วิษณุกลับลำแช่แข็งอปท. ยันเงินพอจัดการเลือกตั้ง


เพิ่มเพื่อน    

    "วิษณุ" กลับลำ 360 องศา บอกมีงบจัดเลือกตั้งท้องถิ่นแล้ว แต่ยังไม่ได้หารือมหาดไทย  "ปชป.-พท." จับมือเขย่ารัฐบาล บี้ประกาศไทม์ไลน์หย่อนบัตรชิง อปท.ให้ชัด อึ้ง! ปิยบุตรที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองประกาศคณะก้าวหน้าจะส่งผู้สมัครชิงพื้นที่ด้วย ส่วน "ก้าวไกล" ระบุขอทำงานสภาอย่างเดียว "ศรีสุวรรณ" ลั่น กกต.มีอำนาจกำหนดวัน หากชักช้ายื่นถอดถอนทั้งคณะพร้อม ครม.
    เมื่อวันอังคารที่ 16 มิถุนายน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นงบประมาณในการจัดเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ว่าไม่ทราบ แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องได้มีการดูแล้ว แต่ตนเองยังไม่ได้หารือกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.) ในเรื่องดังกล่าวนี้
    เมื่อสอบถามว่า ในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2564 มีงบเลือกตั้งท้องถิ่นด้วยหรือไม่ นายวิษณุตอบว่า "มีครับ" และเมื่อย้ำถามว่า ยืนยันว่ามีงบประมาณจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า "มีครับ"
    ก่อนหน้านี้นายวิษณุเคยระบุว่า งบประมาณการจัดเลือกตั้ง อปท.อาจมีปัญหา เพราะนำไปใช้แก้ไขการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่หรือโควิด-19 จนหมด และอาจทำให้ต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไป
    ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ  (พปชร.) กล่าวถึงกรณีนายกฯ ระบุปลายปี 2563 อาจมีแนวโน้มเลือกตั้งท้องถิ่นบางประเภทก่อนว่า ยังไม่รู้ และยังไม่ได้คุยกับนายกฯ
    เมื่อถามว่าหากมีพระราชกฤษฎีกาให้เลือกตั้งท้องถิ่น พรรคเตรียมบุคคลลงเลือกตั้งไว้พร้อมหรือไม่  พล.อ.ประวิตรตอบว่าต้องประชุมพรรคก่อน
    นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะประธาน ส.ส.พรรค กล่าวถึงกรณีนายวิษณุเคยให้สัมภาษณ์ว่าการจัดเลือกตั้ง อปท.อาจมีปัญหาเรื่องงบประมาณ เพราะงบถูกโยกมาแก้ปัญหาโควิด-19 ว่า การอ้างไม่มีงบเป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น และที่อ้างว่าต้องเอางบไปแก้ปัญหาโควิด-19 ยิ่งตลกเข้าไปใหญ่ เพราะงบที่ใช้แก้โควิด-19 รวมถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมก็มีพระราชกำหนด 3 ฉบับ และยังมีงบจาก พ.ร.บ.โอนงบประมาณอีกส่วนหนึ่งมาใช้จ่ายด้วย
    "การที่รัฐบาลยังไม่ให้เลือกตั้งท้องถิ่นโดยอ้างว่าไม่มีงบประมาณ น่าจะเกิดจากทัศนคติของผู้มีอำนาจที่คุมท้องถิ่นไว้ในมือมานานหลายปี จนไม่อยากให้อำนาจที่มีอยู่หลุดลอยไป รัฐบาลควรคืนอำนาจให้ประชาชนเลือกตั้งท้องถิ่นได้แล้ว ไม่ควรมีข้ออ้างใดๆ มาถ่วงเวลาไม่ให้ประชาชนใช้สิทธิ์ใช้เสียงของตนเองตามระบอบประชาธิปไตย ในการกำหนดการบริหารจัดการท้องถิ่นด้วยมือของตนเอง" นายองอาจกล่าว
    นายองอาจกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาเวลาถามเรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่นกับผู้มีอำนาจ ก็มักโยนกันไปมาระหว่างรัฐบาลโดยกระทรวงมหาดไทยกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แต่มาถึงวันนี้ กกต.ยืนยันชัดเจนว่าพร้อม ระเบียบต่างๆ ดำเนินการเสร็จแล้ว กกต.ได้รับการจัดสรรงบที่ใช้กำกับดูแลการเลือกตั้งท้องถิ่น 800 ล้านบาท งบส่วนนี้ยังอยู่ไม่ได้เอาไปใช้แก้ไขปัญหาโควิด-19 แต่อย่างใด กกต.ประกาศชัดเจนว่าพร้อมจะดำเนินการทันทีที่รัฐบาลประกาศให้เลือกตั้งท้องถิ่น 
วอนกำหนดไทม์ไลน์
    "เมื่อ กกต.ประกาศชัดเจนอย่างนี้ รัฐบาลจึงไม่ควรหวงอำนาจของประชาชนไว้เป็นอำนาจของตนเอง ดังนั้นขอเรียกร้องให้รัฐบาลกำหนดไทม์ไลน์ของการเลือกตั้งท้องถิ่นให้ชัดเจน ว่าจะเลือกตั้งท้องถิ่นรูปแบบต่างๆ เมื่อไหร่ อย่างไร เพื่อให้ทุกฝ่ายเตรียมความพร้อมเดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้งท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองในระดับฐานรากอย่างแท้จริงต่อไป" นายองอาจกล่าว
     นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวเช่นกันว่า ไม่เห็นประโยชน์ที่นายวิษณุจะหาข้ออ้างหลบหลังโควิดเพื่อช่วยรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม  บอกว่าจะพิจารณาเอง ขึ้นอยู่กับกฎหมายและความพร้อมของ มท.และ กกต. ซึ่ง กกต.ยังไม่ไว้หน้ารัฐบาลเลย ประกาศมีงบ 800 ล้านบาท พร้อมจัดเลือกตั้งท้องถิ่นทันที การที่รัฐบาลยื้อการเลือกตั้งท้องถิ่นเท่ากับแช่แข็งท้องถิ่นต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 ทำให้ท้องถิ่นอ่อนแอ จงใจใช้ท้องถิ่นให้เป็นเพียงแขนขามหาดไทยเหมือนตอนรัฐประหาร ทั้งที่สถานการณ์โควิดท้องถิ่นมีบทบาทสูงในการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ การเลือกตั้งท้องถิ่นจะช่วยเปิดรูระบายทางการเมือง และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง
    "พล.อ.ประยุทธ์ควรพูดให้ชัดจะจัดเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อไหร่ เพราะกระทบการบริหารงาน งบประมาณ การกระจายอำนาจ ความพยายามแช่แข็ง ยื้อเลือกตั้งท้องถิ่น ทำประเทศชาติและประชาชนเสียโอกาส" นายอนุสรณ์กล่าว
    ด้านนายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า และอดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ (อนค.)  ซึ่งถูกตัดสิทธิทางการเมือง โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กเดอะอีสานเรคคอร์ดในระหว่างลงพื้นที่ จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.ตอนหนึ่งว่า "แนวทางในการผลักดันเรื่องการกระจายอำนาจหลัง อนค.ถูกยุบและเปลี่ยนมาเป็นพรรคก้าวไกลก็ไม่รู้ว่าพรรคก้าวไกลจะเดินอย่างไรต่อ แต่ที่ได้ฟังคือเขาบอกว่าจะสืบสานปณิธานของ อนค. ดังนั้นในฐานะที่เคยช่วยกันออกแบบนโยบายของ อนค. ก็จะรณรงค์ต่อในนามของคณะก้าวหน้า ทำเรื่องการกระจายอำนาจต่อ จริงๆ ยุติรัฐราชการรวมศูนย์ทวงคืนอำนาจให้ท้องถิ่น
ก้าวหน้าลงชิงท้องถิ่น"
    นายปิยบุตรระบุต่อไปว่า "เรื่องการกระจายอำนาจมันถอยหลังตั้งแต่ปี 2549 และถอยหลังๆ มากขึ้นในปี 2551 ซึ่งวิธีคิดของ คสช.รัฐบาลสืบทอดอำนาจเขามอง อปท.เป็นกลไกของเขา ไม่มอง อปท.คือการตัดสินใจของคนในพื้นที่ เขามองว่า อปท.ทั้งหลายมันคือเครื่องไม้เครื่องมือของเขาในการจัดการ  เรามีกฎหมายแผนการกระจายอำนาจออกมาในปี 2542 บอกว่าจะต้องเพิ่มงบเข้าไปเรื่อยๆ ทุกวันนี้เวลาเอางบไปให้ท้องถิ่น 35 % นั้น คุณมอง อปท.เป็นเพียงท่อผ่านงบ เอาเงินไปให้แต่คุณไปสั่งเขาว่าต้องเอาไปแจกโน่นแจกนี่ตามที่คุณบอก 
    เรามีมายาคติชุดความคิดที่ว่าคอร์รัปชัน เลือกตั้งโกง เลือกตั้งท้องถิ่นเท่ากับมาเฟียท้องถิ่น เลือกตั้งท้องถิ่นได้แต่ตระกูลการเมืองท้องถิ่นเข้าไปทำ ดังนั้นมันต้องเปลี่ยนวิธีคิดตรงนี้ด้วยว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นไม่ได้หมายความว่าคอร์รัปชัน การเลือกตั้งท้องถิ่นอาจหมายความว่าทำเรื่องสิ่งดีๆ ให้กับพื้นที่ที่เขาต้องการได้เอง ดังนั้นคณะก้าวหน้าก็เลยตั้งใจจะมารณรงค์เรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่น เรื่องนายกฯ อบจ.เราจะส่งแข่งในนามคณะก้าวหน้า" นายปิยบุตรกล่าว
    ส่วนนายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมการบริหาร กล่าวในประเด็นนี้ว่า พรรคก้าวไกลกับคณะก้าวหน้าก็คืออดีตพรรค อนค.ด้วยกัน ซึ่งงานในสภาเป็นเรื่องของพรรคก้าวไกล เราจะเน้นทำงานในสภาเป็นหลัก พรรคก้าวไกลจะไม่ส่งผู้สมัครเลือกตั้งท้องถิ่น ในส่วนของคณะก้าวหน้าก็คงเป็นการลงสมัครในนามอิสระของคณะก้าวหน้า เพราะการเลือกตั้งท้องถิ่นไม่ต้องสังกัดพรรค แต่อาจมีอดีตผู้สมัครที่เคยลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรค อนค.ที่ลงสมัครเหมือนกัน
    "การเลือกตั้งท้องถิ่นก็ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก่อน ระหว่างการเลือกตั้งใหญ่กับการเลือกตั้งท้องถิ่น  ผมในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ได้เชิญ พล.อ.ประยุทธ์มาชี้แจงความคืบหน้ากรณีการจัดเลือกตั้งท้องถิ่นในวันที่ 17 มิ.ย.นี้ เพราะที่ผ่านมาได้เชิญทุกหน่วยงานมาชี้แจงหมดแล้ว ซึ่งกฎหมายให้อำนาจ ครม.ในเรื่องนี้ แต่การตอบคำถามของคนในรัฐบาลไม่เป็นเอกภาพและเป็นไปคนละทิศคนละทาง ดังนั้นคำตอบจึงอยู่ที่นายกฯ ว่าต้องการให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นจริงหรือไม่" นายปดิพัทธ์กล่าว
     นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตแกนนำพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) โพสต์เฟซบุ๊กว่า "รัฐธรรมนูญบัญญัติให้สมาชิกสภาท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้ง ส่วนผู้บริหารมาจากการเลือกตั้งหรือมาจากความเห็นชอบของสภาท้องถิ่น จะมียกเว้นได้บ้างก็ในกรณี อปท.รูปแบบพิเศษเท่านั้น รัฐธรรมนูญใช้มาตั้งแต่ปี 2560 โดยไม่มีบทเฉพาะกาลยกเว้นเรื่องนี้ไว้ การไม่ยอมจัดเลือกตั้งท้องถิ่น จึงเป็นการจงใจฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ผู้ที่เข้าข่ายจงใจฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ เป็นผลเสียหายต่อประชาชน น่าจะได้แก่ นายกฯ กระทรวงมหาดไทยและ กกต. ถ้าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญแบบนี้ถูกถอดถอนไปนานแล้ว
บี้ กกต.มีอำนาจ
    นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย กล่าวว่า การเลือกตั้งระดับท้องถิ่นเดิมทีรัฐบาลประกาศว่าจะดำเนินการได้ภายในปีนี้ แต่พบว่าถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด  โดยพยายามชักแม่น้ำทั้งห้ามาใช้เป็นเหตุอ้าง ซึ่งเหตุผลประการหนึ่ง คือ ความไม่พร้อมในเรื่องของกฎระเบียบ ความไม่พร้อมของ กกต. ความไม่พร้อมของประชาชน รวมไปถึงงบประมาณที่จะใช้ในการจัดเลือกตั้งถูกใช้ไปกับการแก้ไขปัญหาโควิด-19 หมดแล้วนั้น ซึ่งชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตย มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และส่งเสริมการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นนั้น บัดนี้พิสูจน์ว่าไม่เป็นความจริง เพราะพยายามประวิงเวลายื้ออำนาจของตนเอง ผ่านกลไกของท้องถิ่นที่รัฐบาลได้ครอบงำไว้เบ็ดเสร็จแล้วออกไปไม่มีกำหนด ทั้งๆ ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 252 ซึ่งระบุไว้ชัดว่าสมาชิกสภาท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้ง แต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ที่ชอบอ้างว่ามาจากการเลือกตั้งนั้น ยังคงปล่อยให้ผู้บริหารท้องถิ่นครองอำนาจมาเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดมากกว่า 7-8  ปี บางแห่งให้ข้าราชการประจำรักษาการในตำแหน่งผู้บริหารมามากกว่า 5-6 ปีแล้ว
    นายศรีสุวรรณกล่าวต่อว่า ตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น 2562  มาตรา 142 ระบุไว้ชัดเจนว่า ภายหลังจากกฎหมายนี้ใช้บังคับให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น โดยให้ คสช.แจ้งไปยัง กกต. หากไม่มี คสช.ให้เป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี ดังนั้นการเลือกตั้งท้องถิ่นจึงไม่ใช่อำนาจของกระทรวงมหาดไทยที่จะกำหนดกรอบเวลาได้ หากแต่เป็นอำนาจของ กกต.โดยตรง และขณะนี้ กกต.ได้ออกระเบียบสำหรับใช้ในการเลือกตั้งเสร็จสิ้นมานานแล้ว แต่ กกต.กลับเงียบเฉยไม่ส่งสัญญาณใดๆ ไปยัง ครม.เพื่อแจ้งให้ทราบถึงความพร้อมในการควบคุม ดูแลการเลือกตั้งท้องถิ่น รวมทั้งการมีงบประมาณสำรองไว้กว่า 800 ล้านบาทแล้วด้วย ดังนั้น สังคมไทยจึงเห็นว่ารองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย ออกมาเฉไฉในการให้สัมภาษณ์ ในทำนองว่ายังไม่พร้อมในเรื่องของกฎระเบียบและความไม่พร้อมของ กกต.
    "สมาคมฯ จะนำคำร้องไปยื่นให้ กกต.ได้เร่งรีบส่งสัญญาณหรือแจ้งไปยัง ครม.เพื่อให้ตัดสินใจเพื่อจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศภายใน ต.ค.63 หากยังมีการใช้เล่ห์กลร่วมกันประวิงเวลาไว้ สมาคมฯ จะนำหลักฐานคำร้องนี้ไปยื่นฟ้องต่อศาลเอาผิด ครม.-กกต.ทั้งคณะแน่นอน โดยจะไปยื่นคำร้องในวันพุธที่ 17 มิ.ย.นี้ เวลา 10.00 น. ณ ศูนย์ราชการฯ อาคาร B" นายศรีสุวรรณระบุ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"