สสส.เครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลกปลดล็อกเด็กเล็กจากเรียนหน้าจอ


เพิ่มเพื่อน    

(นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์สานติ์)

        สสส. เครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก พร้อมปฏิบัติการโต้คลื่นไวรัสโควิด-19 จัดเวทีเสวนา “ปิดเมือง:...ต้องไม่ปิดโลกการเรียนรู้ของเด็ก” ปลดล็อกเด็กเล็กจากเรียนหน้าจอ” การเตรียมความพร้อมเด็กก่อนเปิดเทอม เปิดเรียนออนไลน์ สะท้อนความเหลื่อมล้ำในการเรียนรู้ บางบ้านมีโทรทัศน์เพียงเครื่องเดียว พ่อแม่ต้องทำมาหากิน โอกาสประกบติดติวเข้มเป็นเรื่องยาก โอกาสสูงเด็กเรียนไม่ทันเพื่อน ฟังวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์สานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และประธานมูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน ตัวแทนผู้ปกครองจากเมืองหลวงและชานเมือง ระบายความรู้สึก

      เมื่อการเรียนออนไลน์ไม่ตอบโจทย์การเรียนรู้ของเด็ก และยังสะท้อนช่องว่างและความเหลื่อมล้ำในการเรียนรู้ของเด็กให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ในสถานการณ์วิกฤติโรคระบาดไวรัสโคโรนา (COVID-19) ครอบครัว ครูและชุมชนต้องให้โอกาสเด็กได้เล่น ภาครัฐต้องช่วยออกแบบ หาแนวทางสนับสนุนสร้างการเรียนรู้ตามบริบทพื้นที่อย่างปลอดภัย สสส. เครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก ประกอบด้วย มูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา กลุ่ม we are happy องค์กรสาธารณประโยชน์ และกลุ่มไม้ขีดไฟ จึงได้ร่วมกันจัดเวทีเสวนาออนไลน์ “ปิดเมือง:...ต้องไม่ปิดโลกการเรียนรู้ของเด็ก” ตอน “ปลดล็อกเด็กเล็กจากเรียนหน้าจอ” การเตรียมความพร้อมเด็กก่อนเปิดเทอม การเรียนรู้ผ่านทางหน้าจอ รับสภาพพื้นที่จริงจากพื้นที่หาทางเป็นไปเพื่อการพัฒนา บุคคลมีประสบการณ์ด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย วัยประถม เมื่อวันที่ 27 พ.ค.2563 เวลา 13.30-16.30 น.

      อธิติยา ซุ่นกี่ ในฐานะตัวแทนผู้ปกครองจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นแม่ของลูก 2 คน วัย 5 ขวบและวัย 7 ขวบ และทำหน้าที่อาสาสมัครวัดควนสง นครศรีธรรมราช สุกัญญา เย็นประสิทธิ์ อาสาสมัครครูผู้ดูแลเด็กจากศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน ชุมชนราษฎร์พัฒนา เขตมีนบุรี กทม. คุณแม่ลูก 3 คน แวว  ชัยอาคม ตัวแทนผู้ปกครองย่านฝั่งธนบุรี มีลูกคนโต 22 ปี ลูกคนเล็ก 8 ปี ประสพสุข โบราณมูล (โรส) ผู้ประสานงานเครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก ผจก.ฝ่ายคุ้มครองและพัฒนาเด็ก มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) ผู้เชี่ยวชาญพัฒนาเด็ก ส่งเสริมให้มีการเล่นอย่างอิสระ FreeDay นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และประธานมูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน ดำเนินรายการโดย เข็มพร วิรุณราพันธ์ ผอ.สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน

(เข็มพร วิรุณราพันธ์)

      อธิติยา ซุ่นกี่ กล่าวว่า มีลูก 2 คน คนหนึ่งเรียนอยู่อนุบาล 2 อีกคนหนึ่งเรียนชั้นประถมปีที่ 1 ที่บ้านมีทีวีเพียงเครื่องเดียว เมื่อมีการสอนออนไลน์ตรงกันก็ต้องเลือกให้คนใดคนหนึ่งได้ดูทีวี เด็กอนุบาลไม่สนใจ นั่งดูทีวีอย่างเดียว เขาสนใจการเล่น การกิน การทำกิจกรรมมากกว่ากิจกรรมนั่งหน้าจอ ส่วนเด็ก ป.1 นั่งเรียนออนไลน์ทางทีวีเพราะถูกแม่บังคับ ครูกำหนดให้เริ่มเรียนตั้งแต่ 08.30 น. และให้เด็กส่งภาพทางไลน์กลุ่มของ รร. เพื่อรายงานให้ครูได้รับทราบว่าเด็กกำลังนั่งเรียนออนไลน์อยู่ ทั้งๆ ที่เจ้าตัวก็ไม่ได้อยากเรียนทางออนไลน์

      นักเรียนทั้งหมดกว่า 30 คน ไม่ได้ส่งไลน์กลุ่มกันทุกคน จึงได้รู้ว่าไม่ใช่นักเรียนทุกคนที่จะเรียนทางออนไลน์ เพราะบางครั้งพ่อแม่ก็มีภาระหน้าที่ ที่บ้านทำสวนต้องไปกรีดยาง ทุกคนต้องรีบออกไปทำงานกันแต่เช้าตรู่ ไม่สามารถจะดูลูกให้เรียนทางออนไลน์ได้ เด็กบางคนเรียนไม่ครบชั่วโมง บางครั้งกว่าจะเริ่มต้นเรียนก็ช่วงเวลาบ่าย สำหรับเด็กเล็กชั้นอนุบาลเขาไม่สนใจที่จะเรียนทางออนไลน์ เขาพอใจที่จะเล่นอย่างอิสระตามประสาเด็ก เพราะเด็กชอบที่จะสมมติตามจินตนาการของตัวเอง บางครั้งก็ได้รับการต่อว่าต่อขาน ทำไมคุณแม่ไม่ดูแลลูก สั่งให้พรินต์งานแล้วไม่ทำ คนเป็นพ่อแม่ไม่ได้สะดวกทุกเวลา ภายใน 30 วันต้องส่งรายงาน เหมือนการทำงานภายใต้ความกดดันที่คนเป็นพ่อเป็นแม่ต้องทำตามคำสั่งครู ต้องติดตามผลว่าเทคโนโลยีดี แต่ไม่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม ยิ่งในชนบท นครศรีธรรมราช บางครอบครัวมีคนแก่อยู่กับเด็กๆ คนแก่ก็เปิดเน็ตไม่เป็น เด็กก็ไม่สามารถจะเรียนทางออนไลน์ได้ หรือบางครั้งก็มีปัญหาการเข้าถึงออนไลน์ในต่างจังหวัด

      “เราฝึกลูกให้อาบน้ำ กินข้าวเองอย่างมีความสุข เป็นกิจวัตรประจำวัน มอบหมายหน้าที่ให้เอาข้าวเปลือก ข้าวโพดไปเลี้ยงไก่ เมื่อถึงเวลากลางวันก็นอนพัก มิฉะนั้นเด็กจะง่วงเหงาหาวนอนตอนเย็น เมื่อนอนเต็มอิ่มแล้วช่วงเย็นก็พาเข้าไปเล่นในสวน ฝึกให้รู้จักเศรษฐกิจพอเพียง นำมาใช้กับทุกครอบครัวด้วย เรื่องขุดดินเด็กๆ ทำได้ มีสะพานไม้จากต้นหมากหัดเดินฝึกการทรงตัว ให้มีความระมัดระวัง เป็นการเรียนรู้โดยอัตโนมัติ เป็นการฝึกการเรียนรู้ด้วยตัวเอง เมื่อเจ็บตัวเขาจะได้ระมัดระวังตัว ไม่ประมาท”

      ขณะเดียวกันก็ฝึกฝนให้เด็กเล่นการสร้างบ้าน รู้จักหน้าที่ของตัวเอง ตัดต้นไม้ กิ่งไม้มาสร้างบ้าน เม็ดมะม่วงหิมพานต์มาตำ ขณะเดียวกันผู้ใหญ่คอยดูแลอย่างใกล้ชิด

 

      สุกัญญา เย็นประสิทธิ์ เล่าว่า ที่บ้านมีโทรทัศน์ดิจิทัลพอเพียงสำหรับลูกทุกคนในการเรียนออนไลน์ เพียงแต่สัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่ค่อยเสถียร ทำให้การเรียนไม่ต่อเนื่อง เรียนได้ครึ่งชั่วโมงก็ต้องเลิก แม่ต้องตามเก็บงานตอนหลัง แม่ไม่บังคับให้เรียนทางออนไลน์ แม่เป็นคนสอนเอง แม่จัดตารางสอนให้เขาทำกิจกรรม แม่เป็นครูสอน แทนที่จะเรียนทางออนไลน์น่าจะได้ผลดีกว่า การเรียนของเด็กชั้นประถมทางออนไลน์ ครูถามทางไลน์มายังกลุ่มผู้ปกครองถึงผลการเรียนออนไลน์ของเด็ก แม่หลายคนก็โอดครวญว่าเด็กไม่สนใจที่จะเรียนออนไลน์ ตอนแรกก็นั่งดูหน้าจออยู่ดีๆ ก็ค่อยๆ เลื้อยลงไปอยู่ใต้โต๊ะ ก็คือถือโอกาสแวบที่จะเรียน

      สุกัญญา เย็นประสิทธิ์ กล่าวว่า ศูนย์เด็กเล็กเข้าร่วมกิจกรรมกับ สสส. สื่อสร้างสรรค์ นำกิจกรรมมารวมกันเป็นเรื่องเดียวกันก็ได้รับความรู้ ขณะเดียวกันผู้ปกครองก็ได้เรียนรู้ไปด้วยกัน การเล่นของเด็กมีความสำคัญอย่างยิ่ง การที่เด็กอยู่กับผู้ปกครอง Play at home ให้พ่อแม่เป็นพี่เลี้ยงเด็ก ผู้ปกครองส่งภาพมาทางไลน์ให้ครูได้รับรู้ถึงการเรียนทางออนไลน์ ขณะเดียวกันเด็กเล็กยังไม่พร้อมที่จะเรียน เขาอยากจะเล่นมากกว่า พ่อแม่ก็ต้องมีบทบาทดูแล เพราะการที่เด็กได้เล่น เขาจะมีความสุขมากกว่า ดังนั้นจึงต้องมีการเรียนรู้ผ่านกลุ่มไลน์ของพ่อแม่ มีการนัดกันเข้าไปเยี่ยมเยียนบ้านเด็ก เพราะบางบ้านพ่อแม่ออกไปทำงานตั้งแต่เช้าตรู่ ปล่อยให้เด็กอยู่กับปู่ย่าตายายซึ่งไม่ได้เก่งเรื่องเทคโนโลยี

      แวว  ชัยอาคม กล่าวว่า เด็กในเมืองเรียนทางออนไลน์ แต่เด็กก็ไม่ได้โฟกัสที่จะเรียนเท่าใดนัก ขนหนังสือออกมาเรียน แต่ไม่ได้สนใจที่จะฟัง จะนิ่งต่อเมื่อมีคนคอยควบคุมให้เรียนทางออนไลน์ แต่ถ้าพ่อแม่ปล่อยให้ลูกเล่นอย่างอิสระ แต่ในมุมของคนที่มีหัวอกเป็นพ่อเป็นแม่ก็ต้องตื่นตัว ตื่นเต้นตาม เพราะพ่อแม่กังวลว่าลูกเรียนไม่ทันเพื่อนๆ ยิ่งต้องอยู่ในพื้นที่จำกัดเฝ้าเรียนอยู่หน้าจอ เด็กจะมีความเครียดที่จะต้องเรียทางออนไลน์ เป็นความเครียดสองเด้ง เท่ากับเป็นการเพิ่มความเครียดให้กับเด็ก ปกติพ่อแม่ก็มีความเครียดกันอยู่แล้ว ยิ่งวิกฤติจากปัญหาการตกงาน รายได้ลดลงก็เครียด เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ในสถานการณ์ ที่ทำงานบางแห่งไม่ได้มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตปกติ ดังนั้นพ่อแม่ก็ต้องหาทางผ่อนคลาย ลดความตึงเครียดให้กับลูกด้วย

      ในพื้นที่เมืองเด็กมีพื้นที่จำกัด ทำให้เกิดความเครียดที่ไม่ได้ออกนอกบ้านในช่วงสถานการณ์โควิดระบาด แม่ได้แนวคิดจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก ให้มีการเล่นอิสระ ปรับให้ลูกได้เล่นอิสระตามที่ลูกชอบ ชอบเล่นขายของสนับสนุนให้ซื้อแตงกวา แครอต ฝึกการทำอาหารด้วยตัวเอง เมนูไข่เจียว ไข่ดาว ข้าวผัด การที่ลูกมีประสบการณ์หัดทำกับข้าวอยู่ในครัว แม่ไม่ต้องกังวลเมื่อลูกเข้าครัว น้ำปลาเค็ม น้ำตาลหวาน เด็กได้สัมผัสรสชาติ เป็นการสอนลูกไปในตัว ด้วยสถานการณ์ของโควิดทำให้ทุกครอบครัวอยู่บ้านมากขึ้น ก็ต้องมีกิจกรรมที่ทำร่วมกัน ความสุขที่พ่อแม่อยู่กับลูก ลูกทำกับข้าวให้พ่อแม่ได้กินและชิม ทุกอย่างเป็นเรื่องที่พ่อแม่สอนลูกได้ทุกอย่าง แม้แต่การเล่นขายของผนวกกับการลดความเครียดให้ลูกได้

 

 

 

นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

และประธานมูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน

      ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาไม่ได้เรียนทางออนไลน์ แต่เป็นการเรียนผ่านทางโทรทัศน์เป็นความต่างของการเรียนออนแอร์ เป็น Passive Learning เป็นการเรียนฝ่ายเดียวทางออนไลน์ เด็กมีความสามารถเข้าถึงเด็กโต มหาวิทยาลัย มีห้องเรียนจริงๆ แบ่งกลุ่มกันทำกิจกรรม เด็กเล็กเหตุด้วยวัย ความขาดแคลน วิธีการง่ายที่สุดเป็น DLTV เปิด 1 ช่อง 1 ชั้นปี อนุบาล 3 มีช่องที่อธิบายเรื่องราว ขนาดเรียนอยู่ในห้องเรียนครูยังต้องควบคุมโดยตลอด เด็กอนุบาล เด็กประถม ครูเข้าถึงเด็กตลอดเวลา ครูต้องมีศาสตร์และศิลป์เพื่อจะเข้าถึงเด็ก การเรียนออนไลน์คุณภาพจะต่ำมาก

      ดังนั้นควรจะพิจารณาด้วยว่าเด็กที่อยู่ในจังหวัดที่การติดเชื้อ COVID-19 เป็น 0 หรือจังหวัดที่ไม่พบการติดเชื้อรายใหม่มากกว่า 14 วัน ควรจะเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนหนังสือที่ รร. เพราะการเรียนของเด็กภายใน รร.จะดีกว่าเรียนทางออนไลน์ เนื่องจากครูมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กอย่างใกล้ชิด การเรียนอย่างมีคุณภาพต้องมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน เด็กไม่เหมือนผู้ใหญ่ที่ผู้ใหญ่ work from home ได้ แต่เด็กต้องมีเพื่อน ต้องมีปฏิสัมพันธ์ต่อผู้ใหญ่ เป็นการเรียนรู้ที่ไม่ใช่เพียงอยู่ในตำราเท่านั้น เป็นการเรียนรู้ที่สำคัญ ต้องมีพัฒนาการทางสังคมด้วย การไปโรงเรียนถือได้ว่าเป็นสวัสดิการทางสังคม

      การที่เด็กไป รร.ไม่ว่าจะมาจากครอบครัวไหนก็ตาม เด็กมีอาหารกลางวันที่ดี มีคุณภาพ ได้รับนมเป็นสิทธิ์ที่เด็กได้รับ ถือได้ว่าเป็นสวัสดิการสังคม เราต้องยอมรับความเป็นจริงว่าเราไม่สามารถจัดการเรียนการสอนเป็นห้องเรียนแบบเดิมๆไ ด้ ขณะเดียวกันการที่ปล่อยให้เด็กเรียนหนังสือผ่านทางหน้าจอออนไลน์วันละ 6 ชั่วโมงก็เป็นเรื่องที่แย่สำหรับเด็ก เราต้องคำนึงถึงความจำเป็นของเด็กที่จะมาเรียนหนังสือ สถานการณ์ในการจัดสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัย ให้มีระยะห่าง จุดล้างมือ การสวมหน้ากากอนามัย เด็กจะปลอดภัย

      การจัดแบ่งเวลาเด็กให้อยู่ใน รร.นักเรียนแต่ละห้องมี 40 คน ต้องจัดแบ่งเป็น 20 คน อีก 20 คนเหลื่อมเวลาการสอน เด็กต้องแยกเป็น 2 กลุ่ม เช้า บ่าย ชั่วโมงเรียนที่อยู่ใน รร.น้อยลง เป็นโอกาสที่พ่อแม่จะต้องจัดเวลาทบทวนหนังสือให้ลูกด้วย พ่อแม่จะต้องมีบทบาทที่จะใกล้ชิดกับลูกในการเรียนการสอนให้มากยิ่งขึ้นด้วย เราต้องช่วยกันป้องกันโควิด-19 ไม่ให้ระบาด ขณะเดียวกันก็ต้องจัดเวลาให้เด็กอยู่ในบ้านมากขึ้นด้วย

      การที่เด็กอยู่กับเราที่บ้านในช่วงปิดเทอมโควิด ลดเวลาเรียน ด้วยบทบาทของพ่อแม่ต้องดึงเด็กมาร่วมกันทำกิจกรรม ทำงานบ้าน ปลูกต้นไม้ในสวน “ช่วงที่ผมไปเรียนต่อต่างประเทศ ผมทำครัวเป็น ทำอาหารที่บ้านโดยไม่ต้องสั่งอาหาร เป็นสมบัติติดตัวเรา เด็กผู้ชายเรียนรู้ที่จะทำงานบ้าน เติบโตเป็นผู้ใหญ่มีความเท่าเทียมกันทางเพศ การที่ลูกอยู่หน้าจอมากๆ ในขณะที่พ่อแม่ต้องทำงาน เป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องดึงเด็กออกจากหน้าจอไปทำกิจกรรม ในช่วงแรกพ่อแม่ต้องอดทน ชื่นชมเมื่อเขาทำได้ดี เด็กเรียนรู้ที่จะมีวินัย มีความรับผิดชอบ มีทักษะในการดำเนินชีวิต การเล่นอิสระ เป็นการเปิดพื้นที่ให้เด็กออกไปเรียนรู้โลกภายนอก

      เด็กเล่นทำกับข้าว คิดเมนูด้วยตัวเอง เป็นจินตนาการในการสร้างอาชีพ การสร้างผลงานศิลปะการวาดรูป การปั้น ทำให้เด็กมีการเคลื่อนไหว ธรรมชาติของเด็กจะสร้างทางเลือกให้กับตัวเอง การจัดตารางเวลา การให้เด็กเขียน diary บันทึกแต่ละวัน การอ่านหนังสือ ถ้าปล่อยให้เด็กติดหน้าจอ พฤติกรรม พัฒนาการของเด็กจะแตกต่างจากเด็กที่มีกิจกรรมหลากหลาย

      การเยียวยาความเครียดของเด็กด้วยการให้เล่นอย่างมีกติกา เรียนรู้ สังคมในเมืองเราแทบไม่มีเพื่อนบ้าน การสร้างศักยภาพที่จะให้เด็กเล่นที่บ้านของตัวเอง แม้จะเป็นตึกแถว บางบ้านมีพื้นที่มาก พ่อแม่ก็รวมตัวกันพาเด็กมาเล่นรวมกันที่บ้าน ซึ่งมีบริเวณสำหรับเด็กเล่นด้วยกัน เมื่อถึงเวลารับประทานอาหารก็จัดอาหารแบ่งให้กับเพื่อนบ้าน

      การที่เรามีศูนย์เด็กเล็ก ไม่ต้องบริหารมาก ทำกิจกรรมได้ ครูสร้างวิถีชีวิตใหม่ในศูนย์เด็กเล็ก เปลี่ยนชั่วโมงรับประทานอาหารว่างด้วยเงื่อนไขต้องล้างมือ ถือหลักกินร้อน ช้อนกลางส่วนตัว เพื่อให้เป็นวิถีชีวิต.

 

 

 

 

 

                   ประสพสุข โบราณมูล (โรส)

ผู้ประสานงานเครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก ผจก.ฝ่ายคุ้มครองและพัฒนาเด็ก มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.)

      การเก็บข้อมูลศูนย์เด็กเล็ก เล่นเปลี่ยนโลก สำนัก 4 สนับสนุนให้มีการลงสำรวจในสถานการณ์โควิด-19 ให้มีแนวทางการเล่นอย่างอิสระ ในเมืองกลุ่มเปราะบางไม่สนใจว่าลูกจะเรียนออนไลน์ ยิ่งตอนนี้ลูกต้องเรียนทางออนไลน์ก็ปล่อยทิ้งไว้อยู่กับหน้าจอ ให้รู้ว่าลูกเรียนหรือไม่เรียน เราสำรวจพบว่าเด็กนักเรียนกลุ่มเปราะบางในชุมชนแออัด เด็กอยู่หน้าจอวันละ 7 ชั่วโมง เมื่อถามเด็กว่าเขาทำอะไรบ้าง เล่นเกม ดูเรื่องบันเทิง ดู youtube ส่วนใหญ่เป็นการเล่นเกม พ่อแม่ไม่ค่อยรู้ว่าลูกๆ ทำอะไร พ่อแม่ก็ต้องออกไปทำมาหากินเพื่อหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว คิดแต่เพียงว่าลูกอยู่บ้านติดจอดีกว่าออกไปอยู่นอกบ้านแล้วไม่รู้ว่าลูกออกไปทำอะไรกันบ้าง

      ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาของกลุ่มเปราะบางและมีความซับซ้อน ยิ่งเด็กที่อยู่ในชนบท พ่อแม่ย่อมมีความกังวลสูงมาก กลัวที่สุดว่าลูกจะเรียนไม่ทันเพื่อนฝูง บางบ้านไม่มีทีวี พ่อแม่ก็ต้องไปหาทีวีให้ลูกได้ดู ถ้าไม่หาทีวีก็กลัวว่าลูกจะเรียนไม่ทันเพื่อน เด็กเล็กฝากไว้กับคุณตาคุณยาย ก็รู้ไม่เท่าทันเรื่องออนไลน์ ดังนั้นปัญหาของเด็กกลุ่มเปราะบางจึงเป็นความซับซ้อนขึ้นไปอีก

      เครือข่ายการเล่นเปลี่ยนโลกเป็นการสร้างประสบการณ์ดีๆ ในหลายพื้นที่ เด็กเล่นเป็นการเล่นอย่างอิสระควบคู่กับการเรียนรู้ที่ผู้ใหญ่อยากให้เด็กเรียนรู้การเล่นเปลี่ยนโลก เป็นการส่งเสริมให้เด็กมีเวลาเล่นอย่างอิสระในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อยากให้ครู พ่อแม่ได้เปิดโอกาสเด็กเล่นอย่างอิสระ เป็นความต้องการภายในของเด็ก การเล่นดิน น้ำ ทราย เป็นกิจกรรมที่เด็กได้เรียนรู้ การทำกิจกรรมศิลปะ เป็นการส่งเสริมโลกแห่งการเรียนรู้ ยิ่ง รร.อนุบาล ศูนย์เด็กเล็ก เด็กประถม การเล่นเป็นสิ่งสำคัญมาก จากงานวิจัยการเล่น เด็กมีความสุขเป็นพื้นฐานการเล่นซ้ำๆ จะเกิดทักษะในเด็กโดยธรรมชาติ เด็กได้เรียนรู้ธรรมชาติผ่านการเล่น

      มีครอบครัวจำนวนหนึ่งที่ไม่พร้อมจำเป็นต้องมีครูเข้ามาดูแลเด็กด้วย ประชุมหารือกับชุมชน จัดเป็นพื้นที่ส่วนกลาง เพื่อให้เด็กเข้าร่วมกิจกรรมอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยของชุมชน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"