เผือกร้อน!ชะลอทูลเกล้าฯสุชาติ


เพิ่มเพื่อน    

    ประธานวุฒิสภาปัดเผือกร้อนในมือ แทงหนังสือให้ ประมุขศาลฎีกานัดประชุมด่วน กรรมการสรรหา ป.ป.ช.อังคารนี้เพื่อยืนยันมติ เลือก “สุชาติ-อธิบดีศาลฯ” ถูกต้องหรือไม่ หลังชะลอนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เหตุโดนร้องคุณสมบัติอาจขัดรัฐธรรมนูญ “ชวน” ย้ำมติกรรมการรื้อใหม่ไม่ได้ จับตาอาจส่งศาลรธน.หลัง “พรเพชร” แบะท่า-วิษณุก็หนุน
    ความคืบหน้ากรณีที่ประชุมลับวุฒิสภาลงมติเห็นชอบรายชื่อว่าที่กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อวันที่ 26 พ.ค. สองคนคือ นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งมีนบุรี อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กับนายณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา อัยการอาวุโส จนมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงปัญหาข้อกฎหมายของนายสุชาติ เพราะการที่เคยเป็นอดีต สนช.ในยุค คสช. อาจทำให้ขาดคุณสมบัติการเป็น ป.ป.ช.หรือไม่ จนทำให้การนำรายชื่อทั้งสองคนขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายกำลังถูกจับตาว่าจะหาทางออกอย่างไร
     เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ชี้แจงกรณีดังกล่าวว่า ก่อนที่จะมีการเสนอชื่อนายณัฐจักรและนายสุชาติมายังวุฒิสภา ทางคณะกรรมการสรรหาผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็น ป.ป.ช. ที่มีประธานศาลฎีกาเป็นประธานกรรมการ ได้ตรวจสอบคุณสมบัติและวินิจฉัยบุคคลนั้นๆแล้ว ประกอบกับตามรัฐธรรมนูญมาตรา 203 วรรคห้า กำหนดไว้ว่า ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้สมัคร ผู้ได้รับการคัดเลือกหรือได้รับการสรรหาให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสรรหาเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาให้เป็นที่สุด ดังนั้นกระบวนการสรรหาไม่เกี่ยวข้องกับวุฒิสภาแต่อย่างใด
    “ทางปฏิบัติวุฒิสภาจะตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และจริยธรรม ประกอบกับมาตรา 203 ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมาธิการสามัญของวุฒิสภาจึงไม่ได้มีการยกเรื่องคุณสมมบัตินี้ขึ้นมาเป็นประเด็นในการวินิจฉัย และไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดให้อำนาจวุฒิสภาที่จะลบล้างคำวินิจฉัยอันเป็นที่สุดของคณะกรรมการสรรหาตามรัฐธรรมนูญได้ ผมเปิดดูมาตราไหนก็ไม่มีให้วุฒิสภาลบล้างได้” ประธานวุฒิสภากล่าว
    นายพรเพชรกล่าวอีกว่า สำหรับกระบวนการนำความขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ป.ป.ช.นั้น ตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นหน้าที่และอำนาจของประธานวุฒิสภา ฉะนั้น เพื่อให้กระบวนการและขั้นตอนเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีความถูกต้อง จึงเห็นควรขยายเวลาการลาออกจากตำแหน่งปัจจุบันของนายสุชาติออกไปก่อน ทั้งนี้ จนกว่าจะได้ข้อยุติจากองค์กรที่มีหน้าที่และอำนาจวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว
    ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) เคยลงมติว่า พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก และนางจินตนันท์ ชญาต์ร ศุภมิตร สองอดีต สนช. ที่ไปสมัครเป็น กสม. มีคุณสมบัติต้องห้ามเป็น กสม. เพราะพ้นจากตำแหน่ง สนช.ไม่ถึง 10 ปี ซึ่งแย้งกับมติของคณะกรรมการสรรหา ป.ป.ช.ที่ระบุว่า ตำแหน่ง สนช.ไม่ถือเป็น ส.ส.และ ส.ว. นายพรเพชรตอบว่า เหตุผลการขัดคุณสมบัติเป็น กสม.ของ พล.อ.นิพัทธ์กับนางจินตนันท์ได้ยินแต่กระแสข่าว แต่คณะกรรมการสรรหา กสม.ยังไม่ได้ทำหนังสือชี้แจงมายังวุฒิสภาอย่างเป็นทางการ ต้องรอหนังสือยืนยันจากคณะกรรมการสรรหา กสม.ก่อน จึงจะนำมาวินิจฉัยต่อได้ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
    ถามต่อว่าจะต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดเรื่องคุณสมบัติของนายสุชาติหรือไม่ นายพรเพชรกล่าวว่า ช่องทางการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต้องเป็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างองค์กร แต่ขั้นตอนขณะนี้ยังไม่ถือเป็นความขัดแย้งระหว่างองค์กร จึงต้องรอหนังสือชี้แจงจากคณะกรรมการสรรหา กสม.ก่อน เพื่อดูว่าจำเป็นต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าดูแล้วมีจำเป็นก็คงต้องยื่น ส่วนตัวคงไม่สามารถให้ความเห็นได้ว่าตำแหน่งสนช.เทียบเคียงได้กับตำแหน่ง ส.ส.และ ส.ว.หรือไม่
     เมื่อถามว่า การที่ ส.ว.อ้างว่าไม่สามารถหักล้างคำวินิจฉัยของกรรมการสรรหา ป.ป.ช.ที่ยืนยันนายสุชาติมีคุณสมบัติถูกต้อง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 203 วรรคห้าได้นั้น แสดงว่า แม้ ส.ว.จะสงสัยคุณสมบัตินายสุชาติ แต่ต้องปล่อยให้เลยตามเลยใช่หรือไม่ นายพรเพชรตอบว่า ไม่ทราบว่า ส.ว.คิดอย่างไรกับประเด็นดังกล่าว
    ประธานวุฒิสภากล่าวอีกว่า แต่สำหรับกรณีของนายณัฐจักร จะดำเนินการตามขั้นตอนการทูลเกล้าฯ ถวายปกติต่อไป เนื่องจากไม่มีการร้องเรื่องคุณสมบัติเข้ามา ทั้งนี้ ตนทำหน้าที่ลักษณะนี้มาหลายครั้ง แต่กรณีเช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จึงต้องพิจารณาทุกอย่างให้เรียบร้อย รอบคอบ และถูกต้อง ส่วนกรณีข่าวที่ระบุว่า ตนพูดว่า ส.ว.ถูกมัดมือชกให้เห็นชอบเรื่องดังกล่าว ขอชี้เเจงยืนว่าไม่ได้พูดว่าเป็นการมัดมือชก แต่เป็นคำถามนำของสื่อ โดยเรื่องนี้มันเป็นเรื่องกฎหมาย จะมัดมือชกได้อย่างไร ไม่ได้พูดเช่นนั้น
     ด้านนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะกรรมการสรรหา ป.ป.ช. ที่เคยมีมติ 7 ต่อ 1 เลือกนายสุชาติเป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็น ป.ป.ช. ย้ำว่าเรื่องดังกล่าวเป็นมติที่ถือว่า เป็นที่สุดไปแล้ว เพียงแต่ว่าล่าสุดประธานวุฒิสภาได้แจ้งไปยังประธานศาลฎีกา ในฐานะประธานคณะกรรมการสรรหา ป.ป.ช. ได้เรียกประชุมคณะกรรมการสรรหา เพื่อยืนยันมติอีกครั้งก่อนนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย โดยจะมีการประชุมในวันที่ 9 มิถุนายน เวลา 13.00 น. ซึ่งจะเข้าร่วมประชุมด้วย
    เมื่อถามว่า มีรายงานข่าวระบุว่าได้ท้วงติงเรื่องคุณสมบัติในที่ประชุมคณะกรรมการสรรหา ป.ป.ช.แล้ว นายชวนกล่าวว่า เรื่องนี้ต้องแยกระหว่างเรื่องหลักการกับตัวบุคคล เพราะทุกคนล้วนเป็นคนที่มีความสามารถด้วยกันทั้งนั้น ไม่มีใครมีปัญหาในเรื่องนี้ แต่เรื่องคุณสมบัติของผู้ซึ่งเคยเป็น สนช. ซึ่งยังไม่พ้นระยะเวลา 10 ปี จะเป็นกรรมการในองค์กรอิสระได้หรือไม่ คือส่วนที่มีปัญหา เพราะมีความเห็นแตกต่างกันว่า สนช.มีความหมายเป็น ส.ส., ส.ว. และเป็นข้าราชการเมืองหรือไม่ ซึ่งไม่สามารถไปแนะนำทางออกที่ดีที่สุดต่อที่ประชุมได้ เพราะนี่ถือเป็นความเห็นทางกฎหมาย 
     "วันนั้นมีการลงคะแนนถึง 3 รอบ ถ้ารอบที่ 3 ยังไม่ผ่านอีกก็ต้องเริ่มนับหนึ่งตามกระบวนการสรรหาใหม่ จึงทำให้การลงมติในรอบสุดท้าย คะแนนจึงเปลี่ยนแปลงไปตามผลที่ออกมา ซึ่งตามกฎหมายถือว่าเรื่องนี้จบไปแล้ว คงฟื้นกลับลงมติใหม่ไม่ได้แล้ว ส่วนจะชะลอการทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับประธานวุฒิสภา" นายชวนกล่าว
    ทั้งนี้ มติกรรมการสรรหาฯ 7 ต่อ 1 ดังกล่าว กรรมการสรรหาฯเช่นนายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา, นายปิยะ ปะตังทา ประธานศาลปกครองสูงสุด, นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านฯ รวมถึงตัวแทนองค์กรอิสระทั้ง ศาลรัฐธรรมนูญ, คณะกรรมการการเลือกตั้ง, ผู้ตรวจการแผ่นดิน, คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ต่างก็ลงมติเลือกนายสุชาติเป็นป.ป.ช. โดยเป็นการเลือกในรอบที่สาม หลังก่อนหน้านี้ สองรอบ คะแนนไม่ถึงเกณฑ์ มีเพียงนายชวน หลีกภัย คนเดียวที่ไม่เลือกนายสุชาติ แต่ไปเลือกนายปรเมษฐ์ โตวิวัฒน์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตฯ ภาค 1 อีกทั้งยังทำการซักถามนายสุชาติ กลางที่ประชุมกรรมการสรรหาฯ ด้วยว่าการเป็นอดีต สนช.จะทำให้ขาดคุณสมบัติหรือไม่ แต่นายสุชาติไม่ได้ตอบคำถามนี้ นอกจากยอมรับว่าเป็นห่วงเรื่องนี้เหมือนกัน
      ส่วนนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในเรื่องนี้ว่า  เรื่องนี้กำลังหาทางออกกันอยู่ ถ้าจะส่งศาลรัฐธรรมนูญก็ส่งได้  เป็นเรื่องของการตีความของคณะกรรมการสรรหาแต่ละชุด ถือเป็นสิทธิ์ของกรรมการสรรหาแต่ละชุด แต่ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ชี้ขาดให้ได้ ซึ่งในชั้นนี้คณะกรรมการสรรหาเป็นผู้มีอำนาจ ดังนั้น ถ้ามีอะไรเกิดขึ้น ก็ให้ส่งไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งตอนนี้ยังไม่ทราบว่าชุดไหนจะส่ง เพราะถ้าชุดไหนมีปัญหาและเดือดร้อน ก็สามารถส่งไปชุดเดียวได้
    วันเดียวกันนี้ ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายปิติพงศ์ เต็มเจริญ จากพรรคเสรีรวมไทย ยื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของวุฒิสภาทั้ง 90 คน สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 108 ข (1) (3) และ (9) หรือไม่ โดยยื่นผ่านนายปิยะ ลือเดชกุล ผู้อำนวยการสำนักงานตรวจสอบเรื่องร้องเรียน
      นายปิติพงศ์กล่าวว่า การที่สมาชิกวุฒิสภา 250 คน ได้รับการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 11 พ.ค.2562 ซึ่งพบว่ามี ส.ว. จำนวน 90 คน เป็นอดีต สนช.ตามรัฐธรรมนูญ 2557 มาตรา 6 และยังทำหน้าที่ ส.ส.และ ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งถือว่าขาดคุณสมบัติ และมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 108 ของรัฐธรรมนูญ 2560 โดย ส.ว. 90 คนที่ยื่นชื่อไปเป็นอดีต สนช. จึงมีลักษณะต้องห้าม.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"