นวัตกรรม-ชาตินิยมใหม่ ไทยต้องเล่นเกมยาว


เพิ่มเพื่อน    

จุดเปลี่ยนประเทศไทย หลังจบโควิด

ถึงเวลามองไกล-เล่นเกมยาว

      ทิศทางประเทศไทย หลังจากการป้องกันการแพร่เชื้อโควิด-19 ดีขึ้นตามลำดับ ส่งผลให้มีการคลายล็อกมากขึ้น ล่าสุดก็คือ การยกเลิกการเคอร์ฟิว ที่จะให้มีผลตั้งแต่ 15 มิ.ย.นี้เป็นต้นไป ถึงตอนนี้ สิ่งที่หลายคนเริ่มคิดกันก็คือ ประเทศไทยหลังพ้นวิกฤติโควิด เข็มทิศและยุทธศาสตร์ประเทศจะไปทางไหน-คนไทยจะนำสิ่งที่เกิดขึ้นไปถอดบทเรียนเพื่อนำไปพัฒนาประเทศในทางใด สิ่งเหล่านี้คนไทยทุกคนต้องร่วมกันขบคิด-ตั้งคำถาม และนำไปสู่การปฏิบัติ

      หนึ่งในนักคิด-นักวิชาการ-ผู้บริหารสถาบันการศึกษา ที่มีชื่อเสียง มีผลงานมากมาย ที่ทุกคนรู้จักกันดี ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง-นายกสภาวิศวกร ได้ให้ทัศนะที่น่าสนใจไม่น้อย หลังจากช่วงโควิด ทางสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) มีบทบาทอย่างมากกับการคิดค้น-พัฒนาวัตกรรมทางการแพทย์ เพื่อสู้กับโควิด จนประสบผลสำเร็จระดับหนึ่ง มีการนำผลงานเข้าไปโชว์กลางทำเนียบรัฐบาลมาแล้ว

       ศ.ดร.สุชัชวีร์ มองอนาคตประเทศไทยหลังจากนี้ ในมุม New reality ความจริงใหม่ที่เราต้องเจอหลังโควิด-19 ว่าสิ่งที่เรียกกันว่า New normal ไม่มีใครพยากรณ์ได้ถูกหมดทุกคน เพราะคนแต่ละอาชีพ เช่น วิศวกร-แพทย์ ก็จะบอกไปคนละแบบ แต่สิ่งที่สรุปได้ก็คือ หลังจากนี้ ทุกอย่างจะไม่เหมือนเดิม เพราะฉะนั้น จะเกิดสภาวะที่ทุกอย่างจะเกิดอัตราเร่งมากขึ้น

      ...1.จะเกิดอุตสาหกรรมที่ไม่เคยได้ยิน เช่น อุตสาหกรรม AI-Bio technology ที่ทำทั้งด้านชีวะทางการแพทย์และเอไอ จะเกิดการยกระดับข้อมูลที่มนุษย์โลกไม่เคยเห็น เพราะจากเหตุการณ์โควิด ทำให้มีการเก็บข้อมูลการซื้อ-พฤติกรรมของคนไว้เยอะ จึงทำให้ต่อไปจะเกิดเทคโนโลยีแบบ AI แบบก้าวกระโดดมากที่สุด อีกทั้งจะเกิดอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่น่าสนใจที่สุด เกิดยารักษาโรคที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เกิดเทคโนโลยีแพลตฟอร์ม แบบมีอัตราเร่งมากที่สุดเห็นได้จากเช่น การใช้โปรแกรม zoom ก่อนโควิดคนใช้กันเล็กน้อย แต่พอมีโควิด มีการใช้มากขึ้นไม่รู้กี่พันเท่า

      2.ต่อจากนี้ไป โลกจะเหลือแค่ ขุนกับเบี้ย จะไม่มีคนกลาง เพราะคนที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น google-facebook-Zoom และระบบออนไลน์ต่างๆ ต่อไปจะกินรวบหมด ส่วนคนที่ไม่ได้เป็นเจ้าของแพลตฟอร์ม ก็จะเป็นเบี้ยของเขาต้องพึ่งกลุ่มธุรกิจเหล่านี้ เช่น อยากจะขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มเหล่านี้ หากเจ้าของแพลตฟอร์มคิดเงิน 50 เปอร์เซ็นต์ของราคาซื้อขาย ก็ต้องยอมเพราะดีกว่านำเงินไปเปิดร้าน ก็ทำให้ห้างสรรพสินค้า ที่เคยมีรายได้จากการเช่าพื้นที่ แต่ต่อไปก็จะไม่ได้ ต่อไปนี้จึงจะเหลือแค่ ขุนกับเบี้ย ซึ่งน่ากลัวสุดๆ อันนี้คือ new normal ที่แท้จริง ซึ่งวันนี้บางประเทศอย่าง "จีน" กำลังพยายามดันตัวเองให้เป็น "ขุน" แต่ไทยเรายังไม่มีอะไร แล้วก็จะต้องตกเป็น "เบี้ย" ต่อไป

      3.ต่อจากนี้ พฤติกรรมในการมองอาชีพ จะแตกต่างกัน จากที่หนึ่งองค์กรต้องมีพนักงานบัญชี-พนักงานขาย-วิศวกร ต่อไปนี้ ทั้งคนทำบัญชี-เซลส์-วิศวกร จะเป็นคนคนเดียวกัน เพราะจากที่ผ่านมาที่มีการ work from home ทำให้เห็นแล้วว่า คนบางคนทำงานได้เยอะกว่าเดิม และทำให้เห็นว่า คนบางอาชีพอาจไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ในองค์กร

      ศ.ดร.สุชัชวีร์ ให้มุมมองต่อไปว่า ยุทธศาสตร์ประเทศไทยต่อจากนี้ ต้องเตรียมรับมือกับ Neo-nationalism ชาตินิยมใหม่ ที่จะเกิดขึ้นทั่วโลก รวมถึงต้องเตรียมรับมือกับการหยุดของ Globalization ในเรื่องการลงทุน เพราะต่อไปคนจะลงทุนในประเทศตัวเองมากขึ้น เพราะคนของประเทศตัวเองตกงาน แม้ต้นทุนจะแพงขึ้นเขาก็จะยอม อเมริกาก็อาจหยุดการลงทุนเช่นในจีน-ไทย เพื่อให้คนของตัวเองมีกิน ก็จะทำให้เงินลงทุนไม่เข้ามา นักท่องเที่ยวต่างประเทศ ก็จะหยุดการเดินทางเข้ามา Globalization ถูกตอกฝาโลงเลย จะมีการเกิดใหม่ของ localization ที่ไม่ว่าประเทศไหนจะต้องทุกอย่างให้จบด้วยตัวเองในประเทศตัวเอง อย่างรองเท้ากีฬาดังๆ เช่น ไนกี้ อาดิดาส ที่เคยผลิตในโรงงานที่จีน ต่อไปอาจจะยกฐานการผลิตกลับไปที่ประเทศของเจ้าของแบรนด์ เพราะคนในประเทศตัวเองตกงาน แม้ต้นทุนจะแพงขึ้นก็ต้องยอม สิ่งต่างๆ เหล่านี้ประเทศเราก็ต้องพร้อมรับมือ

      "ประเทศไทยต้องเล่นเกมยาว อย่าเล่นหมากรุกเกมสั้น ไม่ใช่เห็นอัตราติดโควิดในประเทศเหลือศูนย์ ก็ปรบมือกันแล้ว ทั้งที่มันแค่ยกแรก แต่งานนี้มันสู้กันเป็นร้อยยก”

 พอผ่านยกแรกแล้วต้องคุยกันในฝ่ายต่างๆ เพื่อรับมือ เช่น การท่องเที่ยว พอเกิดโควิด นักท่องเที่ยวต่างประเทศไม่เข้ามา ตัวเลขติดลบเลย จากที่เคยได้ 12 เปอร์เซ็นต์ แต่ที่ญี่ปุ่นกลับไม่เกิดขึ้นแบบนี้ เพราะของเขาแค่ 6 เปอร์เซ็นต์ ต้องมาคุยกัน เช่น การเปลี่ยน portfolio ประเทศ จากเหตุการณ์ครั้งนี้ สรุปคือไทยต้องเล่นหมากรุกเกมยาว

ถามย้ำว่า ในวิกฤติโควิดก็มีโอกาสสำหรับประเทศไทย.ดร.สุชัชวีร์ ยืนยันกลับมาว่า มันมีอภิมหาโอกาสเลย เช่น โอกาสที่ทำให้เราเห็นว่าจุดแข็ง-จุดอ่อนของเราคืออะไร อย่างจุดแข็งที่เห็นก็คือ ถึงเวลาจริงๆ คนไทยเราช่วยกันหมด เช่นให้ใส่หน้ากากอนามัย ก็ใส่พร้อมกันหมด เรามีวินัย เราต้องนำสิ่งที่เกิดขึ้นไปต่อยอด เช่น เอาวินัยไปใช้ในการเรียน การทำงาน ถ้าทำได้แบบนี้ ประเทศไทยเปลี่ยน

 ส่วนจุดอ่อน portfolio เราล้มเหลว เราเอาไข่ไปใส่ไว้ในตะกร้าใบเดียวเกินไป ประเทศอื่นไม่ได้เจ็บเท่าเรา เพราะเขาไม่ได้พึ่งพานักท่องเที่ยวมากเหมือนกับเรา หรือการที่เราเน้นการพึ่งพาการส่งออก แล้ววันนี้เป็นไง รวมกันแล้วทั้งท่องเที่ยว-ส่งออก portfolio พังเลย ประเทศไทย portfolio ต้องมาเน้นการลงทุนในด้านการพัฒนา Real Sector การผลิต เช่น เครื่องมือแพทย์ทำได้ มีคนมาติดต่อขอ เราก็ควรลงทุน ต้องเล่นเกมยาว ทำบางอย่างไปก่อน เช่นรากฟันเทียม เพื่อให้คนไทยได้ใช้ในราคาที่ถูกลง เมืองไทยผู้นำเราต้องเล่นเกมยาวแล้ว ไม่อย่างนั้น ประเทศไทยก็สู้เขาไม่ได้

ย้อนกลับไปคุยถึงเรื่อง การสร้างนวัตกรรมทางการแพทย์ ของ สจล.ในช่วงโควิด ซึ่ง .ดร.สุชัชวีร์-อธิการบดี สจล. เล่าให้ฟังว่า กว่าจะคิดค้น-ต่อยอด ทำสิ่งต่างๆ ออกมาได้ ไม่ใช่ง่าย เพราะต้องเจอกับแรงกดดันที่มีทั้งการค่อนขอด-การบั่นทอนกำลังใจ แต่ตัวเองและคณะทีมงาน ก็ไม่ยอมถอย จนสุดท้าย ก็คิดค้นอุปกรณ์ทางการแพทย์บางอย่างออกมาใช้งานได้จริงในโรงพยาบาลหลายแห่งเวลานี้

..เริ่มต้นจากเมื่อช่วงเดือนมกราคมที่มีการแพร่ระบาดของโควิด ก็มีหมอผู้ใหญ่หลายคนโทรมาหาผมโดยตรง โดยหลายท่านบอกว่าถึงเวลาที่ สจล. ต้องช่วยประเทศไทย เพราะคาดว่าในอนาคต จะมีปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ทุกอย่าง โดยเฉพาะ เครื่องช่วยหายใจ เพราะไวรัสโควิด จะทำลายระบบหายใจ ต่อมาผมก็เรียกตัวแทนจากคณะแพทยศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรม–คณะวิศวกรรมศาสตร์ และฝ่ายวิจัย สจล.จนเราเห็นว่าถึงเวลาแล้ว ที่ สจล.ต้องตั้ง ศูนย์รวมนวัตกรรมทางการแพทย์ KMITL GO FIGHT COVID-19 เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ โดยใช้เงินเบื้องต้นลงไป 1 ล้านบาท ถือเป็นศูนย์นวัตกรรมสู้โควิดแห่งแรกๆ ของประเทศ ตอนแรกเรายังไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมบริจาค เพราะต้องการให้คนเห็นว่า เรามีสิ่งที่จับต้องได้จริง โดยอุปกรณ์การแพทย์อันแรกๆ เริ่มต้นทำก็คือ เครื่องช่วยหายใจ เพราะเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญมากสำหรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด

      ...เครื่องช่วยหายใจในประเทศไทย พบว่านำเข้าจากต่างประเทศ 100 เปอร์เซ็นต์ ราคาร่วมเครื่องละ 1 ล้านบาท ซึ่งครั้นหากเราจะไปทำขนาดใหญ่ ต้องใช้เวลา-เงินลงทุนมหาศาล ทำหนึ่งปีก็ไม่สำเร็จ ปรากฏว่าระหว่างนั้น มหาวิทยาลัยระดับโลกที่ผมจบมาคือ Massachusetts Institute of Technology หรือ MIT ริเริ่มโครงการนวัตกรรมทำเครื่องช่วยหายใจ ซึ่งพัฒนามาจากเครื่องช่วยหายใจแบบบีบมือ หรือ Ambu bag ที่ใช้ในรถและเตียงฉุกเฉิน โดยสิ่งที่เขาทำไม่ใช่ของใหม่ แต่เป็นโปรเจ็กต์ที่ MIT กับนักศึกษาของเขาทำมานานแล้ว

... พอ สจล.เริ่มทำเครื่องช่วยหายใจดังกล่าวออกมาเวอร์ชั่นแรก ที่เหมือนกับของ MIT ทุกประการ ต่อมาผมก็ออก youtube ประกาศเพราะรู้แล้วว่าเราทำได้ ก็ขอให้ประชาชนทุกคนร่วมบริจาค คนไทยใจดีมาก คนจำนวนมากมาร่วมบริจาคตั้งแต่ 100 บาท จนปัจจุบันมีคนร่วมบริจาคมากกว่า 30,000-40,000 คน หลายคนโดยบริจาคเป็นเงินหลักล้านบาทโดยไม่ประสงค์ออกนาม

      ศ.ดร.สุชัชวีร์-อธิการบดี สจล. กล่าวต่อไปว่า ระหว่างที่เราทำ จนกลายเป็น talk of the town ที่เราออกมาสู้โควิด ก็มีเสียงแสดงความเป็นห่วงเป็นใยจากบางคนในสังคม ก็บอกว่าใช้ไม่ได้หรอก บางคนถึงกับบอกว่า ใช้แล้วอาจถึงตาย มีบางคนบอก สู้เครื่องละเป็นล้านบาทไม่ได้หรอก โดยที่พูดกันโดยไม่เคยมาถาม ไม่เคยมาดู ไม่เคยมาทดสอบเลย ก็กลายเป็นกระแสสังคมอีกมุมหนึ่ง ผมก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง ซึ่งเวลาเดียวกันนั้น ไม่ใช่ทีมของ สจล.ทีมเดียวที่ทำ เพราะประเทศเรามีวิศวกรที่เก่งที่สุดในประเทศไทย บางคนจบ MIT เขาก็เริ่มทำเครื่องช่วยหายใจพร้อมกันกับเรา พวกเขามีจิตใจที่อยากจะช่วย รวมถึงเอกชนด้วย เขาว่ากันว่ามีเกือบสิบทีมที่เริ่มทำเครื่องช่วยหายใจพร้อมกับทีมของ สจล.

      “หลายทีมมีศักยภาพสูงกว่าเราด้วยซ้ำ เขาเก่งเหลือเกิน มีความพร้อมในเบื้องต้นมากกว่า แต่หลังจากถูก comment อย่างรุนแรงโดยไม่เป็นธรรม ทุกทีม give up ยอมแพ้ ทั้งที่ศักยภาพ หากทำจนถึงวันนี้ เราจะได้อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่หลากหลาย ทำได้จริง”

      ...พระจอมเกล้าลาดกระบัง เราไม่ได้เก่งที่สุด เราเป็นคนเก่งคนหนึ่งในหลายๆ คน ที่อยากช่วยประเทศไทย เราอดทนอดกลั้น สู้ทำต่อ ภายใต้การสนับสนุนจากคนหลายหมื่นคน ที่เราต้องทำให้สำเร็จ จนสุดท้ายเครื่องช่วยหายใจเราทำถึง version 5 ที่มีกราฟทันสมัย จนตอนนี้บางแห่งเช่น โรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร ติดต่อขอนำไปใช้ อีกทั้งมีบางประเทศติดต่อขอนำไปใช้ เช่น ทูตมัลดีฟส์ประจำประเทศไทย มารับเครื่องช่วยหายใจด้วยตัวเองถึง สจล. โดยเราให้นำไปใช้เลยไม่ได้ขาย และยังได้จดหมายจากประเทศอย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม กัมพูชา ลาว หรือแม้แต่อัฟกานิสถาน ก็มาติดต่อขอความช่วยเหลือ

        อธิการบดี สจล. กล่าวถึงการทำงานที่ผ่านมาของ สจล.ในการพัฒนานวัตกรรมอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่อไปว่านอกจากนี้ สจล.ยังทำ ตู้ความดันลบ ที่ว่าเวลาคนไข้ไปที่โรงพยาบาล มีโอกาสแพร่เชื้อสูง เราได้ทำตู้ความดันลบขนาดใหญ่เครื่องแรกในประเทศไทย ให้กับวชิรพยาบาล และยังทำ ตู้ความดันลบเครื่องที่ โดยคณะวิศวกรรมฯ ที่ปัจจุบันน่าจะส่งตู้ความดันลบไปยังโรงพยาบาลต่างๆ มากที่สุดในประเทศไทย เพราะส่งไปให้แล้วร่วม 300 แห่ง จากที่ขอมา 600 กว่าโรงพยาบาล โดยเราให้ฟรี รวมถึง ตู้ความดันบวก อย่างเกาหลีใต้ ที่เขาประสบความสำเร็จ ก็เพราะใช้ตู้ดังกล่าวไปตั้งตามจุดต่างๆ เช่น สนามกีฬา แล้วให้คนมาตรวจ ที่ตรวจกันได้เป็นหลักล้าน โดยตู้จะครอบบุคลากรทางการแพทย์ไว้ขณะตรวจ ทำให้ได้รับความปลอดภัย ซึ่งของเราที่ทำ ดีกว่าของเกาหลีใต้ เพราะหลายบริษัทสั่งซื้อมาจากเกาหลีเครื่องละ 300,000-500,000 บาท แต่ของเกาหลีไม่ได้ติดแอร์ แต่ของ สจล.เราติดแอร์ให้เสร็จ โดยราคาของเราคือ 75,000 บาทเท่านั้น เพราะไม่คิดค่าประกอบ ไม่คิดค่ามันสมอง ส่วนตู้ความดันลบ หากไปซื้อต่างประเทศก็ไม่ต่ำกว่า 200,000-300,000 บาท แต่ของ สจล.เราราคาอยู่ที่ 65,000 บาท เพราะคนประกอบไม่คิดค่าประกอบ คนคิดริเริ่มทำไม่คิดค่ามันสมอง นอกจากนี้ก็ยังมีหุ่นยนต์ส่งของ ครื่องฉีดโอโซน อาหารเพื่อสุขภาพสำหรับผู้ใหญ่

        จนเมื่อ 29 พ.ค. ทาง สจล.ได้นำนวัตกรรมต่างๆ ดังกล่าว ไปแสดงที่ทำเนียบรัฐบาล หลังจากเราได้ส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ดังกล่าวให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้มากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย จนเกิดปรากฏการณ์ คนไทยทำ-คนไทยสนับสนุน-คนไทยใช้ โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ก็ถามผมว่า ใช้เงินจากที่ไหนมาทำ ผมก็บอกว่า คนไทยให้ครับ ท่านนายกฯ ก็บอกว่า คนไทยมีน้ำใจนะ

        - หลังจากนี้ทาง สจล.จะนำนวัตกรรมต่างๆ เหล่านี้ไปต่อยอดเพิ่มขึ้นจากนี้ อย่างไร?

        ผมบอกกับทีมว่า เราจะไม่หยุด ต่อให้โควิดหยุด เพราะที่ผ่านมา ทุกคนรู้ไหมว่าเงินทองที่เราเก็บมาทั้งชีวิต แล้วนำมาดูแลคนในครอบครัว เวลาเจ็บป่วย ไปหาหมอ บิลค่ารักษา 10,000 บาท เป็นค่าหมอ 500 บาท ที่เหลือ 95,000 บาท ส่วนใหญ่แล้วเป็นค่าเครื่องมือแพทย์ที่นำเข้า 100 เปอร์เซ็นต์ โดยไม่ต้องพูดถึงเครื่องเอกซเรย์ เครื่องฉายแสง เพราะขนาดแค่เข็มฉีดยา ยังต้องซื้อจากเบลเยียม-จีน  แล้ววันนี้ถามว่าถึงคุณมีเงิน เอาแค่หน้ากาก N95 จะไปขอซื้อจากสหรัฐ เขาก็ไม่ขายให้ เพราะอเมริกาก็ต้องใช้ในประเทศเขา แต่ประเทศไทย ปั่นทอหน้ากาก N95 เองไม่ได้ หรือหน้ากากที่ซีพีทำ กว่าจะทำได้ ก็ต้องรอเครื่องจักรนำเข้าจากจีน

        “มันน่าเจ็บใจไหม เวลาคนไทย ริเริ่มจะทำ จะสู้ เรายังถูกดูถูก เรายังต่อสู้กับความไม่เชื่อ ทั้งที่เราต้องสู้กับโควิดด้วย มันร้องไห้ในหัวอก แล้วก็ต้องเสียใจกับอีกหลายทีม ซึ่งเขามีความสามารถมากกว่าของเราด้วย แต่ต้องล้มไป วันนี้เราจึงไม่ได้แค่สู้กับโควิดเท่านั้น แต่เราต่อสู้กับความไม่เชื่อในคนไทย คนไทยที่เป็นลูกหลานพวกท่าน แล้วใช้เงินภาษีส่งไปเรียนในมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลก จนชนะฝรั่ง”

        - ปัญหาข้างต้น เป็นเพราะอะไร เพราะผลประโยชน์ หรือเพราะวัฒนธรรม การยอมรับ หรือปัจจัยอื่นๆ?

        ทุกอย่างที่ถามข้างต้น เพราะคิดว่า "ซื้อได้" เลยทันที มันง่าย จะเอาดีขนาดไหน ก็ซื้อได้ แต่กรณีนี้ต้องอยู่ในสภาวะปกติ หรือหากจะทำ คนก็จะบอกว่า ทำไปก็ดีไม่เท่า เผลอๆ จะแพงกว่าด้วย

      ..ยกตัวอย่างบางเรื่องให้ฟัง รากฟันเทียมที่อยู่ในปากผม ซี่ละเกือบแสน จากเยอรมนี ปากผมแทบแหก เพราะปากเยอรมนีเขาใหญ่กว่าคนไทย ตอนไปใส่รากฟันเทียมปากผมระบมไปเลย ทันตแพทย์ก็บอก อาจารย์ รอบหน้าหากทำจะใช้ของจากสวิตเซอร์แลนด์ ต่อมาก็ไปทำอีก เป็นของของสวิตเซอร์แลนด์ก็เกือบแสนเหมือนกัน ผมก็ถามหมอฟัน ขอดูรากฟันเทียมที่ใส่ในปากผม ผมก็ถามเขาว่า ทำไมไม่มีแบบที่คนไทยทำ หมอก็บอกว่า ทำออกมาแล้ว ก็ไม่ดี  ..ก็แล้วจะไปดียังไง เพิ่งเริ่มต้นทำแค่ประมาณพันชิ้น คนก็บ่นแล้ว ทั้งที่ความเป็นจริง ของทุกอย่างที่ทำออกมาตอนแรกพันชิ้น ยังไงก็สู้ของที่เขาทำกันมาเป็นล้านชิ้นไม่ได้อยู่แล้ว

        ..สิ่งสำคัญคือต้องมีการส่งเสริม เพราะไม่มีของที่ทำในประเทศใดๆ ทั้งสิ้น อย่างรถยนต์ของญี่ปุ่น รถโตโยต้าที่ผลิตออกมาจากโรงงานวันแรก ยังไงก็สู้รถ BMW-รถฟอร์ดของฝรั่งไม่ได้หรอก แล้วกว่าจะไปถึงคันที่ล้าน มันก็ต้องมีการพัฒนา อย่างฟันเทียมของแต่ละคน ต้องมีทุกคน ยังไงก็ต้องเป็นร้อยล้านซี่ พันล้านซี่ในอนาคต แล้วทำไมเราไม่ทำกันเสียตั้งแต่วันนี้ ไม่ใช่ทำไปแค่พันชิ้น ก็ไม่ส่งเสริมกันแล้ว ต้องหยุดไป เพราะตอนทำหนึ่งพันชิ้นแรก จะไปสู้รากฟันของเยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ได้ยังไง แต่ถ้าทนใช้ แล้วภาครัฐสนับสนุนคุณภาพก็ต้องพัฒนาไปที่จะต้องดีกว่าตอนผลิตแค่หลักพัน และเมื่อผลิตออกมามาก ราคาก็จะถูกลง พอไปถึงล้านชิ้น คนไทยก็ได้ใช้รากฟันเทียมราคาถูกทั้งประเทศ

        ..เหล่านี้คือปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่สนับสนุน ไม่ส่งเสริม อย่างที่เกาหลีใต้ ที่เขาพัฒนาไปมากเพราะรัฐบาลเขาบังคับ อย่างในหน่วยงานราชการ แม้รถญี่ปุ่นจะคุณภาพดีกว่า แต่ภาครัฐเขามีนโยบายบังคับให้ใช้รถของเกาหลีใต้ แม้แต่รถประธานาธิบดี ก็ใช้รถเกาหลีใต้ เช่น ฮุนได โซนาต้า พอทำไปก็เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ จนตอนนี้มีรถอย่างรถตู้ Hyundai H-1

        ..คือหากไม่มีใครช่วย หน่วยราชการไม่ช่วย ไม่นำของที่เราผลิตกันไปใช้ แล้วจะให้ชาวบ้านเขาใช้ได้ยังไง มันก็ไม่เกิดการพัฒนาการผลิต นอกจากนี้ก็มีเรื่องของ ทัศนคติ คือมักชอบบอกกันว่า ของไทยสู้ไม่ได้ หากคนเกาหลีคิดแบบนี้ ป่านนี้ก็ไม่มีซัมซุง

        ..วันนี้มันถึงเวลาที่เราจะตาสว่างกันได้หรือยัง สมัยก่อน มีเงินก็ซื้ออะไรได้ วันนี้มีเงินจะไปซื้อหน้ากาก N95 ได้ไหม ต่อไปโลกจะเข้าสู่ยุค Neo-nationalism หรือชาตินิยมใหม่ มันเกิดขึ้นแน่นอน คือจากที่ในอดีต เราผลิตสิ่งของอะไรมา แล้วบริโภคภายในประเทศ ส่วนที่เหลือนำไปขาย-แจกฟรี แต่ต่อไปจะต่างออกไปคือ ทำออกมาแล้วจะมีการคิดเผื่อไปว่า อาจจะเกิดแผ่นดินไหว โรคระบาด ก็จะทำออกมาเพิ่มเป็นสองเท่า อย่างเครื่องมือแพทย์ ก็จะมีการผลิตออกมามากเกินจำเป็นขึ้นมา เพื่อที่ Self-security ของพลเมืองที่เขาผลิตเครื่องมือ อุปกรณ์ทางการแพทย์

        ...ประเทศไทย หมอเราเก่งที่สุดในโลก รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์อย่าง อสม. พยาบาล เภสัชกร ถามว่าทำงานมือเปล่าหรือไม่ ก็ไม่ใช่ อุปกรณ์ต่างๆ ก็พบว่านำเข้าจากต่างประเทศหมด ไม่ใช่บอกว่าประเทศไทยจะเป็น Hub ทางการแพทย์ แต่ก็ยังต้องไปซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์จากต่างประเทศทั้งหมด ยิ่งจะเป็น Hub ยิ่งจะต้องพึ่งพาต่างประเทศ การจะเป็น Hub ทางการแพทย์ได้ ต้องคิดทุกอย่างให้เบ็ดเสร็จ รวมถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จะใช้ด้วย

        ...อย่างหมอฟันในประเทศไทย ซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ด้านทันตกรรมมากที่สุดจากประเทศใดรู้ไหม คำตอบคือ ปากีสถาน ประเทศนี้เป็นประเทศที่ส่งออกอุปกรณ์ทางทันตกรรม มากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก

        “วันนี้สิ่งที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ หากค่านิยมคนไทยยังไม่มีความเป็นชาตินิยม โดยนอกจากไม่เชื่อในความสามารถคนไทยด้วยกันแล้ว ไม่พอยังอัดกันเองอีก คนที่จะทำ ก็ต้องล้มหายตายจากไป”

        ..เพราะของทุกอย่าง ทำวันแรกมันไม่ดีหรอก แถมยังแพงด้วย แต่ถามว่ามีชาติไหน ไม่มีวันแรก วันนั้นกันบ้าง มันก็เริ่มจากวันแรกทั้งนั้น หากคนไทยเราไม่เริ่มนับหนึ่งกัน มันก็ไม่มีสิทธิ์ เราต้องสร้างสิ่งแวดล้อมที่เป็นชาตินิยมกลายๆ  ลองดูประเทศต่างๆ ที่ประสบความสำเร็จมีประเทศไหนบ้างที่ไม่มีความเป็นชาตินิยม อย่างญี่ปุ่น สุดๆ เกาหลีใต้ สุดๆ หรือจีน โครตสุดๆ อิสราเอล โครตๆๆๆ สุดๆ อเมริกา ก็สุดๆ รวมถึงอย่างอังกฤษ เยอรมนี ก็สุดๆ หรือแม้แต่เวียดนาม “เพราะฉะนั้นแล้ว ประเทศไทยควรสั่งสมความเป็นชาตินิยมที่อ่อนๆ ชาตินิยมเพื่อเป็น localization ชาตินิยมเพื่อให้เราเป็นที่พึ่งแห่งตนได้ เป็นชาตินิยมที่ทำให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จแล้วเอื้อคนอื่น ซึ่งผมเชื่อว่าเราทำได้ เพราะอย่างเครื่องช่วยหายใจ ที่ผมถูกกระทืบ ถูกรังแก แต่ก็มีประชาชน เดินมาเอาเงินให้คนละร้อยบาท แล้วทำไมจะทำไม่ได้ แล้ววันนี้เกิดความภูมิใจที่เราเป็นที่แรกที่ทำเครื่องช่วยหายใจของไทยส่งออกไป ต่างประเทศมารับถึงที่นี่เลย” ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวปิดท้ายถึงเรื่องการพัฒนานวัตกรรมกับความเป็น Neo-nationalism.

 

หลายทีมมีศักยภาพสูงกว่าเรา เขาเก่งเหลือเกิน มีความพร้อมมากกว่า แต่หลังจากถูก comment อย่างรุนแรงโดยไม่เป็นธรรม ทุกทีม give up ยอมแพ้ ....มันน่าเจ็บใจไหม เวลาคนไทยริเริ่มจะทำ จะสู้ เรายังถูกดูถูก..ทั้งที่เราต้องสู้กับโควิดด้วย มันร้องไห้ในหัวอก


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"