รุมทึ้งเงินกู้โควิดทะลุเพดาน4แสนล.


เพิ่มเพื่อน    


    ส่วนราชการแห่ทึ้งเงินกู้ฉุกเฉินเยียวยาโควิดสูงเฉียด 8 แสนล้าน ทะลุกรอบ 2 เท่า วงเงิน 4 แสนล้านบาท เรียงหน้าชงกระจายกว่า 3 หมื่นโครงการ ด้านกลุ่มวิสาหกิจ-เอสเอ็มอีนำโด่งขอใช้เงินมากที่สุด ขณะที่โฆษก กห.โต้เก็บคืนเอกสารลับประชุม กมธ.งบฯ เป็นไปตามระเบียบรักษาความลับราชการ
    เมื่อวันศุกร์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบเว็บไซต์ ThaiMe http://nscr.nesdb.go.th/thaime/ ภายหลังจากที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดให้ประชาชนตรวจสอบหน่วยงานราชการยื่นขอใช้เงินกู้จากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ในส่วนเงินใช้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 กรอบวงเงินกู้ 4 แสนล้านบาท รอบแรกระหว่างวันที่ 5-15 มิ.ย.2563
    จากการตรวจสอบพบว่า เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 12 มิ.ย. มีส่วนราชการยื่นขอใช้เงิน รวมแล้วกว่า 31,801 โครงการ คิดเป็นวงเงินรวม 783,348 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่ากรอบวงเงินที่มี 4 แสนล้านบาทเกือบเท่าตัว ซึ่งส่วนราชการยังสามารถเสนอโครงการเพื่อขอใช้เงินได้ต่อเนื่อง และวงเงินก็จะปรับเพิ่มขึ้นอีก
    นอกจากนี้ วงเงินกว่า 783,348 ล้านบาท เป็นการเสนอขอใช้เงินกู้ ตามกรอบโครงการกลุ่มที่ 1 ที่เสนอโดยกระทรวง ทบวง กรม , โครงการกลุ่มที่ 2 สำหรับเศรษฐกิจฐานราก และโครงการกลุ่มที่ 4 เพื่อโครงสร้างพื้นฐานเท่านั้น ยังไม่รวมโครงการกลุ่มที่ 3 สำหรับการกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งกระทรวงการคลังกำลังหารือมาตรการร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในการแจกเงินเพื่อไปเที่ยว
    เมื่อตรวจสอบรายโครงการพบว่า โครงการกลุ่มที่ 1 มีการเสนอ 164 โครงการ วงเงินรวม 284,302 ล้านบาท โดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) มีการขอใช้วงเงินมากที่สุด 150,750 ล้านบาท เป็นโครงการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 3 โครงการ ในขณะกลุ่มที่ 2 มีการเสนอโครงการเข้ามาแล้วรวม 31,345 โครงการ วงเงินรวม 416,149 ล้านบาท, กลุ่มที่ 3 ยังไม่มีการเสนอขอใช้เงินกู้เข้ามา และกลุ่มที่ 4 มีการเสนอเข้ามาแล้ว 292 โครงการ วงเงินรวม 82,896 ล้านบาท
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หากค้นหาโครงการตามที่สภาพัฒน์ระบุ จะพบว่า โครงการที่ปรากฏบนเว็บไซต์ ThaiME คำว่า "ถนน” มีมากถึง 12,182 โครงการ, "เกษตร” มี 5,632 โครงการ, "ท่องเที่ยว” มี 2,603 โครงการ, "ประปา” มี 1,805 โครงการ, "แหล่งน้ำ” มี 1,392 โครงการ, "ไฟฟ้า” มี 814 โครงการ, "เศรษฐกิจพอเพียง” มี 200 โครงการ, "ทะเล” มี 194 โครงการ, "สร้างงาน” มี 117 โครงการ และ "ความยากจน” มี 9 โครงการ
    ก่อนหน้านี้ นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สศช. ระบุว่า สำหรับขั้นตอนการพิจารณาโครงการในรอบแรก ในวันที่ 5-15 มิ.ย. คณะทำงานจะเข้าไปตรวจสอบรายละเอียดโครงการเบื้องต้น พร้อมเปิดให้ประชาชนเข้าไปตรวจสอบรายละเอียดโครงการ ผ่านเว็บไซต์ ThaiMe
    “เมื่อผ่านการตรวจสอบรอบแรก ก็จะเข้าสู่ชั้นคณะอนุกรรมการและกรรมการกลั่นกรอง ในช่วงวันที่ 16-30 มิ.ย. และเข้า ครม.รอบแรกในช่วงวันที่ 2 หรือ 7 ก.ค. ส่วนที่โครงการไม่ผ่าน มีบางโครงการที่คณะทำงานตีตก และบางโครงการที่ต้องส่งข้อมูลเพิ่ม ก็จะต้องส่งมาภายใน 9 ก.ค. เพื่อรวมกับโครงการเสนอมาเพิ่ม และเสนอ ครม.พิจารณารอบ 2 ในวันที่ 11 ส.ค.” นายทศพรระบุ 
     ด้านนายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้ รัฐบาลเตรียมพิจารณาอนุมัติโครงการที่นำเสนอมาตามาตรการฟื้นฟูประเทศที่ใช้เงินจากการออกพระราชกำหนดกู้เงิน 400,000 ล้านบาท พรรคฝ่ายค้านมีความกังวลว่าการใช้งบประมาณของรัฐจะมีความโปร่งใสหรือไม่ และโครงการที่อนุมัติตรงกับความต้องการของประชาชนหรือไม่ นอกจากนี้มีรายงานว่าฝ่ายการเมืองโดยเฉพาะฝ่ายรัฐบาลพยายามที่จะเข้าไปแทรกแซงในโครงการที่นำเสนอเข้ามา 
    นายประเสริฐกล่าวต่อว่า การใช้งบประมาณในโครงการรัฐบาลต้องมีความชัดเจนว่า จะสามารถแก้ไขปัญหาของประเทศได้ และเกิดการสร้างงานได้จริง เพราะหากเป็นเพียงการใช้วาทกรรม สุดท้ายงบประมาณมหาศาลนี้จะนำไปละลายแม่น้ำ ไม่เห็นผลงานอะไรเลย และเพื่อให้เงินภาษีของประชาชนได้เกิดประโยชน์สูงสุด พรรคฝ่ายค้านจำเป็นที่จะต้องตั้งคณะกรรมาธิการติดตามและตรวจสอบการใช้เงินกู้ของรัฐบาล เพื่อรักษาและปกป้องผลประโยชน์ให้กับประชาชน   
    “พรรคฝ่ายค้านหวั่นเกรงว่า การใช้เงินกู้ 1.9 ล้านล้าน จะเกิดความซับซ้อน และต้องระวังเรื่องโครงการที่จะหาผลประโยชน์ ที่ผ่านมามีหลายภาคส่วนวิพากษ์วิจารณ์โครงการของรัฐบาล และมีความเคลือบแคลงเรื่องความโปร่งใสและเปิดโอกาสให้มีการทุจริต หวั่นว่าเงินกู้ 1.9 ล้านล้านจะไม่เป็นงบไอติมเหมือนงบประมาณที่ผ่านมาของรัฐบาลที่กว่าจะถึงมือประชาชนก็เหลือแต่ไม้ หลายโครงการของรัฐบาลจึงไม่เกิดประโยชน์กับประชาชน” นายประเสริฐระบุ  
    ส.ส.พรรคเพื่อไทยรายนี้ระบุด้วยว่า พลเอกประยุทธ์ไม่เคยชี้แจงรายละเอียดการใช้เงินให้ประชาชนรับทราบ ว่าใช้ไปในโครงการใด ดังเช่นงบกลางกว่า 500,000 ล้านบาท ที่พลเอกประยุทธ์ใช้หมดไปในเวลาอันรวดเร็ว พลเอกประยุทธ์ไม่เคยบอกประชาชนว่านำเงินไปใช้อะไร พรรคฝ่ายค้านจะใช้กลไกของสภาผู้แทนราษฎร ตรวจสอบการใช้เงินของพลเอกประยุทธ์อย่างแน่นอน 
     ด้าน น.ส.เกศปรียา แก้วแสนเมือง โฆษกพรรคเพื่อชาติ กล่าวว่า ก่อนจะมีการระบาดของโควิด-19 เศรษฐกิจก็อยู่ในภาวะย่ำแย่ มีหลายฝ่ายออกมาเตือน แต่นายกรัฐมนตรีและ ครม.ไม่นำพา พอมาเจอโควิด-19 รัฐบาลรับมือด้วย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยการบังคับให้ประชาชนเสียสละการหารายได้และการเลี้ยงชีพเพื่อรักษาอำนาจ สุดท้ายประชาชนทั้งประเทศลำบากด้วยผลการกระทำที่ไม่ได้ก่อ และรัฐบาลก็ไม่สามารถเยียวยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ นายกรัฐมนตรีก็เคยพูดเองว่า ไม่เก่งเศรษฐกิจแต่จริงใจ 6 ปีผ่านมาพิสูจน์แล้วว่าความจริงใจแก้ปัญหาประเทศไม่ได้ทั้งเศรษฐกิจและการเมือง
    “ผู้บริหารประเทศต้องเลือกผู้ที่เคยบริหารเศรษฐกิจหลักแสนล้านสำเร็จ และมีมุมมองรอบทิศมาทำงาน ไม่ใช่เอาคนที่เป็นมนุษย์เงินเดือนมาทั้งชีวิตมารับตำแหน่ง เพราะอยากได้อำนาจและเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูล และหากจะหามคนแก่หรือข้าราชการเกษียณมารับตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี เพื่อเป็นเกียรติกับวงศ์ตระกูล ขอร้องว่าอย่าทำ เพราะจะเป็นการทำลายประเทศและประชาชนทั้งประเทศไปมากกว่านี้”
    วันเดียวกัน ที่กระทรวงกลาโหม พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีที่กรรมาธิการงบประมาณ ไม่พอใจที่กระทรวงกลาโหมเก็บเอกสารลับ ในระหว่างการประชุมพิจารณาโอนงบฯของกลาโหม 1.77 หมื่นล้านบาท ว่ากระทรวงกลาโหมไม่มีนโยบายปกปิดข้อมูล หรือขัดขวางการทำงานของกรรมาธิการต่างๆในรัฐสภาแต่อย่างใด โดยถือเป็นหน้าที่ของส่วนราชการที่ต้องสำแดงข้อมูลอย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมาต่อการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติในกระบวนการประชาธิปไตย ทั้งนี้ได้ยึดมั่นและปฏิบัติหน้าที่เช่นนี้มาตลอด
    พล.ท.คงชีพกล่าวว่า ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญที่ผ่านมา ได้มีการประสานกันแล้วในการพิจารณาเป็นรายหน่วยของแต่ละหน่วยขึ้นตรงกับกระทรวงกลาโหม ซึ่งหลังจากพิจารณาจบรายหน่วย เจ้าหน้าที่ได้ขอเรียกเก็บคืนเอกสารที่มีชั้นความลับ ตามความรับผิดชอบว่าด้วยระเบียบการรักษาความลับของทางราชการ โดยมิได้มีวัตถุประสงค์ที่จะปกปิดข้อมูล หรือปิดกั้นการทำงาน ตามที่กรรมาธิการบางท่านเข้าใจแต่อย่างใด
    “เพื่อมิให้เกิดความคลาดเคลื่อนในความเข้าใจร่วมกัน กระทรวงกลาโหมจะได้ประสานการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น เพื่อกำหนดแนวทางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และการดำเนินการต่อเอกสารที่มีชั้นความลับต่อไป ยืนยันว่ากระทรวงกลาโหมยังยึดมั่นในกลไกตามวิถีประชาธิปไตย และถือเป็นหน้าที่ เฉกเช่นทุกหน่วยงานของรัฐ ที่พร้อมจะสนับสนุนการทำงานและข้อมูลอย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมา เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและความเข้าใจที่ถูกต้องของประชาชน” โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"