'บิ๊กตู่'ถกป.ย.ป.เมินคุย'นิรโทษกรรม'


เพิ่มเพื่อน    


    "บิ๊กตู่" นั่งหัวโต๊ะประชุม ป.ย.ป. วอน ส.ส.-ส.ว.เข้าใจยุทธศาสตร์ชาติ หลักเกณฑ์ของประเทศ ที่จะเดินหน้าต่อไปอย่างมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เพราะส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจ "บิ๊กป้อม" ชี้ไม่มีคุยเรื่องนิรโทษฯ เผยผลประชุมซูเปอร์บอร์ดปฏิรูปประเทศฯ พร้อมขับเคลื่อน-ปรับปรุงแก้ไข-ตรากฎหมายในระยะเร่งด่วน 
    เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2563 ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง หรือ ป.ย.ป. ครั้งที่ 1/2563 ได้กล่าวก่อนการประชุมว่า ในการประชุมวันนี้ ถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ ในครั้งที่ผ่านมา ซึ่งวันนี้จะต้องปรับให้เข้ากับรูปแบบและกฎหมายในปัจจุบัน ให้เกิดความเหมาะสมกับสถานการณ์ โดยสิ่งที่มุ่งหวังคือ ทำอย่างไรให้ยุทธศาสตร์ชาติเดินหน้าต่อไปได้ตามหลักการที่วางไว้
    "ส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจว่าอะไรคือยุทธศาสตร์ชาติ และประเทศชาติจะเดินหน้าไปด้วยดี ก็ขึ้นอยู่กับ 6 กลุ่มงานยุทธศาสตร์ วันนี้ไม่จำเป็นต้องรื้อทั้งหมด เพียงแต่แผนงานและรูปแบบปฏิบัติ ต้องทำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ ความขัดแย้งในภูมิภาคต่างๆ ของโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องอธิบายให้เข้าใจ โดยเฉพาะบรรดา ส.ส. และ ส.ว.ต่างๆ ที่ต้องเข้าใจในสิ่งเหล่านี้ เพราะเป็นหลักการและ หลักเกณฑ์ของประเทศ ที่จะเดินหน้าต่อไปอย่างมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
    พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์หลังประชุม ป.ย.ป.ว่า ที่ประชุมไม่ได้มีการพูดคุยเรื่องการนิรโทษกรรม ส่วนเรื่องการปรองดองนั้น เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการอยู่แล้ว 
    เมื่อถามถึงขั้นตอนการขับเคลื่อนงานว่าจะเป็นแนวรูปแบบใด พล.อ.ประวิตรปฏิเสธที่จะตอบคำถามดังกล่าว
    นางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ในฐานะผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป. แถลงผลการประชุมว่า การทำงานของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ เมื่อกำหนดแผน กำหนดการทำงานทั้งหมด จะต้องลงไปสู่หน่วยปฏิบัติคือกระทรวง ทบวง กรม แต่ปัญหาอยู่ที่การขับเคลื่อนของกระทรวง ทบวง กรม จะมีหน่วยงานใดประสานเร่งรัดขับเคลื่อน ซึ่งคณะกรรมการ ป.ย.ป.จะเข้ามาทำหน้าที่ในส่วนนี้ เพื่อเป็นหน่วยงานที่ช่วยเหลือ สนับสนุน 
    ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้มีการเสนอผลงานที่สำคัญของ ป.ย.ป.ที่ผ่านมา ทั้งการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ การลดความเหลื่อมล้ำ การบูรณาการข้อสารสนเทศสำหรับผู้พิการ การป้องกันปัญหากลุ่มควันนำร่องที่จังหวัดเชียงใหม่ และปฏิรูประบบร้องเรียน ร้องทุกข์ของประเทศ โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบและรับทราบ โดยให้ดำเนินการเรื่องดังกล่าวต่อไป 
    นางพงษ์สวาทเผยว่า ที่ประชุมมีการทบทวนคณะกรรมการทำงานต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการปรองดอง จำนวน 14 ชุด โดยที่ประชุมได้มีมติยกเลิกคณะกรรมการทั้งหมด ซึ่งโดยสภาพทางกฎหมายถือว่าคณะกรรมการต่างๆ เหล่านี้สิ้นสุดลง เพราะเป็นการตั้งตามคำสั่งของนายกฯ ในรัฐบาลชุดก่อน ดังนั้นเมื่อมีการตั้งรัฐบาลชุดใหม่ สถานะทางกฎหมายจึงสิ้นสุดลง และที่ประชุมมีมติตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นมา 1 ชุด คือคณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศในส่วนที่ต้องมีการปรับปรุงแก้ไข หรือตรากฎหมายในระยะเร่งด่วน 
    ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีสภาผู้แทนราษฎร จะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ว่า ทางสภาแจ้งมาที่รัฐบาล และคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบแล้ว หลังจากนี้ก็เตรียมไปชี้แจงเหมือนงบประมาณปกติ ส่วนกรอบเวลาที่วางไว้ 3 วันนั้น ไม่มีปัญหา ส่วนตัวคิดว่าพอ ถ้าไม่พอก็สามารถต่อได้
    นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ว่า จากการที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กำหนดให้มีการประชุมในวันที่ 1-2กรกฎาคมนั้น การใช้เวลาเพียง 2 วัน เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ที่มีวงเงินสูงถึง 3.3 ล้านล้านบาท มีความจำเป็นต้องมีเวลาอภิปราย และแสดงความเห็นมากพอสมควร จะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3-4 วัน 
    นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ร่วมกับผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง เสียงเกษตรกร ต่อเงินกู้งบฟื้นฟูสี่แสนล้านบาท  
    เมื่อถามถึงความต้องการของเกษตรกรต่อรัฐบาลในการใช้เงินกู้เพื่อฟื้นฟูสี่แสนล้านบาท เพื่อประโยชน์ต่อเกษตรกร พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 97.2 ต้องการให้อุดหนุนเกษตรกรรายย่อย ผู้ผลิตเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ รองลงมาคือร้อยละ 96.9 ต้องการให้จัดตั้งกองทุนสร้างเกษตรรุ่นลูกหลานและแรงงานคืนถิ่น,  ร้อยละ 96.1 ต้องการใช้งบฟื้นฟูฯ ทำเกษตรผสมผสาน ตามทฤษฎีใหม่ ป่าสามอย่างประโยชน์สี่อย่าง, ร้อยละ 95.8 ต้องการกระจายงบฟื้นฟูฯ ให้ทั่วถึง ไม่ลงกลุ่มเดิมๆ 
    ร้อยละ 95.3 ต้องการโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์, ร้อยละ 94.6 ต้องการส่งเสริมการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรเป็นเกษตรอุตสาหกรรม, ร้อยละ 92.6 ต้องการ ส่งเสริมช่องทางขายสินค้าเกษตรออนไลน์แบบถ้วนหน้า และร้อยละ 90.8 ต้องการสนับสนุนชุมชนเป็นเจ้าของโรงงานแปรรูปผลผลิตเกษตรและพลังงานชีวมวล เกษตร โรงไฟฟ้าชุมชน
    ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 81.2 ระบุไม่มีส่วนร่วมในการจัดทำโครงการขอใช้เงินกู้เพื่อฟื้นฟูสี่แสนล้านบาทเลย ในขณะที่เพียงร้อยละ 18.8 เท่านั้นระบุมีส่วนร่วม
    ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 72.9 ต้องการค่อนข้างมากถึงมากที่สุดในการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการใช้เงินกู้งบฟื้นฟูสี่แสนล้านบาท ในขณะที่ร้อยละ 27.1 ต้องการค่อนข้างน้อยถึงไม่ต้องการเลย ที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 81.8 กังวลค่อนข้างมากถึงมากที่สุดอาจจะเกิดการทุจริตคอร์รัปชันในการใช้เงินกู้งบฟื้นฟูสี่แสนล้านบาท ในขณะที่ร้อยละ 18.2 กังวลค่อนข้างน้อยถึงไม่กังวลเลย
    นายประพัฒน์กล่าวว่า สภาเกษตรกรแห่งชาติขอมีส่วนร่วมในการสนับสนุนรัฐบาลและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ขับเคลื่อนการใช้งบฟื้นฟูเศรษฐกิจสี่แสนล้านบาทให้มีประสิทธิภาพก่อประโยชน์สูงสุดกับเกษตรกรในระดับฐานราก และในทิศทางข้างหน้า สภาเกษตรกรแห่งชาติจะได้ร่วมกับสำนักวิจัยซูเปอร์โพล ทำการสำรวจ วิจัย ติดตาม ความพึงพอใจของเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง
    ด้าน ผอ.ซูเปอร์โพลกล่าวว่า ผลโพลชิ้นนี้ชี้ชัดว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ส่งเสียงในผลโพลว่า ไม่ได้มีส่วนร่วมในการจัดทำโครงการขอใช้เงินกู้งบฟื้นฟูสี่แสนล้านบาท และส่งผลทำให้เกิดความกังวลต่อปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในการใช้เงินกู้งบฟื้นฟูนี้ ที่มีการเร่งรัดในการจัดทำโครงการต่างๆ ที่อาจจะทำให้เม็ดเงินตกไม่ถึงมือเกษตรกรอย่างแท้จริง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"