ส.ว.พาเหรดเสนอรัฐ เร่งเครื่องปฏิรูปชาติ


เพิ่มเพื่อน    


    สภาสูงพร้อมใจแนะรัฐบาลเร่งเครื่องใช้เวลา 3 ปีปฏิรูปตามรัฐธรรมนูญกำหนดโดยเร็ว “คำนูณ” เสนอ 5 ประเด็นใหญ่ 10 ขั้นตอนดำเนินการ ทั้งแก้จน-โละกฎหมาย-ปฏิรูปตำรวจ-ปฏิรูปการศึกษา-แก้ฝุ่นพิษ ส่วน “วันชัย” ชง 3 เรื่อง ทั้งการเมือง-คอร์รัปชัน-บริหาร เชื่อทำได้จริง ส.ว.ไม่โดนด่าแน่
    เมื่อวันอาทิตย์ มีความเคลื่อนไหวของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่น่าสนใจ เมื่อมีการโพสต์เฟซบุ๊กในเวลาไล่เลี่ยกัน ในการเสนอให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เร่งดำเนินการ โดยนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. โพสต์ในหัวข้อเรื่อง 5 ประเด็นปฏิรูปใหญ่ 10 ขั้นตอนดำเนินการ และ 4 ร่างพระราชบัญญัติปฏิรูปประเทศ เปลี่ยนประเทศได้ใน 3 ปี ว่าภายในเวลาที่เหลืออยู่อีกไม่เต็ม 3 ปีตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ จะทำอย่างไรให้การปฏิรูปประเทศเห็นผลสัมฤทธิ์ในเบื้องต้น การให้ปรับปรุงแผนปฏิรูปประเทศโดยเลือกเฉพาะเรื่องใหญ่ที่มีนัยต่อการเปลี่ยนแปลง หรือ Big Rock จากแผนปฏิรูปทั้งหมด 173 เรื่อง 1,000 ประเด็นย่อย ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติไว้ตั้งแต่ 3 ธ.ค.2562 และมีมติอีกครั้งเมื่อ 5 พ.ค.2563 ให้ขยายเวลาออกไปอีก 90 วัน จึงควรเป็นเรื่องใหญ่ประเภทหัวกระสุนหรือหัวรถจักร ที่เมื่อเดินหน้าไปแล้วจะเป็นการลากจูงขบวนรถโดยสารการปฏิรูปประเด็นอื่นตามๆ ไปด้วยโดยอัตโนมัติ
    นายคำนูณโพสต์อีกว่า การปฏิรูปใหญ่ที่จะเป็นหัวรถจักรได้มี 5 ประเด็น คือ 1.กลไกพิเศษเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและแก้ปัญหาความยากจน 2.กลไกพิเศษเพื่อยกเลิกกฎหมายที่ล้าสมัยหมดความจำเป็น และสร้างภาระแก่การใช้ชีวิตหรือประกอบอาชีพของประชาชน (Regulatory Guillotine) 3.ปฏิรูปตำรวจ 4.ปฏิรูปการศึกษา และ 5.การสร้างอากาศสะอาด หรือแก้ปัญหาไฟไหม้ป่าและมลพิษ PM 2.5 
    นายคำนูณโพสต์ขยายความว่า การแก้ไขความเหลื่อมล้ำและความยากจนนั้น เป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่สุด ซึ่ง ครม.เคยมีมติแล้วเมื่อ 19 ธ.ค.2561 และนายกฯ ประกาศต่อสาธารณะเมื่อ 21 ธ.ค.2561 แต่จนบัดนี้ยังไม่เกิดขึ้น ส่วนประเด็นการแก้ไขกฎหมายที่ล้าสมัยนั้น ควรใช้หลักการ Regulatory Guillotine คือกลไกและกระบวนการพิจารณากฎหมายจำนวนมากในครั้งเดียว ซึ่งวิธีการนี้ดำเนินการประสบความสำเร็จมาแล้วในสวีเดน เกาหลีใต้ เม็กซิโก และเวียดนาม ซึ่งปัจจุบันไทยมีกฎหมายลำดับพระราชบัญญัติเกือบ 1,400 ฉบับ กฎหมายลำดับรองอีกกว่า 100,000 ฉบับ การทบทวนและปรับปรุงโดยกลไกและกระบวนการพิเศษจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและเร่งด่วน และจะปล่อยให้อยู่ในการตัดสินใจของภาครัฐฝ่ายเดียวไม่ได้ ซึ่งรัฐบาลชุดที่แล้วตั้งหลักเรื่อง Regulatory Guillotine อย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี 2561 และเริ่มงานบางด้านจนสัมฤทธิผลเห็นชัด ทำให้อันดับความยากง่ายในการทำธุรกิจของธนาคารโลกของไทยดีขึ้น 6 อันดับในปี 2562 แต่หลังจากนั้นดูเหมือนงานในภาพรวมสะดุดหยุดลง
     “ประเด็นที่ 3 งานตำรวจคือข้อโซ่แรกของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่อยู่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด หากยังมีปัญหาจะยิ่งซ้ำเติมประชาชน ส่งผลให้ความขัดแย้งที่เกิดจากความรู้สึกและความเชื่อที่ว่ากลุ่มประชาชน 40% ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมบานปลาย ประเด็นที่ 4 มองในระยะยาวแล้วคือรากฐานของปัญหาทั้งมวล ก่อนหน้านี้อันดับการศึกษาของประเทศไทยก็ตกต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านมากแล้ว ยิ่งมาเจอสถานการณ์ COVID-19 ที่จะต้องคิดใหม่ทำใหม่ค่อนข้างมาก หากไม่เร่งปฏิรูปโดยด่วนจะยิ่งถูกทิ้งห่าง และประเด็นที่ 5 เป็นเรื่องใหญ่ที่จะเกิดขึ้นทุกปี รุนแรงขึ้นทุกปี สร้างความทุกข์ยากให้ประชาชนทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด โดยเฉพาะภาคเหนือ จะต้องแก้ปัญหาที่สมุฏฐานแบบคิดนอกกรอบ กล้าหาญ มีกลไกและกระบวนการที่ทำงานต่อเนื่อง และกำหนดทิศทางใหญ่เป็นการเฉพาะ โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เช่น กำหนดภายใน 10 ปี รถยนต์บนถนนต้องเป็นรถไฟฟ้าทั้งหมด หรือการกำหนดนโยบายปลูกพืชอุตสาหกรรมบางชนิดใหม่ทั้งระบบ”
    นายคำนูณระบุอีกว่า ประเด็นที่ 1, 3 และ 4 สามารถทำโดยรัฐบาลเสนอร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศเข้าสู่การพิจารณาในรัฐสภา ซึ่งจะส่งผลข้างเคียงให้เป็นการเปิดประเด็นทางการเมืองใหม่ๆ ขึ้นมาคู่ขนานและแซงหน้าประเด็นทางการเมืองเดิมๆ ได้อีกต่างหาก และถ้าร่าง พ.ร.บ.เสร็จสมบูรณ์สามารถมีผลบังคับใช้ได้ภายใน 2-3 ปี ก็ถือว่าหัวรถจักรเดินหน้าออกจากสถานี ลากจูงการปฏิรูปด้านอื่นตามไปด้วยโดยอัตโนมัติ   ส่วนประเด็นที่ 2 และ 5 ในเบื้องต้นสามารถทำได้ทันทีโดยมาตรการทางการบริหาร
    ส.ว.รายนี้ระบุอีกว่า ประเด็นทั้ง 5 นั้น มีกระบวนการทำงาน 10 ขั้นตอน ดังนี้ 1.นายกฯ แต่งตั้งคณะกรรมการยกร่าง พ.ร.บ.กลไกและกระบวนการในการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำให้แล้วเสร็จเพื่อเสนอ ครม.ภายใน 3 เดือน 2.นายกฯ เสนอร่าง พ.ร.บ.ตามข้อ 1 ต่อรัฐสภา 3.นายกฯ เสนอร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่ และร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญาที่ผ่านการพิจารณาและตรวจแก้มาแล้วจากคณะกรรมการยกร่าง 4.นายกฯ แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วนชุดใหม่ 5.นายกฯ มอบนโยบายหรือกำหนดไว้ในคำสั่งเรื่อง Regulatory Guillotine คือหนึ่งในภารกิจเร่งด่วนของคณะกรรมการปฏิรูปให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี
    6.นายกฯ สั่งให้ทุกหน่วยราชการให้ร่วมมือกับคณะกรรมการปฏิรูปปฏิบัติตามกระบวนการ Regulatory Guillotine อย่างเคร่งครัด 7.จัดตั้งคณะกรรมการทบทวนกฎหมายในระดับกระทรวงขึ้นทุกกระทรวง และคณะกรรมการทบทวนกฎหมายระดับชาติ 8.นายกฯ ชี้แจงต่อประชาชนให้รับรู้ถึงการมีส่วนร่วมในกระบวนการ Regulatory Guillotine 9.นายกฯ มอบนโยบายให้คณะกรรมการปฏิรูปฯ ยกร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการอากาศสะอาดให้เสร็จภายใน 3 เดือนเพื่อเสนอ ครม. และ 10.นายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ชุดใหม่ ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 19/2561 ข้อ 13 เรียกประชุมคณะกรรมการครั้งแรกโดยเร็วที่สุดภายในเดือน มิ.ย.2563 ซึ่งก็ทราบว่าจะมีกำหนดนัดประชุมในวันที่ 19 มิ.ย.นี้แล้ว
     “ทั้ง 5 ประเด็นการปฏิรูปใหญ่ 10 ขั้นตอนดำเนินงาน และ 4 ร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ เป็นเพียงตัวอย่างข้อเสนอจากประสบการณ์ของ ส.ว.คนหนึ่งที่มีส่วนร่วมในกลไกเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศต่างๆ มาตลอด 6 ปีที่ผ่านมา อาจปรับปรุงได้ แต่ควรได้ข้อสรุปโดยเร็ว ไม่ควรรอช้าถึงอีก 90 วัน เมื่อได้ข้อสรุปแล้วนายกฯ ควรชี้แจงภาพรวมต่อประชาชนและต่อรัฐสภา เป็นการสร้างทิศทางใหม่ในการบริหารราชการแผ่นดิน และสร้างประเด็นทางการเมืองใหม่ขึ้นมาให้สังคมมีส่วนร่วมให้ความเห็นและเสนอแนะ รวมทั้งจะทำให้ ครม.ของนายกฯ นอกจากจะเป็น ครม.ปกติแล้ว นับแต่นี้ไปยังจะเพิ่มมิติเป็น ครม.เฉพาะกิจเพื่อการปฏิรูปประเทศอย่างชัดเจนอีกต่างหาก เวลาที่เหลืออยู่ 3 ปีของนายกฯ จะทรงคุณค่ายิ่ง สามารถเปลี่ยนประเทศได้ในระดับสำคัญเมื่อถึงวันที่ 6 เม.ย.2566 อันเป็นวันครบรอบ 5 ปีแผนปฏิรูปประเทศตามรัฐธรรมนูญ”
    ขณะที่นายวันชัย สอนศิริ ส.ว.โพสต์เฟซบุ๊กว่า ส.ว.ชุดนี้เขาให้อำนาจพิเศษมาอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่เหมือน ส.ว.ในยุคอื่นๆ คือมาทำการปฏิรูปประเทศตามแผนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญให้สัมฤทธิ์ผลไม่เกิน 5 ปีนี้ ต้องติดตาม เสนอแนะ เร่งรัด ปฏิรูปประเทศกับรัฐบาลให้เป็นมรรคเป็นผล จะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ จะเสียผู้เสียคนหรือไม่ อยู่ที่รัฐบาลและ ส.ว. รัฐบาลเป็นคนทำ ส.ว.เป็นคนติดตาม เสนอแนะเร่งรัด เขาให้ 2 องค์กรนี้มาช่วยกันทำช่วยกันดู ไม่ใช่มาให้ช่วยกันลวงโลก แหกตาชาวบ้าน ซึ่งก็ผ่านมาแล้ว 1 ปี โควิดก็มาเปลี่ยนแปลงใหญ่ จะปฏิรูปทั้ง 100 เรื่อง 1,000 ภารกิจที่กำหนดในแผนก็คงไม่ได้ เวลาก็เหลือแค่ 3 ปี ในฐานะที่เป็น ส.ว. เห็นว่าเอาเรื่องใหญ่ๆ ที่ปฏิรูปประเทศสัก 3 เรื่องแบบพลิกฟ้าพลิกแผ่นดินให้สำเร็จ ประชาชนก็คงไชโยโห่ฮิ้วกันได้ ก็คือ 1.การปฏิรูปการเมือง การเข้ามาเป็น ส.ส.และ ส.ว. 2.ต้องปฏิรูปเรื่องการคอร์รัปชัน ต้องกระชับ กำกับ เข้มงวดกวดขัน เร็วและแรง ให้ได้สักส่วนหนึ่งของประเทศจีนก็ยังดี และ 3.ต้องปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินสนองต่อประชาชน ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน 
    "ปฏิรูปประเทศ 3 เรื่องใหญ่ๆ นี้ถ้าทำได้จริง เชื่อเหลือเกินว่าไม่มีใครเขาด่าหรอก แต่ที่เขาด่าและกล่าวหาอยู่ทุกวันนี้ ประชาชนเขายังไม่เห็นอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เขาเห็นแต่การแย่งอำนาจกัน ยังไม่เห็นการปฏิรูปประเทศที่ประชาชนจะได้อย่างจริงจังเป็นรูปธรรม ไปๆ มาๆ ส.ว.จึงโดนหางเลขไปด้วยว่าไม่มีอะไรเป็นเรื่องเป็นราว ถ้าจะไม่ให้ ส.ว.โดนด่า ต้องแก้จุดนี้เป็นสำคัญ" นายวันชัยระบุ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"