'บี'เตือนรวมก๊วน แย่ง'เก้าอี้'ไร้ผล!


เพิ่มเพื่อน    


     ปชป.สงขลาขนกองเชียร์กว่า 200 คนมอบกุหลาบให้กำลังใจ "จุรินทร์" สู้กระแสเปลี่ยนหัวหน้าฯ เจ้าตัวลั่นคุยกันชัดเจนแล้ว ทุกคนในพรรคตระหนักดีว่าเอกภาพเป็นหัวใจสำคัญ “พีระพันธุ์” ยืนกรานไม่กลับ ปชป. “มาร์ค” ปัดไม่เกี่ยวข้องห่วง รธน.ทำพรรคการเมืองอ่อนแอ “ลุงป้อม” ร้องอู้ว! หลังสื่อถามนั่งหัวหน้า พปชร.ควบนายกฯ "พุทธิพงษ์" ยันไม่ใช่เจ้าของชีวิต ส.ส.กทม. แต่เชื่อจับกลุ่มต่อรองตำแหน่งใช้กับนายกฯ ไม่ได้ผล
     ที่ท่าอากาศยานนานาชาติหาดใหญ่ จ.สงขลา เวลา 10.30 น. วันที่ 12 มิถุนายน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้เดินทางลงพื้นที่ปฏิบัติภารกิจที่ จ.สงขลา และ จ.สตูล เพื่อติดตามโครงการพาณิชย์ลดราคาช่วยประชาชน และนโยบายประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางและชาวสวนปาล์ม รวมทั้งมอบถุงยังชีพและซาเล้งให้กับชาว จ.สงขลาและสตูล
    โดยบรรยากาศขณะเดินทางถึงท่ากาอาศยานฯ มีนายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย, นายสุรินทร์ ปาลาเร่ ส.ส.เขต 8 สงขลา พรรค ปชป. มารอต้อนรับ รวมทั้งบรรดากรรมการบริหารพรรค, สมาชิกพรรค ปชป. และประชาชนใน จ.สงขลาและสตูลมารอต้อนรับมอบดอกกุหลาบและชูป้ายให้กำลังใจนายจุรินทร์ราว 200 คน
    ทั้งนี้ ระหว่างที่นายจุรินทร์เดินพบปะกับสมาชิกพรรคและประชาชนที่มารอต้อนรับ ได้เกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าภายในอาคารผู้โดยสารดับกะทันหัน ทำให้มืดสนิทไปชั่วขณะ และมีเสียงฮือขึ้นมาจากคณะของนายจุรินทร์และผู้ที่มารอต้อนรับ ก่อนที่ระบบไฟฟ้าสำรองภายในอาคารจะทำงาน ขณะที่ด้านนอกอาคารได้เกิดฝนตกหนักและต้องเดินไปขึ้นรถท่ามกลางสายฝน
    เมื่อผู้สื่อข่าวได้สอบถามถึงกรณีที่มีกระแสความขัดแย้งภายในพรรคประชาธิปัตย์ ที่คณะกรรมการบริหารพรรคได้กดดันให้มีการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ นายจุรินทร์กล่าวว่า ได้มีการพูดคุยกันชัดเจนแล้ว ซึ่งทุกคนในพรรคตระหนักดีว่าความเป็นเอกภาพจะเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยให้พรรคได้รับการยอมรับจากประชาชนมากขึ้น โดยเฉพาะในภาคใต้ซึ่งการเลือกตั้งที่ผ่านมา คะแนนเสียงลดลงมาเหลือ 22 เสียงจากทั้งหมด 50 เสียง เป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องร่วมกัน ทั้งหัวหน้า เลขาธิการพรรค คณะกรรมการบริหารพรรค รัฐมนตรีของพรรคและสมาชิกพรรคทุกคน จะต้องช่วยกันทำให้คะแนนนิยมในภาคใต้เพิ่มขึ้น ซึ่งมีความเป็นไปได้จากการทำงานในคณะรัฐบาลและจากนโยบายประกันรายได้เกษตรกร
    นายจุรินทร์กล่าวว่า ภารกิจวันนี้ก็มาทั้งสองอย่างควบคู่กันไป  ทั้งปฏิบัติภารกิจในฐานะ รมว.พาณิชย์ ที่ลงมาติดตามโครงการพาณิชย์ลดราคาช่วยประชาชน และติดตามนโยบายประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ชาวสวนปาล์มที่ภาคใต้ และมามอบถุงยังชีพให้กับซาเล้งที่ จ.สตูล และหาดใหญ่ แต่อีกส่วนหนึ่งก็มาปฏิบัติภารกิจในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่มาพบปะกับสมาชิกทุกภาค
“พีระพันธุ์-มาร์ค”ปัดไม่เกี่ยวข้อง
    นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมีกระแสข่าวจะกลับไปพรรคประชาธิปัตย์ว่า ไม่เป็นความจริง ตนออกมาแล้วไม่เคยคิดกลับ และไม่มีใครมาทาบทาม ตนงงกับข่าว สัปดาห์ก่อนก็มีข่าวว่าตนจะไปเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ มาสัปดาห์นี้ก็บอกว่าตนจะกลับไปพรรคประชาธิปัตย์เพื่อเป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งตอนนี้ไม่มีความคิดที่สังกัดพรรคการเมืองไหน เพราะยังไม่ถึงเวลา อีกทั้งตอนนี้ตนมีความสุขมากที่ทำงานอยู่ตรงนี้ อยู่กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ไม่เคยคุยกันเรื่องการเมืองเลย คุยกันแต่เรื่องงานอย่างเดียว ตรงกับสิ่งที่ตนอยากทำมาตลอด
    นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าพรรค ปชป. ให้สัมภาษณ์ในรายการหน้าหนึ่งที่เมืองไทย เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.ที่ผ่านมา ถึงปัญหาภายในพรรค ปชป. ที่มีข่าวการรวบรวมรายชื่อกรรมการบริหารพรรคเพื่อให้มีการเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคว่า ได้รับทราบข่าวนี้จากสื่อมวลชน แต่ไม่ทราบข้อเท็จจริงว่ามีการเคลื่อนไหวอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่พูดได้เต็มปากเต็มคำคือ ตนไม่ได้เกี่ยวข้อง และถ้าใครบอกว่ากำลังจะมีการเปลี่ยนแปลง สื่อบางสำนักลากตนกลับไป ก็ยืนยันว่าไม่ใช่แน่นอน สำหรับสภาวะการเมืองในปัจจุบัน เห็นว่าน่าเป็นห่วงถึงอนาคตอันใกล้นี้ เพราะดูจากผลสำรวจความเชื่อถือที่มีต่อการเมืองลดน้อยถอยลงไปมาก ความเข้มแข็งของสถาบันการเมือง โดยเฉพาะในระบบรัฐสภา พรรคการเมืองต้องเป็นองค์กรที่มีความเข้มแข็ง ก็ดูเหมือนมีแต่ความวุ่นวายและความอ่อนแออยู่ในเกือบจะทุกพรรคการเมือง
    "แม้ว่าการเมืองในระบอบประชาธิปไตยจะหวังให้ราบรื่น ตลอดไปไม่ได้ จะมีการช่วงชิงกันบ้าง การเห็นต่างกันบ้างเป็นส่วนหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย แต่ในปัจจุบันมีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น รัฐธรรมนูญทำให้คนที่อยู่ในการเมืองหลายคนคิดว่าฉันมีพรรคเล็กๆ สัก 10-20 คนน่าจะดีกว่า เลยทำให้การถอยห่างออกจากรูปแบบการเมืองที่พยายามพัฒนากันมาก่อนหน้านี้  ซึ่งก็ถูกมองว่าทำให้เกิดการแบ่งขั้ว แต่ในขณะนี้สร้างระบบอีกแบบหนึ่ง ความขัดแย้งก็ไม่ได้ลดลง ส่วนปัญหาในพรรคพลังประชารัฐนั้น ให้ไปย้อนดูเทปคำปราศรัยที่ผมเคยพูดในช่วงหาเสียง จะพบว่าปัญหาไม่ได้แตกต่างจากที่เคยกล่าวไว้" นายอภิสิทธิ์กล่าว
    ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวตอบคำถามถึงความพร้อมจัดประชุมใหญ่พรรค พปชร. เพื่อเลือกกรรมการบริหาร (กก.บห.) พรรคชุดใหม่ ในวันที่ 3 ก.ค.นี้ว่า "โอ้ว ไม่รู้ ไม่รู้ ถามแต่เรื่องพรรคนั่นแหละ" 
    เมื่อถามว่า หากถูกเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แล้วจะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปในอนาคตหรือไม่ พล.อ.ประวิตรทำเสียงสูงและลากยาวใส่ผู้สื่อข่าวว่า “ฮู้ว” ก่อนจะขึ้นรถออกไปทันที
    นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และรักษาการคณะกรรมการบริหารพรรค พปชร. กล่าวถึงปัญหาในพรรค พปชร. ที่ขณะนี้มีการตั้งข้อสังเกตถึงความไม่เป็นเอกภาพหลังกลุ่ม ส.ส.กทม.ไปลงพื้นที่กับกลุ่มของ น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ ว่าไม่ได้มีปัญหาอะไร ยืนยันว่ายังทำงานร่วมกัน และยังประชุมสภาผู้แทนราษฎรร่วมกันอยู่ ส่วนการลงพื้นที่ก็เป็นนโยบายที่เราสนับสนุน ซึ่งที่ผ่านมาตนก็ส่งถุงยังชีพให้ ส.ส.ทุกเขตใน กทม.อยู่แล้ว ส่วนใครจะชวนใครลงพื้นที่ไม่เป็นปัญหา เพราะเป็นหน้าที่ ส.ส. ที่ต้องลงพื้นที่ดูแลความเดือดร้อนของประชาชน 
    ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่มีการมองว่าภาพ ส.ส.กทม.แตกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มที่อยู่กับนายพุทธิพงษ์มี 7 คน และกลุ่มที่อยู่กับ น.ส.วทันยามี 5 คน นายพุทธิพงษ์กล่าวว่า ก็ยังไม่มี ต้องดูยาวๆ ทุกอย่างเป็นไปได้ เชื่อว่าเมื่อมีการเลือก กก.บห.เสร็จ ผู้บริหารใหม่ที่เข้าไปก็คงทำให้ทุกอย่างมีเอกภาพมากขึ้น และหลายข่าวในอดีตที่ผ่านมาก็อาจเป็นการคิดกันไปเองว่าการทำแบบนี้จะได้มาซึ่งแบบนั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไป จะเข้าใจใน พปชร.ที่มีแนวคิดจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงบริหาร คือเรื่องสาระสำคัญของการทำงานของพรรค ที่ผ่านมา 1 ปี สถานการณ์ของพรรคในเรื่องการทำงานยังมีหลายอย่างที่ต้องทำ แต่ยังไม่ได้ทำ ซึ่งไม่ได้เป็นความผิดของใคร ต่างคนต่างก็มีภารกิจ อีกเรื่อง กก.บห.ชุดแรกเริ่มมีตั้งแต่ก่อตั้งพรรคมา และเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้ง แต่ปัจจุบันเรามี ส.ส.กว่า 100 คน รวมทั้งมีสาขาและสมาชิกอีกจำนวนมาก จึงควรมีองค์ประกอบของ ส.ส.ในแต่ละภาคเข้ามาเป็น กก.บห.เพื่อมีส่วนร่วมสะท้อนปัญหาของประชาชนจึงถึงเวลาที่จะปรับเปลี่ยน 
เชื่อตั้งก๊วนต่อรองนายกฯ ไม่ได้
    "ถ้าความสัมพันธ์ส่วนตัวคิดว่ายังดีอยู่ เพียงแต่เราไม่ปิดกั้นความคิดใครว่าจะต้องสนับสนุนใคร และหากมี กก.บห.พรรค จะสนับสนุนใครส่วนตัว ผมก็ไม่เคยไปคุยกับน้องๆ ว่าต้องเลือกใครหรือสนับสนุนใคร เพราะเป็น ส.ส.กันแล้ว แต่ละคนมีความคิดเป็นของตัวเอง ผมไม่เคยปิดกั้นใคร มันก็เลยเป็นสถานการณ์มาจนถึงวันนี้ เราไม่ใช่เจ้าของชีวิตเขา ไม่ใช่เจ้าของความคิดเขา อาจดูว่าเหมือนเราไม่ได้พูดคุยกัน แต่ความสัมพันธ์ส่วนตัวผมว่ายังดีอยู่ ไม่ได้มีอะไรมาก และเท่าที่ดูจากสื่อก็ไม่มีเรื่องการต่อรอง" นายพุทธิพงษ์กล่าวเมื่อถามว่ายืนยันได้หรือไม่ว่ากลุ่ม กทม.ไม่ได้แตกเป็น 2 ส่วน 
    เมื่อถามว่า ห่วงหรือไม่ว่าจะมีการชวน ส.ส.กทม.ออกไปตั้งกลุ่มเพื่อต่อรองทางการเมือง นายพุทธิพงษ์กล่าวว่า ไม่แน่ใจเรื่องการไปตั้งกลุ่ม เพราะตนไม่ได้ทำ แต่ไม่เชื่อเรื่องการต่อรองตำแหน่ง ถ้าจะมีการเปลี่ยนหรือปรับต่างๆ ไม่เชื่อว่านายกฯ จะใช้เหตุผลไปดูเรื่องการจับกลุ่มในพรรคของเราเอง มันไม่ใช่ระบบและวิธีที่ถูกต้อง ซึ่งระบบนี้อาจใช้ได้ในช่วงก่อนเลือกตั้งว่ามีใครสนับสนุนผู้สมัครคนไหนเพื่อช่วยให้ได้เป็น ส.ส. แต่หลังมีการเลือกตั้งมานานแล้วมารวบรวม ส.ส.ในพรรคตัวเองเพื่อเป็นพลังในการต่อรองตำแหน่งนั้น ตนไม่คิดว่าระบบนี้จะเกิดขึ้น เพราะถ้ามีคงเป็นปัญหากันใหญ่ เพราะทุกคนคงไปรวบรวม ส.ส.ขึ้นมาต่อรอง จึงไม่คิดว่าระบบนี้เป็นระบบที่นายกฯ จะใช้ ถ้าใช้ระบบนี้จะยุ่งกันไปใหญ่ทุกภาคและทุกโซน 
    เมื่อถามว่า รู้สึกน้อยใจหรือไม่ เพราะได้ช่วยสนับสนุนมาตั้งแต่ต้น แต่ตอนนี้กลับจะย้ายกลุ่ม นายพุทธิพงษ์กล่าวว่า ส่วนตัวยอมรับว่าตนเป็นทาบทามและคนชวน ส.ส.และผู้สมัคร กทม.เกือบทุกคนมาเอง โดยดูจากคุณสมบัติของแต่ละคน แต่ตนไม่สามารถไปเป็นเจ้าของความคิดและความเห็นของใครได้ 
    "วันหนึ่งหากใครคิดจะไปไหนก็ต้องให้เกียรติและสิทธิ์ แต่ถ้าถามว่ารู้สึกอย่างไร ส่วนตัวไม่ได้เสียใจอะไร และคิดว่าเขาเป็นบุคลากรที่ดี และมีความคิดเป็นของตัวเอง แต่ถ้าวันหนึ่งผมนั่งคิดได้ก็อาจเสียใจด้วยตัวเองว่าเราเลือกมาเอง และสนับสนุนเขาไปถึงฝั่งแล้ว ก็เป็นสิ่งที่เขาจะดำเนินการได้ตามความคิดของเขา ส่วนผมก็มีความคิดของผมเอง" นายพุทธิพงษ์กล่าว
    ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายโชติวุฒิ เขียนนิลศิริ อดีตเลขาธิการพรรคพลังชาติไทย พร้อมด้วยนายพรพิพัฒ พรหมชนะ อดีตนายทะเบียนสมาชิกพรรคพลังชาติไทย เข้ายื่นจดจัดตั้งพรรคเรา โดยนายโชติวุฒิกล่าวว่า ตนพร้อมด้วยอดีตกรรมการบริหารพรรคและอดีตสมาชิกพรรคพลังชาติไทยกว่า 1,000 คน ยื่นจดจัดตั้งพรรคเรา สาเหตุที่ย้ายออกจากพรรคพลังชาติไทย เนื่องจากมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่ต่างกัน ต้องการให้พรรคการเมืองเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ให้ประชาชนมีส่วนร่วม จึงเป็นที่มาของคำว่าเรา เมื่อทุกคนเรียกชื่อพรรคเราถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของพรรค การเมืองควรเป็นเรื่องผลประโยชน์ของประชาชนมากกว่าผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง หลายคนอยากจะเห็นพรรคการเมืองที่มีความตั้งใจจริงในการแก้ไขปัญหาของประเทศ พรรคเรามีความพร้อมในการลงเลือกตั้งท้องถิ่น
    ส่วนกรณีที่ออกมาตั้งพรรค เพราะพรรคพลังชาติไทยเข้าร่วมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานั้น นายโชติวุฒิกล่าวว่า ไม่เกี่ยว พรรคการเมืองทุกพรรคอยากเข้าร่วมรัฐบาล ซึ่งพรรคเก่าเข้าร่วมรัฐบาลตนก็ยินดีด้วย ยืนยันว่าไม่มีความขัดแย้งกับ พล.อ.ทรงกลด ทิพย์รัตน์ หัวหน้าพรรคพลังชาติไทย แต่สาเหตุเพราะแนวทางการเมืองที่แตกต่างกัน โดยนโยบายพรรคเราต้องการมีความเป็นกลางจริงๆ ไม่มีขั้ว ไม่มีสี เชื่อว่าประชาชนคงเบื่อกับเหตุการณ์เหล่านั้น.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"