ที่มีคะแนนในการเลือกตั้งเมื่อวันที่  24 มี.ค.62 ตามหลังนายอิทธิรัตน์ประมาณกว่า 12,000  คะแนน ก็มีโอกาสมากที่จะเจาะพื้นที่ลำปางได้  โดยที่ผ่านมาตระกูลจันทรสุรินทร์และตระกูลโล่สุนทรครองพื้นที่ทั้งหมดของจังหวัดลำปางมาโดยตลอด
      ด้านนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ชี้แจงถึงกรณีที่นายพินิจไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ลำปาง เขต 4 แทนตำแหน่งที่ว่างว่า พรรคเพื่อไทยได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายในการส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งครบถ้วนถูกต้อง สามารถไปยื่นสมัครได้ตั้งแต่วันแรกของการเปิดรับสมัคร นายพินิจก็แสดงความพร้อมในการลงรักษาพื้นที่และดูแลพี่น้องประชาชนชาวเขต 4 ลำปาง แต่พอถึงวันสมัครนายพินิจรู้สึกไม่สบายใจ เพราะยังคงโศกเศร้าเสียใจและทำใจเรื่องการสูญเสียบุตรชายยังไม่ได้  ประกอบกับประเมินว่ารัฐบาลไปต่อลำบาก อายุสภาอาจเหลือไม่มาก และต้องเผชิญกับการใช้อำนาจรัฐสารพัดรูปแบบ ที่สำคัญนายพินิจมีความประสงค์จะลงสมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ซึ่งต้องลงแข่งขันในอีกไม่กี่เดือน และได้ยื่นความจำนงแจ้งให้พรรคทราบไปแล้วก่อนหน้านี้  จึงตัดสินใจขอเว้นวรรคการเลือกตั้งในครั้งนี้ไปก่อน
     “นายพินิจยังคงทำงานการเมืองต่อไป โดยสนใจทำงานการเมืองท้องถิ่นเพื่อรับใช้พี่น้องประชาชนชาวลำปาง เมื่อพรรคได้ทราบก็เข้าใจ และเห็นว่าไม่มีใครที่เหมาะสมจะมาทดแทนได้ในเวลานี้ จึงไม่สามารถส่งตัวแทนของพรรคลงสมัครได้ การเลือกตั้งมีแพ้มีชนะได้ แต่หัวใจสำคัญคือการอาสารับใช้พี่น้องประชาชน เราตั้งใจสู้เต็มที่เพื่อดูแลรับใช้พี่น้องประชาชนต่อไป แต่เกิดเหตุสุดวิสัยและต้องเคารพการตัดสินใจของนายพินิจ" นายสมพงษ์ระบุ
พท.ข้องใจ 'พินิจ' ถอนตัว
    มีรายงานจากพรรคเพื่อไทยว่า นายพินิจได้แจ้งต่อพรรคเมื่อวันที่ 25 พ.ค. โดยบอกว่ามีเหตุผลส่วนตัวจึงขอถอนตัวจากผู้สมัครในครั้งนี้ และตามกระบวนการกฎหมายที่ต้องมีกระบวนการสรรหาผู้สมัคร ทำให้พรรคเพื่อไทยไม่สามารถสรรหาผู้สมัครใหม่ได้ทันภายในวันที่ 26 พ.ค. เท่ากับว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งเขต 4 ลำปาง มีเพียงพรรคเสรีรวมไทย ขณะที่พรรคก้าวไกลติดขัดเรื่องกระบวนการทางธุรการทำให้ส่งผู้สมัครลงไม่ได้ พรรคฝ่ายค้านจึงเหลือเพียงผู้สมัครจากพรรคเสรีรวมไทย ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาได้คะแนนมาเป็นลำดับที่ 5 ได้คะแนนเพียง 2,466 ขณะที่ผู้สมัครของพรรคพลังประชารัฐที่ได้อันดับ 2 ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ได้คะแนนถึง 30,368 คะแนน  พรรคเพื่อไทยจึงจะเปลี่ยนแผนการ โดยหันไปสนับสนุนผู้สมัครของพรรคเสรีรวมไทยในการเลือกตั้งแทน
    มีรายงานอีกว่า ในกรณีที่นายพินิจระบุมีความสนใจลงเล่นการเมืองท้องถิ่นที่จะมีขึ้นในไม่กี่เดือนข้างหน้า ทำให้ ส.ส.พรรคเพื่อไทยต่างจับกลุ่มพูดคุยกันว่า เหตุผลที่นายพินิจแจ้งขอถอนตัวต่อพรรคล่าช้า อาจมีปัจจัยสำคัญบางอย่างกับขั้วตรงข้ามทางการเมืองหรือไม่ รวมทั้งก่อนการเลือกตั้งเมื่อปี 62  เคยมีข่าวมาว่านายพินิจอาจจะไปร่วมงานกับพรรคที่อยู่ตรงข้ามพรรคเพื่อไทยมาแล้วด้วย
    ขณะที่นายพินิจเปิดเผยว่า ไม่เคยพูดว่าจะลงเลือกตั้งซ่อมในครั้งนี้ แต่พรรคให้สิทธิ์ตนเพราะครอบครัวเป็นเจ้าของพื้นที่เดิม แต่ภาพลูกยังติดตาอยู่จึงไปแจ้งให้พรรคทราบ และชี้แจงว่าจะลงสมัครนายก อบจ.ลำปาง พรรคก็ไม่ว่าอะไร
     เมื่อถามว่าได้แจ้งความไม่สบายใจให้พรรคทราบเมื่อไหร่ ปรากฏว่าสายหลุด และเมื่อผู้สื่อข่าวพยายามติดต่อไปอีกครั้งก็ไม่มีผู้รับสาย 
     นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่า น่าเสียดายว่าพรรคก้าวไกลไม่สามารถส่งตัวแทนพรรคลงสมัครรับเลือกตั้งซ่อมในครั้งนี้ได้ เนื่องจากเหตุผล 2 ประการสำคัญ คือ 1.สมาชิกพรรคก้าวไกลที่ย้ายมาจากอดีตพรรคอนาคตใหม่ หลังจากถูกคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนุญสั่งยุบพรรค หากนับจากวันที่สมัครถึงปัจจุบันยังไม่มีใครเป็นสมาชิกเกิน 90 วันตามที่กฎหมายกำหนด 2.การส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง พรรรคจำเป็นต้องมีคณะกรรมการคัดเลือกผู้สมัคร ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ต้องมีที่มาจากการประชุมใหญ่ของพรรค แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ไม่สามารถจัดประชุมและเลือกคณะกรรมการชุดดังกล่าวได้
    นายพิพัฒน์ชัย ไพบูลย์ อดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกระแสข่าวมีแกนนำพรรคเพื่อไทยกลุ่มหนึ่งกำลังเคลื่อนไหวเพื่อรวมตัวกันตั้งพรรคการเมืองใหม่ เนื่องจากไม่พอใจบทบาทหน้าที่ของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยว่า เห็นกระแสข่าวมาช่วงหนึ่งแล้ว  ถ้าจะมีการตั้งพรรคใหม่ด้วยเหตุผลว่าไม่ชอบคุณหญิงสุดารัตน์ ตนไม่เห็นด้วย ที่ผ่านมาคุณหญิงสุดารัตน์ตั้งใจทำงานและขยันมาก ผิดกับบางคนที่ปล่อยเกียร์ว่างยาว จนทำให้เพื่อไทยในฐานะพรรคแกนนำฝ่ายค้านมีบทบาทไม่โดดเด่นเท่าที่ควร แต่ในที่สุดคิดว่าอาจไม่มีแกนนำพรรคเพื่อไทยคนใดออกไปตั้งพรรคใหม่ เพราะยังมีอีกหลายปัจจัย อยากให้ทุกคนหันมาจับมือกันทำพรรคให้เข้มแข็งเหมือนพรรคไทยรักไทย
     ส่วนที่มีการระบุว่าจำเป็นต้องตั้งพรรคใหม่ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เอื้อต่อพรรคนั้น อยากถามว่าทุกคนบอกว่าหากมีโอกาสจะแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ หากโอกาสนั้นมาถึงแล้วแก้รัฐธรรมนูญได้ จะยังไงต่อ อย่างไรก็ตาม ขอให้กำลังใจคุณหญิงที่พยายามสร้างบทบาทให้ทุกคนเห็น และให้กำลังใจทุกท่านที่พยายามหาทางกอบกู้พรรค พระพุทธเจ้าตรัสว่า อธิกรณ์เกิดที่ใดให้แก้ที่นั่น ไม่ใช่หนีไปเรื่อยๆ
ไร้เงา 'อุตตม-สนธิรัตน์'
     ที่ทำการพรรคพลังประชารัฐแห่งใหม่  ย่านรัชดาฯ ตรงข้ามศาลอาญา มีการประชุม ส.ส.พรรคพลังประชารัฐครั้งแรก หลังเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญประจำปี ครั้งที่ 1  เพื่อเตรียมความพร้อมในการพิจารณา พ.ร.ก.กู้เงิน จำนวน 3 ฉบับ ที่จะเข้าสู่ที่ประชุมสภาระหว่างวันที่ 27-31 พ.ค.นี้  ปรากฏว่านายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคและ รมว.การคลัง,  นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์  เลขาธิการพรรคและ รมว.พลังงาน,  นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรคและ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ  ไม่ได้เข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้ โดยมีนายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ท่ามกลางกระแสข่าวความขัดแย้งเรื่องการแย่งชิงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ 
     รวมทั้งเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา นายอุตตมและนายสนธิรัตน์ได้เรียกประชุม ส.ส. กว่า 40 คน ที่กระทรวงการคลัง เพื่อซักซ้อม พ.ร.ก.กู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาท ก็ไร้เงาของ ส.ส.กลุ่มนายวิรัชและกลุ่มสามมิตร  รวมทั้งนายนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.การคลัง
     นายสันติ​กล่าวภายหลังการประชุม​ ส.ส ถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภายในพรรค​ว่า ขณะนี้กำลังช่วยกันแก้ไขปัญหาโควิด-19 และปัญหาเศรษฐกิจ ยังไม่มีเวลาที่จะหารือกันเรื่องภายในพรรค รอให้พ้นตรงนี้ไปอีกพักหนึ่งก่อน เมื่อถามว่าเหตุใดนายอุตตม​และนายสนธิรัตน์​จึงไม่มาประชุม​ ส.ส.ครั้งนี้​ด้วย​  นายสันติ​กล่าวสั้นๆ ว่า​ "คงติดประชุม​ ครม." ก่อนจะเดินทางกลับไปทันที
     วันเดียวกัน นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ โฆษกพรรคก้าวไกล เปิดเผยว่า ในวันที่ 27 พ.ค.  เวลา 13.00 น. ส.ส.พรรคก้าวไกลจะยื่นหนังสือต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ส่งหนังสือดังกล่าวไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยสมาชิกภาพของร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ้นจาก ส.ส. เนื่องจากมีลักษณะต้องห้าม มีคดีเกี่ยวข้องกับยาเสพติดและเคยถูกจำคุกในประเทศออสเตรเลีย และสืบเนื่องจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจก่อนปิดประชุมสภาในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา มีรายละเอียดหลักฐานที่ตนและนายธีรัจชัย พันธุมาศ ได้อภิปรายเรื่องคุณสมบัติของร้อยเอกธรรมนัสชัดเจนว่ามีคุณสมบัติต้องห้าม และเจ้าตัวไม่สามารถนำหลักฐานที่พิสูจน์ว่าเป็นบุคคลบริสุทธิ์มาชี้แจงต่อที่ประชุมสภา รวมถึงชี้แจงต่อหน้าสื่อมวลชนได้
     โดยการกระทำของร้อยเอกธรรมนัส เคยต้องคําพิพากษาอันถึงที่สุดตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นําเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า นั้น เป็นลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามมาตรา 98 (10)  จึงส่งผลให้เป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามในการดํารงตําแหน่งรัฐมนตรี ตามมาตรา 170 (4) ประกอบมาตรา 160 (6) แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พ.ศ2560 ส่งผลให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว เมื่อขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 โดยมาตรา 160 (6) บัญญัติว่า "รัฐมนตรีต้อง ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98"
    ส่วนที่ร้อยเอกธรรมนัสได้ชี้แจงเป็นหนังสือ "ขอชี้แจงข้อเท็จจริงเป็นลายลักษณ์อักษรต่อประธานคณะกรรมาธิการ ป.ป.ช. ว่าการถูกออกจากราชการของตนได้รับการล้างมลทินแล้วตามพระราชบัญญัติล้างมลทิน ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 คุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีของตนจึงไม่ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ" นั้น ย่อมไม่เป็นเหตุให้การที่เคยต้องคําพิพากษาด้วยฐานความผิดดังกล่าวถูกลบล้างไป ข้ออ้างดังกล่าวฟังไม่ขึ้น ทั้งนี้ขอให้เพื่อน ส.ส.ร่วมลงรายชื่อเพื่อกู้ภาพลักษณ์ศักดิ์ศรีของสภาให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาประชาชน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"