ขู่ฟัน219สว.โหวตอุ้ม'สุชาติ'


เพิ่มเพื่อน    


    "ศรีสุวรรณ" จ่อเอาผิด 219 ส.ว. หากศาลชี้โหวต "สุชาติ" นั่ง ป.ป.ช.ไม่ชอบด้วย กม. เชื่อหนีไม่พ้นครหาซ้ำรอยนาฬิกาป้อม ประธาน กสม.ฟันธงขาดคุณสมบัติ เหตุทำหน้าที่เหมือน ส.ส.-ส.ว.มาแล้ว "ปิยบุตร" แขวะระบบผลัดกันเกาหลัง
    ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน เวลา 09.30 น. นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบและเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองวินิจฉัยว่าการที่สำนักเลขาธิการวุฒิสภา และคณะกรรมการสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งรายชื่อนายสุชาติ  ตระกูลเกษมสุข อธิบดีผู้พิพากศาศาลแพ่ง มีนบุรี อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งพ้นจากตำแหน่งมายังไม่ครบ 10 ปี จึงมีลักษณะต้องห้ามตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.)  ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 มาตรา 11(18) ให้วุฒิสภาเห็นชอบเป็นกรรมการ ป.ป.ช. เข้าข่ายไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากนายสุชาติพ้นจากตำแหน่งมายังไม่ครบ 10 ปี  
    นายศรีสุวรรณกล่าวว่า การที่ที่ประชุมวุฒิสภาวันที่ 26 พ.ค.เห็นชอบให้นายสุชาติ ซึ่งเป็นอธิบดีกรมอัยการ ผู้พิพากษาศาลมีนบุรี เป็นบุคคลที่เหมาะสมเป็นกรรมการ ป.ป.ช.แทนตำแหน่งที่ว่าง แต่เนื่องจากว่านายสุชาติเคยเป็น สนช.ในช่วงตั้งแต่ 11 ต.ค.57 ซึ่งในกฎหมาย ป.ป.ช.ปี 2561 ได้บัญญัติไว้ชัดเจนว่า บุคคลที่จะมาเป็นกรรมการ ป.ป.ช.นั้นจะต้องไม่เป็นสมาชิก ส.ส. วุฒิสภา หรือข้าราชการการเมืองในระยะ 10 ปีก่อนดำรงตำแหน่ง ดังนั้นการที่นายสุชาติเพิ่งพ้นจากการเป็น สนช.ได้เพียง 1 ปีที่ผ่านมา จึงน่าจะมีลักษณะต้องห้ามตาม พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช. 2561 ในมาตรา 11(18) โดยชัดเจน อีกทั้งเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญไม่น่าจะต้องการบุคคลที่มีหน้าที่นิติบัญญัติในการออกกฎหมายมาบังคับใช้เข้าไปมีผลประโยชน์ได้เสียในองค์กรต่างๆ หรือแม้แต่องค์กรอิสระ รัฐธรรมนูญจึงพยายามกำหนดระยะห่างเอาไว้เป็นเวลา 10 ปี ดังนั้นการที่ ส.ว.ทั้ง 219 คนลงคะแนนโหวตเห็นชอบนายสุชาติ น่าจะขัดแย้งต่อกฎหมาย ป.ป.ช.และขัดรัฐธรรมนูญ  
    "ต้องอย่าลืมว่านายสุชาติได้เป็น สนช.โดยการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในสมัยนั้น และปัจจุบันหัวหน้า คสช.ก็คือนายกรัฐมนตรี การจะเข้าไปดำรงตำแหน่ง ป.ป.ช.ซึ่งมีอำนาจหน้าที่เข้าไปตรวจสอบการทุจริตของข้าราชการ นักการเมือง ก็อาจถูกครหาได้ว่าเป็นเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้วก็อาจเป็นเรื่องเหมือนที่หลายคนวิพากษ์นาฬิกาบิ๊กป้อม ซึ่งข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร สุดท้ายก็มีการวินิจฉัยว่าเป็นการยืมใช้ของเพื่อน ซึ่งผมเองก็เป็นนักกฎหมาย ดูแล้วไม่อาจจะวิจารณ์เป็นอย่างอื่นได้ ดังนั้นประเด็นการรับรองนายสุชาติมาเป็นกรรมการ ป.ป.ช. เข้าใจว่าน่าจะขัด พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช.โดยชัดเจน และถ้าหากเรื่องนี้เป็นที่ยุติในชั้นศาลว่านายสุชาติไม่สามารถดำรงตำแหน่ง ป.ป.ช.ได้ ผมก็จะดำเนินการเอาผิดกับ ส.ว.ทั้ง 219 คนที่รับรองนายสุชาติ ฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบด้วย" นายศรีสุวรรณระบุ
    ทั้งนี้ โดยส่วนตัวคิดว่าเรื่องนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินควรจะต้องส่งศาลปกครอง เพราะเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้มีอำนาจ ไม่ใช่เรื่องขัดแย้งในทางกฎหมายที่ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญ อีกทั้งในอดีตเคยมี สนช.นำเรื่องที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และศาลมีคำวินิจฉัยว่าคณะกรรมการสรรหาไม่สามารถวินิจฉัยได้ และศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่รับเรื่อง เมื่อมีบรรทัดฐานในเรื่องนี้แล้ว  การจะเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกก็อาจจะถูกปฏิเสธ หากผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่าอาจจะไม่ใช่อำนาจของศาลปกครอง แต่เป็นศาลรัฐธรรมนูญหรือหน่วยงานอื่นใด ก็ขึ้นอยู่กับผู้ตรวจการแผ่นดินจะวินิจฉัยต่อไป เพื่ออย่างน้อยเรื่องนี้จะได้เป็นที่ยุติของสังคม
    ด้านนายวัส ติงสมิตร ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 มาตรา 6 วรรคสอง บัญญัติให้ สนช.ทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา ส่วนรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 263 ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาลบัญญัติว่า ในระหว่างที่ยังไม่มีสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ 2560 ให้ สนช.ที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ยังคงทำหน้าที่รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาต่อไป และให้ สนช.ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ทำหน้าที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา และสิ้นสุดลงในวันก่อนวันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปที่จัดขึ้นตามรัฐธรรมนูญ 2560
    "บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับดังกล่าว ย่อมเป็นการรับรองสถานะของ สนช.และสมาชิกสนช.อยู่ในตัว ดังนั้นอดีตสมาชิก สนช.จึงมีลักษณะต้องห้ามเป็นกรรมการ ป.ป.ช." นายวัสระบุ
    ส่วนที่ระบุว่าตาม พ.ร.บ.กองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา พ.ศ.2556 ระบุชัดเจนว่า สนช.ไม่อยู่ในข่ายที่จะเข้ามาอยู่ในกองทุนดังกล่าวได้นั้น กองทุนนี้จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา  ซึ่งโดยปกติเป็นประชาชนที่มาจากการแข่งขันในการเลือกตั้ง หรือแต่งตั้ง ไม่เหมือนสมาชิก สนช.ที่โดยส่วนมากแต่งตั้งจากข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และชนชั้นนำในประเทศ ซึ่งได้รับสวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นดีอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือจากกองทุนดังกล่าว 
    สำหรับกรณีที่มีข่าวว่าคณะกรรมการสรรหาบุคคลมาดำรงตำแหน่ง กสม. มีมติว่าอดีตสมาชิก สนช.มีลักษณะต้องห้าม มิให้รับการสรรหาเป็น กสม. เพราะยังพ้นหน้าที่สมาชิก สนช.ไม่เกิน 10 ปี ด้วยเหตุผลใดและด้วยคะแนนเสียงเท่าใดนั้น ตนไม่ทราบ แต่ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วย กสม. ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครหรือผู้ได้รับการสรรหา เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสรรหาเป็นผู้วินิจฉัย แม้กฎหมายจะบัญญัติต่อไปว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาให้เป็นที่สุด (มาตรา 16 วรรคหนึ่ง) ปัญหานี้พึงได้รับการตรวจสอบจากองค์กรตุลาการที่มีอำนาจ
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กสม.ได้แจ้งการเลื่อนกำหนดวันแสดงวิสัยทัศน์ของผู้สมัครเป็น กสม.จากวันที่  8-9 มิ.ย.ออกไปเป็นวันที่ 26 และ 29 มิ.ย. เนื่องจากตรวจสอบพบว่ามี 7 คนจากผู้สมัคร 34 คนยังถือหุ้นสื่อในบริษัทและห้างหุ้นส่วนจำกัด คณะกรรมการสรรหาจึงนัดประชุมกันเองวันที่ 19 มิ.ย.เพื่อพิจารณาหาข้อยุติในประเด็นดังกล่าว และอาจมีการหารือถึงกรณีวุฒิสภาลงมติเห็นชอบให้นายสุชาติเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งขัดแย้งกับคณะกรรมการสรรหา กสม.ที่มีมติตัดสิทธิ์การเป็นผู้สมัคร 2 คน  เนื่องจากเคยเป็น สนช.และพ้นจากตำแหน่งมาไม่ถึง 10 ปี ได้แก่ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก และ น.ส.จินตนันท์ ชญาต์ร ศุภมิตร
    มีรายงานข่าวว่า ความขัดแย้งที่กลายเป็นการปฏิบัติแบบ 2 มาตรฐาน มีความเชื่อมโยงไปถึงผู้ดำรงตำแหน่งในสถาบันหรือองค์กรสำคัญ ในฐานะที่เป็นกรรมการสรรหาทั้ง 2 ชุด ได้แก่ ประธานศาลฎีกา (เป็นประธาน), ประธานศาลปกครองสูงสุด, ประธานสภาผู้แทนราษฎร, ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งอาจนำไปสู่จุดวิกฤติเพิ่มขึ้นของวุฒิสภาและองค์กรอิสระ
    ที่รัฐสภา นายปิยบุตร แสงกนกกุล ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการ การกฎหมาย การยุติธรรม  และสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ถือเป็นความผิดเพี้ยนของรัฐธรรมนูญ ด้านหนึ่งต้องรักษาความเป็นกลาง  ความเป็นอิสระ ไม่มีส่วนได้เสีย แต่สุดท้าย ส.ว.เลือกนายสุชาติซึ่งเคยเป็น สนช.มาเป็นกรรมการ  ป.ป.ช. เท่ากับเป็นระบบผลัดกันเกาหลัง วนกันอยู่เพียงกลุ่มคนเดิมๆ ซึ่งปัญหาต่อมาต้องดูว่ามีองค์กรไหนมาชี้ขาดให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพราะทราบว่าคณะกรรมการสรรหา กสม.ก็มีมาตรฐานไปอีกแบบหนึ่ง เพราะตัดสิทธิ์ผู้ที่เคยเป็น สนช.ให้ไม่สามารถดำรงตำแหน่ง กสม.ได้
    นายปิยบุตรเปิดเผยว่า วันที่ 5 มิ.ย. คณะก้าวหน้าจะเปิดแคมเปญ "ส.ว. มีไว้ทำไม" และวันที่ 6  มิ.ย.จะมีการจัดสัมมนาออนไลน์ มีผู้ร่วมสัมมนา เช่น นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีต ส.ว.และอดีตสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้สังคมพิจารณาว่าจะทำอย่างไรกับ ส.ว.ที่ทำหน้าที่มา 1 ปีแล้วเพื่อประกันการสืบทอดอำนาจ ยังจำเป็นอยู่หรือไม่ที่จะมี ส.ว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"