สสส.-สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กฯ มหิดล นำร่องเจาะลึกการตายด้วยอุบัติเหตุในเด็กนครปฐม


เพิ่มเพื่อน    

        สสส.จับมือสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล เจาะลึกปรากฏการณ์เด็กนครปฐม ด้วยแนวคิดเด็กปลอดภัยเป็นโครงการนำร่องก่อนจังหวัดอื่นๆ ข่าวออนไลน์เด็กนักเรียนประถมขับขี่รถมอเตอร์ไซค์มีเพื่อนซ้อนท้าย 4 คนโดยไม่สวมหมวกกันน็อก ประสานงารถกระบะตายเกลื่อนถนน รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้บุกเบิกงานอุบัติเหตุในเด็กไขปม เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ วัยซุกซนตายในบ้าน หัวทิ่มจมน้ำคลอง บ่อเลี้ยงปลา เพราะความเผอเรอของพ่อแม่ หยิบยกสารพันปัญหาเด็กทั่วโลกอายุต่ำกว่า 15 ปีเสียชีวิตเป็นจำนวนมากจากอุบัติเหตุ เพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์

      เป็นภาพที่เจนตาของสังคมไทย เมื่อเด็กนักเรียนวัยประถมและมัธยมขี่จักรยานยนต์บนถนน ไม่มีใครตั้งคำถามว่าเด็กวัยละอ่อนขนาดนี้มีใบขับขี่หรือไม่? ทำไมเด็กกลุ่มนี้ไม่สวมหมวกกันน็อกทั้งๆ ที่ค่อนข้างเสี่ยงว่าจะเกิดอุบัติเหตุ พ่อแม่ยินยอมให้เด็กขี่จักรยานยนต์ซึ่งมีความคล่องตัวและมีราคาจับต้องได้ แม้จะรู้ว่าเป็นการทำผิด กม. เพราะเด็กอายุยังไม่ถึง 18 ปีที่จะสอบใบขับขี่ได้ และยังซ้อนท้าย 3 คน 4 คน เกินกว่าที่ กม.กำหนด อีกทั้งไม่มีใครสวมหมวกกันน็อกและยังขับขี่เข้าไปในสถานที่ชุมชน ภาพการเสียชีวิตของเด็กจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ปรากฏเป็นข่าวออนไลน์ ออฟไลน์ อย่างที่เรียกว่าเกิดขึ้นเกือบทุกวัน

(รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์)

        รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกงานอุบัติเหตุในเด็ก เปิดเผยว่า กว่า 10 ปีทำงานวิจัยเกี่ยวกับการตายในเด็ก ภายใต้แนวคิดเด็กปลอดภัยของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นการทำงานหลายโมเดล ในปี 2561 คณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติรับเป็นนโยบายขยายผลทั้งประเทศ ทุนความปลอดภัยบนท้องถนนเลือกจังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นโมเดลศึกษาเรื่องการตายของเด็ก เพื่อให้เป็นโครงการนำร่องในการศึกษาสาเหตุการตายในเด็กของจังหวัดอื่นๆ ด้วย เพื่อวิเคราะห์จุดอ่อน พฤติกรรมสิ่งแวดล้อม นโยบาย กม.ที่ใช้ในท้องถิ่น เป็นเครื่องมือคิดค้นขยายผลไปยังชุมชนอื่น เพราะปัญหาเกิดซ้ำๆ กันได้อีกในพื้นที่ต่างชุมชน

      มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีเสียชีวิตเป็นจำนวนมากแต่ละปีทั่วโลก จากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดการสูญเสียกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็กๆ รพ.รามาธิบดี ถือเป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศให้ปลอดภัยจากอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่คาดคิด จากการดำเนินงานตลอดระยะเวลากว่าทศวรรษที่ผ่านมาของศูนย์วิจัยแห่งนี้ การศึกษาเรื่องความปลอดภัยในเด็กทำงานวิจัยเป็นเวลาหลายปี วิเคราะห์การตาย ซึ่งเป็นเครื่องมือทำให้มีการสื่อสารในระดับชุมชนได้ดีขึ้น วิเคราะห์จุดอ่อน พฤติกรรมสิ่งแวดล้อม นโยบายทางด้าน กม.ที่ใช้ในท้องถิ่น เป็นเครื่องมือช่วยกันคิดค้นขยายผลให้ชุมชนอื่น สามารถเกิดซ้ำๆ ในชุมชนอื่น

      ในช่วงนั้นมี 2 หน่วยงานเกิดขึ้นใกล้เคียงกัน หน่วยงาน สสส.เกิดขึ้นในปี 2546 การดำเนินงานให้เด็กไทยปลอดภัยเริ่มขึ้นเมื่อปี 2545 เมื่อเปรียบเทียบสถิติเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ตาย 3,600 คน ปัจจุบันตาย 2,200 คน สถิติการตายของเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปีตายในบ้าน ตกน้ำ จมน้ำตายมากที่สุด ตกจากที่สูง ไฟฟ้าดูด ของหล่นทับใส่ เสียชีวิตจากปัญหาการจราจรบนท้องถนน ปี 2545 เด็กเล็กตายปีละ 1,400 คน ถือว่าเป็นตัวเลขค่อนข้างสูงในสมัยนั้น เด็กจมน้ำมากถึง 650 คน         

      รศ.นพ.อดิศักดิ์กล่าวว่า การทำงานของสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. ผ่านโครงการรณรงค์เด็กไทยปลอดภัย ประสบความสำเร็จนับตั้งแต่ทุนวิจัยองค์การอนามัยโลก ปัจจุบันการเสียชีวิตในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปีลดลงมากกว่า 60% เหลือเพียง 600 คน ส่วนใหญ่เป็นปัญหาเรื่องการจมน้ำในลำคลองหน้าบ้านหรือหลังบ้าน ในถังน้ำถูบ้าน กะละมัง ตุ่ม ไห บ่อเลี้ยงปลาในบ้านขนาดเล็ก เพราะเด็กวัยนี้กำลังซนหัดเดิน เพียงเดินหัวทิ่มตกลงไป หรือบ้านไม่มีลูกกรงกั้นทำให้พลัดตกบันไดลงมา ยิ่งบ้านที่อยู่ในชุมชนแออัด พื้นบ้านมีรูโบ๋ตกลงไปในน้ำครำใต้ถุนบ้าน

      ทั้งหมดนี้อยู่ที่ความเผอเรอของคนเป็นพ่อแม่หรือคนที่ดูแลเด็ก พ่อแม่ต้องรู้ว่าเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบช่วยตัวเองไม่ได้เมื่อเกิดอะไรขึ้น ปี 2545 เด็กเล็กตายปีละ 1,400 คน แต่ขณะนี้ลดจำนวนลงมาเหลือ 650 คน ในช่วงเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมาใช้หลายเครื่องมือแก้ไขปัญหา โครงการเด็กไทยปลอดภัยเริ่มตั้งแต่ สสส. และทุนวิจัยองค์การอนามัยโลกถือได้ว่าประสบความสำเร็จ” ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าว

      กลุ่มวัยเรียน 5-9 ปีตายน้อยกว่าเด็กในวัยอื่นๆ ส่วนใหญ่ก็ยังเสียชีวิตด้วยสาเหตุการจมน้ำ แต่เป็นการจมน้ำที่ไกลจากตัวบ้านออกไป เล่นน้ำในลำคลองที่อยู่ในชุมชน บ่อน้ำ สระน้ำในหมู่บ้าน บ่อน้ำขุดโดยรถแบ็กโฮ มีการขุดหลุมเป็นบ่อ เมื่อฝนตกก็จะมีน้ำขังเป็นหลุมบ่อ มีเขื่อนกั้นน้ำ ฝายทางภาคเหนือ ภาคอีสาน ไม่ไกลจากตัวบ้าน พ่อแม่เผอเรอ เด็กกลุ่มวัย 10 ปีขึ้นไป เด็กกลุ่มนี้จะช่วยตัวเองได้แล้ว ว่ายน้ำเป็น และมีทักษะในการปกป้องตัวเองได้มากขึ้น

      สมัยก่อนนั้นสังคมไทยจะดูแลเด็กหญิงเข้มงวดกว่าเด็กชาย อีกทั้งปัญหาเด็กชายจะซน ชอบใช้พละกำลังมากกว่าเด็กหญิง ทั้งเรื่องการปีนป่าย ทำให้มีเหตุที่ผจญภัยทำให้เกิดอุบัติเหตุ อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจะเกิดกับเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง ยกเว้นเด็กหญิงที่ชอบหยิบสิ่งของเข้าปาก ขาดอากาศหายใจ แต่วัย 8-9 ขวบจะพบเด็กหญิงจมน้ำใกล้เคียงกับเด็กชาย แต่เมื่ออายุ 12 ปีขึ้นไป สถิติก็จะกลับมาอยู่ที่เด็กชายมากกว่าเด็กหญิง สถิติการเสียชีวิตจะลดลงตามสัดส่วนเมื่อเข้าสู่วัยเด็กเรียน

      อย่างไรก็ตาม ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 พ่อแม่หยุดอยู่บ้านมีเวลามากขึ้นในการดูแลลูก ทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน จึงไม่น่าเป็นห่วงว่าเด็กจะไม่ปลอดภัย แต่น่าเป็นห่วงก็คือปัญหาเด็กซ้อนมอเตอร์ไซค์แล้วไม่สวมหมวกกันน็อก เมื่อประสบอุบัติเหตุจะไม่ปลอดภัยทั้งๆ ที่มี กม.บังคับใช้อยู่แล้ว แต่เกิดจากความหละหลวมไม่ปฏิบัติตามข้อ กม. หรือปัญหาเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ทั้งๆ ที่ กม.ห้าม แต่เนื่องจากอยู่ต่างจังหวัด มีความจำเป็นที่พ่อแม่ยินยอมให้เด็กขับขี่มอเตอร์ไซค์ ซึ่งราคาพอซื้อหาได้ไป รร.เอง แม้จะรู้ว่าผิด กม.และยังไม่สวมหมวกกันน็อกอีก ปัญหาเด็กซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์อย่างที่เรียกว่าซ้อน 3 ซ้อน 4 เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน เด็กวัย 10-15 ปีเสียชีวิตจากการขี่มอเตอร์ไซค์ตายเป็นอันดับ 1

      ศูนย์วิจัยฯ ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 10 ต.ค.2545 ขณะที่ตั้งศูนย์นั้นเราได้ศึกษาเรื่องการตายของเด็กว่า เด็กในยุคปัจจุบันหมายถึงปี 2545 มีสาเหตุใดเป็นสัญญาณที่สำคัญทำให้เด็กเสียชีวิต เพราะว่าต้องการรู้เรื่องเกี่ยวกับสุขภาพของเด็กว่าเราควรจะทำเรื่องอะไรก่อนหลังบ้าง จึงกำหนดรูปแบบนโยบายการทำงานด้วยการแบ่งงานออกเป็นกลุ่มที่ 1 ทำเรื่องการเฝ้าระวัง การติดตามข้อมูลการตาย การบาดเจ็บของเด็ก วิเคราะห์องค์ความรู้ ไม่ว่าจะเป็นการรวบรวมจากต่างประเทศหรือการทำวิจัยเพิ่มเติม เพื่อให้ได้ข้อมูลใหม่ของบ้านเรา

      กลุ่มที่ 2 ทำเรื่องการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน เมื่อมีความรู้การเฝ้าระวังก็ไม่เพียงพอ เราต้องเอาความรู้นั้นไปทำ Empower เพื่อสร้างเสริมให้ชุมชนเข้มแข็ง อุปสรรค เนื่องจากความปลอดภัยของเด็กก็อาจจะเป็นเรื่องกว้าง ถ้าจับประเด็นเรื่องการตายก็จะเห็นตัวหลักๆ อยู่ 2-3 ตัว 1.เด็กจมน้ำ 2.ปัญหาจราจร 3.การตายในบ้านของเด็กเล็ก

      เพราะฉะนั้นอุปสรรคคือเรื่องความปลอดภัยในเด็ก มีบ่อยๆ ที่มีความแตกต่างกันมาก อาจจะไม่ใช่เหมือนเรื่องเดี่ยวเรื่องเดียว แต่มันเป็นหลายเรื่องรวมกัน อุปสรรคสำคัญก็คือว่าเครือข่ายกว้างมาก กำลังคน เวลา งบประมาณต่างๆ ที่จะผลักดันเรื่องความปลอดภัย พละกำลังคนที่ต้องมีมากพอสมควรนั้นอาจจะเป็นอุปสรรคสำคัญ เนื่องจากเรามีคนที่จำกัด มีบรรยากาศที่จำกัด การมีเป้าหมายในอนาคตสำคัญก็คือศูนย์วิจัยฯ เพื่อการลดอัตราการตายจริงๆ เรามีเป้าหมายอยู่ที่ปี 2559 ประมาณ 15 ปีในการทำงานของเรา ลดอัตราการตายครึ่งหนึ่ง

      ด้วยนโยบายโลกที่เหมาะสมสำหรับเด็ก หรือ World Fit For Children ของประเทศไทยใกล้เคียงกับการประเมินตัวเลขเมื่อ 11 ปีก่อน ขณะนี้เหลืออีก 4 ปี ศูนย์วิจัยฯ คาดหวังว่าจะมีความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องโดยตรง รวมทั้งผู้ผลิตภาคเศรษฐกิจที่เน้นความสำคัญของเรื่องความปลอดภัยในเด็ก ด้วยความหวังว่าทุกคนจะมองเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน

        ประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และประชาสัมพันธ์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) : ภาพ.

 

 

 

 

      ผอ.สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล

      รศ.พญ.นิตยา คชภักดี ผอ.สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัวคนแรก

      รศ.ดร.สายฤดี วรกิจโภคาทร ผอ.สถาบันแห่งชาติฯ คนที่ 2

      รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผอ.สถาบันแห่งชาติฯ คนที่ 3

      รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผอ.สถาบันแห่งชาติฯ คนที่ 4 (8 เม.ย.61-ปัจจุบัน)

“จากข้อมูลของหนึ่งชีวิต สู่การป้องกันอีกหลายชีวิต”

      โครงการการพัฒนาระบบเฝ้าระวังและพิเคราะห์เหตุการณ์ตายในเด็กและเยาวชนในจังหวัดนครปฐม โดยใช้กระบวนการ CDD และ Swiss cheese model โดยทีมงาน CDD ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ร่วมกับสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว จังหวัดนครปฐม สนับสนุนโดยศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 16 มี.ค.63

      “จากข้อมูลของหนึ่งชีวิต สู่การป้องกันอีกหลายชีวิต” เพื่อพัฒนาระบบข้อมูลการเฝ้าระวังและกระบวนการพิเคราะห์เหตุการณ์ตายในเด็กและเยาวชนจากอุบัติเหตุทางถนนและอื่นๆ เพื่อค้นหาจุดอ่อนของพฤติกรรมเด็ก ระบบการคุ้มครองดูแลสิ่งแวดล้อมและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ตาย รวมทั้งการปฏิบัติจริงที่เป็นอยู่ของหน่วยงานที่มีส่วนรับผิดชอบ เพื่อเชื่อมโยงและขับเคลื่อนให้หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแก้ไขจุดอ่อนด้านสิ่งแวดล้อมและด้านระบบการคุ้มครองดูแล ให้มีการสื่อสารและประสานงานร่วมกันในการดำเนินการแก้ไขจุดอ่อนนั้นให้รวดเร็ว ทันการณ์ เพื่อขับเคลื่อน กม.แนวนโยบายของผู้บริหารท้องถิ่นและส่วนกลาง ให้มีความปลอดภัยในเด็กมากขึ้น เพื่อสื่อสารสาเหตุการตายและแนวทางป้องกันสู่สาธารณะ ให้ประชาชนในชุมชนมีความตระหนักในความเสี่ยง รู้เข้าใจและปฏิบัติตามแนวทางป้องกัน

กลุ่มเป้าหมายในการเก็บข้อมูลคือเด็กและเยาวชนอายุ 0-18 ปี ที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนและอื่นๆ ในพื้นที่จังหวัดนครปฐม กลุ่มเป้าหมายที่เข้ารับการอบรม ประกอบด้วยฝ่ายพัฒนาสังคม ฝ่ายโยธา ฝ่ายความปลอดภัยขององค์กรท้องถิ่น เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลตำบลและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) โดยให้ร่วมกันเก็บข้อมูลในระดับตำบล และจัดการประชุมในระดับตำบล โดยมีศูนย์วิจัยความปลอดภัยในเด็กฯ ขนส่งจังหวัด พัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์จังหวัด ศึกษาจังหวัด เขตการศึกษา กรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัด บ้านพักเด็กจังหวัด ร่วมเป็นกรรมการระดับจังหวัด ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยความปลอดภัยในเด็กฯ และสถาบันแห่งขาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว จะเป็นผู้กำกับดูแลการทำงานและการใช้เครื่องมือเก็บข้อมูล

      ระยะเวลาและพื้นที่ดำเนินงาน 1 ก.ย.62-30 เม.ย.63 (8 เดือน) ตามเขตการปกครองแบ่งเป็น 7 อำเภอ อ.เมืองนครปฐม อ.กำแพงแสน อ.นครชัยศรี อ.ดอนตูม อ.บางเลน อ.สามพราน อ.พุทธมณฑล ผลการดำเนินงาน กิจกรรมที่ 1 การจัดอบรมหลักสูตรพิเคราะห์เหตุการณ์ตายในเด็กและเยาวชน (CDD) และ Swiss cheese model แก่เจ้าหน้าที่ทะเบียนบันทึกข้อมูลการตายและเจ้าหน้าที่จัดอบรมการดำเนินงานพิเคราะห์เหตุการณ์ตายในเด็ก เมื่อวันที่ 29 ม.ค.2563 ณ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ผู้เข้าร่วมอบรม 49 คน จากเทศบาลตำบล องค์การบริหารส่วนตำบลใน จ.นครปฐม และอื่นๆ เช่น ปภ.พมจ. ฝึกปฏิบัติกระบวนการ CDD และทฤษฎีเนยแข็ง เผยแพร่เครื่องมือ CDD และทฤษฎีเนยแข็งให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั่วทั้งจังหวัดนครปฐม

      กิจกรรมที่ 2 การเก็บข้อมูลการตายของเด็กและเยาวชน (แรกเกิดถึง 18 ปี) จากอุบัติเหตุทางถนนและอื่นๆ ผลที่ได้ลงพื้นที่เก็บเคส 12 ราย เคสจราจร 9 ราย (รถมอเตอร์ไซค์ รถสองแถว รถจักรยาน) เคสอื่นๆ จมน้ำ 2 ราย ศีรษะกระแทกขอบปูนใน รร.1 ราย กำลังดำเนินการกับ 10 ราย

      น้องใบหม่อน นักเรียนชั้น ม.4 วิทยาลัยนาฏศิลป์ได้เดินข้ามถนนบนทางม้าลายถนนงิ้วราย นครชัยศรี-ศาลายาหน้าวิทยาลัยนาฏศิลป์ ในขณะที่มีสัญญาณไฟเขียวเพื่อให้คนเดินข้ามถนนและมีสัญญาณไฟแดงเพื่อให้รถหยุด มีรถเก๋งจอดเพื่อให้น้องใบหม่อนและกลุ่มนักเรียนได้เดินข้ามทางม้าลาย ใบหม่อนจึงรีบเดินเพื่อให้ทันรถสาย 84ก แต่แล้วในทันใดนั้นก็มีรถจักรยานยนต์ฝ่าสัญญาณไฟแดงแล้วพุ่งเข้ามาชนน้องใบหม่อนอย่างจัง จนน้องกระเด็นไปไกลถึง 20 เมตร น้องหมดสติทันที ในขณะที่มอเตอร์ไซค์คันก่อเหตุไม่ล้มโดยคนชนไม่ได้หนี และยังได้นำส่ง รพ.นครปฐมเพื่อเข้ารับการรักษาสุดท้ายน้องใบหม่อนในสิ้นใจในวันที่ 8 ก.พ.62 หลังจากนอนรักษาตัวอยู่ที่ รพ.

      ดังนั้นจึงได้มีการวิเคราะห์เคส อิทธิพลองค์กร การจัดทำสีพื้นถนนบริเวณทางม้าลายและใส่หมายเลข 30 กม. การสร้างสะพานลอย 3 สะพานหน้าวิทยาลัยนาฏศิลป์ รร.นาฏศิลป์ และที่สถาบันทหารเรือ ซึ่งมีนักเรียนและบุคลากรมาใช้บริการจำนวนหลายพันคน การติดตั้งไฟแดงแจ้งสัญญาณน่าจะใกล้เกินไป และพบว่ารถยนต์จะจอดและรถจักรยานยนต์ไม่ยอมจอด และบริเวณนั้นไม่มีทางข้ามถนนอื่นหรือทางม้าลายทำให้ต้องข้ามในจุดที่เกิดเหตุ

      หน้าวิทยาลัยนาฏศิลป์มีสัญญาณคนข้ามถนน แต่ไม่มีรถหยุดให้ข้าม และพุ่งผ่านไปด้วยความเร็ว สอบถามถึงสาเหตุที่ไม่ยอมจอดเมื่อมีสัญญาณไฟ พบว่าหลายคนสับสนและมองไม่เห็นสัญญาณไฟแดง มีการกระทำที่ไม่ปลอดภัยจากการขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บสาหัส

      กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) : ภาพ.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"