วิกฤติไวรัส วิกฤติแรงงานไทย


เพิ่มเพื่อน    


    ช่วงที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้รัฐบาลต้องออกมาตรการล็อกดาวน์ หรือมาตรการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” หลายหน่วยงานประกาศให้พนักงาน Work Form Home การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน การประกาศใช้เคอร์ฟิวซึ่งทำหลายธุรกิจต้องปิดกิจการ สถานศึกษา และสถานที่ต่างๆ ต้องหยุดดำเนินการเป็นการชั่วคราวตามนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งต้องยอมรับว่ามาตรการดังกล่าวเดินหน้ามาจนถึงจุดที่เรียกว่าประเทศไทยสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ะบาดของโรคได้เป็นอย่างดี จากจำนวนผู้ติดเชื้อที่อยู่ในระดับต่ำมากๆ เมื่อเทียบกับหลายประเทศทั่วโลก
    แต่แน่นอนว่า ในทางสาธารณสุข ประเทศไทยถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมากในการควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งสะท้อนจากจำนวนผู้ติดเชื้อต่อวัน ไปจนถึงสถิติต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการแพร่ระบาด จากความร่วมมือร่วมใจของประชาชนในประเทศ แต่ใน “มุมของเศรษฐกิจ” ต้องยอมรับว่ามาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาลนั้น สร้างผลกระทบที่เรียกว่ามหาศาลให้กับภาคธุรกิจ ทั้งขนาดใหญ่ กลาง เล็ก ผู้ประกอบการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ ที่ได้รับผลกระทบอย่างถ้วนทั่ว นำมาซึ่งปัญหา “การเลิกจ้าง” ในขณะนี้ ที่ก่อนหน้านี้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้ออกมาประเมินว่าจะมีแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง อย่างน้อย 7.1 ล้านคน
    โดยข้อมูลจาก “คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)” ระบุว่า ปัญหาการเลิกจ้างยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา มีการประเมินว่ามีแรงงานถูกเลิกจ้างราว 7 ล้านคน และกรณีที่รัฐบาลได้ประกาศขยายระยะเวลาการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่ออีก 1 เดือนนั้น อาจส่งผลทำให้มีแรงงานถูกเลิกจ้างเพิ่มสูงขึ้นถึง 11-12 ล้านคนเลยทีเดียว
    ขณะที่ “สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)” ให้มุมมองเกี่ยวกับมาตรการปิดเมืองของรัฐบาลว่า มาตรการดังกล่าวมีผลอย่างยิ่งกับสถานประกอบการและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง มีแรงงานและคนทำงานที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก ทั้งคนไทยและต่างด้าว โดยเฉพาะที่เป็นลูกจ้างรายวัน โดยคนไทยสวนหนึ่งไม่มีรายได้และทนค่าครองชีพในเมืองใหญ่ไม่ได้ ก็ต้องกลับไปตั้งหลักที่ต่างจังหวัด ส่วนต่างด้าวจำนวนมากต้องเดินทางกลับประเทศ เพราะไม่มีงานทำ เนื่องจากนายจ้างต้องปิดตัวจากธุรกิจ โดยการกลับไปของแรงงานต่างด้าวนี้จะก่อให้เกิดปัญหากับตลาดแรงงานไทยอีกครั้ง นั่นคือ “การขาดแคลนแรงงานระดับล่าง”
    ทั้งนี้ “ทีดีอาร์ไอ” เคยประมาณการว่า ปีนี้อัตราการว่างงานอาจจะสูงเป็น 2 เท่าของปีที่ผ่านมา หรือประมาณ 2% หรือราวๆ 6 แสนราย นั่นเป็นผลพวงที่เกิดจากปัญหาสงครามการค้า ปัญหาภัยแล้ง และการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี แต่ปัจจุบันมีปัญหาที่เข้ามาซ้ำเติม คือ เศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่จะกลายเป็นตัวเร่งให้ปัญหาการว่างงานเพิ่มสูงขึ้นอีกอย่างน้อยในช่วง 9 เดือนที่เหลือของปีนี้ โดยเบื้องต้นคาดว่าจะมีการว่างงานเพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิมอีก 1-2 แสนคน รวมเป็น 7-8 แสนคน หรือ 2.2-2.5% ดังนั้นรัฐบาลจำเป็นต้องเร่งหามาตรการระยะกลางในการช่วยเหลือผู้ที่มีแนวโน้มว่างงาน
    ขณะที่ “สภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรม (อีคอนไทย)” ได้ออกมาให้ข้อมูลว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในไทยที่ยาวนานกว่า 2 เดือน ได้เริ่มส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการจ้างงาน โดยคาดว่าในเดือน มี.ค. ต่อเนื่องถึงเดือน เม.ย.2563 จะมีคนตกงานไม่น้อยกว่า 6.5 ล้านคน
    และล่าสุด “สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์” ได้เปิดเผยข้อมูลภาวะสังคมไตรมาส 1/2563 พบว่ามีการจ้างงาน 37.4 ล้านคน ลดลงต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน -0.7% โดยปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อการจ้างงานในปี 2563 คือการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลให้บางกิจการต้องหยุดชั่วคราว โดย สศช.ประเมินว่าจะมีแรงงานที่มีความเสี่ยงถูกเลิกจ้างในปีนี้ประมาณ 8.4 ล้านคน รวมทั้งผลกระทบจากภัยแล้งที่ส่งผลให้การจ้างงานในภาคการเกษตรลดลงด้วย
    โดยแนวโน้มการว่างงานยังมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นคงต้องรอดูต่อไปว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะเป็นอย่างไร หากสามารถจบได้เร็วภายใน 1 เดือน ภาคธุรกิจก็น่าจะฟื้นตัวได้เร็ว แต่หากลากยาวก็จะกลายเป็นวิกฤติได้.

 ครองขวัญ รอดหมวน


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"