แห่เสนอแผนฟื้นฟู4แสนล. พท.เดินหน้าแก้พรก.กู้เงิน


เพิ่มเพื่อน    

    สศช.เผยเสนอแผนลงทุนแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาทคึกคัก หลายหน่วยงานแห่เสนอแผนลงทุน 28,000โครงการ วงเงินกว่า 3.72 แสนล้าน ยันพร้อมให้ประชาชนร่วมตรวจสอบความโปร่งใส รองประธาน กมธ.โอนงบฯ ขวาง กมธ.ฝ่ายค้านยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ระบุ กมธ.พิจารณาตาม ม.144 ถูกต้องแล้ว เพื่อไทยเดินหน้าเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ พ.ร.ก.กู้เงิน ห่วงรัฐบาลใช้เงินไม่มีประสิทธิภาพ ชงเพิ่มสัดส่วน ส.ส.อยู่ใน กก.กลั่นกรอง 
    เมื่อวันจันทร์ที่ 8 มิถุนายน นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการใช้เงินกู้ตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เปิดเผยถึงความคืบหน้าของโครงการแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ในวงเงิน 4 แสนล้านบาท หลังจากปัญหาโควิด-19 คลี่คลายผ่านการใช้งบประมาณลงทุนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 400,000 ล้านบาท ได้กำหนดตารางแผนงานลงทุน เพื่อเปิดให้องค์กร หน่วยงานท้องถิ่น สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน กลุ่มประชาชน ชมรม เสนอแผนลงทุนเข้ามาให้ สศช.พิจารณา 
    "ขณะนี้หลายหน่วยงานเสนอแผนลงทุนมาให้พิจารณาแล้ว ณ วันที่ 5 มิถุนายน จำนวน 28,331 โครงการ วงเงิน 372,000 ล้านบาท แยกเป็นหน่วยงานระดับจังหวัด 55 จังหวัด วงเงินลงทุน 203,643 ล้านบาท มีทั้งระดับจังหวัด อบจ. เทศบาล อบต.  ในส่วนของระดับกระทรวง เช่น กระทรวงเกษตรฯ เสนอเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อพัฒนาทำเกษตร เครื่องมือเครื่องจักร แหล่งน้ำ การแปรรูป กระทรวงอุตสาหกรรม เสนอแผนพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร การช่วยเหลือเอสเอ็มอี วงเงิน 168,000 ล้านบาท"
    นายทศพรกล่าวว่า สศช.กำหนดเวลาตั้งแต่วันที่ 5-15 มิ.ย.63 อนุกรรมการได้เริ่มกลั่นกรองแผนลงทุน หลังเปิดให้ทุกภาคส่วนเสนอแผนลงทุนล็อตแรกเข้ามา จากนั้นคณะกรรมการกลั่นกรองเตรียมนำโครงการเสนอ ครม.พิจารณาแผนลงทุนล็อตแรก  2-7 ก.ค.นี้ เพื่ออัดฉีดเงินออกสู่ระบบหวังพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ยอมรับยอดเงินลงทุนที่เสนอมาครั้งนี้อาจเกินกรอบเงินกู้ 400,000 ล้านบาท แต่ต้องผ่านการพิจารณากลั่นกรองอีกหลายขั้นตอน ดังนั้น แผนลงทุนที่จะได้รับการพิจารณาควรอยู่ในกรอบที่กำหนด ประกอบด้วย แผนงานการเติบโตอย่างยั่งยืน การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เกษตรอัจฉริยะ เกษตรแปลงใหญ่ การท่องเที่ยวคุณภาพสูง เกษตรทฤษฎีใหม่ การท่องเที่ยวชุมชน แผนงานด้านเศรษฐกิจฐานราก เช่น การผลิต แปรรูป การท่องเที่ยวชุมชน การพัฒนาสินค้าโอท็อป การตลาดออนไลน์
    สำหรับการกระตุ้นการบริโภค เช่น ด้านการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และกระทรวงการคลังกำลังหารือร่วมกันในการแจกคูปองให้กับนักท่องเที่ยว คาดว่าสรุปได้ในเร็วๆ นี้ หากหน่วยงานใดยังเสนอแผนลงทุนไม่ทันจะมีเปิดให้เสนอรอบ 2 อีกวันที่ 9 ก.ค.63 ยอมรับตัวเลขเงินลงทุนเป็นเพียงยอดการเสนอ คณะกรรมการต้องตรวจสอบคัดกรองให้อยู่ในกรอบวงเงิน 400,000 ล้านบาท
เชิญ ปชช.ตรวจสอบ
    “ต้องการเชิญชวนประชาชนเข้ามาช่วยตรวจสอบการใช้งบประมาณลงทุนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 400,000 ล้านบาท เพราะคณะกรรมการกลั่นกรองยึดหลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี เปิดเผย โปร่งใส ทั่วถึง เที่ยงธรรม เกิดผลสัมฤทธิ์ ตอบสนองความต้องการ ประชาชนมีส่วนร่วม ตรวจสอบได้ ชอบด้วยกฎหมาย และยังได้เชิญบุคคลที่ 3 ได้แก่ องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และกรรมาธิการชุดต่างๆ สภา มาร่วมทำงานตรวจสอบ ติดตาม ประเมินผล เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ว่าเงินกู้ 400,000 ล้านบาทไปอยู่ไหน หากมีการทุจริตคอร์รัปชันจะได้มีองค์กร หน่วยงานช่วยกันตรวจสอบ ยืนยัน ส.ส.ไม่สามารถแบ่งเค้กเงินลงทุนเป็นรายพื้นที่ เพราะมีการติดตามตรวจสอบหลายมิติ” นายทศพรกล่าว
    ที่รัฐสภา นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 63 กล่าวถึงกรณีที่กรรมาธิการฝ่ายค้านเตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญว่าร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณขัดกับรัฐธรรมนูญว่า ร่าง พ.ร.บ.โอนงบฯเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 144 กำหนดไม่ให้กรรมาธิการแปรญัตติเพิ่มงบประมาณ เพราะร่างกฎหมายฉบับนี้มีลักษณะคล้ายกับ พ.ร.บ.งบประมาณ และที่ผ่านมาในการพิจารณาปรับลดงบประมาณก็พิจารณาสอดคล้องกับมติ ครม.ที่มีการปรับลดงบประมาณด้านการฝึกอบรม งบประมาณด้านการประชาสัมพันธ์ และงบประมาณศึกษาดูงานต่างประเทศ ซึ่งยังไม่มีการใช้จ่ายและยังไม่สามารถใช้จ่ายได้ เนื่องจากมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมทั้งงบลงทุนที่ไม่สามารถจัดซื้อจัดจ้างได้ทันในวันที่ 7 เม.ย.63 หรือลงนามสัญญาภายในวันที่ 31 พ.ค.63 จึงเชื่อว่าการ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณจะผ่านไปด้วยความเรียบร้อย
    นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ให้สัมภาษณ์ว่า การประชุมวิปรัฐบาลเพื่อเตรียมการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 10-11 มิ.ย.นี้ โดยมีวาระพิจารณาญัตติด่วนให้มีการตั้ง กมธ.สามัญตรวจสอบการใช้งบประมาณโควิด และเรื่องเร่งด่วนในการตั้ง กมธ.วิสามัญการพิจารณา cptpp ตามที่สมาชิกทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลร่วมกันเสนอ ส่วนร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณ 63 ไม่ทันเข้าสภาในสัปดาห์นี้ได้ เนื่องจากในรายละเอียดต่างๆ ยังมีการประชุมกันอยู่ และคิดว่า กมธ.น่าจะพิจารณาเสร็จวันที่ 9 มิ.ย. หรือ 10 มิ.ย. จึงขอเลื่อนเข้าระเบียบวาระสภาในวันที่ 17 มิ.ย. ซึ่งการเลื่อนดังกล่าวจะไม่กระทบกับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 เพราะร่าง พ.ร.บ.งบฯ 64 วางไว้ให้เข้าสู่การพิจารณาของสภาประมาณวันที่ 24-25 มิ.ย. 
    เมื่อถามถึงการตั้ง กมธ.วิสามัญติดตามการใช้งบตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ จะสามารถตั้งได้หรือไม่ นายวิรัชกล่าวว่า ตรงนี้ไม่ได้มีปัญหา แต่สิ่งที่จะพูดคุยกันคือจะให้เวลาในการพิจารณากี่วัน เพราะการใช้เงินงบประมาณครอบคลุมไปถึงปี 64 และน่าจะตั้งใช้กรรมาธิการชุดใหญ่ โดยให้มีตัวแทนเกือบทุกพรรคการเมือง และเวลาในการพิจารณาอาจจะต้องสองครั้ง คือครั้งแรก 120 วัน แล้วต่ออีก 120 วัน ก็น่าจะครอบคลุมได้  
เดินหน้าแก้ พรก.กู้เงิน
    ที่พรรคเพื่อไทย คณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ประกอบด้วย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรค, นายโภคิน พลกุล และนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา คณะกรรมการยุทธศาสตร์ ร่วมแถลงความคืบหน้ากรณีการเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.กู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาท โดยคุณหญิงสุดารัตน์กล่าวว่า พ.ร.ก.กู้เงินทั้ง 3 ฉบับนั้น พรรคเพื่อไทยได้แสดงความห่วงใย และย้ำหลายครั้งว่าเป็นเม็ดเงินก้อนสุดท้ายที่จะใช้รีสตาร์ทเศรษฐกิจประเทศไทยขึ้นมาอีกครั้ง แต่จากการติดตามดูเราพบว่ามีปัญหา เพราะไม่เปิดโอกาสให้สภาได้ดูแลเม็ดเงินนี้ จึงเสนอให้มีการตรวจสอบการใช้เงิน เพื่อให้รีสตาร์ทประเทศไทยได้อย่างแท้จริง เราเห็นว่าการใช้เงินไม่มีประสิทธิภาพ การเยียวยาก็เกรงว่าจะไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีแผนงานที่ชัดเจน แผนงานที่ปรากฏเป็นงบที่ตรวจสอบยาก เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจน้อย และเกิดการทุจริตได้ง่าย หากนายกฯ มีความจริงใจ โปรดพิสูจน์ความจริงใจโดยการรับข้อเสนอของฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรค ในการดูแลตรวจสอบเม็ดเงินซึ่งเป็นน้ำมันถังสุดท้ายนี้ โดยการรับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ และตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขึ้นมาตรวจสอบ 
     นายพงศ์เทพกล่าวว่า ร่าง พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท หลักการคือต้องการให้เพิ่มการตรวจสอบโดยฝ่ายนิติบัญญัติ โดยเสนอให้ในคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ มีกรรมการผู้สังเกตการณ์ 4 คน โดยเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากการเสนอของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 2 คน และฝ่ายค้าน 2 คน รวม 4 คน ทำหน้าที่เหมือนกรรมการทุกอย่าง เว้นแต่ไม่มีอำนาจนาจหน้าที่ในการลงมติ แต่สามารถเป็นหูเป็นตาเพื่อดูว่าใช้จ่ายเงินไปในประเด็นใดบ้าง หรือมีปัญหาอะไร อย่างน้อยจะทำให้สภาได้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ การรายงานต่อสภา เดิมให้รายงานปีละ 1 ครั้ง เรามองว่าอาจจะช้าไป จึงเสนอให้รายงานทุก 3 เดือน เพื่อให้ ส.ส.หรือ ส.ว.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของเข้าชื่อร้องขอข้อมูลการกู้เงินและการใช้เงิน และกระทรวงการคลังจะต้องส่งข้อมูลที่ขอให้ทางสภาภายใน 10 วัน
    นายพงศ์เทพกล่าวว่า ส่วน พ.ร.ก.เอสเอ็มอี จริงๆ ไม่ได้ช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และอาจจะเข้าไม่ถึงการช่วยเหลือในส่วนนี้ กฎหมายฉบับนี้ควรจะเน้นการช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม เราคิดว่าควรจำกัดไว้ว่าแต่ละแห่งไม่เกิน 500 ล้านบาท และทุกแห่งรวมกันต้องไม่เกิน 1,000 ล้านบาท และได้เปิดโอกาสให้วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม ตามคำนิยามในกฎหมายวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สามารถเข้าถึงเงินจำนวนนี้ได้ โดยแต่เดิมวิสาหกิจไม่มีวงเงินสินเชื่อกับธนาคารไม่มีสิทธิ์ไปขอ ดังนั้นเราคิดว่าแม้วิสาหกิจที่ไม่มีวงเงินสินเชื่อกับธนาคาร มันก็น่าจะเปิดโอกาสให้เขาขอสินเชื่อได้ โดยกำหนดกรอบเบื้องต้นไว้จะต้องไม่เกิน 15 ล้านบาท โดยเราจะส่งรายละเอียดของร่างกฎหมายฉบับนี้ให้กับทางสภาเอสเอ็มอีช่วยให้ความเห็นประกอบเพิ่มเพื่อจะได้พัฒนาต่อไป และให้มีการรายงานต่อสภาทุก 3 เดือน ว่าใครกู้ยืมเงินแก่ใครบ้าง การชำระเงินคืนเป็นอย่างไร และการชดเชยความเสียหายจากของสถาบันเงินเป็นอย่างไร ซึ่งจะให้โอกาส ส.ส. ส.ว. สามารถขอข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดต่างๆ ได้
    นายพงศ์เทพกล่าวอีกว่า ส่วน พ.ร.ก.ตราสารหนี้ ที่จะมีคณะกรรมการกำกับกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส เราได้มีการเสนอให้มีคณะกรรมการผู้สังเกตการณ์ โดยเป็นผู้ทรงวุฒิที่เสนอจาก ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้านอย่างละ 2 คน โดยไม่มีอำนาจในการลงมติ นอกจากนั้นยังได้กำหนดเรื่องอำนาจในการผ่อนผัน ซึ่งแต่เดิมให้อำนาจในการผ่อนผันกว้างขวางมาก เช่น การซื้อตราสารหนี้ซึ่งจะต้องซื้อไม่เกินร้อยละ 50 ของตราสารหนี้ที่ออกใหม่ แต่เปิดโอกาสให้คณะกรรมการกำกับฯ ผ่อนผันได้โดยไม่มีข้อจำกัด ซึ่งเราเห็นว่าไม่ควผ่อนผันให้ซื้อเกินร้อยละ 60 และควรจะขายให้คนทั่วไปก่อนอย่างน้อยร้อยละ 40 ไม่ใช่ให้รัฐบาลซื้ออย่างเดียว และควรจะมีการรายงานให้สภาทราบทุก 3 เดือน ว่าการลงทุนที่ทำไปเป็นอย่างไร รวมถึงให้โอกาส ส.ส.และ ส.ว.เข้าชื่อขอข้อมูลรายละเอียดในการลงทุนด้วย
    ด้านนายโภคินกล่าวว่า การเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.กู้เงินนั้น ก็เพื่อตรวจสอบหรือการเข้าไปดูแลการใช้เงินเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเพื่อให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันน้อยที่สุด การเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมนั้น ไม่ใช่เรื่องของการเมือง แต่เพราะเราเห็นปัญหา จึงยกร่างให้ดีที่สุด หาก ส.ส.รัฐบาลรวมทั้ง ส.ว.ร่วมสนับสนุน การใช้เงินของประเทศจะเป็นประโยชน์สูงสุด 
    นายการุณ โหสกุล ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ กล่าวว่า การโอนงบประมาณจำนวนกว่า 8.8 หมื่นล้านบาท ตนมีความเป็นห่วง เพราะเงินงบประมาณที่โอนมานั้น รัฐนำกลับไปใส่ในงบกลางหรืองบสำรองฉุกเฉิน ใส่พานให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีอำนาจสั่งจ่าย ดังนั้นทางพรรคฝ่ายค้านจะตรวจสอบการใช้จ่ายเงินให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ คือการแก้ปัญหาโควิด-19 และการเยียวยาประชาชน หากลักไก่เอาไปทำอย่างอื่นรับรองว่าเจอกันแน่นอน โดยรัฐบาลต้องไม่นำเงินที่กระทรวงต่างๆ โอนให้ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ไม่ว่าจะเป็นการซื้ออาวุธหรือใช้จ่ายแบบสุรุ่ยสุร่ายอย่างที่ทำมาตลอด.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"