ผนึกกำลังคุ้ยโกง'เงินกู้โควิด'


เพิ่มเพื่อน    


    กมธ.ส.ว.หารือ 3 องค์กรอิสระปิดช่องโกง พ.ร.ก.เงินกู้ 3 ฉบับ ชี้กลไกรัฐมีข้อบกพร่องเปิดช่องให้ทุจริต โดยเฉพาะจัดซื้อจัดจ้าง ชง 4 มาตรการคุมเข้มพร้อมให้ ปชช.เข้าร่วมตรวจสอบ  ขณะที่ก้าวไกลโยงปมวุ่น มุ้งประชารัฐเอี่ยวผลประโยชน์เม็ดเงิน 4 แสนล้านโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจในพื้นที่ 
    เมื่อวันศุกร์ นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในการพิจารณา พ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ และการพิจารณา พ.ร.บ.โอนงบประมาณ ว่าจากบรรยากาศการประชุม 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ผ่านไปด้วยความเรียบร้อย ต่อจากนี้ไปเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องรับผิดชอบการบริหารโครงการต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อติดตาม ตรวจสอบการใช้ พ.ร.ก.กู้เงินคู่ขนานกับการบริหารโครงการของรัฐบาล
    “ส่วนกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยืนยันต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ว่าห้ามล้วงลูก หากินกับงบประมาณโดยเด็ดขาด จึงอยากจะให้ พล.อ.ประยุทธ์จริงจังต่อคำประกาศดังกล่าว ต้องเข้มงวดกับรัฐมนตรี ข้าราชการ ผู้ใต้บังคับบัญชาทุกระดับและนักการเมืองทุกกลุ่มด้วย เชื่อว่าถ้า พล.อ.ประยุทธ์เอาจริงเอาจังเรื่องนี้ จะสามารถแก้ปัญหาพวกอีแร้ง เหลือบ ปลิง ที่คอยเกาะกินงบประมาณเงินกู้ก้อนใหญ่นี้ได้อย่างแน่นอน
    ด้านนายกล้านรงค์ จันทิก ส.ว. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ แถลงภายหลังการประชุม กมธ.ว่า ทางคณะ กมธ.ได้เชิญประธานองค์กรอิสระทั้ง 3 แห่ง ประกอบด้วย สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน, คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และผู้ตรวจการแผ่นดิน มาหารือถึงพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) ทั้ง 3 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563, พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 และ พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563 ที่เพิ่งผ่านสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาไป
ชง 4 ประเด็นคุมโกง พ.ร.ก.
    นายกล้านรงค์กล่าวอีกว่า วุฒิสภาได้มีข้อเสนอ ดังนี้ 1.ขอให้นำเงินกู้มาแก้ปัญหาให้ตรงตามวัตถุประสงค์ 2.ไม่ให้มีการทุจริต โดยเชื่อว่ารัฐบาลต้องการแก้ไขปัญหา แต่ต้องยอมรับว่ากลไกของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ในทางปฏิบัติอาจจะมีข้อบกพร่องเกิดการทุจริตได้ จึงเห็นว่ารัฐบาลต้องระวังไม่ให้มีการทุจริต โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้างที่อาจเป็นช่องว่างได้ 3.การให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม 4.การประเมินผลสัมฤทธิ์โดยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย 
    “สำหรับความเห็นของคณะ กมธ. เราเป็นห่วงเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง ที่ต้องยกเว้นระเบียบต่างๆ และการขัดกันแห่งประโยชน์ การยักยอกทรัพย์สิน รวมไปถึงการรับผลประโยชน์ ซึ่งคณะ กมธ.ได้แจ้งไปยังองค์กรอิสระทุกองค์กร ที่สำคัญต้องมีการจัดทำเว็บไซต์เพื่อเปิดเผยโครงการและกระบวนการร้องเรียนไปยังองค์กรอิสระที่ทำได้รวดเร็ว และประชาชนร่วมกันติดตามตรวจสอบ ตามมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งแต่ละองค์กรได้แจ้งต่อคณะ กมธ.แล้วว่าได้ดำเนินการตรวจสอบเบื้องต้นแล้ว เช่น การจ่ายเงินเยียวยาและประสิทธิผลในการทำงานของรัฐบาล” นายกล้านรงค์ระบุ 
    ขณะที่นายปิยวัฒน พันธ์สายเชื้อ ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะนำเงินกู้จำนวน 5 แสนล้านบาทไปฟื้นฟูเศรษฐกิจ ไม่น่าจะเกิดประโยชน์กับประชาชน เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ให้ความสำคัญกับ คณะกรรมการพิเศษที่จะมีการแต่งตั้งตามอำเภอใจมากกว่า การทำโครงการเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน ทุกโครงการต้องผ่านคณะกรรมการชุดนี้ หวั่นว่าจะเกิดความไม่โปร่งใส และเปิดทางให้มีการคอร์รัปชัน หรือเรียกรับผลประโยชน์ในการอนุมัติโครงการที่มีการนำเสนอเข้ามา ที่ผ่านมาโครงการที่รัฐบาลดำเนินการส่วนใหญ่เป็นโครงการที่พี่น้องประชาชนไม่ได้ร้องขอ   แต่บังคับให้รับ ซึ่งไม่ตรงกับความต้องการในพื้นที่ เกรงว่าจะไม่เกิดประโยชน์ และเม็ดเงินส่วนใหญ่จะมีการตกหล่นจากการคอร์รัปชัน
    นายปิยวัฒนระบุว่า ในการใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์นั้น รัฐบาลควรที่จะลงพื้นที่ สอบถามความต้องการของประชาชนว่า ต้องการอะไร เพื่อให้เงินที่เป็นภาษีของประชาชน สร้างประโยชน์ให้กับประชาชนอย่างสูงสุด การให้ความช่วยเหลือประชาชนของรัฐบาลล่าช้ามาก ล่าสุด เกษตรอำเภอในจังหวัดยโสธรแจ้งเกษตรกรว่า รัฐบาลที่อนุมัติเงินช่วยเหลือเกษตร ที่ได้รับความเสียหายจากพายุโพดุลปี 2562 ครอบครัวละ 5,000 บาท 
    “แต่เกษตรกรไม่ได้รับเป็นเงินสด ให้นำเงินไปคืนที่เกษตรอำเภอ พร้อมให้ไปเซ็นรับไก่ 10 ตัว หรือเป็ด 10 ตัว และหัวอาหาร 3 กระสอบแทน รวมทั้งต้องเสียค่าธรรมเนียมให้กับบริษัทที่มาดำเนินการรายละ 200 บาท ไม่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินได้ หากไม่รับก็ถือว่าเกษตรกรไม่ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐ การกระทำดังกล่าวเลวร้ายมาก เพราะเป็นการมัดมือชก รวมทั้งไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถได้รับการช่วยเหลือตามที่รัฐบาลกล่าวอ้างได้ ในสถานการณ์เช่นนี้ไม่ควรมีใครไปหาประโยชน์จากประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน” นายปิยวัฒนระบุ 
    ด้านนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกระแสการเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคและผู้บริหารของพรรคพลังประชารัฐ จากการลาออกของกรรมการบริหารพรรค 18 คน โดยระบุว่าดูผิวเผินนั้นอาจจะเป็นแค่เรื่องภายในของพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง แต่ถ้าพิจารณาเทียบเคียงกับเหตุการณ์ 3 เหตุการณ์ ดังต่อไปนี้ ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ประชาชนต้องช่วยกันจับตาอย่างใกล้ชิด คือ 1.การปรับ ครม. ซึ่งอาจจะมีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นรัฐมนตรีที่มีบทบาทอย่างมากใน พ.ร.ก 3 ฉบับ ซึ่งมีวงเงินรวมกันสูงถึง 1.9 ล้านล้านบาท ในการกลั่นกรอง วินิจฉัย กำหนดระเบียบหลักเกณฑ์ต่างๆ ในทางปฏิบัติ โดยวงเงินที่สูงถึง 1.9 ล้านล้านบาท เป็นเป้าหมายอันหอมหวน
จับตากินหัวคิวเงินโควิด
    นายวิโรจน์กล่าวต่อว่า 2.การพิจารณาโครงการกรอบวงเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท ที่จะเสนอเข้า ครม. ในวันที่ 7 ก.ค. นี้ เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่ากรอบหลักเกณฑ์ของโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาทเป็นกรอบที่กว้างมากๆ และเอื้อให้ฝ่ายต่างๆ จากหลายมุ้งการเมือง พยายามที่จะวิ่งเอาโครงการสัพเพเหระทั่วไปมาปัดฝุ่น ยัดไส้ เติมคำว่า “สู้ภัยโควิด” ต่อท้ายที่ชื่อโครงการ แล้วเอามาของบประมาณเพื่อนำไปแบ่งกันปันหัวคิว
    “ช่วงนี้เป็นช่วงที่หลายมุ้งทางการเมืองวิ่งเต้นแย่งงบ วิ่งกันล็อกสเปกกันให้วุ่น ประกอบกับการที่มีข่าวที่ลือกันในสภาว่ามีการฮั้วกันเพื่อปิดปาก ส.ส. โดยมีการกันงบประมาณไว้ให้กับ ส.ส.คนละ 80 ล้านบาท โดยจะฝากงบประมาณเอาไว้ที่งบจังหวัด แล้วให้ ส.ส.วิ่งเข้าไปชี้ เข้าไปล็อกสเปก ว่าจะทำโครงการอะไร ให้ผู้รับเหมาคนไหนเป็นคนทำ ซึ่งสุดท้ายก็คงหนี้ไม่พ้นค่าหัวคิว และเงินทอนต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมา” นายวิโรจน์ระบุ
    นายวิโรจน์ตั้งข้อสังเกตต่อไปว่า ด้วยเงื่อนเวลาที่พอเหมาะพอเจาะ และปรากฏการณ์ชุลมุนวิ่งแย่งงบ 4 แสนล้านบาท จึงเป็นข้อสังเกตที่ประชาชนต่างจับจ้อง และสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการวิ่งเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค และคณะผู้บริหารของพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ และสิ่งที่ประชาชนทุกๆ คนต้องร่วมกันติดตามต่อไปจากนี้ก็คือ โครงการเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท ที่กำลังจะเกิดขึ้นเต็มไปหมดนั้น มีโครงการอะไรบ้าง เป็นโครงการที่ตรงกับความต้องการของท้องถิ่นหรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่โครงการละลายงบที่เอาคำว่า “สู้ภัยโควิด” มาต่อท้าย
    “เช่น เปลี่ยนหลอดไฟสู้ภัยโควิด, ขุดบ่อน้ำบาดาลสู้ภัยโควิด,  ศาลาพักใจสู้ภัยโควิด, ขุดลอกคูคลองสู้ภัยโควิด, เดินท่อประปาใหม่สู้ภัยโควิด ฯลฯ หรือเปล่า มีการกำหนดสเปกที่เกินจำเป็น เพื่อล็อกสเปกให้กับผู้รับเหมา หรือผู้ประกอบการรายใดหรือไม่ ราคาในการจัดซื้อจัดจ้าง และเงื่อนไขในการบริการหลังการขาย เมื่อเทียบกับราคาตลาดแล้วเป็นอย่างไร และผู้ที่ชนะการประมูลนั้นมีความสัมพันธ์กับนักการเมืองคนใด” นายวิโรจน์ระบุ 
    นายวิโรจน์ทิ้งท้ายว่า เงิน 4 แสนล้านบาทนี้ ภาระของการใช้หนี้ก้อนหนี้ของประชาชนคนไทย ก็คือการต้องยอมให้ประเทศชาติล้าหลัง ต้องพัฒนาได้ล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น ต้องยอมให้ลูกหลานของพวกเราต้องทนกับสภาพความเป็นอยู่ที่มันควรจะดีกว่านี้ได้ไปอีกนับสิบๆ ปี นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญ ที่ประชาชนคนไทยทุกคน ต้องร่วมกันตั้งข้อสังเกต และติดตาม กำกับเรื่องราวทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเงินกู้ก้อนมหาศาลในครั้งนี้
เสี่ยงม็อบฮือป้องเงินกู้    
    ขณะที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เสนอผลสำรวจภาคสนามเรื่อง ภาพการเมืองหลังสู้ศึกอภิปราย กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,621 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 2-4 มิ.ย.ที่ผ่านมา
     โดยระบุภาพของการเมืองหลังสู้ศึกอภิปราย พ.ร.ก.เงินกู้ผ่านพบว่า 81% เห็นภาพการเมืองเก่าๆ จัดคนเข้ามาเอาผลประโยชน์เงินกู้ ที่รัฐบาลก่อหนี้สินให้ประชาชนทุกคนในชาติ รองลงมาคือ 79.4% เห็นภาพนักการเมืองยี้ แย่ๆ เดิมๆ ทำให้เด็กและเยาวชนลอกเลียนแบบโกง, 76.4% เห็นภาพสงสารเห็นใจ นายอุตตม สาวนายน คนเคยแจกเงินเยียวยาประชาชนมากขึ้น, 75.6% เห็นภาพการเมืองที่เสร็จนา ฆ่าโคถึก เสร็จศึก ฆ่าขุนพล, 75.4% เห็นภาพนักการเมืองหักหลัง มุ่งเอาผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง,   68.1% เห็นภาพเตรียมการขบวนการโจรปล้นชาติ และ 67% เห็นภาพอำมหิต โหดร้ายทางการเมือง
     และที่น่าห่วงคือ 77.3% ระบุเป็นไปได้ที่ประชาชนจะเป่านกหวีด ลุกขึ้นออกมาปกป้องเงินกู้ที่รัฐบาลก่อหนี้สินให้ทุกคนในชาติ ขจัดนักการเมืองยี้ที่เข้ามารุมทึ้ง ในขณะที่ 22.7% ระบุเป็นไปไม่ได้ นอกจากนี้ ส่วนใหญ่ 90.7% ระบุภาพการเมืองที่เห็นวันนี้คือ นรกชัดๆ  ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่ 74.2% ระบุถึงเวลาแล้วที่ควรยุบสภา ในขณะที่ 25.8% ระบุยังไม่ถึงเวลา.
    


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"