New Blood เพื่อไทย มองอนาคตพรรค หลังเกิดกลุ่มแคร์


เพิ่มเพื่อน    

New Blood เพื่อไทย

อ่านทิศทางพรรค-ยันไม่ใช่ยุคขาลง

     ขณะที่พรรคฝ่ายรัฐบาลกำลังมีการขยับทางการเมืองกันอย่างคึกคัก ก่อนที่จะมีการปรับ ครม. ประยุทธ์2/2 ในอนาคตอันใกล้ ด้านซีกพรรคฝ่ายค้าน หลายฝ่ายกำลังเฝ้าติดตามสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ไปของ พรรคเพื่อไทย พรรคที่มี ส.ส.ในสภามากที่สุด และชนะการเลือกตั้งมาตลอดทุกครั้งตั้งแต่ยุคไทยรักไทย-พลังประชาชน จนถึงเพื่อไทย แต่หลังเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้านมาได้ร่วมปีก็มีเสียงวิจารณ์ว่าบทบาทการเป็นฝ่ายค้านยังสอบไม่ผ่าน-พรรคอยู่ในช่วงขาลง หลังแกนนำพรรคที่เป็นคนซึ่งมีบทบาทสำคัญในการทำงานการเมืองให้กับพรรคเพื่อไทยมาตลอด เช่น ภูมิธรรม เวชยชัย อดีตเลขาธิการพรรค-พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล อดีต รมว.คมนาคม กำลังจะแยกตัวออกไปทำพรรคการเมืองใหม่ หลังเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมามีการเปิดตัว กลุ่มแคร์ ที่มีนักการเมืองรุ่นใหญ่ของเพื่อไทยไปร่วมก่อตั้ง ซึ่งทุกฝ่ายต่างมองว่าสุดท้ายกลุ่มแคร์ก็จะกลายเป็นพรรคการเมืองในอนาคต

     ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล-รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย 2 สมัยติดต่อกัน-นักการเมือง New Blood กรรมการบริหารพรรค สายตรง-คนสนิทของภูมิธรรม เวชยชัย อดีตเลขาธิการพรรคเพื่อไทย มองสถานการณ์ในพรรคเพื่อไทยเวลานี้ในทัศนะคนการเมืองรุ่นใหม่ ด้วยการยืนยันว่า เพื่อไทยยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง พรรคไม่ได้ขาลง รวมถึงมองว่าสิ่งที่เพื่อไทยต้องทำต่อจากนี้ควรมีอะไรบ้าง 

     ดร.เผ่าภูมิ ที่มีดีกรีปริญญาเอกเศรษฐศาสตร์, University of Illinois at Chicago, U.S.A.-ปริญญาโท 2 ใบ คือ เศรษฐศาสตร์ จาก University of Illinois at Chicago, U.S.A. และสาขาวิชาบริหารธุรกิจ (การเงิน) จาก University of Massachusetts at Boston, U.S.A. อดีตอาจารย์พิเศษคณะเศรษฐศาสตร์ University of Illinois at Chicago, U.S.A. และอดีตข้าราชการประจำสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง อ่านสถานการณ์ของพรรคเพื่อไทยต่อจากนี้ว่า ลำดับแรกก็ต้องแฟร์กับพรรคเพื่อไทยก่อน หากจะบอกว่าเพื่อไทยกำลังอยู่ในช่วงเป็นพรรคการเมืองขาลง กำลังเป็นพรรคที่อยู่ในช่วงที่มีปัญหา ตรงนี้ผมต้องขอเห็นแย้ง เพราะเรากำลังพูดถึงพรรคการเมืองอันดับหนึ่งของประเทศ ชนะการเลือกตั้งมาตลอดเกือบ 20 ปี ไม่เคยแพ้ตลอดร่วม 20 ปี และเป็นพรรคการเมืองที่มี Think Tank มีหน่วยวิชาการขนาดใหญ่ที่สุดเลยก็ว่าได้ อีกทั้งยังเป็นพรรคการเมืองที่มีปีกเยาวชนของพรรคที่เข้มแข็งมาก เรามีเพื่อไทยพลัส ที่ผมคิดว่าน่าจะเป็นปีกเยาวชนที่น่าจะเข้มแข็งมากที่สุด จึงทำให้เพื่อไทยเป็นพรรคการเมืองที่มีศักยภาพในการแข่งขันสูงที่สุดในประเทศ ณ ปัจจุบัน

     ดังนั้นถ้าจะบอกว่า เพื่อไทยกำลังเป็นพรรคขาลง เป็นพรรคการเมืองที่กำลังมีปัญหา จึงเป็นคำพูดที่ไม่น่าจะถูกต้อง

     รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวต่อไปว่า ข่าวเรื่องความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ต้องยอมรับว่าทุกพรรคการเมืองในเรื่องการมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันต้องมี ถ้าพรรคการเมืองไหนไม่มี อันนั้นคือพรรคเผด็จการ พรรคคอมมิวนิสต์ อันนี้คือพรรคฝ่ายประชาธิปไตย ซึ่งมีแน่นอนเรื่องความเห็นไม่ตรงกัน แต่ตราบใดที่อุดมการณ์และความมุ่งหมายมันตรงกัน แล้วเรามองในสิ่งที่เป็นเป้าหมายเหมือนกัน ทำให้ความแตกต่างในเชิงของความคิดปลีกย่อยต่างๆ มันเกิดขึ้นได้ และเราไม่เคยมองว่าสิ่งนี้คือปัญหา

     ..เมื่อเราไม่ได้มองว่าเพื่อไทยไม่ได้เป็นพรรคการเมืองที่กำลังมีปัญหา เพราะเราเป็นพรรคอันดับหนึ่งในทุกๆ ด้าน ในปัจจุบัน ที่หากพูดถึง กลุ่ม CARE เราก็ต้องแฟร์กับเขาเหมือนกัน เพราะกลุ่มแคร์ ณ ปัจจุบัน คนที่เขาเป็นสมาชิกกลุ่มก็ยังไม่มีใครออกมาบอกว่าเขาคือพรรคการเมือง มีแต่การพูดกันไปเองว่าจะเป็นพรรคการเมือง แต่คนที่เป็นสมาชิกที่เราต้องฟังพวกเขา

     ผมในฐานะที่มองอยู่ข้างนอก และมองเข้าไปก็พบว่าเขาไม่เคยพูดว่าเขาคือพรรคการเมือง เพราะฉะนั้นการไปวิเคราะห์เขา การไปประเมินเขา ก็ไม่ควรไปประเมินว่าเขาคือพรรคการเมือง แต่เขาคือกลุ่มก้อนทางสังคมที่จะมาขับเคลื่อนสิ่งดีๆ ที่จะเกิดขึ้นในประเทศ แล้วหากไปดูเจตนารมณ์-วิธีคิดของเขาที่จะเป็นกลุ่มก้อนทางสังคม เขาพยายามจะรวบรวมสิ่งใหม่ๆ สิ่งที่ยังเป็นช่องว่างทางสังคมที่สังคมนี้ยังไม่ได้รับคำตอบ ก็พยายามตอบคำถามนี้ให้กับสังคม ซึ่งการกระทำเหล่านี้หากถามว่าเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ ก็ต้องตอบว่าดี ไม่มีคำตอบอื่น เป็นสิ่งที่ดี เกิดขึ้นมากเท่าไหร่ก็ยิ่งดี แล้วความเห็นที่ออกมาว่าเป็นกลุ่มขึ้นมาเพื่อจะต่อรองผลประโยชน์อะไรต่างๆ ซึ่งจากที่ผมทราบ ทางกลุ่มเขาไม่ได้ดึงนักการเมืองไปร่วมเลย

      "กลุ่มนี้ ณ ปัจจุบันยังไม่ได้ประกอบไปด้วยนักการเมือง แต่เป็นกลุ่มนักวิชาการ กลุ่มนักคิด กลุ่มผู้สร้างสรรค์ทางสังคม ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เขาไม่ได้ดึงนักการเมืองไป เพราะฉะนั้น ที่จะไปเป็นกลุ่มที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง กลุ่มต่อรองผลประโยชน์อะไร ผมไม่เชื่อเช่นนั้น เพราะปัจจุบันมันไม่มี สิ่งที่เหลือคือสิ่งที่คิดกันไปเอง"

      ...ก็มีการมาโจมตีกันว่า พรรคนี้ พรรคเพื่อไทยไม่ใช่ความหวัง ผมก็ไปนั่งค้นหา ตรวจดูในสิ่งที่ทุกคนพูดกัน มีคนพูดเรื่องนี้ แต่เป็นคนนอกพรรค โดยคนในพรรคเพื่อไทยไม่เคยมีใครพูดเรื่องนี้เลย พูดให้พรรคเสียหาย เมื่อเรามองเพื่อไทยแบบแฟร์ๆ เราก็ต้องมองกลุ่มแคร์แบบแฟร์ๆ ด้วย

- แต่ความไม่ชัดเจนในเรื่องจะมีการตั้งพรรคการเมืองใหม่ ก็ทำให้มีข่าวว่าการประชุมพรรคเพื่อไทยเมื่อสองสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ก็มี ส.ส.-อดีต ส.ส.คุยกันกลางที่ประชุมพรรค ต้องการให้ชัดเจนว่าใครจะอยู่ ใครจะไป?

      ต้องตอบก่อนว่า กลุ่มแคร์ไม่ได้เป็นพรรคการเมือง แต่เป็นกลุ่มก้อนทางสังคม คือคนที่อยู่ในพรรคการเมือง มีสิทธิ์ที่จะไปอยู่กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ทุกกลุ่ม ในเพื่อไทยเองก็มีหลายกลุ่ม กลุ่มเพื่อไทยพลัสก็กลุ่มหนึ่ง กลุ่มแคร์ก็อีกกลุ่ม กลุ่มฝ่ายค้านเพื่อประชาชนก็อีกกลุ่ม

เมื่อเขายังไม่ได้บอกว่าจะเป็นพรรคการเมือง ซึ่งผมก็ไม่ทราบเจตนาเขา แต่เท่าที่ฟังจากที่เขาออกมาพูด คือเขาบอกว่าเป็นกลุ่มก้อนการเมืองที่ต้องการสร้างสิ่งใหม่ๆ ซึ่งผมมองว่าสิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งที่ผิด ในการประชุมมันก็อาจมีการเข้าใจผิดว่ามีการพูดให้เพื่อไทยเสียหาย แต่ผมก็บอกตอนต้นว่าผมได้ไปตรวจค้นดูเองแล้ว ก็พบว่าไม่มีคนในพรรคเพื่อไทยออกมาพูดแบบนั้น

ถามถึงเสียงวิจารณ์ที่ออกมาเยอะช่วงหลังว่า เพื่อไทยมีปัญหาเยอะ เป็นพรรคขาลง ดร.เผ่าภูมิ-รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ตอบสวนแย้งกลับมาว่า ผมไม่มองว่า เพื่อไทยเป็นพรรคขาลง แต่เมื่อถามมุมมองผม ต่อการที่พรรคการเมืองจะต้องมีความแข็งแกร่ง เป็นอนาคตของประเทศจะต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง แล้วพรรคเพื่อไทยมีคุณสมบัตินั้นหรือไม่ ประเด็นที่ผมคิดว่าเป็นประเด็นสำคัญที่พรรคการเมืองยุคใหม่ต้องมีคือ

      1.ต้องมีจุดยืน อุดมการณ์พรรค และมีอัตลักษณ์ที่ชัดเจน

อันนี้เป็นสิ่งสำคัญ คือ พรรคต้องชัดว่า คุณคือเสรีนิยมประชาธิปไตย หรือคือเผด็จการ หรือคืออำนาจนิยม หรือคือสังคมประชาธิปไตย สิ่งเหล่านี้คืออุดมการณ์-อัตลักษณ์ที่ต้องชัด และไม่ควรเปลี่ยน ซึ่งเพื่อไทยตั้งแต่ยุคยังเป็นไทยรักไทย เรายึดสิ่งนี้มาตลอด 20 ปี เราไม่เคยเปลี่ยน และสิ่งนี้ไม่ควรเปลี่ยนไปตามอำนาจและผลประโยชน์

        2.พรรคการเมืองต้องขยายฐานเสียงตลอดเวลา ต้องไม่ยึดติดกับความสำเร็จในอดีต

อย่างเช่น ต้องมองว่าช่องว่างทางการตลาดที่จะเกิดขึ้นมันคืออะไร อย่างพรรคเพื่อไทย หลังการเลือกตั้งเราวิเคราะห์กันในพรรคตลอดเวลาว่า ช่องโหว่เราอยู่ตรงไหน แล้วพรรคจะต้องทำอย่างไรในการขยายฐานเข้าไปอยู่ในใจของคนกลุ่มนั้น สิ่งที่เราเห็นก็คือ ในพื้นที่เขตเมือง เรายังอ่อนอยู่ ในเขต 1 ของทุกๆ จังหวัดเรายังอ่อนอยู่ แต่เขตอื่นๆ เราค่อนข้างแข็ง เราก็ต้องพัฒนาตรงนั้น ต้องขยายฐานเข้าไป นี่คือพรรคการเมืองสมัยใหม่ คือต้องขยายฐานตลอดเวลา ห้ามยึดติดกับความสำเร็จในอดีตว่าฐานเราแข็งแล้ว เช่น สมมุติว่าเป็นพรรครากหญ้า พรรคแรงงาน หรือเป็นพรรค Elite หรืออะไรต่างๆ ไม่ควรจะหยุดอยู่ตรงนั้น ซึ่งตรงนี้เพื่อไทยให้ความสำคัญมาก

        3.ต้องสร้างความรู้สึกให้ประชาชน เป็นเจ้าของพรรคร่วมกับเรา

      อันนี้สำคัญ พรรคการเมืองที่ไม่ประสบความสำเร็จ คือพรรคการเมืองที่แยกตัวออกจากประชาชน เป็นพรรคที่บริหารจัดการแบบขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน สิ่งที่ต้องทำคือ ต้องทำให้ประชาชนมีความรู้สึกว่าเขาคือเจ้าของพรรค เขาชนะไปกับพรรค เขาแพ้ไปกับพรรค และพรรคจริงใจ ต่อสู้ร่วมกับเขา และเขาก็ต่อสู้ร่วมกับเรา เพราะความเป็นเจ้าของพรรคเป็นเรื่องสำคัญ

      4.พรรคยุคใหม่ต้องผลัดใบและปรับตัวตลอดเวลา

      การผลัดใบ ผมไม่ได้มองว่าเพื่อไทยต้องผลัดใบ เป็นพรรครุ่นใหม่จ๋า ผมไม่ได้มองอย่างนั้น ผมคิดว่าพรรคควรจะเป็นส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างองค์ความรู้ใหม่ๆ กับประสบการณ์ที่สั่งสมมา ผมไม่เชื่อว่าพรรครุ่นใหม่จ๋า โดยขาดประสบการณ์จะประสบความสำเร็จมาก และผมก็ไม่คิดว่าพรรคเก่าแก่ที่มีโครงสร้างหนัก มีการครองอำนาจหนักๆ ในพรรคจะประสบความสำเร็จ มันต้องมีส่วนผสมที่ลงตัวว่าคุณต้องผลัดใบตลอดเวลา ผมเชื่อว่ามีดที่ดีต้องผ่านการลับตลอดเวลา

       เราต้องตีโจทย์ตรงนี้ให้ออก บางคนตีโจทย์ไม่ออกแล้วไปมองว่าพรรคการเมืองรุ่นใหม่ต้องมีเด็กใหม่เข้ามา ซึ่งเรามองคุณภาพของคนที่วิสัยทัศน์ เราเชื่อในวิสัยทัศน์ใหม่ๆ ซึ่งไม่จำเป็นต้องได้จากคนอายุน้อย เราต้องสร้างส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างคนรุ่นใหม่กับรุ่นเก่าให้ได้ ซึ่งสิ่งนี้ผมคิดว่าพรรคเพื่อไทยทำได้ดี คือเราไม่ใช่พรรคคนรุ่นใหม่จ๋า และเราไม่ใช่พรรคที่โครงสร้างพรรคหนัก-เก่าแก่อะไร

      ..ยกตัวอย่าง ผมไม่ได้มีนามสกุลนักการเมือง ไม่ได้มีนามสกุลใหญ่ และคนในครอบครัวไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมืองเลย แต่ผมเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองโดยพรรคมองที่ศักยภาพ และคอยส่งเสริม เช่น การเลือกตั้งใหญ่เมื่อปี 2562 เวทีแรกที่ผมไปดีเบต พรรคส่งผมเป็นตัวแทนพรรค ไปเจอกับคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ-ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นี่คือความไว้ใจของพรรคที่มอบให้กับเรา ซึ่งเป็นสิ่งที่หาได้ยากในพรรคอื่น.

     

      5.พรรคการเมืองต้องใช้องค์ความรู้ในการขับเคลื่อนพรรค

        ไม่ใช่ไปใช้จินตนาการ หรือไปสู้แบบมวยวัด เพราะสังคมยุคใหม่ถูกพัฒนาด้วยองค์ความรู้ เกิดชนชั้นกลางใหม่ขึ้นมา เกิดคนรากหญ้าที่มองนโยบายภาครัฐต่างๆ ด้วยมุมมองที่เปลี่ยนไป เช่น การแจกเงิน สมัยก่อนแจกเงินคนอาจจะชอบ แต่ปัจจุบันหากภาครัฐใช้วิธีการแจกเงิน เขามองว่า รัฐบาลไม่มีหัวคิด คือเขามองลึกขึ้น จึงเป็นองค์ความรู้ที่พรรคการเมืองต้องพัฒนา และพรรคการเมืองที่ขับเคลื่อนด้วยองค์ความรู้ - ทีม think tank เป็นสิ่งสำคัญ

      6.พรรคการเมืองต้องเป็นองค์กรแนวราบให้มากที่สุด

      คือทำให้ทุกคนในพรรคเท่าๆ กันให้มากที่สุด ที่แน่นอนว่า พรรคการเมืองต้องมีระบบอาวุโส มีผู้ใหญ่ในพรรคที่ต้องฟัง แต่ผมคิดว่าตราบใดที่ทำให้องค์กรเป็นแนวราบมากที่สุด  ก็จะทำให้ได้ความเห็นที่กว้างที่สุด และทำให้คนที่เราเคยคิดว่า เขาอาจไม่มีศักยภาพ สุดท้ายเขาก็จะแสดงศักยภาพขึ้นมาได้ ที่จะเป็นประโยชน์กับพรรคการเมือง

        ทั้งหมดคือสิ่งที่พรรคการเมืองต้องมี ซึ่งหากถามผมว่า แล้วพรรคเพื่อไทยมีสิ่งเหล่านี้หรือไม่ ผมก็คิดว่าเพื่อไทยอาจจะยังตอบไม่ครบทุกข้อ แต่เป็นพรรคที่ตอบได้เยอะที่สุดในประเทศ ณ ปัจจุบัน

        ...เมื่อผมมองพรรคเพื่อไทย สิ่งที่ผมอยากเห็นจากพรรคเพื่อไทย ในช่วงอีก 5 ปี 10 ปี พรรคเพื่อไทยควรเป็นพรรคแบบไหน ผมมองว่าควรเป็นพรรคที่เป็นนักบริหารมืออาชีพ ไม่ใช่พรรคคนรุ่นใหม่จ๋า ไม่ใช่พรรคที่มีโครงสร้างหนักหนาอะไร แต่เป็นพรรคที่มีการบริหารมืออาชีพ โดยใส่เรื่องการเมืองเข้ามาน้อยๆ แต่เป็นนักบริหารที่สามารถบริหารประเทศให้เจริญรุดหน้าไปได้ ซึ่งความเป็นนักบริหารมืออาชีพ เกณฑ์ไม่ได้อยู่ที่อายุ คือจะอายุมากก็ได้ แต่วิสัยทัศน์มันต้องใหม่ วิสัยทัศน์ต้องคม มองการขับเคลื่อนของประเทศให้ขาด ใช้ประสบการณ์บวกกับองค์ความรู้เข้าไปบริหารประเทศ

        สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ประเทศไทยต้องการ ประเทศไทยไม่ได้ต้องการสีสัน ไม่ได้ต้องการดาราอะไร ประเทศไทยต้องการคนที่เข้ามาบริหารประเทศแล้วประสบความสำเร็จ จนประชาชนเชื่อว่า พรรคการเมืองพรรคนี้มีองค์ประกอบและองค์ความรู้พอที่จะเข้ามาได้ ไม่ใช่พรรคการเมืองโวหาร เล่นการเมืองเยอะ เสียดสีไป เสียดสีมา แต่ต้องใช้องค์ความรู้เข้าไปบริหารประเทศ เป็นพรรคนักบริหารมืออาชีพ ไม่ใช่พรรคคนรุ่นใหม่เฟี้ยวฟ้าว แต่เป็นพรรคที่ดูเป็นผู้ใหญ่ แต่มีความคิดใหม่ๆ วิสัยทัศน์ใหม่ๆ มีอัตลักษณ์ที่ชัดเจน มีฐานเสียงที่กว้างขึ้นเรื่อยๆ

        ผมคิดว่าพรรคควรต้องเหมือนเรือ เราต้องเอาคนมาลงกับเรือเราให้มากที่สุด ให้คนมาเห็นด้วยกับเรามากที่สุด เพราะฉะนั้น เวลาเรามองฝั่งที่ตรงกันข้ามกับเรา หรือคิดไม่ตรงกับเรา หน้าที่ของเราไม่ใช่ไปด่าเขา หน้าที่เราไม่ใช่ไปสร้างความเกลียดชัง แต่หน้าที่ของเราคือไปสร้างให้เขามีความเข้าใจเรา อันนี้คือ goal เป้าหมายของเรา เพราะหากคนที่เห็นไม่ตรงกับเรา แล้วเราบอกว่า เออ พวกคุณเป็นคนแบบนี้ เราก็จะไม่ได้เขาไปตลอดกาล ก็จะเป็นพรรคที่มีขนาดเท่าเดิม

        วิธีการคือต้องไปสร้างความเข้าใจกับเขา เช่น ผมคิดแบบนี้ ทำไมคุณไม่คิดเหมือนผม คุณมาลองคิดแบบผมดูไหม แล้วผมจะพยายามสร้างความเข้าใจว่าสิ่งที่ผมคิดคืออะไร ลองคุยกัน ไม่สร้างความเกลียดชัง ไม่สร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นกับคนที่คิดไม่เหมือนกับเรา เพราะนั่นหมายถึงเรากำลังผลักคนส่วนหนึ่งออกไปจากพรรคเรา ซึ่งไม่ใช่แนวทางการขับเคลื่อนพรรคที่ถูกต้อง

        สำหรับเสียงวิจารณ์ที่มองกันว่าหนึ่งปีในการเป็นพรรคแกนนำฝ่ายค้าน คอยตรวจสอบรัฐบาล ยังสอบไม่ผ่าน-สอบตก ประเด็นนี้ ดร.เผ่าภูมิ ที่เป็นหนึ่งในคณะกรรมการกิจการพิเศษ ที่มี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็นประธาน มองเสียงวิจารณ์ดังกล่าวว่า ขอแยกบทบาทเรื่องนี้ออกเป็นสองส่วน คือบทบาทในสภากับบทบาทนอกสภา ซึ่งบทบาทในสภาตัวชี้วัดไม่ได้อยู่ที่การฟังการอภิปรายของ ส.ส. รวมถึงไม่ใช่รูปลักษณ์ แต่อยู่ที่วัตถุประสงค์ของการอภิปราย ยกตัวอย่างในการอภิปรายของ ส.ส.เพื่อไทย ตอนพิจารณา  พ.ร.ก.สามฉบับที่ออกมาเกี่ยวข้องกับโควิด massage ที่เราคุยกันก็คือ การทำให้ประชาชนเห็นว่า พ.ร.ก.ทั้งสามฉบับมีช่องโหว่อยู่ตรงไหน แล้วชี้ให้ประชาชนเห็น ให้คนในสังคมช่วยกันตรวจสอบ เรามองสิ่งนี้คือความสำเร็จในสภา

        ส่วนงานนอกสภาก็มีการขับเคลื่อนในรูปแบบคณะกรรมการฝ่ายค้านเพื่อประชาชนที่เป็นอีกปรากฏการณ์ใหม่ ที่ หัวหน้าพรรคร่วมฝ่ายค้านหกพรรคมานั่งรวมตัวกันทำกิจกรรมการเมืองต่างๆ ไปเคลื่อนกันนอกสภา เช่น การทำเวทีสัญจร 4 ภาคเรื่องรัฐธรรมนูญ หรือเวทีซักฟอกนอกสภาที่ก็ประสบความสำเร็จ

        - แต่ทุกครั้ง ไม่ว่าพรรคเพื่อไทย คนในพรรคจะทำอะไร ยังไง ก็หนีไม่พ้นที่ต้องถูกวิจารณ์ถูกมองว่า อยู่ใต้เงาของทักษิณ ชินวัตร คนก็มองว่า ยังไงนายทักษิณก็มีบทบาท?

      หากเข้ามาอยู่ในพรรคเพื่อไทยจริงๆ สิ่งที่จะเห็นก็คือ การดำเนินการต่างๆ ของเพื่อไทย เรามีการโหวตออกเสียง แล้วคนที่เป็นแกนนำ เป็นผู้ใหญ่ ที่อาจเห็นไม่ตรงกับพรรค แต่เมื่อโหวตกันแล้วไม่ชนะ ก็ปฏิบัติตามมติพรรค ผมอยู่กับพรรคเพื่อไทยมา ผมก็เห็นสิ่งเหล่านี้คือ เวลาเราจะทำอะไร คนในพรรคก็จะมาคุยกัน แล้วเราก็โหวตกัน ทุกคนก็ต้องทำตามมติพรรค ซึ่งหากจะมาบอกว่ามีใครเข้ามาชักจูง แต่ผมก็เห็นว่ามีการโหวตกันอยู่ในพรรค  

        ..ยกตัวอย่างกรณีรัฐบาลออก พ.ร.ก.เกี่ยวกับโควิดสามฉบับ ที่มี พ.ร.ก.ตราสารหนี้ฯ ผมเป็นคนหนึ่งที่เห็นว่า การทำสิ่งนี้เป็นสิ่งที่จำเป็น คือผมเห็นคล้อยตามธนาคารแห่งประเทศไทย อันเป็นสิ่งที่คนในพรรคเพื่อไทยเห็นอีกแบบหนึ่ง ผมก็เสนอความคิดนี้ไป ก็โต้เถียงกัน แต่ท้ายที่สุดเมื่อคนในพรรคเพื่อไทยเห็นว่า ไม่ควรเห็นด้วยกับการออก พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว ผมก็ทำตามมติพรรค ผมก็ต้องกลับมาดูตัวเองว่า เออ เรายังคิดไม่รอบด้าน สุดท้าย เราก็ต้องทำตามมติพรรค เพราะเราอยู่ในพรรค ผมไม่เห็นมีการชักจูงอะไร

        อีกประเด็นหนึ่งที่คนมองว่า พรรคเพื่อไทยมีเกาเหลา-มีการแย่งซีนกันในพรรคระหว่างแกนนำกลุ่มต่างๆ เลยตั้งคำถามไปว่า การที่พรรคเพื่อไทยมีทั้งกรรมการบริหารพรรค-กรรมการยุทธศาสตร์พรรค ชุดคุณหญิงสุดารัตน์แล้ว ยังมี กรรมการกิจการพิเศษ ชุด ร.ต.อ.เฉลิม จนคนมองว่า กรรมการบริหารพรรคอยู่ใต้กรรมการยุทธศาสตร์ฯ เสียด้วยซ้ำ คำถามนี้ เผ่าภูมิ รองเลขาธิการพรรค ฟังแล้ว แจกแจงว่า ผมคิดว่าเราทำงานร่วมกัน ผมพยายามมองพรรค เป็นพรรคแนวราบ ซึ่งกรรมการแต่ละชุดก็มีบทบาทหน้าที่ มีภารกิจ มีความเชี่ยวชาญแต่ละมุม ทุกส่วนก็ทำหน้าที่ของตัวเอง เราพยายามสร้างพรรคให้เป็นแนวราบ ทุกคนมีระดับพอๆ กัน เอาความรู้ความเห็นมาวิเคราะห์ร่วมกัน คือหากสมมุติว่าเราสร้างองค์กรแนวดิ่ง คนที่อยู่ข้างล่าง ต่อให้เขาเก่งขนาดไหน เขาก็ไม่ต้องคิด ไม่ต้องแสดง พรรคก็จะมีแนวคิดแบบเดียวไปตลอด ซึ่งไม่ใช่โมเดลที่สวยงามสำหรับพรรคการเมืองรุ่นใหม่ เพราะพรรคการเมืองรุ่นใหม่ต้องเป็นองค์กรแนวราบ การมีคณะกรรมการชุดต่างๆ ในพรรค ผมว่ายิ่งมีเยอะยิ่งดี เพราะทำให้มีการช่วยกันคิดในมุมต่างๆ

        - แต่คนนอกพรรคก็มองว่า การที่พรรคตั้ง กก.ยุทธศาสตร์ และ กก.กิจการพิเศษ ก็เพื่อทำให้ ประธานกรรมการทั้งสองชุด (คุณหญิงสุดารัตน์-ร.ต.อ. เฉลิม) ได้มีพื้นที่ มีหมวกทางการเมืองในพรรค เพื่อแชร์อำนาจกันในพรรค?    

      NO ไม่ใช่อย่างนั้น หลักคิดไม่ใช่อย่างนั้น เพราะหลักคิดคือให้แต่ละคนในพรรคได้ทำหน้าที่ของตัวเองในด้านที่ตัวเองถนัด แต่ละคนถนัดแบบไหน ก็รับอำนาจหน้าที่ไปทำสิ่งนั้น เลือกคนจากความถนัด และศักยภาพ ทำในสิ่งที่ตัวเองถนัดและมีศักยภาพ แล้วเอามารวมๆ กัน

        - หากในอนาคตมีคนในพรรค มีผู้ใหญ่ในพรรค ที่เป็น Behind the scene ของพรรคมาตลอด เดินออกไปเพื่อสร้างบ้านหลังใหม่ ก็ยังเป็นพันธมิตรที่จะคุยกันทางการเมืองได้?

      สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เพราะรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่เราไม่ได้บังคับให้เกิด แต่มันจะเกิด อันนี้ผมไม่ได้พูดถึงกลุ่มแคร์ เพราะกลุ่มแคร์คือกลุ่มการเมือง เขาไม่ได้เป็นพรรคการเมือง แต่ผมหมายถึงอนาคต เช่น ก่อนจะมีการเลือกตั้ง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติเลย คือจะเห็นพรรคการเมืองเล็กๆ เกิดขึ้นจำนวนมาก เพราะจากผลของรัฐธรรมนูญ โดยจะแตกออกจากทุกพรรค ไม่ต้องเพื่อไทย แต่จะแตกออกจากทุกพรรคเพราะเป็นเรื่องของระบบเลือกตั้งที่ทำให้เป็นอย่างนั้น ไม่ต้องมีการบริหารจัดการอะไรเลย จะเกิดขึ้นตามธรรมชาติ แค่ต้องยอมรับกับมัน แล้วหา solution ที่เหมาะสม ที่จะรองรับสถานการณ์เหล่านี้ ปฏิเสธมันไม่ได้.

 

        ..เป็นสิ่งที่เราไม่ได้บังคับให้เกิด แต่มันจะเกิด อันนี้ผมไม่ได้พูดถึงกลุ่มแคร์ เพราะกลุ่มแคร์คือกลุ่มการเมือง เขาไม่ได้เป็นพรรคการเมือง แต่ผมหมายถึงอนาคต เช่น ก่อนจะมีการเลือกตั้ง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ จะเห็นพรรคการเมืองเล็กๆ เกิดขึ้นจำนวนมาก จากผลของ รธน. ไม่ต้องเพื่อไทย แต่จะแตกออกจากทุกพรรคเพราะระบบเลือกตั้งทำให้เป็นอย่างนั้น


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"