ชี้ช่องยื่นศาลรธน. วินิจฉัยปมสภาสูง จิ้ม'สุชาติ'นั่งปปช.


เพิ่มเพื่อน    


    วิจารณ์แซ่ด! ส.ว.ลงมติเห็นชอบ "อดีต สนช.-สุชาติ ตระกูลเกษมสุข" เป็นกรรมการ ป.ป.ช. ส่อขัดรัฐธรรมนูญ-พ.ร.ป.ป.ป.ช. เหตุพ้นตำแหน่งไม่เกิน 10 ปี แต่เลขาฯ วุฒิสภายกความเห็นคณะกรรมการสรรหา ป.ป.ช.ที่มีประธานศาลฎีกาเป็นประธาน ระบุ "สนช." ไม่ใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ลงมติเห็นชอบให้นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข เป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในการประชุมลับเมื่อวันที่ 26 พ.ค.ที่ผ่านมา กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าอาจจะขัดรัฐธรรมนูญ 2560 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (พ.ร.ป.ป.ป.ช.) 2561 หรือไม่
    เนื่องจากนายสุชาติ (ขณะดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์) เคยได้รับการแต่งตั้งจาก คสช.ให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 11 ต.ค.59 และพ้นจากตำแหน่ง สนช.เมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 นับถึงปัจจุบันพ้นตำแหน่งมาเพียง 1 ปี ซึ่งเท่ากับพ้นตำแหน่งไม่เกิน 10 ปี 
    ทั้งนี้ พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช.มาตรา 11(18) บัญญัติว่ากรรมการ ป.ป.ช.ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามดังนี้ "เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นในระยะสิบปีก่อนเข้ารับการสรรหา"  
    ประกอบกับคณะกรรมการ ป.ป.ช.เคยมีความเห็นว่า สนช.ถือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  ตามมาตรา 6 แห่งรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว 2557 ที่บัญญัติให้ สนช.ทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา จึงมีหน้าที่ยื่นแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินพร้อมเอกสารประกอบต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.  
    นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 263 บัญญัติว่า "ในระหว่างที่ยังไม่มีสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาตาม รธน.นี้ ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ตั้งขึ้นตาม รธน.แห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)  พ.ศ.2557 ยังคงทำหน้าที่รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาต่อไป และให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้ รธน.นี้ ทำหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา ตามลำดับ ตามบทบัญญัติแห่ง รธน.นี้ และให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติสิ้นสุดลงในวันก่อนวันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปที่จัดขึ้นตาม รธน.นี้"
    อนึ่ง ในการประชุมลับของวุฒิสภาได้ลงมติให้ความเห็นชอบบุคคลไปดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. 2 คน ได้แก่ นายณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา อดีตผู้ตรวจอัยการและอัยการอาวุโส ได้ 224  คะแนน และนายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ชำนัญพิเศษ ได้ 219 คะแนน แต่กรณีนายณัฐจักรไม่ขัดต่อลักษณะต้องห้าม 
    นายเจษฎ์ โทณะวณิก ที่ปรึกษาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 60 (กรธ.) ให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 263 ให้อำนาจ สนช.ทำหน้าที่เป็น ส.ส.และ ส.ว. หากตีความ สนช.เป็น ส.ส.และ ส.ว.ด้วย ก็จะเข้าลักษณะต้องห้ามตาม รธน. มาตรา 216 ประกอบ 202 (4) เป็นหรือเคยเป็น ส.ส. ส.ว. หรือข้าราชการการเมืองในระยะเวลา 10 ปี ไม่สามารถเป็นองค์กรอิสระได้ แต่หากตีความมาตรา 263 ว่า สนช.ทำหน้าที่แทน ส.ส.และ ส.ว.เฉยๆ ไม่ถือว่าเป็น ส.ส.และ ส.ว.นั้น ก็ไม่เข้าลักษณะต้องห้าม 
    "แต่ในความเห็นของตัวเอง คิดว่า สนช.ทำหน้าที่เหมือน ส.ส.และ ส.ว. มีสวัสดิการเงินเดือนเทียบเท่าทุกอย่าง และอีกด้านหนึ่งก็เป็นข้าราชการการเมืองอีกด้วย จึงถือว่าผู้ที่เคยเป็น สนช.ยังไม่พ้นระยะเวลา 10 ปี ไม่สามารถเป็นกรรมการในองค์กรอิสระได้ เพราะหากไม่เข้าช่อง ส.ส.หรือ ส.ว.ก็ไม่พ้นข้าราชการการเมือง และสุดท้ายหากสังคมยังไม่คลายความสงสัย อาจต้องมีการยื่นตีความโดยศาลรัฐธรรมนูญต่อไป" นายเจษฎ์ระบุ
    นายเจษฎ์กล่าวว่า ถือว่าเป็นเรื่องน่าคิดเพราะรัฐธรรมนูญ 60 เปิดโอกาสให้คนเป็น สนช.สามารถเป็นวุฒิสภาได้ และสุดท้ายก็มี สนช.ได้เป็นวุฒิสภาจำนวนมาก และต่อมามีอดีต สนช.มาลงสมัครองค์กรอิสระและสุดท้ายมีมติได้รับเลือก ก็เหมือนกับเพื่อนช่วยเพื่อน ถือว่าขัดกันแห่งผลประโยชน์ แม้สุดท้ายอาจไม่ผิดรัฐธรรมนูญ แต่เป็นเรื่องน่าวิเคราะห์ต่อไปว่าเหมาะสมหรือไม่
    ด้านนายนัฑ ผาสุข เลขาธิการสำนักงานวุฒิสภา ในฐานะอดีตเลขานุการคณะกรรมการสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า กรณีคุณสมบัติของนายสุชาติ  ตระกูลเกษมสุข อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ ที่ถูกมองว่าไม่สามารถเป็นกรรมการ ป.ป.ช.ได้ เนื่องจากพ้นจากตำแหน่ง สนช.มาไม่ถึง 10 ปีนั้น เรื่องดังกล่าวคณะกรรมการสรรหา ป.ป.ช.ที่มีประธานศาลฎีกาเป็นประธาน ได้มีมติชัดเจนว่าตำแหน่ง สนช.ไม่ใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในลักษณะ ส.ส.หรือ ส.ว. เพราะรัฐธรรมนูญเพียงกำหนดให้ สนช.ในขณะนั้นทำหน้าที่เป็น ส.ส.และ ส.ว.เท่านั้น เป็นเพียงตำแหน่งเฉพาะกิจ แต่ไม่ถือเป็นตำแหน่ง ส.ส.หรือ ส.ว. 
    อีกทั้งตาม พ.ร.บ.กองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาระบุชัดเจนว่า สนช.ไม่อยู่ในข่ายที่จะเข้ามาอยู่ในกองทุนดังกล่าวได้ ส่วนที่นายเจษฎ์ โทณะวณิก อดีตที่ปรึกษาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2560 (กรธ.) ระบุว่าตำแหน่ง สนช.เข้าข่ายเป็น ส.ส.และ ส.ว.นั้น ถือเป็นดุลยพินิจของแต่ละคน แต่ประเด็นดังกล่าวคณะกรรมการสรรหา ป.ป.ช.มีมติชัดเจนแล้วว่า สนช.ไม่ใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"