อนุทินลั่นฟันยกก๊วนหัวคิว อปท.หนาวปปท.จับตาเข้ม


เพิ่มเพื่อน    


    "อนุทิน" ลั่น สธ.ไม่ทนกับการทุจริต หัวคิวสถานที่กักตัวใครทำก็รับประทานแกลบ ไม่ว่าใครทำไม่มีทางรอด  ส่วนคนจ่ายซวยด้วย ผิดทั้งคู่ร่วมกันโกง ขณะที่ ตร.เผยพบมีการแอบอ้างหักหัวคิวจริง แต่ยังไม่พบเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้อง ส่วนป.ป.ท.ฟันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 19 แห่ง จัดซื้อจัดจ้างไม่โปร่งใส จับตาบางแห่งอ้างโควิดหันมาแจกเงินประชาชน
    เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีที่มีบุคคลแอบอ้างและหักหัวคิวสถานที่ที่ต้องการจะใช้เป็นที่กักกันตัวของรัฐว่า ก็ชัดเจนอยู่แล้ว ใครจะทำคงรับประทานแกลบกันเป็นแถว ทุกคนรู้อยู่แล้วใครจะกล้าทำ และคนที่จะอนุมัติงบเหล่านี้ต้องเอาแว่นขยายส่อง ไม่มีทางรั่วไหล  ส่วนคนที่จ่ายไปแล้วก็ซวยไป และถือว่ามีความผิดด้วย เพราะร่วมกันทุจริตในราชการ 
“หากมีเหตุแบบนี้เกิดขึ้นเราจะรู้ได้อย่างไร เพราะอาจจะมีการแอบอ้างได้ว่าเป็นญาติ เช่น มีคนกระทำผิดแอบอ้างว่าเป็นคู่เขยผม ทั้งที่ผมไม่มีเมีย แล้วจับเป็นคู่เขยได้อย่างไร ไปของานหรือบีบคั้นราชการได้อย่างไร”
    ถามว่าทราบหรือยังว่าคนที่แอบอ้างเป็นใคร รมว.สาธารณสุขตอบว่า ไม่จำเป็นต้องไปทราบในส่วนนั้น ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะไม่ทนต่อการทุจริต ไม่ว่าจะเป็นใครก็ไม่มีทางรอด เพราะจะต้องมีการคัดกรองและผ่านการเซ็นอนุมัติในหลายขั้นตอน
    ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รอง ผบ.ตร. กล่าวถึงการดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องการหักหัวคิวสถานกักตัวการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ว่า ได้รับรายงานจาก พล.ต.ท.มนตรี ยิ้มแย้ม ผบช.ภ.2 จากการสืบสวนสอบสวนเบื้องต้นน่าจะมีการกระทำความผิดจริง อยู่ระหว่างประสานงานกับหน่วยงานที่เสียหาย ที่ถูกกล่าวอ้างคือกระทรวงสาธารณสุขมาร้องทุกข์กล่าวโทษกับผู้ที่กล่าวอ้างว่าสามารถใช้วิธีการใดๆ ให้โรงแรมสามารถเข้าเงื่อนไขขึ้นเป็นสถานที่กักตัว แต่เบื้องต้นยังไม่พบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องในการกระทำความผิด ฉะนั้นจะเป็นการร้องทุกข์หมิ่นประมาท 
    ส่วนรายละเอียดทั้งหมดต้องรอความชัดเจนในการร้องทุกข์ในพื้นที่รับผิดชอบ อย่างไรก็ตาม ถ้าสืบสวนสอบสวนใครเกี่ยวข้องต้องดำเนินการให้หมด ดำเนินการไปตามพยานหลักฐาน ยืนยันเจ้าหน้าที่ไม่ได้กังวล เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ให้นโยบายมาแล้วใครเกี่ยวข้องดำเนินคดีให้หมด ไม่ไว้หน้าใครทั้งนั้น เพียงแต่ว่าวันนี้ยังไม่พบเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้อง 
    ด้าน พ.ต.ท.วันนพ สมจินตนากุล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (เลขาธิการ ป.ป.ท.) เปิดเผยว่า สำนักงาน ป.ป.ท. ในฐานะฝ่ายเลขานุการ ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ดำเนินการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กรณีการจัดซื้อจัดจ้างอุปกรณ์ป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่มีลักษณะที่ไม่โปร่งใส หรืออาจส่อไปในทางทุจริต อันจะเกิดผลเสียหายต่อทางราชการเพื่อใช้เป็นฐานในการตรวจสอบเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ รวมถึงเพื่อเป็นข้อเสนอแนะและแนวทางให้หน่วยงานต่างๆ ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างอย่างถูกต้องตามระเบียบของ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 
    จึงได้แต่งตั้งชุดปฏิบัติการจำนวน 15 ชุด ออกตรวจสอบข้อเท็จจริงทั่วประเทศ และได้บูรณาการร่วมกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบในกรณีดังกล่าว ซึ่งขณะนี้ชุดปฏิบัติการได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงไปแล้ว ตามที่มีผู้แจ้งเบาะแส รวมจำนวน 52 อปท. รวม 30 จังหวัด 
    พบพฤติการณ์ความผิดปกติในการจัดซื้อจัดจ้างเพิ่มเติม รวมเป็นจำนวน 19 แห่ง ซึ่งได้ส่งสำนักงาน ป.ป.ช.ไปแล้วจำนวน 3 แห่ง และยกเลิกการจัดซื้อจำนวน 5 แห่ง โดยพบข้อสังเกตในความผิดปกติจำนวน 16  รูปแบบ ดังนี้
    1.ราคาจัดซื้อสูงเกินจริงเมื่อเทียบกับราคาหรือคุณสมบัติของพัสดุในสถานการณ์ขณะนั้น 2.ไม่ปรากฏหลักฐานการสืบราคาให้ตรวจสอบ 3.ร้านคู่เทียบยืนยันว่าไม่ได้เป็นผู้เสนอราคาตามเอกสารจัดซื้อจัดจ้าง 4.นำพัสดุชิ้นใหม่มาสับเปลี่ยนกับที่ได้ตรวจรับไปแล้ว 5.ยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างในราคาที่ผ่านการต่อรองแล้วและไปจัดซื้อใหม่ในราคาที่สูงกว่าเดิม
    6.ผู้รับจ้างและคู่เทียบไม่ใช่ผู้ประกอบการที่มีอาชีพขายหรือรับจ้างโดยตรง 7.จัดซื้อกับผู้ประกอบการต่างท้องที่ ทั้งๆ ที่ราคาสูงกว่าผู้ประกอบการในท้องที่ 8.จัดซื้อเกินวงเงินที่มีอำนาจอนุมัติ 9.จัดซื้อในปริมาณที่มากเกินความจำเป็น 10.มีชื่อร้านคู่เทียบเพื่อสืบราคา แต่ไม่มีราคาในการนำเสนอ 
    11.คู่สัญญาและร้านคู่เทียบ มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน 12.เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้จัดหาสินค้าเอง โดยจ่ายเงินให้กับบริษัท/ร้านค้า เพื่อขอนำชื่อบริษัท/ร้านค้านั้นมาเป็นคู่สัญญาแทนตน 13.คณะกรรมการตรวจรับไม่ได้ทำการตรวจรับจริง แต่มีเจ้าหน้าที่นำเอกสารการตรวจรับมาให้ลงลายมือชื่อ
    14.มีการซื้อขายกับรัฐวิสาหกิจบางแห่งที่ทำหน้าที่เป็นคนกลางจัดหาสินค้า ทั้งที่หน่วยงานดังกล่าวไม่มีวัตถุประสงค์ในการขายสินค้าประเภทที่มีการจัดซื้อ เพื่อหลีกเลี่ยงการสืบราคา 15.ผู้บริหารท้องถิ่น มีการจ่ายเงินค่าซื้อพัสดุอุปกรณ์ป้องกันโควิด โดยสั่งจ่ายเป็นเช็คเข้าบัญชีตนเอง 16. อปท.จำนวน 5 แห่งทำการยกเลิกการจัดซื้อเมื่อถูกหน่วยงานของรัฐตรวจสอบ
    นอกจากนี้แล้วยังมีประเด็นที่น่าสนใจเพิ่มเติมคือ ในปัจจุบันพบว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งได้มีการเปลี่ยนแปลงวิธีการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 จากการจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์ป้องกัน ควบคุม หรือรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มาเป็นการแจกเงินช่วยเหลือกรณีได้รับผลกระทบจากโรคโควิด ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2560 ซึ่งเป็นอีกแนวทางหนึ่งของการช่วยเหลือ เพื่อไม่ให้เป็นเหตุกระทำที่ซ้ำเติมปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และสนับสนุนการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า ตรงตามวัตถุประสงค์ เพื่อให้ประชาชนหรือผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงได้รับเงินตามความเป็นจริงและเต็มจำนวน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"