กมธ.แก้ไขรธน. ต่ออายุอีก90วัน อ้างผลพวงไวรัส


เพิ่มเพื่อน    


     กมธ.แก้ไข รธน.เคาะขยายเวลาทำงานเพิ่มอีก 90 วัน เหตุผลกระทบจากโควิด-19 ระบาด พร้อมเล็งรื้อระบบตรวจสอบองค์กรอิสระใหม่ หลังมีอำนาจมากแถมไม่ยึดโยง ปชช. "ฝ่ายค้าน" ยื่น "ชวน" คัดค้าน "สุชาติ" เป็น ป.ป.ช. 
     ที่รัฐสภา วันที่ 5 มิ.ย. นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.)วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 
    โดยนายพีระพันธุ์ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้ทำหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอขยายระยะเวลาการทำงานของคณะกรรมาธิการฯ ออกไปอีก 70 วัน ซึ่งประธานสภาฯ ได้อนุญาต แต่ระยะเวลาดังกล่าวจะครบในวันที่ 25 มิ.ย. จึงมีความเห็นว่าควรขยายเวลาการทำงานออกไปอีก 60 วัน นับจากวันที่ 25 มิ.ย. เพื่อให้คณะกรรมาธิการฯ มีเวลาการจัดทำรายงานข้อเสนอแนะได้มากขึ้น
    ต่อมา ทั้งนายโภคิน พลกุล และนายวัฒนา เมืองสุข กรรมาธิการจากพรรคเพื่อไทย มีความเห็นว่าควรขยายเวลาเป็น 90 วัน นายโภคินระบุว่า สถานการณ์ของโควิด-19 น่าจะคลี่คลายลง รวมไปถึงการผ่อนคลายเรื่องการห้ามนอกเคหสถาน หรือ เคอร์ฟิว จึงคิดว่าคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จะสามารถรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามกระบวนการการมีส่วนร่วมได้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการทำงาน
    นายวัฒนาเสริมว่า หากขยายเวลาแค่ 60 วันแล้ว แต่คณะกรรมาธิการฯ ไม่สามารถทำงานได้แล้วเสร็จ การไปขอขยายเวลาอีกครั้งอาจจะเป็นปัญหาได้ จึงคิดว่าควรขยายเวลาไปคราวเดียว 90 วัน เพื่อให้การพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯ มีความสมบูรณ์มากที่สุด และไม่เร่งรีบเกินไป ซึ่งถ้าคณะกรรมาธิการฯ พิจารณาเสร็จก่อนครบกำหนด 90 วันก็ไม่เป็นไร
    จากนั้นที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันให้ขยายเวลาออกไปอีก 90วัน นับจากวันที่ 25 มิ.ย.นี้
    ขณะที่นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กล่าวว่า หลังจากพักการประชุมไปช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คณะ กมธ.วิสามัญฯ ได้ประชุมพิจารณาต่อในส่วนขององค์กรอิสระ ซึ่งมีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง ส่วนใหญ่เห็นสอดคล้องกันว่าองค์กรอิสระมีปัญหาที่กระบวนการสรรหา ยึดโยงประชาชนน้อยไป จึงเสนอแนะให้ปรับปรุงแก้ไขเรื่องที่มา ส่วนกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุล เห็นตรงกันว่าองค์กรอิสระมีอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ ให้คุณให้โทษต่อสังคม แต่แทบไม่มีกระบวนการตรวจสอบ เช่น เมื่อมีคำวินิจฉัยแล้วก็จบ ไม่มีใครไปถามถึงเหตุผลหรือเข้าไปศึกษาได้ การตรวจสอบจากองค์กรทางสังคม เช่น ประชาชน สภา หรือกับองค์กรอื่นๆ ก็ไม่มี จึงเห็นควรต้องปรับปรุงออกแบบกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลองค์กรอิสระในรัฐธรรมนูญใหม่ 
    "องค์กรใดที่มีอำนาจมาก ให้คุณให้โทษต่อสังคม และมีผลกระทบเป็นวงกว้าง ยิ่งจำเป็นต้องสร้างระบบตรวจสอบให้มากขึ้น ที่ผ่านมาเรื่องนี้เราเป็นจุดอ่อน ดังนั้น หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องมีการออกแบบเรื่องนี้" โฆษก กมธ.วิสามัญฯ กล่าว
    วันเดียวกัน นายปิติพงศ์ เต็มเจริญ โฆษกพรรคเสรีรวมไทย และนายทรรศนัย ทีน้ำ รองหัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย ยื่นหนังสือต่อนายนิคม บุญวิเศษ ส.ส.พรรคพลังปวงชนไทย เพื่อให้ส่งเรื่องไปยังนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอคัดค้านการพิจารณาบุคคลให้ดำรงตำแหน่งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หลังจากที่สมาชิกวุฒิสภาได้ลงมติเมื่อวันที่ 21 พ.ค. ให้ความเห็นชอบนายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข ดำรงตำแหน่งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งนายสุชาติถือว่าเป็นข้าราชการการเมือง จึงเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 11(18) 
    หนังสือดังกล่าวระบุว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เคยมีความเห็นว่าสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ถือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามมาตรา 6 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 จึงขอคัดค้านการนำเสนอชื่อนายสุชาติให้ดำรงตำแหน่งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และขอเรียกร้องให้นายสุชาติแสดงความรับผิดชอบโดยยึดหลักแห่งคุณธรรมจริยธรรมและหลักธรรมาภิบาล ถอนตัวออกจากการรับการสรรหาการพิจารณาให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว 
    รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการสรรหา ป.ป.ช. และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ตีความอดีตสมาชิก สนช. ไม่ขัดรัฐธรรมนูญว่า เป็นการตีความที่ทำลายบรรทัดฐานเรื่องการขัดกันของผลประโยชน์และธรรมาภิบาล เป็นการเมืองแบบอำนาจนิยมระบบอุปถัมภ์ ผู้ที่เกี่ยวข้องขาดจิตสำนึกในการปฏิรูปการเมือง และเรื่องดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตย
     "ที่จริงผมไม่คาดหวังอะไรมากจาก ส.ว.ชุดนี้อยู่แล้ว เพราะถูกตั้งขึ้นโดยกลุ่ม คสช. แต่เมื่อเห็นความคิดและพฤติกรรมที่กระทำล่าสุด โดยลงมติเลือกอดีต สนช. เป็นกรรมการ ป.ป.ช. และอธิบายตีความรัฐธรรมนูญเพื่อตอบสนองเป้าหมายของตนเองอย่างน่าเกลียดเกินกว่าจะยอมรับได้" ประธาน ครป.กล่าว
    นายเมธา มาสขาว เลขาธิการ ครป. กล่าวว่า คณะกรรมการสรรหา ป.ป.ช. และ ส.ว.ต้องรับผิดชอบต่อเรื่องนี้ อย่าตีความตามอำเภอใจ และควรสรรหาผู้มีบทบาทตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันเป็นที่ประจักษ์ พิทักษ์ผลประโยชน์ประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่มีฝักฝ่ายทางการเมือง 
    "คณะกรรมการสรรหา กสม.วินิจฉัยถูกต้องแล้ว และผู้ที่จะมาเป็น กสม. ควรมาจากผู้ที่มีบทบาทการทำงานพิทักษ์และปกป้องสิทธิมนุษยชน เพราะกลไก กสม.คือการทำงานตรวจสอบรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐ ว่าใช้อำนาจละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ ไม่ใช่การตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนของโจรผู้ร้าย เพราะนั่นเป็นหน้าที่ของรัฐบาล จึงไม่ควรเอาอดีตข้าราชการมาทำงานผิดหน้าที่แบบในปัจจุบัน" เลขาฯ ครป.ระบุ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"