สธ.กังวลประชาชนเริ่มการ์ดตก


เพิ่มเพื่อน    


    ไทยพบผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ 2 ราย กลับจากซาอุฯ-เนเธอร์แลนด์ ไม่มีติดเชื้อในประเทศ 15 วัน ศบค.ย้ำปลอดภัยต้องพ้น 28 วัน สธ.กังวล ปชช.เริ่มการ์ดตก "บิ๊กตู่" ขอบคุณทุกภาคส่วนร่วมแก้ไขจนดีขึ้น ชี้ไม่อีเหละเขะขะไปเฟส 4 ได้แน่ "อนุทิน" รับ พ.ร.บ.โรคติดต่อไม่บูรณาการเท่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยังไม่หนุนเปิดประเทศ ภูเก็ตเปิดชายหาดวันแรกคุมเข้มสกัดไวรัส
    ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน เวลา 11.30 น. พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล  ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19 ) หรือ  ศบค. แถลงว่า พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่ 2 ราย จากสถานที่เฝ้าระวังที่รัฐจัดให้ ซึ่งเป็นผู้ที่เดินทางกลับจากประเทศซาอุดีอาระเบียและเนเธอร์แลนด์ ขณะที่ไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศ หรือเป็นศูนย์รายต่อเนื่องกันเป็นวันที่ 15 ซึ่งผู้ป่วยยืนยันสะสมอยู่ที่ 3,121 ราย รักษาหายเพิ่มขึ้น 1 ราย และยังมีผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 90 ราย ขณะที่ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 58  ราย
    สำหรับผู้ติดเชื้อรายใหม่ รายแรกเป็นนักศึกษาชายไทยวัย 22 ปี เดินทางกลับมาจากซาอุดีอาระเบียเมื่อวันที่ 25 พ.ค. มีอาการไข้ แต่ตรวจครั้งแรกไม่พบเชื้อ ต่อมาตรวจครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.หรือ 14 วันหลังจากเดินทางกลับมา พบว่าติดเชื้อโควิด-19 โดยเข้าพักรักษาอาการที่โรงพยาบาลในจังหวัดปัตตานี ส่วนรายที่ 2 เป็นหญิงไทยวัย 31 ปี อาชีพพนักงานบริษัท เดินทางกลับมาจากเนเธอร์แลนด์ตั้งแต่วันที่ 3 มิ.ย. เข้าพักในโรงแรมแห่งหนึ่งใน กทม. ตรวจครั้งที่ 1 ผลบวกไม่ชัดเจน และเข้ารักษาตัวโรงพยาบาลใน กทม. จากนั้นในวันที่ 8 มิ.ย.ตรวจซ้ำพบว่าติดเชื้อโควิด-19
     "มีการถามว่าตอนนี้เรามีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศเป็น 0 รายติดต่อกันมา 15 วันแล้ว  สถานการณ์ปลอดภัยปลอดเชื้อหรือยัง สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติหรือยัง ขอตอบในทางหลักการระบาดวิทยา ปกติจะใช้ 2 เท่าของระยะเวลาฟักตัวที่ยาวที่สุดของโรคจึงปลอดภัย โดยโควิด-19  ระยะเวลาฟักตัวอยู่ที่ 14 วัน ดังนั้น 2 เท่าคือ 28 วัน เพราะฉะนั้นอาจจะต้องรอให้พ้น 28 วันไปก่อนจึงจะเรียกว่าระยะที่มีความเสี่ยงต่ำ" พญ.พรรณประภาระบุ             
     อีกทั้งหลายประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นประเทศเกาหลีใต้ มีการระบาดเกิดขึ้นระลอกที่ 2 จากการพบเชื้อในผับ บาร์ โบสถ์ โดยเป็นการติดเชื้อแบบกลุ่มซึ่งไม่แสดงอาการ นอกจากนั้นในสถานที่เฝ้าระวังที่รัฐจัดให้ มีการพบเชื้อโดยผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นระยะเวลาที่มีความปลอดภัยคือ 28 วัน รวมถึงมีผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ จึงยังคงต้องเฝ้าดูอาการเพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อ ทั้งนี้การสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ รักษาระยะห่างทางสังคม คือสิ่งที่ทุกคนยังต้องปฏิบัติกันอยู่
    ด้านสถานการณ์ทั่วโลก มีผู้ป่วยเกือบ 7.2 ล้านราย เพิ่มขึ้น 1 แสนราย เสียชีวิตเพิ่ม 2,502 ราย  รวมกว่า 4.08 แสนราย ประเทศไทยอันดับตกลงมาจาก 81 มาอันดับ 83 ซึ่งประเด็นที่น่าสนใจของต่างประเทศคือ นิวซีแลนด์ซึ่งมีมาตรการล็อกดาวน์เข้มงวดสุดในโลก ไม่ให้คนออกจากบ้าน ให้ออกจากบ้านเมื่อจำเป็น ตอนนี้ประกาศยุติมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม หลังไม่มีผู้ติดเชื้อและผู้ติดเชื้อคนสุดท้ายรักษาหายแล้ว โดยไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 17 วัน
     พญ.พรรณประภากล่าวทิ้งท้ายว่า ที่ผ่านมามีการทำงานที่บ้านในช่วงล็อกดาวน์ แต่หลังจากมีมาตรการผ่อนคลายระยะ 3 หน่วยงานภาครัฐและเอกชนเริ่มให้กลับมาทำงานตามปกติมากขึ้น ทำให้มีโอกาสจะเจอปัญหาจากการรับประทานอาหารกลางวันในสถานที่ที่อาจมีความแออัด จึงขอให้สวมหน้ากากอนามัย พกแอลกอฮอล์เจล แอลกอฮอล์สเปรย์ติดไปด้วย ส่วนการเว้นระยะห่างทางสังคมอาจทำได้ยากขึ้น ดังนั้นหากเห็นมีคนมากแล้วอาจซื้อกลับมาทานที่ทำงาน หรือนำอาหารจากที่บ้านมาทานเอง นอกจากนี้ผู้ประกอบการอาจปรับระยะเวลาในการลงมาพักกลางวันเป็นเหลื่อมเวลา เช่น 11 โมง  11 โมงครึ่ง เที่ยงครึ่ง และบ่ายโมง ซึ่งร้านอาหารยังเปิดอยู่ จะช่วยลดความหนาแน่นของผู้คนที่ลงมารับประทานอาหารกลางวันได้
สธ.กังวลคนไทยการ์ดตก
    ด้าน พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากการสำรวจการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ระหว่างมาตรการผ่อนปรนสัปดาห์ที่ 3 ระหว่างวันที่ 22-28 พ.ค.ทางออนไลน์ กลุ่มตัวอย่าง 25,623 ราย พบว่ามีการสวมหน้ากากผ้าตลอดเวลา 91.5% การล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ 83.2% กินอาหารร้อนและใช้ช้อนกลางของตัวเอง 82.7% ภาพรวมพฤติกรรมป้องกันตัวเอง 74.8% ระวังไม่อยู่ใกล้คนอื่นในระยะน้อยกว่า 2 เมตร และระวังไม่เอามือจับหน้า จมูก ปาก 56.9%
    "จากการสำรวจเรื่องการสวมหน้ากากก็ยังถือว่าค่อนข้างดี แต่ลดลงกว่าที่ผ่านมา การล้างมือก็ลดลง สิ่งที่ต้องร่วมมือกันคือการเว้นระยะห่าง ซึ่งวันนี้เราค่อนข้างกังวลใจกับการป้องกันตนเองที่ลดลง ซึ่งจากการสอบถามพบว่าที่ทำได้น้อยลงมี 3 เหตุผล คือ 1.รู้สึกว่าทุกวันที่รายงานไม่มีผู้ป่วยในประเทศ  ทำให้รู้สึกว่าน่าจะปลอดภัยขึ้น 2.รู้สึกความเสี่ยงติดเชื้อต่ำลง และ 3.น่าเห็นใจว่าบางครั้งกิจวัตรประจำตัวไม่เอื้ออำนวย แต่ก็ยังอยากฝากให้มีหน้ากากผ้าติดตัวเพื่อสวมใส่ด้วยเพื่อเป็นการป้องกันการรับ และแพร่เชื้อต่อ รวมถึงการล้างมือด้วย" อธิบดีกรมอนามัยระบุ
    เมื่อถามถึงมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 4 พญ.พรรณพิมลกล่าวว่า ทุกการผ่อนปรน ทุกกิจการเราจะเน้น 3 ส่วน คือ 1.เน้นการสวมหน้ากากผ้าในที่สาธารณะ 2.การล้างมือบ่อย การระวังไม่ใช่มือสัมผัสหน้า หน้าเป็นพื้นผิวสัมผัส และ 3.การเว้นระยะห่างไม่ให้แออัดเกินไป
    สำหรับผู้ประกอบการต้องเน้นย้ำการคัดกรองทั้งคนให้และรับบริการ การจัดให้มีการเว้นระยะห่าง ที่สำคัญคือ การติดตาม การลงทะเบียนไทยชนะร่วมกัน วันนี้สถานการณ์มาถึงจุดที่จะผ่อนปรนระยะถัดไปอีก ถ้าเราไม่ทิ้งมาตรการหลักเราจะได้เดินหน้าในกิจการถัดๆ ไป
    ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ขอบคุณทุกภาคส่วนที่ช่วยแก้ปัญหาโควิด-19 ได้อย่างดียิ่ง วันนี้เป็นเรื่องน่ายินดีที่ไม่พบผู้ป่วยใหม่ในประเทศเป็นเวลาติดต่อกัน 15 วัน หลายจังหวัดเปิดกิจการ/กิจกรรม ตามมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 3 "หากเราทำระยะที่ 3 ดี จะไประยะที่ 4 ได้ ถ้าระยะ 3 ยังอีเหละเขะขะอยู่ก็ไประยะที่ 4 ไม่ได้สักที ผมเห็นใจในความเดือดร้อน แต่ก็ต้องเข้าใจสถานการณ์ด้านสุขภาพด้วย  หลายคนอาจจะบอกว่าไม่มีการแพร่ระบาดแล้ว ขอให้ยกเลิกอันโน้นอันนี้ได้ไหม ท่านต้องเข้าใจก่อนว่าต้องมีกฎหมายสักตัวเพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้ตามมาตรฐานเดียวกัน ก็เห็นผลแล้วเกิดอะไรขึ้น ผมไม่ได้ไปปิดกั้นประชาชน ไม่ต้องการใช้อำนาจตรงนี้ไปตรงโน้น มันไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น" นายกฯ ระบุ
ยังไม่หนุนเปิดประเทศ
    นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงกรณีพระราชกำหนด  (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจะหมดอายุสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ว่า ยังไม่ได้หารือกัน ส่วนเวลาที่เหมาะสมควรจะเป็นเมื่อไหร่นั้น ตอนนี้เราไม่มีผู้ติดเชื้อในประเทศมากว่า 2 สัปดาห์แล้ว แต่เรายังต้องระวังอยู่ สังเกตจากคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ส่วนใหญ่จะมีผู้ติดเชื้อทุกเที่ยวบิน แสดงว่าการติดเชื้อในต่างประเทศยังมีอยู่ ดังนั้นถ้าเราจะไปเปิดประเทศทันทีอาจจะยังไม่ปลอดภัยสำหรับในประเทศ ก็ต้องระวัง
    เมื่อถามว่าแสดงว่าการผ่อนคลายเฟส 4 จะต้องสอดคล้องกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินด้วยใช่หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่าต้องสอดคล้องกัน ซึ่งรวมถึงโรงเรียนที่จะเปิดเทอมในเดือน ก.ค.นี้ด้วย ทุกอย่างต้องหารือกันด้วยเหตุและผล สำคัญที่สุดคือไม่ให้คนไทยติดเชื้อ โดยเฉพาะในเด็กต้องระวังและเราต้องมั่นใจจริงๆ ว่าไม่มีการแพร่ระบาด อย่างน้อยการที่เราระมัดระวังมากๆ ส่งผลให้เห็นว่าประเทศไทยไม่มีการติดเชื้อและหวังว่าสถานการณ์จะดีขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่มีทางที่จะถอยหลังลงไป ยกเว้นจะมีซูเปอร์สเปรดเดอร์ (การแพร่เชื้อโรคไปยังบุคคลอื่นจำนวนมาก) อีกครั้ง แบบนี้ต้องมาว่ากันใหม่ ซึ่งไม่น่าจะมี
    ผู้สื่อข่าวถามว่าเช่นนี้แล้วกฎหมายต่างๆ ยังจำเป็นอยู่ใช่หรือไม่ในเรื่องการบังคับใช้ นายอนุทิน กล่าวว่า ความจริงเราไม่เคยบังคับใช้ เพียงแต่ขอความร่วมมือ และประชาชนก็มีความเข้าใจต่ออันตรายของโรคนี้จึงให้ความร่วมมือ เรื่องสุขภาพของคนไปบังคับกันไม่ได้ ความร่วมมือเท่านั้นเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
    เมื่อถามย้ำว่าหากมีการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ยังมีพระราชบัญญัติโรคติดต่อใช่หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า พ.ร.บ.โรคติดต่อยังไม่บูรณาการเท่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งก็มีดีมีเสีย แต่การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินครั้งนี้ประชาชนให้ความร่วมมืออย่างดี แม้ว่าจะมีเคอร์ฟิวหรือจัดระเบียบอะไรต่างๆ ทุกคนให้ความร่วมมือดีโดยไม่ต้องมีการบังคับอะไร
    ขณะที่นายจิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุหลายเรื่องที่ พ.ร.บ.โรคติดต่อไม่สามารถบริหารจัดการได้เหมือน พ.ร.ก.ฉุกเฉินว่า ต่อให้ไม่มีอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รัฐบาลสามารถสั่งการได้อยู่แล้ว เพราะนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล สั่งการผ่าน รมว.มหาดไทยหรือ รมว.คมนาคม ดังนั้นถ้าบอกว่ารัฐบาลสั่งปิดสนามบินไม่ได้ สั่งผู้ว่าราชการจังหวัดให้มีมาตรการไปในทิศทางเดียวกันกับรัฐบาลไม่ได้ ก็แสดงว่านายกฯ ไม่มีภาวะผู้นำทางการเมืองหรือบริหารงานไม่มีประสิทธิภาพ
    ขณะที่การคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินเอาไว้นั้น จะกลายเป็นสวนทางกับเหตุการณ์ปัจจุบัน ที่ขณะนี้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการใช้ชีวิตของประชาชนกลับมาเกือบเป็นภาวะปกติทั้งหมดแล้ว และตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตไม่ถือว่าประเทศชาติอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่อยู่ในสถานการณ์เฝ้าระวังมากกว่า ดังนั้นจึงไม่เข้าองค์ประกอบของกฎหมายในการประกาศใช้ ทำให้ต้องคิดต่อไปว่าในโอกาสหน้าควรแก้ไขกฎหมายนี้ ให้ประชาชนสามารถร้องต่อศาลปกครองให้ตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐในการประกาศ  พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อให้ยกเลิกได้ รวมถึงควรได้รับการอนุมัติจากสภาผู้แทนราษฎรหรือรัฐสภาเป็นคราวๆ  ไป
     ที่ จ.ภูเก็ต นายสุพจน์ รอดเรือง ณ หนองคาย รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจชายหาดป่าตอง หลังจากจังหวัดภูเก็ตมีคำสั่งให้เปิดชายหาดทุกแห่งวันนี้เป็นวันแรก โดยนายสุพจน์กล่าวว่า ขอบคุณชาวภูเก็ตที่ร่วมมือในการต่อสู้ผ่านวิกฤตการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา  ถือว่าเป็นครั้งสำคัญที่รุนแรงรองจากสึนามิ ซึ่งการเปิดชายหาดของเราเป็นการเปิดประตูสู่การค้าใหม่  โดยปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศอาศัยอยู่ในจังหวัดประมาณ 5,000 คน ส่วนความพร้อมของโรงแรมต่างๆ ต้องปฏิบัติตาม New Normal มีการรีโนเวตโรงแรมรองรับในส่วนนี้ โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการพร้อมกันเดือน ก.ค.นี้    
    น.ส.เฉลิมลักษณ์ เก็บทรัพย์ นายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง กล่าวว่า หาดป่าตองเปิดให้บริการนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติเข้ามาใช้พื้นที่ได้แล้ว ได้จัดเจ้าหน้าที่ไลฟ์การ์ด เจ้าหน้าที่เทศกิจให้คำแนะนำนักท่องเที่ยวที่เข้ามา จะต้องปฏิบัติตามมาตรการของจังหวัดที่ให้เฝ้าระวังการแพร่ระบาด ส่วนกลุ่มผู้ประกอบการชายหาด อาทิ นวด ร่ม เตียง เรือเจ็ตสกี สตรีทฟู้ด และอาชีพต่างๆ ที่เกี่ยวข้องบนชายหาดป่าตอง เทศบาลเมืองป่าตองได้เชิญกลุ่มอาชีพทั้งหมดมาพูดคุยกันแล้ว เพื่อชี้แจงการปฏิบัติแนวทางการใช้ชีวิตแบบ New Normal รักษาความสะอาดสถานที่ อุปกรณ์ เครื่องใช้ทุกอย่าง ทั้งของผู้ประกอบการและผู้รับบริการ
     พ.ต.อ.อกนิษฐ์ ด่านพิทักษ์ศาสตร์ ผกก.สภ.ป่าตอง กล่าวว่า ได้จัดเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบดูแลความปลอดภัยอย่างใกล้ชิด ขอให้เที่ยวกันอย่างสนุก คำนึงถึงมาตรการเป็นหลักด้วยยังมี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน  และขอให้ใช้ชายหาดเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจเท่านั้น ห้ามจัดปาร์ตี้บนชายหาด.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"