ส.ว.เตือนบิ๊กตู่พึงระวัง แร้งรุมทึ้งเงินกู้4แสนล.


เพิ่มเพื่อน    

    สภาสูงผวา เสือหิว-เสือโหย-แร้งรุมทึ้ง เตรียมเขมือบ เงินกู้ 4 แสนล้านบาท หลังแห่เสนอโครงการทะลุเกือบ 8 แสนล้านบาท "สมชาย" แฉมีโครงการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูจากโควิด  กว่า 70-80 เปอร์เซ็นต์ หวั่นตามเกมไม่ทัน สุดท้ายเข้าทางผู้รับเหมา เป๋าตุงโดยไม่เกิดการจ้างงาน อึ้งเจอสอดไส้โครงการปะการังเทียมแต่ไม่รู้ทำได้จริงหรือไม่ กระตุกระวังอาจเกิดทุจริต
    หลังจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งในส่วนกลางและท้องถิ่นเริ่มมีการเสนอโครงการเพื่อของบประมาณจากเงินกู้ 4 แสนล้านบาท ที่พบว่ามีการเสนอโครงการเข้าไปให้คณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณาการใช้เงินกู้ ที่มีเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นประธาน พิจารณากันจำนวนมาก จนยอดเงินรวมเฉียด 8 แสนล้านบาทเข้าไปแล้ว
    นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวถึงการยื่นโครงการเพื่อขอใช้เงินกู้ตาม พ.ร.ก.ในส่วนของการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 400,000 ล้านบาท กับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในช่วงนี้ว่า โครงการที่เสนอมาแล้วกว่า 8 แสนล้านบาท มีโครงการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูจากโควิด-19 เป็นจำนวนมากกว่า 70-80 เปอร์เซ็นต์ที่ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ เช่น โครงการก่อสร้างถนน 10,150 เส้น, ประปา 1,483 โครงการ และใช้เครื่องจักรเป็นตัวก่อสร้าง เป็นโครงการที่ควรอยู่ในงบประมาณปกติที่มีเงินอยู่แล้ว 6 แสนล้านบาท เพราะผู้ที่จะได้รับเงินก็คือผู้รับเหมาก่อสร้าง โดยที่ไม่เกิดการจ้างงาน นอกจากนี้ ยังมีโครงการซื้อกล้อง CCTV เงินออกนอกประเทศอีกกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ 
    นายสมชายกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีโครงการปะการังเทียมที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าทำจริงหรือไม่ ดังนั้นจึงฝากกรรมการพิจารณาโครงการให้ตัดทิ้งทั้งหมด เนื่องจากบางโครงการก็เป็นโครงการปัดฝุ่น ตัดต่อพันธุกรรม บางครั้งเป็นโครงการที่ถูกตีตกแล้วตัดแปะชื่อโครงการ ด้วยการปรับเปลี่ยนชื่อให้มีความเกี่ยวข้องกับสถานการณ์โควิด ดังนั้นงบประมาณที่ไม่จำเป็นเร่งด่วนเหล่านี้ควรอยู่ในงบประมาณปกติที่มีกระบวนการการกลั่นกรองตามระบบ 1 ปีอย่างละเอียดและรอบคอบ จะมาลักไก่ไม่ได้ แต่การใช้งบประมาณ 4 แสนล้านบาทนี้ เป็นการจัดซื้อจัดจ้างแบบพิเศษทั้งหมด เพราะเป็นงบเฉพาะเจาะจง ไม่เหมือนกับงบประมาณปกติ ก็อาจจะเกิดการเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้องและเกิดการทุจริตได้ ยืนยันไม่ได้โทษฝ่ายการเมืองหรือฝั่งใดฝั่งหนึ่ง
    “เขาบอกว่า ถ้าไม่เติมน้ำเติมปุ๋ย หรือเติมไปน้อย ต้นไม้ที่มีชื่อว่าประเทศไทยก็จะตาย แต่ผมมองว่าอยู่ดีๆ เราเอาน้ำราดไปเลยโครม ต้นไม้ก็จะตายเหมือนกัน ดังนั้นรัฐบาลจึงควรแบ่งการให้เงินเป็นเฟสๆ จะ 4 เฟส 8 เฟส หรือ 10 เฟสก็ได้ เหมือนกับเราค่อยๆเติมน้ำ ไม่ให้ต้นไม้ตาย นอกจากนี้ โครงการที่ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ตามความต้องการของจังหวัดก็ต้องตัดออก อย่าไปให้ โครงการที่เป็นงบปกติ อย่าไปให้งบที่สงสัยว่าจะทุจริต อย่าไปให้งบที่พิจารณาใหม่แบบตัดแปะ อย่าไปให้เหมือนคนทำวิทยานิพนธ์แล้วตัดแปะ” นายสมชายกล่าว
    นายสมชายกล่าวอีกว่า ขอให้รัฐบาลพิจารณาอย่างรอบคอบ เน้นการจ้างแรงงานเป็นหลัก โดยเสนอให้นำเงินมาจ้างงานเด็กจบใหม่ในพื้นที่ หรือคนที่ตกงานในพื้นที่ มาทำงานที่จะช่วยเหลือชาวบ้านได้ เช่น เครื่องมือทำการเกษตร การค้าขายออนไลน์ เป็นต้น ซึ่งตนเห็นด้วยกับเงิน 4 แสนล้านบาท แต่ก็จะปล่อยให้เงินรั่วไหลไม่ได้ ถ้ารั่วไหลก็จะเกิดวิกฤติ 
    "ดังนั้นจึงเสนอว่าผู้ทรงคุณวุฒิอีก 4 คนในคณะกรรมการกำกับกองทุน ควรมาจากตัวแทนภาคประชาสังคมที่คุ้นเคยเรื่องการปราบปรามการทุจริต เช่น นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือนายวิชา มหาคุณ อดีตกรรมการ ป.ป.ช. นอกจากนี้ ควรมีตัวแทนจากภาควิชาการที่มีโครงข่ายของมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ภาคธุรกิจ และสื่อมวลชน เพื่อให้คนที่คิดจะทุจริตหวั่นเกรง ไม่กล้ากระทำทุจริตคอร์รัปชัน" ส.ว.ผู้นี้ให้ความเห็น 
    นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภาและอดีต รมว.การต่างประเทศ ให้ความเห็นว่า รัฐบาลควรจัดโฆษกแม่นๆ มาสักคน อธิบายออกมาชัดๆ เงินแจกมีให้เพื่อกันอดตาย เงินจ้างมีไว้เพื่อสร้างงาน ดังนั้นเงินกู้ 4 แสนล้านบาท ควรเน้นปล่อยเพื่อจ้างงาน ไม่ใช่สร้างผลงาน เงินกู้ soft loan มีไว้เพื่อธุรกิจที่เคยทำมาได้ดีแต่มาสะดุดโควิด-19 ชั่วคราว ส่วนเงินให้ยืมมีไว้ให้นำไปพัฒนาทักษะใหม่ๆ เพิ่ม เงินนี้จึงไม่มีดอกเบี้ยและผ่อนใช้คืนได้ยาวมากหน่อย เงินสมทบ มีไว้เพื่อประเดิมแบบให้เปล่าแก่ผู้จำต้องเปลี่ยนอาชีพ เพราะถูกดิสรัปต์แล้ว อุตสาหกรรมนั้น งานนั้น อาชีพนั้นจะไม่เหลือที่ยืนในการแข่งขันแล้ว แต่รัฐควรจะให้แค่น้อยๆ เท่านั้น และถ้าใครไปฝึกในสาขาที่รัฐแนะนำเพราะขาดแคลน รัฐก็เติมการอุดหนุนเข้าไปตามระดับและสัดส่วนที่จะเปลี่ยนและหรือปฏิรูปประเทศในเรื่องนั้นๆ ต่อไปได้ สำหรับเงินชดเชยมีให้เพื่อเหตุที่รัฐไปสั่งเขาหยุดหากิน ใครกลุ่มไหนควรได้อะไรก็จะได้ติดตามตรวจสอบเสนอแนะข่าว และการจัดการเงินกลุ่มนั้นไปได้ใกล้ชิด แบบนี้น่าจะได้สะดวกขึ้นทุกฝ่าย
     นายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.การต่างประเทศ กล่าวถึงเรื่องเดียวกันนี้ว่า ในการใช้เงินนั้นต้องใช้คุ้มค่าและใช้อย่างถูกต้อง คือทั้งถูกใจและถูกต้อง โดยรัฐบาลต้องใช้เงินให้คุ้มค่าและสามารถสร้างงาน ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมได้จริง ถึงแม้จะมีคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้และมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎรเพื่อติดตามตรวจสอบการใช้เงินแล้วก็ตาม เสนอให้รัฐบาลเพิ่มการรับฟังความเห็นทางออนไลน์จากประชาชนในท้องถิ่น ผู้นำชุมชน เกษตรกรเจ้าของกิจการเอสเอ็มอี นักธุรกิจ และภาคส่วนต่างๆ ว่าโครงการต่างๆ ที่จะนำเงินกู้มาใช้ดำเนินการนั้น มันคุ้มค่าและสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมได้จริงหรือไม่ มีโครงการที่ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำหรือไม่ หรือมีข้อเสนอที่ควรนำเงินกู้ไปใช้อย่างไร เพื่อการใดที่ดีกว่า ตรงตามความต้องการของคนในท้องถิ่นหรือไม่ เช่น บางชุมชนชาวบ้านอาจต้องการแหล่งน้ำมากกว่าทำถนนคอนกรีต เป็นต้น  
      "การเปิดรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะของประชาชนออนไลน์จะเป็นประโยชน์มาก เนื่องจากเป็นการเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน สะดวก รวดเร็ว และรัฐบาลจะได้มีข้อมูลประกอบการพิจารณาเพื่อให้การใช้เงินกู้ซึ่งเป็นหนี้ที่คนไทยต้องแบกรับให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิผลและคุ้มค่า อีกทั้งเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการติดตามตรวจสอบการใช้เงินอีกด้วย" นายนพดลกล่าว 
"พิชัย"ไล่หวดก้นทีมเศรษฐกิจ 
    นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงาน กล่าวว่า ตามกระแสข่าวการเปลี่ยนคณะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งใหญ่ โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจยกชุด แต่ยังไม่มีข้อสรุป เหมือนเป็นสุญญากาศทางการเมือง ในขณะที่สภาวะเศรษฐกิจของไทยย่ำแย่หนักลงทุกวัน ตัวเลขเศรษฐกิจน่าเป็นห่วงมาก บางสำนักให้เศรษฐกิจไทยติดลบถึง -8.8% แต่รัฐบาลกลับไม่มีทิศทางที่จะแก้ไขอย่างชัดเจน ข้าราชการก็ไม่แน่ใจว่าควรดำเนินการแบบไหน เพราะผู้ที่กำลังบริหารอยู่อาจจะต้องถูกปรับออกไปเร็วๆ นี้ คนใหม่ที่จะเข้ามา จะยังใช้แนวทางเดิมหรือไม่ เพราะแนวทางที่ทำอยู่น่าจะไม่สามารถฟื้นเศรษฐกิจได้เลย เพราะเป็นแนวทางที่น่าจะล้าสมัยแล้ว ถ้ายังใช้แนวคิดเดิมและทำแบบเดิม โดยหวังว่าเศรษฐกิจจะฟื้นกลับมาที่เดิม แต่ความจริงคือเศรษฐกิจที่เดิมที่รัฐบาลทำมาตลอดก็ยังย่ำแย่มาก ดังนั้นหากจะมีการปรับ ครม. เศรษฐกิจ ก็ควรจะต้องเร่งดำเนินการ และผู้ที่เข้ามาจะต้องคิดใหม่ทำใหม่ โดยต้องมีแนวคิดใหม่เพื่อปรับประเทศให้เข้ากับอนาคตของโลกให้ได้ 
    นายพิชัยกล่าวอีกว่า แนวทางการแก้ไขเศรษฐกิจจะต้องคำนึงถึงการแก้ไขทั้งเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม ไปพร้อมกันถึงจะแก้ไขได้ การจะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโดยละเลยการแก้ไขด้านอื่นควบคู่กันไปด้วย จะไม่สามารถแก้ไขได้สำเร็จ ซึ่งถ้าหากพลเอกประยุทธ์จะปรับ ครม.เศรษฐกิจทั้งหมด ก็เท่ากับตอกย้ำความล้มเหลวของการบริหารเศรษฐกิจที่ผ่านมา ดังนั้นจึงอยากให้พลเอกประยุทธ์ได้ลดทิฐิ และได้กลับไปศึกษาแนวคิดที่ผมเองได้เคยเสนอมาตลอด ซึ่งตรงข้ามกับแนวทางของทีมเศรษฐกิจที่บริหารล้มเหลวนี้ จนตนเองถูกเรียกตัวถึง 12 หน ทั้งปรับทัศนคติและการดำเนินคดี ว่ามีแนวทางอย่างไรที่จะปรับเปลี่ยนประเทศให้ดีขึ้นได้อย่างไร แล้วนำมาปรับเปลี่ยนการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาล ก็น่าจะช่วยเศรษฐกิจไม่ให้ย่ำแย่ลงไปอีก 
    อดีต รมว.พลังงานให้ความเห็นอีกว่า นอกจากเรื่องเศรษฐกิจแล้ว อยากให้พลเอกประยุทธ์ได้ศึกษาว่าประเทศไทยจะพัฒนาได้อย่างไร จากรัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นมาเพียงเพื่อสืบทอดอำนาจอย่างที่เป็นอยู่ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่พิสูจน์แล้วว่าใช้ไม่ได้ และไม่มีประโยชน์ วุฒิสภาที่ไม่ได้มีคุณค่าในสายตาประชาชน ระบบเลือกตั้งที่ผิดเพี้ยน การปฏิบัติตัวของ ส.ส.ที่ไม่เป็นตัวอย่างให้กับประชาชน รวมถึงความขัดแย้งเพื่อแย่งชิงตำแหน่งกัน ซึ่งจะยิ่งทำให้ประเทศเสื่อมลง อีกทั้งสภาวะสังคมที่เสื่อมทราม การยืมทรัพย์คงรูปที่จะถูกนำมาเป็นข้ออ้างในการทุจริตคอร์รัปชันในอนาคต ข่าวคราวการกลั่นแกล้งคนเห็นต่าง ถึงขนาดมีข่าวว่าคนไทยถูกอุ้มหาย และหลายคนถูกฆ่าในประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น รวมถึงภาพพจน์ของประเทศไทยในสายตาของสื่อหลักต่างประเทศที่ย่ำแย่มาโดยตลอด ยิ่งล่าสุดรัฐบาลสั่งปลดล็อกและยกเลิกเคอร์ฟิว แต่กลับยังคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้ยิ่งตอกย้ำที่สื่อหลักต่างประเทศวิจารณ์ว่ารวบอำนาจ เพราะน่าจะกลัวโดนประชาชนและนักศึกษาขับไล่ 
    นายพิชัยกล่าวว่า พลเอกประยุทธ์จะต้องเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นรอบด้านเพื่อพัฒนาทักษะความรู้ จะทำเหมือนในอดีตไม่ได้ เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันหนักหนาสาหัสมาก จะทำเป็นไม่รู้แต่ไม่ฟังไม่ได้แล้ว และหากบริหารผิดทางเหมือนในอดีตจะยิ่งทำให้ประเทศไทยย่ำแย่ลงไปอีกนาน และจะไม่มีเหลือเงินทุนเพียงพอที่จะปรับเปลี่ยนประเทศแล้ว เพราะรัฐบาลได้กู้เงินใช้เต็มวงเงินแล้ว จนหนี้สาธารณะของไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น 7.1 ล้านล้านบาท ซึ่งตั้งแต่นี้ไปตนจะขอเสนอแนวคิดการแก้ไขปัญหาทั้งหมดเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อยากให้พลเอกประยุทธ์ได้ศึกษาแนวทางที่ตนได้เสนอไว้แล้ว คือการปรับเปลี่ยนประเทศไทยให้เป็นระบบดิจิทัลทั้ง หมด (Digitalization) โดยเริ่มต้นจากปรับเปลี่ยนระบบราชการ ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพและส่งเสริมให้ประเทศไทยพัฒนาตามโลกได้ทัน และจะสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับประชาชนมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ประเทศจะฟื้นกลับมาได้ดีกว่าเดิม นอกจากนี้ยังจะแก้ปัญหาสำคัญของประเทศไทย เช่น การผูกขาด การคอร์รัปชัน การหนีภาษี และความเหลื่อมล้ำได้ด้วย เป็นต้น ตัวอย่างของประเทศที่ประสบความสำเร็จในการปรับเปลี่ยนแล้วคือประเทศเอสโตเนีย ที่แยกตัวออกมาจากสหภาพโซเวียตในอดีตและพัฒนาประเทศได้อย่างก้าวหน้า ประชาชนมีรายได้เพิ่มสูงขึ้นมาก ซึ่งถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องเปลี่ยนแปลงระบบทั้งหมด เพื่อให้ฟื้นตัวก้าวหน้าต่อไปอย่างมั่นคง 
    "ไม่มีโอกาสที่พลเอกประยุทธ์จะทำผิดซ้ำซากอีกแล้ว ดังนั้นพลเอกประยุทธ์จะต้องเปิดใจกว้างรับฟังทุกเรื่อง และนำไปศึกษาให้ชัดเจน ยิ่งทำผิดซ้ำซ้อนเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำให้ประชาชนเบื่อหน่ายกับรัฐบาลมากขึ้น และจะหนีไม่พ้นความพยายามที่จะขับไล่ผู้นำรัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้าหากรู้ตัวว่าไม่มีความสามารถเพียงพอ ก็ควรจะต้องลาออกไป อย่าทำให้ประเทศเสียหายยิ่งไปกว่านี้" นายพิชัยกล่าว. 
    


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"