ยื่นผู้ตรวจส่งศาลชี้สถานะ'สนช.'


เพิ่มเพื่อน    


    "ศรีสุวรรณ" เตรียมยื่นเรื่องผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีสถานะ "สนช." ถือเป็น ส.ส.-ส.ว.-ข้าราชการการเมืองหรือไม่ ชี้หากเข้าข่าย 219 ส.ว.ที่โหวตให้นั่ง ป.ป.ช.โดนแน่ "สมชาย" ท้าเอาเก้าอี้ 80 สภาสูงเป็นประกัน สภานิติบัญญัติแห่งชาติแค่เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติงานช่วงปฏิวัติเท่านั้น    
    เมื่อวันพุธที่ 3 มิถุนายน นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย  โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีที่ประชุมวุฒิสภา (ส.ว.) ได้ลงคะแนนเห็นชอบให้นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งมีนบุรี ด้วยคะแนนเห็นชอบ 219 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 12 เสียง และไม่ออกเสียง 8 เสียง ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อวันที่ 26  พ.ค.ว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ  พ.ศ.2561 มาตรา 11 (18) บัญญัติไว้ว่า กรรมการ ป.ป.ช.ต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม คือ เป็นหรือเคยเป็น ส.ส. ส.ว.และข้าราชการการเมือง หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นในระยะ 10 ปีก่อนเข้ารับการสรรหา 
    นายศรีสุวรรณกล่าวอีกว่า ป.ป.ช.เคยมีความเห็นว่า สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ถือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามมาตรา 6 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 เพราะบัญญัติให้  สนช.ทำหน้าที่ ส.ส.และ ส.ว. จึงมีหน้าที่ยื่นแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินพร้อมเอกสารประกอบ  ป.ป.ช. และต่อมารัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 263 ได้บัญญัติว่า ในระหว่างที่ยังไม่มีสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ สนช.ที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)  พ.ศ.2557 ยังคงทำหน้าที่รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาต่อไป และให้สมาชิก สนช.ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ทำหน้าที่ ส.ส.หรือ ส.ว.ตามลำดับตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ และให้สมาชิก สนช.สิ้นสุดลงในวันก่อนวันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปที่จัดขึ้นตามรัฐธรรมนูญนี้
    “เมื่อนายสุชาติเคยได้รับการแต่งตั้งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้เป็นสมาชิก สนช.เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2559 และพ้นจากตำแหน่ง สนช. ซึ่งถือว่าเป็นข้าราชการการเมือง เมื่อ พ.ค.62  นับถึงปัจจุบันพ้นตำแหน่งมาเพียง 1 ปี เท่ากับพ้นตำแหน่งไม่เกิน 10 ปี จึงน่าจะเป็นการขัดต่อลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายบัญญัติดังกล่าว สมาคมฯ จึงเห็นว่าต้องหาข้อยุติ โดยจะเดินทางไปยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อให้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองว่า การที่ ส.ว.ให้ความเห็นชอบบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามตาม พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช.2561 มาตรา 11 (18) เป็นการกระทำโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายหรือไม่ และหากศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองวินิจฉัยว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย สมาคมฯ จะร้องเอาผิด 219 ส.ว.ที่โหวตให้นายสุชาติเป็น ป.ป.ช.ตามครรลองของกฎหมายต่อไป โดยจะไปยื่นเรื่องในวันที่ 4 มิ.ย.นี้"
    ขณะที่นายสมชาย แสวงการ ส.ว.กล่าวเรื่องนี้ว่า ก่อน ส.ว.จะมีการโหวตในวันที่ 26 พ.ค.ไม่มีการพูดถึงประเด็นนี้ แต่ยืนยันว่า สนช.ไม่ใช่ ส.ส.และ ส.ว. เพราะ สนช.ทำหน้าที่สมาชิกรัฐสภาระหว่างช่วงปฏิวัติ อีกทั้ง สนช.เป็นองค์ประกอบไม่เหมือน ส.ส.และ ส.ว. เพราะอนุโลมให้ข้าราชการ ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ผู้พิพากษามาเป็น สนช.ได้ และถือเป็นคุณสมบัติต้องห้ามของ ส.ส.และ ส.ว. คือห้ามเป็นข้าราชการ อีกทั้ง สนช.ก็ไม่ได้เป็นข้าราชการการเมืองด้วย เพราะตำแหน่งนี้คือเลขาธิการนายกรัฐมนตรี  เลขาฯ ประธานรัฐสภา เป็นต้น แต่ สนช.คือเจ้าหน้าที่รัฐมาทำหน้าที่แทน ส.ส.และ ส.ว.เท่านั้น 
    นายสมชายระบุอีกว่า คณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เคยตีความ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก อดีต สนช.และอดีตปลัดกลาโหมยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ และ น.ส.จินตนันท์ ชญาต์ร ศุภมิตร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ เนื่องจากมีลักษณะต้องห้ามเพราะเคยเป็น สนช.และพ้นจากตำแหน่งไม่เกิน 10 ปี แต่แตกต่างจากคณะกรรมการสรรหา ป.ป.ช. เพราะมีประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด และตัวแทนจากองค์กรอิสระ ส่วนใหญ่เป็นนักกฎหมายตีความ จึงเห็นว่า สนช.ไม่เป็น ส.ส.และ ส.ว. ขณะที่คณะกรรมการสรรหา กสม.ที่มีนายชวน หลีกภัยเป็นประธานนั้น นายชวนก็ไม่ได้อยู่ในที่ประชุมในการพิจารณากรณี พล.อ.นิพัทธ์  และ น.ส.จินตนันท์ไม่ผ่านคุณสมบัติ จึงเหลือกรรมการสรรหา 8 คน โดยผู้นำฝ่ายค้านไม่ลงคะแนน  ส่วนที่เหลือเป็นนักกฎหมาย 2 คนลงคะแนนว่า สนช.ไม่เป็น ส.ส.และ ส.ว. ที่เหลืออีก 5 คนไม่ใช่นักกฎหมายก็ลงมติว่า สนช.ถือเป็น ส.ส.และ ส.ว.ซึ่งเห็นว่าเป็นการตีความผิด  
“เชื่อว่าต่อไปหากมีการสรรหาองค์กรอิสระอื่นๆ ต่อไป นักกฎหมายต่างๆ ที่อยู่ในกรรมการสรรหาก็จะตีความว่า สนช.ไม่เป็น ส.ส.และ ส.ว. นอกจากนี้ที่ผ่านมา ป.ป.ช.และศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่เคยวินิจฉัยว่า สนช.ถือเป็น ส.ส.และ ส.ว.ด้วย ทั้งนี้แต่ก็ไม่ปิดกั้นให้ผู้เสียประโยชน์หรือคนที่ยังสงสัยยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้สิ้นกระแสความได้ เพราะ สนช.เป็นองค์กรพิเศษที่ทำหน้าที่แทน ส.ส.และ ส.ว.  ผมเรียนตรงๆ วันนี้ผมเป็น ส.ว.และรัฐธรรมนูญ 2560 ก็เขียนห้ามไม่ให้ ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญนี้มาเป็น  หมายความว่าตั้งแต่นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา และ ส.ว. 80 คนที่มาจาก สนช.ก็หลุดเก้าอี้เลย หากมีการไปร้องศาลรัฐธรรมนูญแล้วสรุปว่า สนช.เป็น ส.ส.และ ส.ว.ก็ทำให้ทุกคนขาดคุณสมบัติ ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าไม่มีทางเป็นไปได้" นายสมชายระบุ
    สำหรับปมปัญหาการพิจารณาลักษณะต้องห้ามของคนที่เคยเป็น สนช. แต่พ้นจากตำแหน่งไม่เกิน 10 ปีไปดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการในองค์กรอิสระนั้น ในขั้นตอนของคณะกรรมการสรรหาและขั้นตอนวุฒิสภาแตกต่างกันเป็นแบบ 2 มาตรฐาน เนื่องมาจากการตีความรัฐธรรมนูญและกฎหมายตามตัวอักษรและเจตนารมณ์คนละอย่าง อีกทั้งมีลักษณะเพื่อนช่วยเพื่อนผลัดกันเกาหลัง 
    มีรายงานแจ้งว่า กรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.ช.ที่มีนายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกาเป็นประธาน ได้ลงมติเมื่อวันที่ 30 ม.ค.เลือกนายสุชาติ และนายณัฐกิจ ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา อัยการอาวุโส สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นกรรมการ ป.ป.ช.จากผู้สมัคร 8 คน และต่อมาวันที่ 26 พ.ค. ส.ว.ได้ประชุมลับลงมติเห็นชอบให้เป็นกรรมการ ป.ป.ช. ทำให้หลังจากคณะกรรมการสรรหา ป.ป.ช.มีมติเลือกนายสุชาติ พล.อ.นิพัทธ์ได้ตัดสินใจมาสมัครเป็น กสม. ทั้งๆ ที่เคยถูกคณะกรรมการสรรหา กสม.ตัดชื่อออกครั้งหนึ่งแล้วเมื่อเดือน ก.ค.62 เนื่องจากมีลักษณะต้องห้ามเพราะพ้นจาก สนช.ไม่ถึง 10 ปี และเมื่อมาสมัครใหม่ในการประชุมคณะกรรมการสรรหาเมื่อวันที่ 29 พ.ค.ที่ผ่านมา เสียงส่วนใหญ่ยืนมติเดิมเมื่อปีที่แล้ว รวมทั้งตัดสิทธิ์ น.ส.จินตนันท์ ชญาต์ร ศุภมิตร ผู้สมัครอีกคนเนื่องจากพ้นจาก สนช.ไม่ถึง 10 ปีเช่นกัน 
    ทั้งนี้ คณะกรรมการสรรหา กสม.ที่มีความเห็นให้ตัดชื่อ พล.อ.นิพัทธ์ มีจำนวน 10 คน ประกอบด้วย นายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา, นายปิยะ ปะตังทา ประธานศาลปกครองสูงสุด, นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร, ผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน 3 คน ได้แก่ นางสุนี ไชยรส,  นายสมชาย หอมลออ และ ศ.อมรา พงศาพิชญ์, นายถวัลย์ รุยาพร นายกสภาทนายฯ, นายสุกิจ ทัศนสุนทรวงศ์ ผู้แทนสภาวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุข, นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ผู้แทนสภาวิชาชีพสื่อมวลชน และ ศ.สุริชัย หวันแก้ว อดีตอาจารย์ประจำในสถาบันอุดมศึกษา ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"