ชี้ควรวางแผนใช้น้ำรีไซเคิลพื้นที่ EEC มั่นใจฝ่าวิกฤตขาดแคลนน้ำได้


เพิ่มเพื่อน    

 

 

     วันที่ 22 มิ.ย. - รศ.ดร.ชวลิต รัตนธรรมสกุล หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยนวัตกรรมการบำบัดของเสียและการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะหัวหน้าโครงการ “การพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมและเมือง โดยการใช้น้ำเสียที่บำบัดแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ในพื้นที่ EEC” กล่าวว่า  EEC เป็นพื้นที่กำลังพัฒนา หนีไม่พ้นปัญหาน้ำที่มีปริมาณไม่เพียงพอ เบื้องต้นมีการวิเคราะห์กันว่า ความต้องการน้ำในอนาคตจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว ทุกวันนี้ความต้องการน้ำในภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวรวมทั้งการอุปโภคบริโภคของ 3 จังหวัดในพื้นที่ EEC มีประมาณมากกว่า 800 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และอีก 20 ปีข้างหน้าความต้องการน้ำในส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นและมีมากกว่า 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี มีโอกาสขาดแคลนแน่นอน ถ้าไม่มีการหาแหล่งน้ำต้นทุนใหม่ตอบสนองความต้องการน้ำในปริมาณที่เพิ่มขึ้น

     “โจทย์หนึ่งของงานวิจัยนี้ คือ การหาแหล่งน้ำทดแทนน้ำประปาไม่น้อยกว่า 100 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี จากการศึกษาและสำรวจข้อมูล พบว่า ในพื้นที่ EEC มีน้ำทิ้งหรือน้ำเสียที่มีศักยภาพสามารถนำมาบำบัดเอากลับมาใช้ใหม่ได้ จาก 2 แหล่งใหญ่ คือ น้ำเสียจากการอุปโภคบริโภคทั้งในภาคชุมชนและภาคบริการ และน้ำเสียจากภาคอุตสาหกรรมที่จะช่วยลดการใช้น้ำประปาลงได้ โดยคาดการณ์ว่า ภายในปี 2580 จะมีน้ำเสียจากภาคชุมชนเกิดขึ้นประมาณ 859,280 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน หรือ 313.64 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี แบ่งเป็นชลบุรี 456,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน , ฉะเชิงเทรา 164,380 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และระยอง 238,900 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน หากสามารถรวบรวมมาบำบัดและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ จะเป็นแหล่งน้ำต้นทุนใหม่ในพื้นที่ EEC ได้ในปริมาณที่มากพอสมควร และยังมีราคาถูกกว่าการทำน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืด ” รศ.ดร.ชวลิต

     หน.หน่วยปฏิบัติการฯ ยกตัวอย่างว่า จังหวัดชลบุรีมีน้ำเสียจากชุมชนที่เข้าสู่ระบบบำบัดส่วนกลางค่อนข้างมาก เนื่องจากมีสถานประกอบการ โรงแรม ที่พักอาศัย อาคารสำนักงานค่อนข้างมาก ข้อดีคือ น้ำเสียของภาคอุปโภคบริโภค ชุมชน และภาคบริการ มีการรวบรวมน้ำเสียเข้าสู่ระบบบำบัดในปริมาณมาก เช่น ระบบบำบัดน้ำเสียเมืองพัทยา ระบบบำบัดน้ำเสียเทศบาลเมืองแสนสุข ตัวเลขของน้ำเสียที่เข้าสู่ระบบบำบัดส่วนกลางมีมากถึง80% ถ้ามีการปรับปรุงคุณภาพน้ำทิ้งเพิ่มเติมให้กลายเป็นน้ำรีไซเคิลตามมาตรฐานสากล จะสามารถส่งเสริมให้นำน้ำกลับมาใช้ทดแทนน้ำประปาบางส่วนได้เป็นอย่างดี  นอกจากนี้การประหยัดน้ำที่ต้นทางของกลุ่มอาคารธุรกิจขนาดใหญ่ โรงแรมและสถานบริการที่พัก ห้างสรรพสินค้าโดยการติดตั้งชุดสุขภัณฑ์ประหยัดน้ำจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการลดการใช้น้ำต้นทางได้ 5-15% และจะได้มากกว่านี้ถ้ามีการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมสุขภัณฑ์ประหยัดน้ำอย่างจริงจังในพื้นที่ EEC

 

 

          เช่นเดียวกับจังหวัดระยอง โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมต้องการใช้น้ำสูงกว่า 200 ล้านลบ.ม.ต่อปี ฉะนั้น ถ้าบำบัดน้ำเสียนำกลับมาใช้ใหม่ตัวเลขน้ำรีไซเคิลจะสูงมาก ปัจจุบันนี้มีนิคมอุตสาหกรรมบางแห่งที่ใช้น้ำปริมาณมากเริ่มให้ความสนใจถึงแนวทางการนำน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วนำกลับมาใช้ใหม่เพื่อแก้ปัญหาน้ำขาดแคลน จากการสำรวจและให้คำปรึกษาในภาคสนาม พบว่า มีนิคมอุตสาหกรรมและโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งที่มีศักยภาพในการรีไซเคิลน้ำ สามารถรีไซเคิลน้ำเสียได้มากกว่า 15% ของน้ำใช้ และค่าน้ำรีไซเคิลก็มีราคาถูกกว่า ขณะที่บางโรงงานที่ใช้น้ำปริมาณมาก ได้แก่ โรงงานประเภทอาหารและเครื่องดื่ม เมื่อลงทุนติดตั้งระบบรีไซเคิลน้ำเสีย พบว่า สามารถประหยัดน้ำได้มากกว่า 15%  และน้ำรีไซเคิลช่วยให้ประหยัดค่าน้ำประปาได้ถึง 7 บาทต่อ ลบ.ม. ขณะที่ภาคชุมชน จากการสำรวจน้ำทิ้งจากเทศบาลนครระยอง เทศบาลมาบตาพุด พบว่า มีคุณภาพค่อนข้างดี ปรับสภาพน้ำเพิ่มเติมก็นำกลับมาใช้ใหม่ในพื้นที่รอบๆ ได้ เป็นต้น     

          รศ.ดร.ชวลิต กล่าวต่อว่า  จากการลงพื้นที่สำรวจเก็บข้อมูลทั้งภาคอุปโภคบริโภค ภาคบริการ และภาคอุตสาหกรรม ช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ได้แนวทางการจัดการระบบบำบัดน้ำเสียที่เหมาะสมสำหรับชุมชนและอุตสาหกรรม โดยมี 3 แนวทางเพื่อการนำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ของเมือง ได้แก่ แนวทางที่ 1 คือระบบบำบัดน้ำเสียขนาดใหญ่ สำหรับชุมชนระดับเมือง ซึ่งจะมีปริมาณน้ำเสียค่อนข้างมาก โดยเพิ่มระบบการปรับสภาพน้ำ สามารถนำน้ำที่ได้กลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ของเมือง แนวทางที่ 2 คือ ระบบบำบัดน้ำเสียแบบรวมหรือแบบกลุ่ม (Cluster Treatment) เป็นระบบบำบัดน้ำเสียขนาดเล็กเหมาะกับชุมชนที่มีพื้นที่จำกัด สำหรับพื้นที่ที่มีน้ำเสียเข้าสู่ระบบบำบัด 500-1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน เช่น ที่เทศบาลนครระยอง ทั้งโมเดลที่ 1 และ 2 เป็นระบบที่เหมาะกับพื้นที่ EEC และสามารถดำเนินการได้ทันที ส่วนแนวทางที่ 3 ระบบบำบัดน้ำเสียแบบ Individual เป็นโมเดลสำหรับสถานประกอบการแต่ละอาคาร ข้อจำกัดระบบนี้คือ อาคารในปัจจุบันมีเพียงท่อประปาท่อเดียว ไม่มีท่อแยกสำหรับน้ำรีไซเคิล  

      รศ.ดร.ชวลิต กล่าวว่า  ในอนาคตเมื่อคำนึงถึงการสร้างเมืองใหม่ สมาร์ท ซิตี้ สามารถทำได้ทั้งสามรูปแบบ โดยทั่วไปตามอาคารใหญ่ๆ อย่าง โรงแรม อาคารธุรกิจหรือห้างสรรพสินค้า ตัวเลขการใช้น้ำจำนวนมากจะมาจากสุขภัณฑ์ ถ้าอาคารใหม่มีการออกแบบแยกระบบท่อน้ำรีไซเคิลกับท่อน้ำประปาออกจากกันจะส่งเสริมการใช้น้ำรีไซเคิลในอาคารหรือการนำน้ำรีไซเคิลของเมืองหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้อีกจำนวนมากจึงต้องมีการกำหนดมาตรฐานคุณภาพน้ำรีไซเคิลที่ปลอดภัยสร้างความมั่นใจกับผู้ใช้น้ำตัวอย่างความสำเร็จมีให้เห็นแล้วในหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ จีน เป็นต้น กรณีการนำน้ำรีไซเคิลของเมืองหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ในอาคารสูงย่านธุรกิจใหม่ในกรุงโตเกียวเป็oการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ปริมาณมากในพื้นที่กว้างที่ประสบความสำเร็จและยั่งยืน โดยมีการดำเนินการมานาน 10 ปี ทั้งนี้อาคารใหม่ในพื้นที่มีการออกแบบกำหนดให้แยกระบบท่อน้ำรีไซเคิลกับท่อน้ำประปาออกจากกัน

 

 

 

          จากการคาดการณ์ศักยภาพปริมาณน้ำต้นทุนที่ประหยัดได้ของทุกภาคส่วนในพื้นที่ EEC สามารถพิจารณาได้ 2 กรณี เขาระบุ กรณีแรกเมื่อภาคอุตสาหกรรมลดได้ 15%  ภาคอุปโภคบริโภคและภาคบริการลดได้ 10% ภาคเกษตรลดได้ 10% และมีศักยภาพของต้นทุนน้ำรีไซเคิลของเมืองที่มีปริมาณน้ำเสียมากกว่า 40,000 ลบ.ม.ต่อวัน จากบ่อบำบัดน้ำเทศบาล จำนวน 7 แห่ง พบว่า จะสามารถประหยัดน้ำต้นทุนได้มากกว่า 600 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี หรือคิดเป็น 19.43% ในปี 2580 กรณีที่สองเมื่อภาคอุตสาหกรรมลดได้ 10%  ภาคอุปโภคบริโภคและภาคบริการลดได้ 10% ภาคเกษตรลดได้เพียง 5%  และมีศักยภาพของต้นทุนน้ำรีไซเคิลของเมืองที่มีปริมาณน้ำเสียมากกว่า 40,000 ลบ.ม.ต่อวัน จากบ่อบำบัดน้ำเทศบาล จำนวน 7 แห่ง พบว่าจะสามารถประหยัดน้ำต้นทุนได้ถึง 465 ลบ.ม.ต่อปี หรือคิดเป็น 16.13% ในปี 2580  จะเห็นว่าน้ำต้นทุนที่ประหยัดได้นี้จะช่วยลดปัญหาน้ำขาดแคลนในพื้นที่ EEC เมื่อมีการพัฒนาเมืองค่อนข้างสมบูรณ์แบบ แต่การนำน้ำรีไซเคิลกลับมาใช้ให้ได้ผลจริงจัง จะต้องพิจารณาครอบคลุมทั้งมิติด้านกฎหมาย เศรษฐศาสตร์ และสังคม

     รศ.ดร.ชวลิต เสนอว่า จะต้องมีมาตรการทั้งผลักและดัน  เช่น แนวทางการจัดการทางเทคนิค เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำอีก 15% ในภาคอุตสาหกรรม จะต้องมีการกำหนดคุณภาพและมาตรฐานของน้ำรีไซเคิลให้เหมาะกับกิจกรรม เช่น เพื่อการหล่อเย็นและใช้ประโยชน์อื่นๆในระบบอุตสาหกรรม เพื่อใช้กับพื้นที่สีเขียว หรือการใช้น้ำกับระบบสุขภัณฑ์ เป็นต้น

          ทางด้านกฎหมาย เสนอให้มีการผลักดันข้อกฎหมายใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ลดการใช้น้ำและนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ในพื้นที่ EEC ประกอบด้วย พ.ร.บ.ส่งเสริมการประหยัดน้ำ เช่น ส่งเสริมการใช้สุขภัณฑ์ประหยัดน้ำ ฯลฯ พ.ร.บ.ส่งเสริมการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ และ พ.ร.บ.การกักเก็บน้ำฝนในอาคารและสถานประกอบการ กฎหมายทั้งสามนี้ ถ้าเกิดขึ้นได้จริงจะเป็นการประหยัดน้ำต้นทุนของเมือง ส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ รวมทั้งระบบรีไซเคิลน้ำ ระบบการเก็บน้ำฝนมาใช้ประโยชน์ และเกิดการสร้างธุรกิจใหม่ๆ เพื่อสิ่งแวดล้อม

      " ในด้านเศรษฐกิจ เป็นการมองเรื่องความคุ้มทุนในการลงทุนระบบรีไซเคิลน้ำ ที่ไม่เพียงช่วยลดปริมาณน้ำทิ้ง ยังได้น้ำประปาที่ราคาถูกเมื่อเทียบกับค่าน้ำประปาที่ใช้ปัจจุบัน เป็นการตอบโจทย์การมีแหล่งน้ำต้นทุนใหม่ ขณะเดียวกันมองแนวทางสร้างแรงจูงใจให้ชุมชนยอมรับการนำน้ำเสียกลับใช้ใหม่ด้วย มาตรการเหล่านี้ไปด้วยกันสามมิติ เทคนิค กฎหมาย และเศรษฐศาสตร์  " รศ.ดร.ชวลิต กล่าว

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"