'บัวแก้ว'ยืนยัน เขมรตามสอบ คดีอุ้มวันเฉลิม


เพิ่มเพื่อน    


    เด็ก ปชป.อัด "ดอน" ไม่เห็นความสำคัญของสิทธิมนุษยชน ยันรู้จัก "วันเฉลิม" ดี ตั้งแต่สมัยทำงานด้านเยาวชนด้วยกันมา ด้านอธิบดีกรมสารนิเทศเผยกัมพูชาแจ้งว่าวันเฉลิม เดินทางเข้า-ออกกัมพูชาหลายครั้งในช่วงปี 2557-2558 แต่ไม่มีข้อมูลและเบาะแสของการหายตัวไป หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกัมพูชากำลังอยู่ระหว่างการสืบหาข้อเท็จจริง 
    นายแทนคุณ จิตต์อิสระ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะคณะทำงานด้านสิทธิมนุษยชน พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองถูกอุ้มหายไปในประเทศกัมพูชาว่า ส่วนตัวรู้จักกับนายวันเฉลิมดีตั้งแต่สมัยทำงานด้านเยาวชนด้วยกันมา ซึ่งในฐานะที่ตนทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ก็รู้สึกไม่สบายใจต่อกรณีดังกล่าว และมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน จึงขอเรียกร้องให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องติดตามและช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
    เขากล่าวว่า การชี้แจงต่อกรณีดังกล่าวของ รมว.การต่างประเทศ ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ตนมองว่าเป็นการชี้แจงของคนที่มีตำแหน่งเป็นถึงระดับรัฐมนตรี แต่ไม่ได้เห็นความสำคัญของสิทธิมนุษยชน ซึ่งเราควรให้ความสำคัญกับคนไทยทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน
    "ขอให้รัฐบาลมีความจริงใจและให้ความสำคัญกับการติดตามตัวนายวันเฉลิม หากรัฐบาลจะดำเนินการจริงๆ ก็สามารถทำได้ ด้วยการใช้สายสัมพันธ์ที่มีอยู่ โดยเฉพาะในส่วนของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่มีความสนิทสนมกับ พล.อ.เตีย บันห์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมกัมพูชา หากมีการยกหูพูดคุยกันแล้ว ขอให้ทางกัมพูชาติดตามคดีดังกล่าว ก็เชื่อว่าจะสามารถทำได้ไม่ยาก" นายแทนคุณกล่าว
    ด้านนายเชิดเกียรติ อัตถากร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยความคืบหน้าว่า ภายหลังจากที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ มีหนังสือถึงกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา เพื่อขอให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขอทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว รวมทั้งขอรับข้อมูลที่จะช่วยหาตัวนายวันเฉลิม
    เขากล่าวว่า เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศกัมพูชามีหนังสือถึงสถานเอกอัครราชทูตฯ แจ้งว่านายวันเฉลิมเดินทางเข้า-ออกกัมพูชาหลายครั้งในช่วงปี 2557-2558 และขอรับการตรวจลงตรา (วีซ่า) ซึ่งมีระยะเวลาพำนักชั่วคราวในกัมพูชาถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 หลังจากนั้นนายวันเฉลิมไม่ได้ขอต่ออายุการตรวจลงตราอีก 
    นอกจากนี้ ทางการกัมพูชาไม่มีข้อมูลและเบาะแสของการหายตัวไปของนายวันเฉลิม อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกัมพูชากำลังอยู่ระหว่างการสืบหาข้อเท็จจริง ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตฯ จะได้ติดตามความคืบหน้าและประสานงานอย่างใกล้ชิดกับทางการกัมพูชาในกรณีดังกล่าวต่อไป
     ที่ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถ.ราชดำเนิน คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.) จัดงานเสวนาเรื่อง “อุ้มหาย .. แล้วไง” สืบเนื่องจากกรณีที่นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยการเมือง ถูกอุ้มหายในประเทศกัมพูชา โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย น.ส.ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้สื่อข่าว, นายพชร ธรรมมล หรือฟลุค เดอะสตาร์ ศิลปิน, นายวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล พิธีกรสารคดี และ น.ส.จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ประธานสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) และมี น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา นักกิจกรรมการเมือง เป็นพิธีกร
    น.ส.ฐปณีย์กล่าวถึงการอุ้มหายและการลี้ภัย ไม่ควรเกิดขึ้นทั้งสองอย่าง การอุ้มหายคืออาชญากรรมอย่างหนึ่ง เมื่อนายวันเฉลิมถูกอุ้มหาย ก็เกิดความห่วงใยถึงความปลอดภัย เขาออกไปจากประเทศเพราะแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ใครออกไปก็เป็นผู้ลี้ภัยอยู่แล้ว ผู้ลี้ภัยในความหมายขององค์กรสิทธิมนุษยชน คือหนีจากความไม่ปลอดภัย หวาดกลัวการประหัตประหาร ไม่ควรมีใครต้องเป็นผู้ลี้ภัย บางครั้งเขาลี้ภัยทางการเมืองแต่ยังไม่ได้สถานะเป็นผู้ลี้ภัย ในฐานะที่ทำข่าวช่วยเหลือคนเหล่านี้ ทำให้คนเข้าใจผู้ลี้ภัยมากขึ้น ใครคิดต่างควรได้รับการปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ใช่ถูกอุ้มหายไป และคนที่เผชิญชะตากรรมเลวร้ายไม่ต่างกันคือคนในครอบครัว
    ขณะที่นายวรรณสิงห์เปิดเผยถึงตอนทราบข่าวนายวันเฉลิมว่าใจหาย เพราะรู้จักกับนายวันเฉลิมเป็นการส่วนตัว แต่ไม่สนิท เราเห็นหลายครั้งที่คนหาย รู้สึกโกรธ ไม่ว่าจะเกิดกับใครก็เป็นเรื่องที่รับไม่ได้ และเขายังเปรียบความอยุติธรรมเป็นก้อนที่หมักหมม เมื่อมาถึงจุดหนึ่งจะระเบิดออก ต้องมีกระบวนการบางเรื่องที่ทำให้มีจุดจบที่สังคมพอใจ แต่ทางตันมันกลับมากขึ้น เป็นห่วงในอนาคตก้อนแห่งความดำมืดจะขยายขึ้น จึงเป็นห่วงก้อนที่สะสมเยอะไปแล้วในสังคมไทย ทั้งนี้ ถ้าเราสนใจว่านายวันเฉลิมคือใคร ปลูกกัญชาหรือไม่ ฝ่ายไหน ก็เป็นเรื่องการเมืองไป แต่ถ้าเราสนใจว่านายวันเฉลิมเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ไม่สมควรที่จะถูกอุ้มก็จะเป็นประเด็นเชิงมนุษยชน ความโกรธนี้ถ้าเราไปคุยกับกระทรวงการต่างประเทศ สถานทูตกัมพูชา เรียกร้องให้เกิดการสืบสวน ตนเห็นด้วย แต่ไม่ควรกระจายไปหลายที่
    ด้านนายพชร ระบุถึงการตอบสนองในสังคมต่อการอุ้มหายนายวันเฉลิมว่า ได้เห็นคนตื่นตัวเยอะขึ้น ต่างกับ 8 คนที่ผ่านมา ซึ่งถูกพูดถึงในวงแคบๆ เพราะเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองชัดเจน แต่นายวันเฉลิมไม่ได้แสดงความคิดเห็นทางการเมืองด้วยการโจมตี ใส่ร้าย หยาบคาย ใช้ข้อเท็จจริงนำเสนอ ดีใจที่เห็นคนตื่นตัว เพราะถ้าเราพูดกันดังขึ้น ความโหดร้ายชั่วร้ายก็จะเกิดได้ยากขึ้น
    ส่วน น.ส.จุฑาทิพย์เปิดเผยว่า สนท.เป็นกลุ่มแรกที่ทราบข่าวการอุ้มนายวันเฉลิม การอุ้มหายเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่เคยมีความยุติธรรมต่อคนที่ถูกอุ้มหาย เมื่อเราจัดกิจกรรมเรียกร้อง ก็ถูกเจ้าหน้าที่รัฐขู่ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แทนที่จะสนใจคนหาย แต่เรายืนยันดำเนินกิจกรรมต่อไป เรื่องนี้ได้รับความสนใจจากสังคมเป็นอย่างดี ไม่ใช่เรื่องฝ่าย แต่เป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน เท่าที่สัมผัสจากเพื่อนนักศึกษาหลายคนรู้สึกโกรธ เห็นใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ส่วนท่าทีรัฐบาลที่พยายามบอกไม่ใช่ผู้ลี้ภัยนั้น มองไม่เป็นคนเท่ากัน และใช้กฎหมายเอาผิดคนเรียกร้องให้นายวันเฉลิม โดนขู่ทุกครั้งที่ทำกิจกรรม บางครั้งก็โดนคดี.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"