ครป.ชี้การอุ้มหาย = อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ


เพิ่มเพื่อน    

6 มิ.ย.63 - นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย(ครป.) แสดงความเห็นกรณีการอุ้มนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา  ว่า เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน เวลาประมาณ 17.00 นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองของไทยที่ลี้ภัยอยู่ที่กัมพูชา ถูกอุ้มหายโดยการบังคับจับตัวขึ้นรถยนต์ Toyota Highlander สีน้ำเงินเข้ม โดยคนร้ายประมาณ 4-5 คนที่หน้าคอนโดมีเนียมที่พักใจกลางเมืองหลวง โดยพยานซึ่งเป็น รปภ. พยายามเข้าไปช่วยเหลือแต่ถูกคนร้ายชักปืนขึ้นขู่ เหตุเกิดที่ริมถนน National Road 6 ในเขตอำเภอ Chrouy Chungvar กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา โดยปรากฎข่าวการติดตามที่คาดว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐของประเทศไทยก่อนหน้านั้นไม่นาน

"ผมเห็นว่าการอุ้มหายเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ซึ่งรัฐต้องทำหน้าที่ปกป้องและคุ้มครอง ยิ่งอุ้มหายกลางเมืองหลวง รัฐบาลกัมพูชาต้องตรวจสอบและรับผิดชอบคดีดังกล่าว ผมขอให้รัฐบาลไทยส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปติดตามคดีและความคืบหน้า รวมถึงความร่วมมือระหว่างประเทศด้านอาชญากรรมข้ามชาติ เพื่อสืบหาตัวนายวันเฉลิมโดยเร็วที่สุดเพื่อความปลอดภัย หากมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ไทยหรือกัมพูชาจะต้องดำเนินคดีอย่างถึงที่สุด ทุกคนต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่ใช่อำนาจนอกระบบกฎหมาย ผมขอเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ โดยทันที อย่าใช้กระบวนการศาลเตี้ย"

นายเมธา กล่าวว่าบทเรียนการคุกคามนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เป็นผู้ลี้ภัยในประเทศเพื่อนบ้าน เต็มไปด้วยความรุนแรงและถึงแก่ชีวิต โดยคาดว่าเป็นฝีมือเจ้าหน้าที่รัฐในการลอบสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม ประชาคมและรัฐบาลอาเซียนจะต้องร่วมมือกันสอบสวนและแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง อย่าให้ผู้นำรัฐบาลเอาประชาชนเป็นเหยื่อทางการเมืองระหว่างประเทศเพื่อแลกผลประโยชน์ส่วนตัว เราผ่านยุคสงครามอินโดจีนมานานมากแล้วจนมีสันติภาพและสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะรัฐบาลกัมพูชาได้ลงนามและให้สัตยาบันผูกพันกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนไปแล้วถึง 8-9 ฉบับ โดยเฉพาะอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (CED) และอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) จะต้องดำเนินการตรวจสอบแก้ไขและยับยั้งเรื่องนี้โดยเร็ว

"ผมขอเรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และกระทรวงการต่างประเทศ ประสานงานร่วมกับคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights) เพื่อติดตามแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นระบบ"

เลขาฯครป. กล่าวว่านอกจากนี้ รัฐบาลไทยจะต้องเร่งผลักดันร่างพระราชบัญญัติการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหายโดยเร็วที่สุด หลังจากประเทศไทยได้รับรองเป็นภาคีอนุสัญญาดังกล่าวตั้งแต่ปี 2555 เพื่อให้สัตยาบัน (Ratify) อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (CED)  รวมถึงการให้สัตยาบันว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) เพื่อแก้ปัญหาอาชญากรรมร้ายแรงข้ามชาติ และอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ (Crimes Against Humanity) ที่เกิดขึ้นเพื่อการยุติธรรมในประเทศไทยอย่างเป็นระบบ #SacveWanchalearm #ปรองดองต้องไม่อุ้มคนเห็นต่าง


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"