อนาคตการเรียนหลังโควิด-19 ออนไลน์..ผสมผสานออฟไลน์


เพิ่มเพื่อน    

     ช่วงที่โรคโควิด-19 ระบาด ไม่ได้เปลี่ยนแค่ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตตามแบบฉบับ new normal ให้กับคนไทย แต่ทว่ายังกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการเรียนการสอนในบ้านเรา โดยเฉพาะการสอนในรูปแบบออนไลน์มากขึ้นในช่วงที่เด็กๆ ต้องปิดเทอมยาว ถึงขั้นมีบริษัทที่เกี่ยวกับธุรกิจการผลิตและการพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนออนไลน์ได้ออกมาเผย 4 รูปแบบการเรียนผ่านระบบออนไลน์ใหม่ เพื่อให้รับกับระบบการศึกษายุคนี้ที่ประสบปัญหาโรคระบาด สอดคล้องกับความจำเป็นและความต้องการในระบบการศึกษา ที่สำคัญลดทอนภาระของผู้ปกครองส่วนใหญ่ที่ยังเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีทันสมัยในปัจจุบัน

     ครูเปิ้ล-น.ส.ชฎาวีณ์ ไชยภูริพัฒน์ ติวเตอร์สอนวิชาคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษผ่านออนไลน์ บอกว่า ช่วงที่บ้านเรามีการล็อกดาวน์อยู่ในขณะนี้ คิดว่าการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ 100 เปอร์เซ็นต์เป็นเรื่องที่เหมาะสม เนื่องจากเป็นสิ่งที่สะดวก เด็กไม่จำเป็นต้องเดินทางออกมานอกบ้าน จึงลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโรค และเมื่อถึงเวลา คุณครูในโรงเรียนก็นัดเวลาสอนกับเด็กและทำการสอนออนไลน์ จึงทำให้เด็กที่เรียนในชั้นเดียวกันสามารถเรียนได้พร้อมกัน เนื่องจากตัวครูเปิ้ลเองเป็นติวเตอร์ สอนออนไลน์เกี่ยวกับวิชาคณิตศาสตร์และวิชาภาษาอังกฤษให้กับเด็กนักเรียนประมาณ 2-3 คน และเนื่องจากเด็กที่เรียนพิเศษกับเราจำนวนไม่เยอะก็ทำให้การเรียนการสอนออนไลน์ค่อนข้างทั่วถึง

     แต่ทั้งนี้ สิ่งที่ติวเตอร์ออนไลน์และอาจารย์สอนในห้องเรียนโดยทั่วไปมักจะพบเจอคือ ปัญหาเด็กติดเกม และแอบเล่นใต้โต๊ะเรียน กระทั่งต่อหน้าคุณครู หรือแม้แต่เนื้อหาที่สอนออนไลน์ให้กับเด็กค่อนข้างเยอะเกินไป หรือบางครั้งครูสอนออนไลน์และอาจารย์ที่สอนในห้องเรียนปกติเฉลยคำตอบโดยที่ไม่ได้อธิบาย หรืออธิบายไม่ละเอียด จึงทำให้พื้นฐานของเด็กอ่อนลง

     “โดยหากเปิดเทอมในต้นเดือนกรกฎาคมนั้น มุมมองส่วนตัวคิดว่ารูปแบบการเรียนการสอนในโรงเรียนจะเป็นรูปแบบของการผสม เพราะการเรียนในรูปแบบออนไลน์น่าจะยังเหมาะสมอยู่ เนื่องจากผู้ปกครองจะยังไม่ไว้วางใจเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสร้าย ประกอบกับทางโรงเรียนยังต้องปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างในชั้นเรียนให้กับเด็กๆ นั่นจึงทำให้ที่นั่งห้องเรียนไม่พอ ตรงนี้จึงทำให้ทางโรงเรียน เช่น โรงเรียนเอกชนบางแห่งที่เปิดวิชาเรียนแบบ 3 ภาษา (MLP) หรือสอนทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ กระทั่งบางโรงเรียนเอกชนที่เปิดการเรียนการสอนแบบ EP หรือ English Program ทั้งนี้การเรียนการสอนแบบ EP นั้นมีเด็กประมาณ 20 คนต่อห้อง จึงทำให้เด็กสามารถเรียนที่โรงเรียนทุกวันได้ แต่การเรียนการสอนในแบบ MLP นั้นจะมีเด็กประมาณ 50 คนต่อห้อง เลยต้องเรียนสลับกันคนละสัปดาห์ โดยที่ต้องมีการเว้นระยะห่างทางสังคมที่โรงเรียน ในวันที่ต้องเรียนในโรงเรียน และในสัปดาห์ที่หยุดจะต้องเรียนออนไลน์ที่บ้านกับทางโรงเรียน

     และแม้ว่ามีผู้ปกครองบางคนที่อาจจะไม่เห็นด้วยกับการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์นั้น ส่วนตัวครูเปิ้ลมองว่า ต่อจากนี้ไปคิดว่าผู้ปกครองน่าจะอยากให้ลูกหลานเรียนแบบผสมผสาน ระหว่างการเรียนในห้องเรียนกับคุณครู และการเรียนออนไลน์ที่บ้าน เพราะว่าบางครั้งเวลาที่เด็กว่าง การเรียนออนไลน์เสริมจะทำให้เด็กได้รับความรู้มากกว่าการทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ไม่มีประโยชน์ ซึ่งต่างจากเมื่อก่อนที่หากพูดถึงการเรียนออนไลน์ พ่อแม่จะบอกว่าเอาไว้ที่หลัง แต่เมื่อเหตุการณ์บังคับ เช่น กรณีของการล็อกดาวน์ช่วงโรคโควิด-19 ระบาด หากเด็กจะไม่เรียนออนไลน์ก็คงไม่ได้”

     ครูเปิ้ล บอกอีกว่า “แนวโน้มในอนาคตเกี่ยวกับระบบการเรียนการสอนออนไลน์ในบ้านเรานั้นอาจจะมีมากขึ้น เพราะอย่าลืมว่าปัจจุบันความรู้ทุกอย่างนั้นอยู่ในอินเทอร์เน็ต ประกอบกับปัจจุบันมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลกได้เปิดโอกาสให้นักศึกษาเรียนออนไลน์ฟรี โดยส่งลิงก์เว็บไซต์เกี่ยวกับการเรียนออนไลน์ฟรีให้กับนักศึกษา หรือหากผู้สนใจทั่วไปเพียงกดติดตามการเรียนออนไลน์ฟรีก็จะทำให้ได้รับข่าวสารดังกล่าว เป็นต้น”

(เจษฎา ไชยภูริพัฒน์)

     ด้าน อ.ป็อป-เจษฎา ไชยภูริพัฒน์ ติวเตอร์เจ้าของสถาบันกวดวิชา “POP MATH” และอาจารย์คณิตศาสตร์ รร.กวดวิชา “APPLIED PHYSICS” พญาไท บอกว่า “การที่บอกว่ารูปแบบการเรียนออนไลน์แบบไหนที่เหมาะกับบ้านเรานั้นจะต้องแยกเด็กออกเป็น 2 กลุ่ม โดยหากเป็นกลุ่มเด็กในระดับประถมศึกษา หรือ ป.1-ป.3 นั้น การเรียนการสอนออนไลน์อาจจะไม่เหมาะกับเด็กวัยนี้ เพราะอย่าลืมว่าการเรียนหน้าคอมพิวเตอร์ของเด็กเล็กนั้น เขาจะไม่มีสมาธิ และห่วงเล่น ซึ่งอาจจะเป็นภาระของพ่อแม่ในการคอยดูแลลูกขณะเรียนออนไลน์ ซึ่งอันที่จริงแล้วเด็กเล็กจะต้องเรียนกับครู และมีครูคอยอธิบายและเปิดโอกาสให้เด็กได้ซักถาม เพราะถ้าหากเด็กวัยนี้เรียนออนไลน์โดยที่เด็กไม่ได้ถามครู ความรู้ก็หายไปเลย ขยับมาในกลุ่มของเด็กช่วงมัธยมต้น หรือ ม.1 ก็จะมีลักษณะคล้ายกับเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 หรือ ป.6 กระทั่งเด็กมัธยมต้นช่วง มัธยมศึกษาปีที่ 2 บางคนก็ยังไม่ชอบการเรียนออนไลน์ ซึ่งคล้ายกับเด็กวัยประถมศึกษาที่ชอบเรียนกับครูในห้องเรียน

     ทั้งนี้ กลุ่มของเด็กที่จะเริ่มเรียนออนไลน์ได้ดีนั้น คือ กลุ่มของเด็กมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือประมาณ ม.4 เป็นต้นไป เพราะเด็กเริ่มที่จะวางแผนให้กับชีวิตตัวเองว่าอยากจะเรียนต่อในด้านไหนดี หรือเด็ก ม.6 ที่จำเป็นต้องเรียนพิเศษออนไลน์เพื่อที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ ผ่านรูปแบบของการเรียนออนไลน์สด (ครูนัดเวลาเรียน) หรือเรียนออนไลน์ในรูปแบบที่ครูอัดคลิปวิดีโอไว้ โดยที่เด็กเข้ามาที่สถาบันสอนพิเศษ และนั่งแบบเว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อเรียนออนไลน์ผ่านคลิปวิดีโอที่อาจารย์พิเศษได้จัดทำไว้ อาทิ รร.กวดวิชา “APPLIED PHYSICS” ได้เริ่มทำออนไลน์ตั้งแต่ 15 กรกฎาคม 2563 หรือสถาบันกวดวิชาดังๆ ที่สยามสแควร์ก็เริ่มทำออนไลน์กันแล้ว

     ในฐานะที่เป็นติวเตอร์นั้น ถ้าถามว่าการสอนออนไลน์เวิร์กหรือไม่ในช่วงนี้ ก็ต้องบอกว่าเป็นรูปแบบการเรียนการสอนที่จัดเตรียมเนื้อหาง่าย เพียงเขียนเนื้อหาหรือกำหนดโจทย์ผ่านอุปกรณ์อย่างแท็บเล็ต (ใช้อุปกรณ์ 2 ชนิดร่วมกัน โน้ตบุ๊กและแท็บเล็ต) โดยที่เด็กสามารถเห็นโจทย์ผ่านทางออนไลน์ที่เราเขียนได้ทันทีผ่านแท็บเล็ต จากการตั้งชื่อกรุ๊ปไลน์เด็กที่เรียนออนไลน์ และแชร์โจทย์การเรียนให้กับเด็กๆ พร้อมๆ กับการที่เราสามารถดูเด็กได้ผ่านโน้ตบุ๊กหรือสมาร์ทโฟนที่วางอยู่ตรงหน้า นั่นจะทำให้รู้ว่าเด็กตื่นตัวเรียนแค่ไหน ที่สำคัญเราสามารถทำเฉลยให้กับเด็กได้ดูอย่างง่ายดาย และการเรียนออนไลน์ป้องกันเด็กก่อกวนการเรียนได้ค่อนข้างมาก เพราะหากว่าเด็กคนไหนไม่ตั้งใจเรียน คุณครูสามารถปิดไมโครโฟนเด็ก เพื่อให้กลับมาตั้งใจเรียน หรือแม้แต่การเรียนออนไลน์ผ่านการอัดคลิปวิดีโอในสถาบันสอนพิเศษ ก็ทำให้เด็กไม่ต้องรอเวลา โดยเฉพาะบางวิชาที่เด็กจะต้องเรียนรู้ก่อนหรือเรียนล่วงหน้า เช่น วิชาคณิตศาสตร์ เป็นต้น เพื่อจะสอบเข้าในระดับมหาวิทยาลัย”

 

     อ.ป็อป-เจษฎา บอกอีกว่า ทั้งนี้แนวโน้มในอนาคตเกี่ยวกับรูปแบบการเรียนออนไลน์ที่เหมาะสำหรับบ้านเรานั้น หากเป็นกลุ่มเด็กเล็กอาจจะไม่เหมาะสม เพราะถ้าให้เด็กเรียนออนไลน์ โอกาสที่เด็กจะเล่นเกมเป็นไปได้มาก โดยเฉพาะเด็กเล็กในชนบท เมื่อกลับถึงบ้านอาจจะต้องช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน และไม่มีเวลาเรียนออนไลน์ แต่ถ้าเป็นเด็กในระดับมัธยมปลาย แม้จะอยู่ต่างจังหวัด แต่เป็นช่วงวัยที่เล่นคอมพิวเตอร์เป็น ก็จะเหมาะสมกับการเรียนออนไลน์มากกว่า

     “หากเป็นการเรียนการสอนของโรงเรียนใน กทม.และปริมณฑลนั้น ในฐานะติวเตอร์มองว่า ควรจะเหมาะกับรูปแบบการเรียนการสอนออนไลน์ ผสมกับการเรียนในห้องเรียนกับคุณครู คือการให้เด็กดูคลิปครูสอนวิชาต่างๆ ในช่องยูทูบ โดยให้เด็กดูที่บ้าน สลับกับการมาเรียนบางวิชาในโรงเรียน เพื่อให้เด็กได้ความรู้ตามกำหนดระยะเวลาของการเปิด-ปิดเทอม

     แต่ในส่วนของโรงเรียนในต่างจังหวัด เด็กเล็กไปจนถึงประถมศึกษาตอนปลาย หรือ ป.6 อาจจะมีความต้องการเรียนกับครูในชั้นเรียน (บางพื้นที่จัดให้เรียนผ่านโทรทัศน์ทางไกลช่อง DLTV) เนื่องจากเป็นช่วงวัยที่เด็กอาจจะยังไม่พร้อมมากนักในการเรียนออนไลน์ในหลายๆ เรื่องอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น ส่วนในกลุ่มของเด็กมัธยมปลายในต่างจังหวัด ก็จะเริ่มเรียนพิเศษออนไลน์กับทางสถาบันกวดวิชาในตัวเมือง ที่ขานรับการเรียนออนไลน์มากขึ้น แต่ในอนาคตอันใกล้ เกี่ยวกับการเรียนออนไลน์แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ของโรงเรียนในบ้านเรานั้น ส่วนตัวมองว่าเนื่องจากในต่างประเทศ อาทิ ม.แสตมฟอร์ด ก็ได้มีการเรียนการสอนฟรีผ่านทางออนไลน์จบจนมหาวิทยาลัย ซึ่งถ้านักศึกษาอยากได้ใบปริญญา ก็อาจจะต้องเสียเงินตอนจบมากกว่า ตรงนี้ประเทศไทยเองก็อาจจะดูเทรนด์ดังกล่าวเป็นตัวอย่าง และนำมาปรับใช้อย่างเหมาะสมครับ   หรือเริ่มที่จะมีการเรียนออนไลน์เสริมบ้างในบางรายวิชาโรงเรียน เป็นต้น”

(กตัญชลี ชินสมบรูณ์)

     ด้าน ผอ.แบ๋ม-กตัญชลี ชินสมบรูณ์ ผู้อำนวยการโครงการโรงเรียนไทยสู่ความเป็นเลิศ ให้ข้อมูลสอดคล้องกันว่า “รูปแบบการเรียนการสอนแบบผสมผสานกันไป หรือทั้งแบบเรียนออนไลน์ และเรียนอยู่บ้าน ในช่วงของการปรับตัวตามแบบ new normal นั้น เป็นสิ่งที่เหมาะกับการศึกษาในบ้านเราค่ะ เพราะอย่าลืมว่าระบบการเรียนการสอนก็ต้องปรับให้สอดคล้องนโยบายรักษาความปลอดภัยจากเชื้อไวรัสร้ายของเด็กไทย แต่ขณะเดียวกันเด็กก็ยังได้รับความรู้จากการศึกษาเล่าเรียนอยู่

     “ถ้าจะถามว่าระบบการศึกษาในบ้านเราจะเหมาะกับการเรียนออนไลน์ 100 เปอร์เซ็นต์หรือไม่นั้น คิดว่าปัจจุบันอาจจะยังไม่เหมาะ เพราะระบบการศึกษาของไทยนั้น จากอดีตจนถึงปัจจุบันจะต้องอาศัยความเป็นส่วนร่วมระหว่างบ้าน วัด โรงเรียน พูดง่ายๆว่าเด็กจะเรียนรู้ร่วมกันแบบผสมผสาน ทั้งวัฒนธรรม คุณธรรม จริยธรรม ฯลฯ ไม่ใช่แค่การเรียนรู้ในเรื่องวิชาการเพียงอย่างเดียว ส่วนการที่บอกว่าการเรียนการสอนในช่วงที่โรคโควิด-19 ระบาด ควรจะเป็นรูปแบบผสมผสาน หรือทั้ง “ออฟไลน์และออนไลน์” นั้น ตรงนี้เด็กๆ จะได้เรียนรู้ทั้งของเก่าและของใหม่ แต่ในฐานะที่เราอยู่ในสายครูนั้น ก็ยังคงอยากให้เด็กเข้าสู่ระบบการเรียนในโรงเรียน เพราะเด็กๆ ได้ทั้งการเรียนรู้ในห้องเรียนและการอยู่ในสังคมร่วมกับเพื่อนๆ เพราะหากเด็กเรียนออนไลน์อยู่บ้าน 100 เปอร์เซ็นต์ ประกอบความพร้อมหรือการเรียนการสอนของแต่ละครอบครัวนั้นแตกต่างกัน ก็อาจจะทำให้บางครอบครัวที่ไม่พร้อม รู้สึกว่าการเรียนออนไลน์นั้นเป็นภาระของพ่อแม่

     แต่ในปัจจุบันนี้ก็เริ่มมีหลายบ้านที่มองว่า การเรียนออนไลน์ สลับกับการออฟไลน์นั้นเป็นสิ่งที่ทำให้เด็กๆ เริ่มที่จะปรับตัว ซึ่งข้อดีของการเรียนออนไลน์คือ 1.เรื่องความปลอดภัยจากเชื้อโรคร้าย 2.ในกรณีที่บ้านไหนพร้อมสำหรับการเรียนออนไลน์ของลูกๆ ก็จะช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดี โดยเฉพาะการที่ผู้ปกครองมีส่วนช่วยในการเรียนออนไลน์ของเด็กๆ ก็จะทำให้เห็นการพัฒนาของลูกๆมากขึ้น 3.เป็นการเรียนรู้ของเด็กๆ ตามยุคสมัย ตั้งแต่การที่เด็กเริ่มใช้คอมพิวเตอร์ หรือการส่งงานผ่านแอปพลิเคชันไลน์ และรู้จักหาความรู้ในอินเทอร์เน็ตเพื่อทำรายงาน เป็นต้น

     ซึ่งหากถามว่าจะให้เด็กยุคนี้เรียนออนไลน์ 100 เปอร์เซ็นต์ตามหลักสูตรของทางโรงเรียนเลยนั้น อาจจะเป็นไปได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากระบบการศึกษาในบ้านเราค่อนข้างจะจำกัดในเรื่องนี้อยู่ ยกตัวอย่าง บางครั้งเด็กมีไอแพดเพื่อที่จะเรียนออนไลน์ แต่ทางโรงเรียนอาจจะยังไม่มีปลั๊กสำหรับสายชาร์จไอแพดให้กับเด็ก ซึ่งตรงนี้ระบบการศึกษาในบ้านเรา อาจจะต้องใช้เวลาเตรียมตัวสักพักหนึ่ง

     ทั้งนี้ ในอีก 10-20 ปีข้างหน้า รูปแบบการเรียนออนไลน์ 100 เปอร์เซ็นต์ก็อาจจะเป็นไปได้ในกลุ่มของเด็กมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือ ม.ปลายค่ะ หรือเด็กโตมากกว่า เพราะเด็กจะเริ่มมีความพร้อมและรู้จักรับผิดชอบตัวเอง อีกทั้งเด็กวัยนี้สามารถที่จะใช้คอมพิวเตอร์เป็นค่ะ”.

 

                                โรงเรียน...เป็นคำตอบสุดท้าย

 

     แม้การเรียนออนไลน์ของคุณน้องๆ หนูๆ ถือเป็นจุดเริ่มต้น เพื่อให้เด็กเรียนรู้ทั้งของเก่าและของใหม่ อย่างการศึกษาเล่าเรียนผ่านเทคโนโลยีหรืออุปกรณ์ไอทีต่างๆ หรือแม้แต่การเรียนในโรงเรียนที่ปลูกฝังให้เด็กมีระเบียบวินัย และรู้จักการเข้าสังคม ที่ในอนาคตอาจจะต้องทำควบคู่กัน...ในมุมของผู้ปกครอง ก็มีเสียงสะท้อนเกี่ยวกับการเรียนออนไลน์ไว้น่าสนใจ!!!

     ศิริพร ลีลายุวัฒนกุล คุณแม่ลูก 2 เจ้าของร้านนวดแผนไทย “หงส์หยกนวดเพื่อสุขภาพ” บอกว่า “ส่วนตัวอยากให้ลูกไปเรียนที่โรงเรียน เพราะจะทำให้เด็กมีระเบียบวินัย และทำตามกฎหรือคำสั่งของโรงเรียน พูดง่ายๆ ว่าถ้าครูบอกให้ทำอะไร เช่น ครูบอกให้เด็กๆ ตั้งใจเรียน เด็กก็จะเชื่อฟัง แต่ปัจจุบันลูกสาวคนเล็กในระดับชั้นอนุบาลก็เรียนออนไลน์อยู่ และจากการเรียนออนไลน์ของลูกนั้น พ่อแม่ต้องคอยนั่งประกบให้ลูกตั้งใจเรียน เพราะเด็กจะวอกแวกง่ายมาก ไม่เกิน 5 นาทีลูกก็จะไม่อยากเรียนแล้ว อีกทั้งปัญหาที่พบในปัจจุบันนั้นคือการที่อินเทอร์เน็ตไม่เสถียร ก็จะทำให้การเรียนไม่ได้ผลเท่าที่ควร จึงอยากให้เด็กๆ ไปโรงเรียนมากกว่าค่ะ”

     สำเพา นมพุก คุณแม่ลูก 2 บอกคล้ายกันว่า “ส่วนตัวอยากให้เด็กเรียนที่โรงเรียนค่ะ เพราะมีครูคอยดูแล และเด็กก็มักจะทำตามคำสั่งของครู หรือเชื้อฟังครูนั่นเอง ส่วนตัวจากลูกเรียนออนไลน์ทั้ง 2 คนนั้น เด็กๆ ก็มีความตั้งใจเรียนดี แต่ด้วยความเป็นเด็ก พ่อแม่จะต้องคอยดูลูกเป็นระยะๆ ประกอบกับมีภาระหน้าที่การงานซึ่งต้องรับผิดชอบ บางครั้งไม่สามารถดูแลลูกได้ตลอด ที่สำคัญขณะที่เด็กเรียนออนไลน์มักจะมีปัญหาอินเทอร์เน็ตสะดุด จึงทำให้การเรียนไม่สม่ำเสมอ และก็เป็นภาระของพ่อแม่ ที่ต้องคอยกำชับให้ลูกเรียนด้วยส่วนหนึ่ง ก็มองว่าการเรียนออนไลน์นั้นอาจจะไม่เหมาะสมกับเด็กๆ ดังนั้นจึงอยากให้ลูกไปโรงเรียนมากกว่า”.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"